ตระกูลจาติกวณิช มีชื่อเสียงมานานนับแต่หลุย จาติกวนิช (ชื่อเดิมคือซอเทียนหลุย)
เป็นลูกจีนที่เข้ามารับราชการกรมตำรวจ ได้ดิบได้ดีจนเป็นถึงอธิบดีกรมตำรวจมีบุตร
8 คน ที่มีชื่อเสียงมากคือ บุตรคนที่ 3 เกษม จาติกวณิช เคยเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและอีกหลายตำแหน่ง
ปัจจุบันเป็นประธานและกรรมการอำนวยการบริษัทไทยออยล์ (อ่านประวัติตระกูลนี้จากผู้จัดการปีที่
2 ฉบับ 18)
ไกรศรี จาติกวณิช เป็นผู้ชายคนที่ 6 ของหลุย เรียนชั้นต้นที่เดียวกับบิดาคือ
ที่อัสสัมชัญ แล้วมาเรียนมัธยมต้นที่วชิราวุธวิทยาลัย พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่
2 จึงต้องย้ายไปเรียนที่บางปะอิน ในที่สุดมาจบมัธยมปลายที่กรุงเทพคริสเตียน
เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันมี ดร.อำนวย วีรวรรณ, อานันท์ ปันยารชุน
หลังจากนั้นเขาไปต่อไฮสคูลที่อเมริการ และเรียนด้าน MONEY AND BANKING
ที่มหาวิทยาลัยไมอามี่ พอจบแล้วเขาอยากทำงานแบงก์ และเรียนต่อภาคค่ำ บุญมา
วงศ์สวรรค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลังที่นิวยอร์กจึงฝากเข้าทำงานเป็น
TRAINEE อยู่ที่ THE CHASE MANHATTAN BANK ที่วอลสตรีท และสอบเข้าเรียนโทด้าน
MARKETING RESEARCH มหาวิทยาลัยลองไอร์แลนด์ ที่เลือกเรียนสาขานี้เพราะไม่เคยมีความคิดที่จะรับราชการเลย
แต่พอกลับมาเมืองไทยพบ ดร.ป๋วยบอกว่าเงินทางไม่เดือดร้อนมาช่วยราชการดีกว่า
รุ่นที่เข้ารับราชการไล่ๆ กันมี จำลอง โต๊ะทอง, ชาญชัย ลี้ถาวร, ประสงค์
สุขุม, เสนาะ อูนากุล โดยที่ไกรศรีเข้าเป็นคนสุดท้ายของรุ่น
เนื่องจากกระทรวงการคลังในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีหน่วยงานที่กลั่นกรองการงานให้แก่รัฐมนตรี
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงการคลังไม่มีหน่วยงานที่เป็นจักรสมองเสนอนโยบายให้แก่รัฐมนตรีในด้านการคลังและเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมัยนั้นคือสุนทร หงส์ลดารมภ์ มอบหมายงานนี้ให้ไกรศรีซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงข้าราชการชั้นโท
นับว่าเป็นงานชิ้นใหญ่ที่ท้าท้ายความสามารถของคนหนุ่มไฟแรงอย่างเขามากๆ ไกรศรีเสนอเค้าโครงสำนักเศรษฐกิจการคลัง
(สศค.) และดำเนินการจัดตั้งจนเสร็จเรียบร้อยแล้วเชิญดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์มาเป็นผู้อำนวยการคนแรก
"ช่วงแรก ที่ผมเข้าไปกระทรวงการคลังแทบจะไม่มีงานทำ เพราะงานส่วนใหญ่ไปอยู่ที่กรมบัญชีกลางที่คุณบุญมา
วงศ์สวรรค์เป็นอธิบดี ผมจึงไปเรียนต่อด้าน PUBLIC ANMINISTRATION ที่มหาวิทยาลัยพิทส์เบอร์ก
เรียนด้าน ORGANIZATION AND METHOD ผมได้ไอเดียเรื่อง สศค. จากฝรั่งที่เขามีหน่วยงานแบบนี้
ตอนแรกสศก. ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี แต่ตอนหลังคุณบุญมาเป็นปลัดกระทรวงบอกไม่ได้ต้องผ่านปลัดก่อน
ตอนหลังสศค. จึงเป็นสต๊าฟของทั้งกระทรวง" ไกรศรีเล่าถึงงานบุกเบิก ชิ้นแรกของเขา
ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลังประจำกรุงลอนดอนได้เลื่อนเป็นข้าราชการชั้นเอก
ในช่วงที่รับราชการอยู่นั้นเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกลุ่มผู้ผลิตดีบุกทั่วโลก
และในปี 2510 ได้เกิดวิกฤติการณ์ในกลุ่มภาคีดีบุกเนื่องจากมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลกไม่ยอมลงนามต่ออายุสัญญาภาคีข้อตกลงดีบุก
ซึ่งจะทำให้องค์การดีบุกต้องประสบกับปัญหานานัปการ คณะมนตรีดีบุกมีมติให้ไกรศรีบินด่วนไปเจรจาขอร้องให้รัฐบาลมาเลเซียพิจารณาใหม่
"ก่อนไปผมคดว่าแทบไม่มีหวังเพราะคณะรัฐมนตรีเขาลงมติแล้ว ผมไปพบคณะรัฐมนตรีของมาเลเซีย
แต่หลังจากการเจรจาหนึ่งวันเต็มๆ ครม.ก็ไม่เปลี่ยนท่าที ผมจึงตัดสินใจขอเข้าพบตวนกู
อับดุลราห์มัน นายกรัฐมนตรี เจรจาเป็นการส่วนตัวโดยชี้แจงว่ามาเลเซียกำลังมีชื่อเสียงในสหประชาชาติเป็นหัวเรือด้านดีบุกและยางพารา
ถ้าภาคีดีบุกล่มชื่อเสียงของมาเลเซียจะเสียตวนกูบอกให้ผมอยู่ต่ออีกหนึ่งวันเพื่อรอฟังข่าว
รุ่งเช้าท่านเอาเรื่องนี้เข้าครม. ในที่สุดก็มีการกลับมติลงสนามในสัญญาภาคี"
ไกรศรีเล่าถึงผลสำเร็จที่เกินความคาดหมาย ขนาดที่ดร.ป๋วยยังบอกว่านายไกรศรีนี่มันมหาฟลุ้ค
แต่ก็ยอมรับถึงความสามารถในการเจรจาของไกรศรี
ไกรศรีอยู่อังกฤษเกือบ 5 ปีกลับมาเป็นผู้อำนวยการกองเงินกู้สศค.กระทรวงการคลัง
เห็นว่าประเทศไทยสมควรจะมีตลาดทุนเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายขยายฐานเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในด้านการอุตสาหกรรมและการเงิน จึงมอบหมายงานนี้ให้ไกรศรีเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2517 เขาทำงานชิ้นนี้ลุล่วงจนเป็นตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ นับเป็นงานบุกเบิกชิ้นที่
2 ของเขา
ต่อมาไกรศรีได้ขึ้นเป็นรองผอ. สศค.ดูแลสถาบันการเงินต่างๆ ปี 2522 เกิดวิกฤติการณ์ตลาดหลักทรัพย์
การตัดสินใจถอนใบอนุญาตของราชาเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากไกรศรี
"ขณะนั้นคุณเกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ เสียงส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้าช่วยแก้วิกฤติ
นายกฯ ก็ถามว่าเสียงเป็นเอกฉันท์หรือไม่ผมบอกว่าไม่ ควรจะถอนใบอนุญาต เพราะดูจากเอกสารแล้วมันโกงทั้งนั้นเอาเศษกระดาษไปหมุนเป็นเงินมากมาย
โกงกันหลายพันล้าน ผมไม่เห็นด้วยที่เอาเงินดีไปอุดเงินเลว" ไกรศรีเล่าถึงวิกฤติการณ์ครั้งนั้นซึ่งในที่สุดราชาเงินทุนก็ถูกถอนใบอนุญาต
ราวปี 2523 ไกรศรีได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้ไปเป็นกรรมการการปิโตรเลียม
ซึ่งในปีดังกล่าวการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมีโครงการที่จะตั้งโรงงานแยกก๊าซ
หลังจากลงนาม "LETTER OF INTENT" กับบริษัทฟูลออร์ซึ่งเป็นบริษัทคอนเซาท์ที่
"TOP FIVE" ของอเมริกาปัญหาต่างๆ ก็เริ่มประดังเข้ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ปัญหาในราคาค่าจ้างและปัญหาค่าก่อสร้างประธานกรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งได้แก่นายบุญชู
โรจนเสถียรรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ไกรศรีเป็นประธานคณะทำงาน
เพื่อทำการพิจารณาข้อเสนอของฟูลออร์และให้ดำเนินการต่อรองกับบริษัทฯ
"วันที่ประชุมจะเซ็นสัญญากันบริษัทฯ บอกกับกรรมการค่า CONSULTANT
ที่คิด 45 ล้านเหรียญคิดผิดขอเพิ่มเป็น 50 ล้านเหรียญ เราก็ไม่ตกลงผมก็ไปคำนวณ
COST ต่างๆ ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่คิดออกมาประมาณ 20 ล้านเหรียญ แล้วก็ยังส่งเรื่องไปให้ธนาคารโลกช่วยคำนวณปรากฎว่าธนาคารโลกก็ดีใจหายบอกว่าที่คุณคิดนะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
แต่เขาคิดได้ถูกกว่าเราอีก 5 ล้านเหรียญ สัปดาห์ต่อมาบริษัทมาบอกว่าคิดผิดอีกควรจะเป็น
55 ล้าน เราก็เลยเลิกสัญญา และเปิดประมูลใหม่บริษัทที่ประมูลได้คือลินเด้ย์
ประเทศเยอรมันในราคาเพียง 11 ล้านเหรียญ" งานนี้ส่งผลให้รัฐบาลประหยัดเงินไปกว่าพันล้านบาท
การกระทำของไกรศรีครั้งนี้ "ผู้จัดการ" ทราบมาว่า ทำให้บุคคลผู้หนึ่งต้องสูญเสียค่านายหน้าไปถึง
100 ล้านบาท และบุคคลผู้นั้นขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย
ปี 2523 ดร.อำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังต้องการให้ไกรศรี รีบจัดตั้งโรงงานถลุงแร่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีเจตนาที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน
ซึ่งมีนโยบายมานานแต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที
"เดิมทีเรากำหนดจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทแห่งหนึ่งของเกาหลี วันนั้นจะเซ็นสัญญาอยู่แล้ว
พอดีมีคนมากระซิบบอกผมว่าบริษัทนี้เพิ่งจ่ายเช็คเด้งไป 15 ล้าน ผมเลยขอเลื่อนไปอีกวันเพื่อเช็คข้อมูล
ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นบริษัทนี้ล้ม ซึ่งก็นับว่าเรารอดตัวได้อย่างหวุดหวิด
ผมเสนอว่าไม่ต้องไปผ่านบริษัทนายหน้าหรอก เอารัฐบาลไทยกับรัฐบาลเบลเยี่ยมโดยตรงและดีกว่า
โดยตั้งบริษัทใหม่ชื่อบริษัทผาแดง ซึ่งเป็นชื่อของผาในจังหวัดตากที่มีแร่สังกะสี
บริษัทนี้ทุนจดทะเบียน 800 ล้าน ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง 160 ล้าน, ธนาคารกรุงไทย
104 ล้าน และเราก็ได้ขอความร่วมมือจากทุกแบงก์ให้มาถือหุ้น ตามสัดส่วนของแบงก์
ก็ต้องมีการล็อบบี้อย่างมากเพื่อให้เขายอมเพราะบางแบงก์เขาเห็นว่าเป็นโครงการที่เสี่ยง
คราวนั้นนายแบงก์ที่ช่วยลุ้นมากคือชาตรี โสภณพานิช และสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์"
ไกรศรีเล่าเบื้องหลังการตั้งบริษัทผมแดงกับ "ผู้จัดการ"
บริษัทผาแดงปัจจุบันมีกำไรดี ราคาหุ้นเคยขึ้นไปถึง 600 บาท (21 กรกฎาคม
2530) แต่ปัจจุบัน (25 มกราคม 2530) ราคาเหลือ 344 บาท แต่ก็ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
เมื่อประมาณระหว่างปี 2524-2525 ธนาคารอาคารสงเคราะห์กำลังประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินคือขาดเงินหมุนเวียน
ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ไกรศรีเป็นมือกระบี่ที่ถูกส่งไปเคลียร์ปัญหา
ปีแรกเขาไปเป็นกรรมการต่อมาพลเอกอำนาจ ดำริการประธารกรรมการเสียชีวิต ไกรศรีได้รับเลือกให้เป็นประธานแทนในทัศนะของไกรศรีธนาคารนับว่าอยู่ในภาวะที่เลวร้ายมาก
เพราะแม้แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนด ก็ยังไม่สามารถใช้คืนแก่ผู้ถือได้ตามกำหนดเวลา
รวมทั้งการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินอีกมากมาย ซึ่งเมื่อธนาคารไม่มีเงินชำระให้แก่เจ้าหนี้ต่างๆ
ย่อมส่งผลกระเทือนถึงรัฐบาล เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้
ไกรศรีเห็นว่าการที่จะแก้ไขความเสียหายและฟื้นฟูธนาคารนั้น ประการแรกต้องเปลี่ยนตัวผู้จัดการ
ไกรศรีเสนอให้ครม.ปลดมานะศักดิ์ อินทรโกมารสุต และแต่งตั้งกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล
ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อธนาคารกรุงไทย เพราะไกรศรีเห็นฝีมือกิตติตอนที่กิตติรับผิดชอบโปรเจ็คผาแดงในฐานะตัวแทนของกรุงไทย
ไกรศรีกับกิตติได้ร่วมกันบริหารธนาคารกลับคืนมาอยู่ในฐานะที่มั่นคงและมีกำไรจนกระทั่งปัจจุบัน
นี่คือตัวอย่างชิ้นสำคัญๆ แต่ละงานค่อนข้างจะโหดและมีลักษณะบุกเบิกแต่เมื่อผ่านมือไกรศรีซึ่งเป็นคนมีสไตล์การทำงานแบบเฉียบขาด
ถึงลูกถึงคนและถ้าจะต้องมีการฟันในบางครั้งเขาก็ไม่เกรงกลัวผลกระทบใดๆ ที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นในหลายกรณีอาจจะก่อให้เกิดศัตรู ผลงานของเขาส่งผลให้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสศค.
และในปี 2525 ไกรศรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมศุลกากร
ที่นี่เขาได้ปฏิวัติทั้งบุคลากรและระบบการทำงานหลายอย่างซึ่งส่งผลทำให้ระเบียบขั้นตอนต่างๆ
ลดความยุ่งยากไปมากและการทุจริตต่อหน้าที่ลดน้อยลงเนื่องจากถ้ามีการจับได้ไกรศรีก็จะเล่นบทโหดคือฟันไม่เลี้ยง
แหล่งข่าวระดับสูงในกรมศุลกากรวิจารณ์สไตล์การทำงานของไกรศรีว่า "ท่านพยายามจะเอาระบบเอกชนมาใช้กับระบบราชการ
คือเอาประสิทธิภาพของงานเป็นหัวใจ ถ้าใครทำงานได้เร็วและดี ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มหรือแก่จะได้รับการโปรโมท
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาวมากกว่าทำให้คนที่อาวุโสแต่ไม่ค่อยมีผลงานไม่พอใจ
ซึ่งพวกเขาติดกับระบบแบบราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สั่งสมมานาน ยิ่งกรมศุลฯ เป็นแหล่งที่มีผลประโยชน์มาก
การที่คุณไกรศรีเข้ามาส่วนหนึ่งก็เป็นการกระโดดเข้ามาขวางลำการหากินของบางพวก
ศัตรูก็ย่อมจะต้องมีเป็นธรรมดา"
เพื่อนสนิทของไกรศรีวิจารณ์บุคลิกและการทำงานของเขาให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า "เขาบริหารงานแบบขายส่ง เขามันจะวางอะไรเป็นหลักการกว้างๆ แล้วไว้ใจให้ลูกน้องไปทำโดยไม่ค่อยตามดูในรายละเอียดมากนัก
ความไม่ค่อยละเอียดนี้เป็นนิสัยเขาแต่เด็กๆ แล้ว คุณจะเห็นว่าบางแห่งที่เขาไปรับงานซึ่งส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จแต่อาจจะมีปัญหาในรายละเอียดบ้าง
เขาเป็นคนกล้าได้กล้าเสียและเป็นคนที่ยึดถือหลักการมากๆ อย่างเรื่องรถไกรศรีอาจจะพลาดตรงที่ไม่ได้ดูก่อนว่ารถนี้เสียภาษีถูกต้องไหม
ซึ่งเป็นเพราะเขาไว้ใจเพื่อน แต่ถ้าบอกว่าตรงนี้คือความไม่ละเอียดผมว่าให้คนรอบคอบแค่ไหนก็มีสิทธิพลาดได้เพื่อนๆ
เลยลงความเห็นว่าไกรศรีเป็นคนที่ซวยที่สุดในรอบปี"
ภาพพจน์ของคน "จาติกวณิช" เป็นภาพของคนมีฝีมือแต่มักจะโดนมรสุมทางการเมืองเล่นงานเมื่อก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับสูง
สมัยที่หลุยเป็นอธิบดีกรมตำรวจเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ หลุยอยู่ฝ่ายเจ้าจึงถูกจับรวมกัน
ผู้รักษาพระนครแทนรัชกาลที่ 7
เกษม จาติกวณิช จากฝีมือการทำงานของเขา "ผู้จัดการ" เคยเสนอ
ว่าเขาเหมาะกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ซึ่งว่ากันว่าทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเกิดเขม่นและนำมาสู่ขบวนการตามล้างตามเช็ด
"ซุปเปอร์เค" การลาออกจากประธานโครงการปุ๋ยแห่งชาติและธนาคารสยาม
(อ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 43) เนื่องมาจากนโยบายที่ไม่แน่ชัดและรวนเรของรัฐบาลซึ่งบีบให้เกษมต้องลาออกในที่สุด
กล่าวถึงปัจจุบันเกษมหลุดออกจากวงการอำนาจแล้ว
มาถึงไกรศรีซึ่งล่าสุดเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ จากประวัติการทำงานที่ดีเด่น
และเขาอายุ 57 เขามีสิทธิที่จะเป็น
CANDIDATE ตำแหน่งปลัดกระทรวงซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงสุดสำหรับการเป็นข้าราชการประจำ
แต่เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซึ่งยังไม่แน่ว่าเขาจะขออุทธรณ์ต่อกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือไม่
(เพราะเขายังไม่แน่ใจว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน) แต่ถึงเขาจะอุทธรณ์เป็นผลสำเร็จเขายืนยันกับ
"ผู้จัดการ" ว่าจะไม่หวนกลับเข้ามารับราชการอีกต่อไป
ผลตอบแทนข้าราชการคนหนึ่งซึ่งมีเกียรติประวัติขาวสะอาดในการทำงานคือการให้ออกจากราชการ
คงไม่ต้องถามให้ไกรศรีว่าเขารู้สึกเจ็บช้ำเพียงไร ประเด็นที่ไกรศรีเจ็บใจที่สุดคือ
การที่บอกว่าหากให้เขารับราชการต่อไปจะเป็นผลเสียหายต่อราชการ เขาเคยให้สัมภาษณ์
"สู่อนาคต" อย่างเผ็ดร้อนตอนหนึ่งว่า "ผมไม่ได้ตำหนิคณะกรรมการสอบสวนอะไร
ผมตำหนิการใช้ดุลยพินิจของ อกพ.กระทรวงว่ามันชุ่ยขนาดไหน กรรมการที่ลงโหวต
AGAINST ผมนี่…คุณดูไปนะ บางคนเป็นอธิบดีกรมใหญ่กรมหนึ่งแต่เนื่องจากปฏิบัติราชการไม่ได้ผล
ถูกย้ายมาเป็นผู้ตรวจกระทรวงและตอนหลังรัฐมนตรีสุธี ให้มาเป็นรองปลัด บางคนเป็นรองปลัดทั้งๆ
ที่จะเกษียณอยู่แล้วโดยไม่ได้เป็นอธิบดี แสดงว่าฝีมือไม่มี ไม่มีสิทธิเป็นอธิบดี
แล้วบุคคลพวกนี้เหรอจะมาตัดสินว่าถ้าผมปฏิบัติราชการต่อไปจะเกิดผลเสียหาย
เป็นไปไม่ได้" เมื่อรู้ข่าวในสัปดาห์แรกยังปรับใจไม่ทันเขาเครียดและนอนไม่ค่อยหลับ
หลังจากเซ็นรับทราบคำสั่งให้ออกจากราชการ ไกรศรีไปยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานอาคารสงเคราะห์
และประธานบริษัทผาแดงอินดัสตรีซึ่งช่วงพักราชการเขายังไปนั่งทำงานทั้งสองแห่งนี้อยู่
ซึ่ง "ผู้จัดการ" ทราบมาว่า ผู้ที่จะไปเป็นประธานธอส.แทนอาจจะชื่อ
วิโรจน์ เลาหะพันธ์
วันนี้เขากลายเป็นคนตกงานแล้วโดยสมบูรณ์ เพราะเขาไม่มีธุรกิจส่วนตัวใดๆ
มีเพียงบ้านหลังขนาดย่อมในซอยเทียนเซี้ยงสาธรใต้ ซึ่งพ่อเขาปลูกให้และที่ดินที่ซื้อทิ้งๆ
ไว้อีกไม่กี่ไร่ ช่วงที่เกิดเรื่องนี้ เวลากลางวันมักจะหมดไปกับการอ่านหนังสืออยู่บ้าน
หรือไม่ก็ไปตีกอล์ฟซึ่งเป็นกีฬาที่โปรดปราน ตอนเย็นมีคนมาเยี่ยมให้กำลังใจเขาเป็นจำนวนมาก
ยกเว้นข้าราชการกรมศุลฯ ที่บางคนไม่กล้ามาด้วยเหตุว่ากลัวนายใหม่จะเขม่น
และไปพักผ่อนที่บ้านชายทะเลของเขาที่ชะอำเป็นครั้งคราว
คู่ชีวิตของไกรศรีชื่อ รัมภา เธอเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์
จุฬาฯ เมื่ออายุ 32 ลาออกมาทำงานอยู่ที่ยูซ่อมระยะหนึ่ง และเนื่องจากไกรศรีต้องไปปฏิบัติงานที่ต่างประเทศรัมภาจึงลาออกไปอยู่เป็นเพื่อนกับไกรศรี
ปัจจุบันจึงไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร ซึ่งรัมภาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ว่า การที่พี่ไม่ได้ทำงานก็ดีจะได้อยู่เป็นเพื่อนกัน"
ไกรศรีมีบุตรชาย 3 คน คนโตชื่ออธิไกร อายุ 26 ปีทำงานอยู่ฝ่ายการตลาด โดยเป็น
SALES MANAGER บริษัทผาแดง คนกลางชื่อกรณ์ อายุ 23 ปี ปัจจุบันทำงานที่ SG
WARBURY BANK ที่อังกฤษ คนสุดท้ายอนุตร์อายุ 21 ปี เรียนวิศวะอยู่ LEHIGH
UNIVERSITY ที่อเมริกา กรณ์และอนุตร์บินกลับมาอยู่เป็นเพื่อนคุณพ่อตอนคริสต์มาสที่ผ่านมาด้วย
อธิไกรแสดงความรู้สึกของตัวเองว่า ผมว่าผมคิดถูกที่ตัวเองไม่รับราชการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมเสียใจมาก
คนที่ผาแดงเป็นห่วงคุณพ่อกันทั้งนั้น"
วันนี้ไกรศรียังไม่ตัดสินใจที่จะทำอะไร มีคนมาชวนเขาไปทำธุรกิจหลายราย
แต่ยังไม่ตัดสินใจเพราะเขาบอกว่าไม่อยากให้ใครมาเดือดร้อน "ผมอยากอยู่เฉยๆ
สักระยะหนึ่ง ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่าจะทำอะไร ไม่ต้องห่วงผมคงไม่อดตายหรอก"
ไกรศรีเล่ากับ "ผู้จัดการ" เป็นประโยคสุดท้ายด้วยเสียงหัวเราะขื่นๆ
เหมือนจะเยาะโชคชะตาที่เล่นตลกกับเขา