Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2531
วิโรจน์ VS ไกรศรี-ชยุติ             
โดย สาริตา ชลธาร
 


   
www resources

โฮมเพจ กรมศุลกากร

   
search resources

กรมศุลกากร
ชยุติ จิระเลิศพงษ์
ไกรศรี จาติกวณิช
Vehicle
Political and Government




กรณีไกรศรี จาติกวนิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ชยุติ จิระเลิศพงษ์ อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ อีก 12 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ซอเรอร์ จนในที่สุดไกรศรีและชยุติถูกตัดสินให้ออกจากราชการ ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 12 คน การสอบสวนยังไม่ยุติ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อื้อฉาวและตกเป็นข่าวโด่งดังมากในรอบปีที่ผ่านมา

ประเด็นข้อกล่าวหาไกรศรีในช่วงแรกมี 3 ประเด็น

1. ร่วมกันนำรถยนต์นั่งโตโยต้าซอเรอร์เข้ามาโดยเลี่ยงภาษีตามกฎหมาย

2. ได้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวทั้งที่ทราบว่าเสียภาษีไม่ถูกต้อง

3. ปกปิดข้อเท็จจริงในขั้นตอนการเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ส่วนชยุติซึ่งเป็นรองอธิบดีฝ่ายปฏิบัตการเป็นผู้รับผิดชอบการนำรถเข้า ถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมรู้เห็น

เมื่อหมดยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ก็หมดยุคไกรศรีที่กรมศุลกากร คำสั่งย้ายจากสุธี สิงห์เสน่ห์ ให้ไกรศรีไปลงที่กรมธนารักษ์ และวิโรจน์ เลาหะพันธ์ซึ่งเคยย้ายจากธนารักษ์มานั่งสรรพากร ให้มาเป็นอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อ 1 ตุลาคม 2529

เรื่องนี้เริ่มหลังจากที่วิโรจน์อยู่ศุลกากรไม่นานกองศุลกาธิการนำเรื่องว่ามีการเลี่ยงภาษีจากโตโยต้า "ซอเรอร์" เป็นโตโยต้า "มาร์คทู" ทำให้ค่าภาษีอากรขาดหายไป 1,215,375 บาท และมีคนเห็นไกรศรีเคยใช้รถคันนี้อยู่ช่วงหนึ่ง วิโรจน์จึงตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นการสอบลับ เมื่อสอบสวนเสร็จก็ส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลังคือพนัส สิมะเสถียร ซึ่งเรื่องนี้ถูกเก็บเงียบมาหลายเดือน เพราะปลัดเห็นว่าเป็นการกล่าวหาอย่างปราศจากหลักฐาน

เมื่อดำเนินเรื่องตามขั้นตอนไม่ได้ผล ยุทธวิธีการปล่อยข่าวให้กับหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้น ว่ากันว่ามีการถ่ายเอกสารแฟ้มสอบลับให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ มติชนเล่นข่าวนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2530 และลงอย่างต่อเนื่อง ตามด้วย BANGKOK POST และแนวหน้า หลังจากนั้นก็เล่นข่าวนี้กันอย่างมันมือแทบทุกฉบับ ภาพออกมากลายเป็นว่าไกรศรี-ชยุติ เป็นหัวโจกนำเข้ารถเถื่อน โกงภาษี เป็นหลายร้อยล้านบาท

มีการพยายามผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่สภา เปรม มาลากูล รองประธานกรรมาธิการคมนาคมนำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมาธิการ เรียกวิโรจน์และอีกหลายคนไปชี้แจง แต่ตอนหลังประธานกรรมาธิการคือ สราวุธ นิยมทรัพย์ กลับจากต่างประเทศบอกเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการการเงินการคลังมากกว่า เรื่องจึงพับไปพักหนึ่ง

ต่อมาเรื่องนี้ถูกส่งเข้าทำเนียบรัฐบาลผ่านมีชัย ฤชุพันธ์ มือกฎหมายประจำตัวนายกฯ กับประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คำสั่งพักราชการจากทำเนียบออกมาเมื่อ 8 กรกฎาคม 2530 และแต่งตั้งกรรมาธิการสอบสวนประกอบด้วย อำนวย วงศ์วิเชียรเลขาธิการป.ป.ป ชนะ อินทร์สว่าง นิติกร 9 ประจำกระทรวงการคลัง, พิชิต มกรเสน เจ้าหน้าที่สืบสนป.ป.ป. และนายมานิตย์ วิทยาเต็ม เจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับ 8

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเสร็จ กรรมการ 3 คนแรกลงมติให้ไกรศรี-ชยุติไม่ผิดเพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่มัวหมอง ควรให้ออกจากราชการส่วนมานิตย์บอกว่าทั้งสองมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงควรลงโทษไล่ออกจากราชการ

ประเด็นที่บอกว่ามัวหมองนั้น 1) เพราะถูกสอบสวน 2) "น่าเชื่อได้" ว่าไกรศรีช่วยเหลือนายประเสริฐ อภิปุญญา ลูกชายนายประพัฒน์ อภิปุญญา (เสี่ยปอ เจ้าของห้างหยู่ฮวด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเนชั่นแนลคู่กันกับบริษัทซิวเนชั่นแนล) ให้สอบเข้ากรมศุลฯได้ จึงได้รถเป็นเครื่องตอบแทน ส่วนชยุติถือเป็นเพื่อนสนิทประพัฒน์คงจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดการเลี่ยงภาษีและนำเข้ารถให้ไกรศรี ถือว่ามัวหมอง หากให้รับราชการต่อไปจะเป็นผลเสียหายต่อราชการ

ในขั้นตอนการสอบสวน "ผู้จัดการ" พบข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประเด็น

ประการแรก การสอบสวนข้อเท็จจิรงในขั้นแรกเป็นการสอบลับ ทำไมหนังสือพิมพ์จึงรู้อย่างละเอียด ขณะที่ไกรศรี-ชยุติต้องมาตามข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ชยุติแสดงความสงสัยกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นการสอบฝ่ายเดียว และถ้าบริสุทธิ์ใจทำไมไม่เรียกตนไปชี้แจงในขั้นสอบข้อเท็จจริง

ประการที่สอง มีการแจ้งข้อหาเพิ่มในภายหลัง ในวันที่ไกรศรีนำเอกสารไปชี้แจงข้อกล่าวหา 2 ข้อแรก ชะรอยกรรมการจะเกรงว่าถ้าสอบแล้วไม่พบว่าผิดตามข้อกล่าวหา ย่อมจะเกิดความเสียหายต่อภาพพจน์รัฐบาล ซึ่งในที่สุดไกรศรี-ชยุติก็มามัวหมองในประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามานี่เอง ซึ่งอาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ตามหลักนิติศาสตร์แล้วถ้ามีการตั้งข้อหาใดก็ควรจะสอบไปจนสิ้นสุดก่อน ถ้าจะมีข้อกล่าวอื่นก็ควรจะแยกพิจารณาต่างหากไม่ควรจะแจ้งเพิ่มในขณะที่ของเก่ายังสอบไม่เสร็จ

ประการที่สาม คำว่า "มีมลทินมัวหมอง" เป็นคำที่กว้างมาก ต้องมัวหมองแค่ไหนถึงตัดสินให้ออกจากราชการ ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคนว่าโน้มเอียงไปทางไหน ซึ่งตามหลักกฎหมาย เอาผิดโดยดูจากพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาผิดเพราะ "น่าเชื่อได้ว่าผิด" อาจารย์ท่านเดิมกล่าว และถ้ามัวหมองเพียงเท่านี้ โทษที่ได้รับคือการให้ออกจากราชการเป็นความผิดที่สมดุลกับการลงโทษหรือไม่ ในหลายกรณีข้าราชการทำผิดมากกว่านี้แต่โทษอย่างมากก็ย้ายไปประจำกระทรวง

ประการที่สี่ กรรมการชุดสอบวินัยซึ่งเป็นตัวแทนกรมศุลกากรที่วิโรจน์ส่งมานั้นเป็นคนที่มีพื้นเพและพฤติกรรมเช่นไร เหมาะสมที่จะมาเป็นกรรมการสอบสวนหรือไม่??

ไกรศรี เล่าถึงมานิตย์ วิทยาเต็มว่า "ก่อนที่จะได้ซี 8 มานิตย์เป็นซี 7 ที่ซีเนียริตี้สูงพอสมควรควรจะได้เป็นซี 8 มา 2-3 ปีแล้ว แต่ผมเห็นว่าเขาเป็นคนลอกแล่ก ห่วงเรื่องเงินทางมาก และไม่มีศักดิ์ศรี ไม่รักเกียรติของข้าราชการ มาขอซี 8 ผมมาตัดแต่งต้นไม้ตอนที่ผมไม่อยู่บ้าน ปลัดพนัสนี่เป็นคนมาขอผม เพราะเขาเข้าทางเมียปลัดที่เป็นชาวเหนือด้วยกัน ผมบอกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาตัดต้นไม้เพื่อเอาใจนายเพื่อหวังความก้าวหน้า มันน่าเกลียดมาก และนายมานิตย์เป็นคนที่ชอบเขียนบัตรสนเท่ห์ มีอยู่คราวหนึ่งผมจับได้เขาเขียนแล้วลืมไว้ในแฟ้มเอกสาร ผมก็เรียกมาตักเตือน จนมาปีหลังสุดผมให้ไปตัดรำคาญ เขาคงแค้นกราบก็แล้วอะไรแล้วยังไม่ได้สักที"

และชยุติให้ข้อมูลเพิ่มว่า "มานิตย์เพียรมาบอกให้ผมพูดกับอธิบดีไกรศรี แทบจะกราบพื้นแต่ผมบอกการตั้งซี 8 เป็นเรื่องของอธิบดีผมไม่เกี่ยว"

ปัจจุบันมานิตย์ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองป้องกัน ซึ่งเป็นกองที่มีความสำคัญมากกองหนึ่ง

และการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ที่เป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้าย โดยลงมติ 5:4 ยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการสอบวินัย 1 ใน 5 มีนายวิโรจน์ซึ่งเป็นผุ้เสนอเรื่องขึ้นมาโดยมารยาทแล้วควรงดออกเสียง นอกจากนี้นิตยสาร "สู่อนาคต" กล่าวว่า มีอธิบดีกรมหนึ่งไม่ยอมเข้าประชุมโดยปรารภกับผู้ใกล้ชิดว่า "เรื่องของคนเขาจะฆ่ากัน เรื่องอะไรเอาผมไม่เกี่ยว" ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนอะไรได้เยอะทีเดียว

จากกรณีที่เกิดขึ้นมีหลายคนพูดว่า "ไกรศรี-ชยุติ เป็นปลาที่ตายในน้ำตื้นมากๆ" เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ถูกประโคมจนเป็นข่าวใหญ่ ในที่สุดจบลงด้วยบท "โหด" เหมือนเป็นบทที่ถูกเขียนไว้แล้ว

จากการพยายามเสาะหาเหตุผลมาอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น "ผู้จัดการ" พบว่าเป็นเรื่อง "น้ำเน่า" มาก เป็นเรื่องอคติส่วนบุคคลที่เกิดจากความแค้นเอง ซึ่งเมื่อมีโอกาสแล้วต้อง "ฆ่า" ให้อาสัญ!?

ชยุติ จิระเลิศพงษ์ (อ่านประวัติเขาจากล้อมกรอบ) เป็นนักกฎหมายมือฉกาจของกระทรวงการคลัง รับราชการ 9 ปี ได้เป็นถึงนิติกร 9 ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการคลัง เป็นคนที่อดีตปลัดชาญชัย ลี้ถาวรเรียกใช้บ่อยมาก จนดูเป็นคนสนิทของปลัดและช่วงนั้นเขาแก้ปัญหากรณีพิพาทที่ชุมชนพระราม 4 สำเร็จ งานชิ้นนี้สมหมายพอใจมาก ชยุติก็เลยถูกกล่าวขานว่าเป็นหลายปู่อีกคน

วิโรจน์ เลาหะพันธ์ เคยเป็นรองปลัดหลายปี ในสมัยที่ชยุติเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ชาญชัยเป็นปลัด เป็นช่วงที่วิโรจน์คงเป็นรองปลัดตลอดโดยไม่ขยับเขยื้อนไปไหน แม้ว่าจะมีการเพียรเสนออย่างไร และเมื่อถึงวันที่วิโรจน์ได้ออกสู่สนามการเป็นอธิบดีก็เกิดไปได้กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นกรมที่ "อบเชย" ที่สุดในกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นที่สบอารมร์วิโรจน์เป็นอันมาก ว่ากันว่าอดีตรัฐมนตรีสุพัฒน์ สุธาธรรมต้องการให้วิโรจน์ไปสรรพสามิต แต่ปลัดชาญชัยยืนยันจะให้ไปธนารักษ์ (แหล่งข่าวกล่าวว่าวิโรจน์โกรธปลัดมาก ตามปกติทุกเสาร์-อาทิตย์ จะรับปลัดไปตีกอล์ฟ แต่หลังจากนั้นไม่ไปรับอีกเลย) และมันก็ช่วยไม่ได้ถ้าจะมีคนเข้าใจไปว่าชยุติคงมีส่วนทำให้ปลัดชาญชัยวางแนวไปเช่นนั้น

เหมือนฟ้าดินบันดาล ชยุติก็ถูกย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ภายใต้อธิบดีที่ชื่อวิโรจน์ เลาหะพันธ์ เมื่อข่าวนี้ออกมาตอนแรกวิโรจน์ไปพูดกับปลัดชาญชัยว่า คนที่ธนารักษ์เขาบอกว่าถ้า "รอง" มาจากคนนอกเขาจะเดินขบวน ปลัดชาญชัย บอกวิโรจน์ว่าถ้าธนารักษ์เดินขบวนอธิบดีต้องรับผิดชอบ ว่ากันว่าวิโรจน์ไม่สบอารมณ์มากกลับมาบอกกับลูกน้องว่าทางกระทรวงจะส่งรองมาคุมอธิบดี เขาจะแกล้งแช่รองคนนี้ให้เห็นสักที ก็เป็นการประกาศศึกตั้งแต่ชยุติยังไม่มาด้วยซ้ำ

ชยุติเข้ามาเป็นรองฝ่ายทำเหรียญ พร้อมกับการทำงานให้สมหมายเรื่องชุมชนพระราม 4 และรับงานจากกระทรวงที่ไม่เกี่ยวกับธนารักษ์อยู่เนืองๆ ยังความไม่พอใจแก่วิโรจน์มาก กล่าวกันว่าเวลา 2 ปีที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ความขัดแย้งของสองคนนี้ยิ่งกว่าฤทธิ์มีดสั้นของลี้คิมฮวงเสียอีก

ทั้งคู่โคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อวิโรจน์ถูกย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ส่วนชยุตินั้นเป็นรองอธิบดีอยู่ก่อนแล้ว

มาวันแรกวิโรจน์สั่งย้ายข้าราชการระดับซี 8 สลับตำแหน่งกันเกือบหมด ซึ่งชยุติดูรายชื่อแล้วเขาคัดค้านการโยกย้ายทั้งหมดว่าไม่เหมาะสม แต่วิโรจน์ยืนยันที่จะทำตามความคิดของตน ช่วงหลังจากนั้นชยุติ "ถูกแขวน" อีกครั้งหนึ่ง ความขัดแย้งของคนคู่นี้เป็นที่รู้โดยทั่วไปเมื่อมีคนเสนอเรื่องซึ่งอาจจะเอาผิดกับชยุติได้เขาก็ไม่รีรอ ว่ากันว่าวิโรจน์อยากให้ชยุติไปพ้นหูพ้นตามานานแล้วแหล่งข่าวบางกระแสยืนยันว่า วิโรจน์ไม่ได้ตั้งใจไปฟันไกรศรีเข้าให้ด้วย แต่สถานการณ์พาไป

นอกจากนี้เรื่องเป็นการเสนอผ่านมาทาง ดร.กล่อม อิสระพันธ์ รองอธิบดีคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันเกษียณไปแล้ว ซึ่งเป็นที่รู้กันในกรมศุลฯ ว่าเขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชยุติ เรื่องจึงถูกส่งต่อไปยังวิโรจน์อย่างรวดเร็ว

ส่วนไกรศรี จาติกวนิช ช่วงที่เขาอยู่กรมศุลกากร 4-5 ปี เขาต้องการปรับสายงานให้เข้ากับนโยบายการพัฒนาการส่งออกและแก้ปัญหาที่พ่อค้าได้รับการดำเนินงานที่ล่าช้าของกรมศุลกากร

"คุณไกรศรีเข้ามาได้ปีกว่าก็ได้ใช้แต่คนเก่าๆ ตลอด จนวันหนึ่งแกคงทนไม่ได้ที่งานที่สั่งไว้ถูกดำเนินการล่าช้า แกก็เลยต้องการจะปรับปรุงโครงสร้างของบุคลากรเสียใหม่ ตอนนั้นต้องยอมรับว่าแกใจกล้ามาก เพราะแกเลือกและเลื่อนตำแหน่งคนหนุ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และข้ามหัวคนเก่าโดยไม่สนใจเรื่องอาวุโส คุณจะไปโทษแกไม่ได้ เพราะแกต้องการให้โอกาสคนมีฝีมือและคนหนุ่มมักจะมีไฟ ถึงกับตอนนั้นปลัดพนัส พูดกับอธิบดีไกรศรีว่าต้องรับผิดชอบนะที่เข็นแต่คนหนุ่มขึ้นมาข้ามหัวคนแก่ คุณไกรศรีแกก็บอกว่าแกพร้อมจะรับผิดชอบ" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังพูดให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แน่นอนที่สุดคนที่อาวุโสกว่าที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งก็ต้องไม่พอใจเป็นธรรมดา "คุณไกรศรีเองก็มีข้อเสียที่แกเป็นคนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ เป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ และไม่สนใจใครจนเกือบจะกลายเป็นคนรั้นแบบหัวชนฝา ฉะนั้นใครมีปฏิกิริยากับแกมากแกก็ย้ายโครมเลยโดยไม่สนใจและถ้าแกคิดว่าใครมีฝีมือทำงานได้ แกก็จะเสนอตั้งทันทีไม่แคร์ใครเหมือนกันว่าจะข้ามหัวใครบ้าง" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

สี่ปีที่ไกรศรีเป็นอธิบดีคือสี่ปีของการที่ฝ่ายหนึ่งได้ทำงานอย่างหนักในตำแหน่งที่ใครๆ ก็อยากได้ และขณะเดียวกันก็เป็นสี่ปีที่อีกฝ่ายต้องถูกโยกย้ายกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ

ดังนั้นคนที่ไม่พอใจไกรศรีจึงมีอยู่หลายระดับ คนที่ร่วมเป็นพยานกล่าวหาไกรศรีคนหนึ่งคือแสวง บุญชื่น เป็นสารวัตรศุลกากร 7 ซึ่งเป็นคนสนิทของอดีตอธิบดีนาค ไวยหงส์ ในสมัยไกรศรีแสวงโดนสั่งไปอยู่หนองคาย (เดิมเป็นนายด่านอยู่ทางใต้) ซึ่งคนกรมศุลฯ รู้กันดีว่าเป็นที่แห้งแล้งแสวงนั้น ป.ป.ป. เคยส่งข้อกล่าวหามาที่กรมศุลฯ ว่าเป็นผู้สร้างหลักฐานเท็จ มีเรื่องกับตำรวจกรณีจับของที่กรมศุลฯ

ก่อนหน้านี้แสวงเคยขอเข้าพบรองอธิบดีกรมศุลฯ คนหนึ่ง เพื่อขอให้ลูกชายที่เป็นเจ้าหน้าที่แผนกสื่อสารกองป้องกัน ไปเรียนต่อที่อเมริกาโดยขอรับทุนจากกรม คือขอให้จ่ายเงินเดือนระหว่างการเรียนด้วย และพูดเป็นนัยๆ ว่าเขารู้ว่ารถทีอธิบดีเคยขับนั้นเสียภาษีไม่ถูกต้อง คล้ายกับจะต่อรอง "คุณไกรศรีแกไม่ยอม แกไม่รู้เรื่องรถอะไรด้วยหรอก แกไม่อนุมัติให้จ่ายเงินเดือน ส่วนจะไปเรียนก็ไป เพราะสายที่เขาจะไปเรียนต่อไม่ใช่ความต้องการของกรม" แหล่งข่าวระดับสูงในกรมศุลฯกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แสวงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสืบสวนการป้องกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งกองนี้เป็นกองที่มีพาวเวอร์เพราะมีเรื่องเงินรางวัลด้วย แสวงเป็นลูกน้องโดยตรงของมานิตย์

ยุคของวิโรจน์ จึงเป็นยุคที่คนเก่าๆ ที่เคยถูกข้ามหัวไป กลับมีอำนาจขึ้นมาเป็นทิวแถว ขณะที่คนที่สนิทกับไกรศรี ก็จะถูกย้ายไปอยู่ในหน่วยงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ

สำหรับวิโรจน์กับไกรศรี ทั้งคู่ไม่เคยทำงานร่วมกัน ไม่เคยไปมาหาสู่กัน เคยกินข้าวด้วยกันตามงานไม่เกินสองครั้ง แต่ไม่เคยปรากฏว่าคนคู่นี้มีเรื่องขัดแย้งกันแต่ประการใด คนกรมศุลฯคนหนึ่งวิจารณ์วิจารณญาณของวิโรจน์ว่า "ความจริงถ้าวิโรจน์ ทำใจเป็นกลางเสียแต่ทีแรกที่ทราบเรื่องก็ยุติได้ เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องรถคันเดียว และรถดังกล่าวก็ถูกจับและยึดเป็นของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว แต่เท่าที่ผมทราบแทนที่จะเป็นเช่นนั้นเขากลับสนับสนุน คุณเข้ามาตรวจสอบในกรมศุลฯ ได้เลยว่าพวกพยานทั้งหลายได้ 2 ขั้นกันเป็นทิวแถวเลย" แหล่งข่าวกล่าว

ตรงนี้ถ้าวิเคราะห์โดยดูจากวัฒนธรรมการขึ้นสู่อำนาจของผู้ใหญ่ในบ้านเรา มักจะมีลักษณะสองประการคือ 1) ต้องเอาอกเอาใจผู้ใหญ่เก่งหรือพูดง่ายว่า "เชลียร์" 2. การพยายามขจัดคู่แข่งที่จะขึ้นสู่อำนาจ แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลังกล่าวว่าขณะนี้กระทรวงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าตำแหน่งปลัดนั้นควรจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นปลัดพนัสที่อยู่มา 5 ปีแล้วก็อาจจะพ้นวาระไป ตำแหน่งปลัดกระทรวงก็อาจจะว่าง ทั้งคู่ซึ่งมีอายุราชการเหลือใกล้เคียงกันก็อาจจะมีสิทธิทั้งคู่ ทฤษฎีการขึ้นสู่อำนาจนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ทิ้งไว้เป็นปริศนาก็แล้วกัน

หากเราจะวิเคราะห์ต่อไปว่าทำไมเรื่องนี้จึงถึงทำเนียบได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องรถคันเดียว กระทรวงการคลังตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเองก็ได้ แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เรื่องนี้คนที่รู้เรื่องดีคือมีชัย ฤชุพันธ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก และประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งถ้าเราดูว่าเพื่อนกลุ่มไหนของมีชัยที่เป็นอริกับไกรศรี จะพบว่ามีมานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตกรรมการผู้จัดการธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) ที่ถูกไกรศรีปลด ปัจจุบันเป็นส.ส.โคราช เพื่อนกลุ่มเดียวกับเขามีชัชวาล อภิบาลศรี (ลูกชายอดีตรองอธิบดีกรมศุลฯ-เชิญ อภิบาลศรี ปัจจุบันชัชวาลเป็นวุฒิสมาชิก และปรีชา ชวลิตธำรงค์เดิมเป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวนกองป้องกัน ปัจจุบันได้ขึ้นเป็น ผอ.กองวิเคราะห์ราคา เป็นเด็กติดตามกลุ่มนี้…ผมว่าสายนี้แหละ

ปรีชา ชวลิตธำรงค์เคยพยายามจะชวนไกรศรีเข้ากลุ่ม เคยพูดทำนองว่าให้ไปพักบ้านชัชวาลที่หัวหินซึ่งมีชัยไปประจำ แต่ไกรศรีไม่สนใจเพราะมีบ้านของตัวเองที่ชะอำอยู่แล้ว

ส่วนมานะศักดิ์นั้น ไกรศรีเขียนชี้แจงข้อกล่าวหาและแนบประวัติการทำงานของตน ตอนหนึ่งเขียนถึงการทำงานที่ธอส.ว่า "…การแก้ปัญหาความเสียหายและฟื้นฟูธนาคารให้ได้ผลประการแรกคือ จักต้องเปลี่ยนตัวผู้จัดการซึ่งในขณะนั้นคือนายมานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต…ตั้งแต่นั้นมามานะศักดิ์ ก็มีความเคียดแค้นข้าฯ และตั้งตนเป็นอริกับข้าฯ ตลอดมา โดยพยายามใช้อำนาจหน้าที่จากตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นส.ส.ในปัจจุบัน…"

อย่างไรก็ตามมานะศักดิ์ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ทางโทรศัพท์ว่า เขาไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมสื่อมวลชนจึงพยายามวิเคราะห์เรื่องของไกรศรีให้เกี่ยวกับตัวเขา ทั้งๆ ที่เรื่องที่ธอส. ก็จบไปตั้งนาน และเขาไม่เคยโกรธแค้นไกรศรี เพราะคราวนั้นเขาถือว่าเป็นมติครม. ซึ่งเขาก็ยอมรับโดยดุษฎี

แหล่งข่าวอีกกระแสหนึ่งวิเคราะห์ว่า "นอกจากเหตุผลที่ควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลมแล้ว ในทางการเมืองนั้นเมื่อคราวที่นายทหารใหญ่คนหนึ่งเตรียมที่จะทำการรัฐประหาร (แต่ไม่กล้าทำ) ได้มีการเตรียมโผครม. ปรากฏว่ามีชื่อไกรศรีเป็นรมต.ช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วย นี่อาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่กุนซือของ พล.อ.เปรมอย่างประสงค์ สุ่นศิริ หวาดระแวงไกรศรี ก็เลยถือเป็นการตัดไฟเรื่องการเมืองเสียอีกทาง"

ไกรศรีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาไม่เคยใฝ่ฝันจะเข้าสู่วิถีทางการเมืองเลย กับนายทหารใหญ่ผู้นั้น "ท่านเคยส่งคนมาขอส่วนประกอบรถอัลฟาโรมิโอจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นของตกค้างที่กรมศุลฯ เพื่อไปใช้ในราชการหน่วย 123 ผมก็ให้ไป และอีกครั้งตอนที่ท่านไปตรวจราชการที่ได้ ก็เอาผมไปช่วยจับของเถื่อน แล้วก็ไม่เคยไปมาหาสู่กันเลย" ไกรศรีเล่า

นอกจากนี้ในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลฯ เป็นกรมใหญ่ที่มีผลประโยชน์มาก มักจะมีข้าราชการการเมืองมาขอใช้อภิสิทธิ์อยู่เนืองๆ ซึ่งไกรศรีเป็นคนแข็งไม่เคยยอม อาจจะทำให้หลายคนไม่พอใจ

ดูเหมือนไกรศรีจะมีศัตรูอยู่รอบทิศ ซึ่งถ้าถามเขาจริงๆ ว่าใครทำเขาในครั้งนี้ เขาเองก็ไม่แน่ใจเช่นกัน เพียงแต่ก็พอรู้และปักใจเชื่อว่าเป็นใครบ้าง

สำหรับกรณีนี้วิโรจน์อาจจะเป็นเพียงตัวชูโรงให้ใครต่อใครอีกหลายคน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้วิโรจน์อาจจะทำไปตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจมีแต่ตัววิโรจน์เท่านั้นที่จะรู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร เสียดายที่วิโรจน์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งนี้กับ "ผู้จัดการ" ด้วยเหตุผลว่า "ไม่ว่าง" มิฉะนั้นคงได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ

กรณีไกรศรี-ชยุติ เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2530 ต้นมกราคมก็พิจารณาเสร็จหมดทุกขั้นตอนนับว่าเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งเชื่อกันว่าการที่เรื่องนี้เสร็จเร็ว "เพราะนายกฯลงมาเล่นเอง" เมื่อกรรมการสอบวินัย แจ้งผลไปยังทำเนียบ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ลงนามเห็นด้วยและแทงเรื่องมาให้ อ.ก.พ. กระทรวงลงโทษ "โดยไม่มีลายเซ็นนายกฯ" จนในที่สุด อ.ก.พ.ก็ตัดสินคงตามความเห็นดังกล่าว

"ผมว่าเรื่องนี้อ.ก.พ.ถูกแทรกแซง เพราะเมื่อมีความเห็นนายกฯ แทงมาและที่สำคัญเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติไปแล้ว ถ้าผลออกมาปรากฏว่าไม่ผิด รัฐบาลจะเสียหน้ามาก" แหล่งข่าววิเคราะห์

กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ มีความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการใช้กลไกของรัฐและช่องว่างทางกฎหมาย (เช่นการตีความคำว่ามีมลทินมัวหมอง) ทำลายกัน และเห็นได้ชัดว่าข้าราชการการเมืองบีบข้าราชการอยู่ในทีแม้ว่าข้าราการประจำด้วยกันจะลงมือกันเองด้วยก็ตาม

พงศ์เพ็ญ ศกุนตภัย รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลกระทบต่อข้าราชการประจำโดยทั่วไปว่า "ผมว่าจะทำให้ข้าราชการที่ดีไม่มีขวัญและกำลังใจ บ้านเรายังไม่มีกลไกทางกฎหมายที่ควบคุมนักการเมือง ดังนั้นข้าราชการการเมืองสามารถใช้อิทธิพลทางกฎหมายบีบข้าราชการประจำตลอดเวลา ผมพูดในกรณีทั่วไปว่าถ้าข้าราชการประจำไม่ตอบสนองข้าราชการการเมือง สิ่งที่ตนได้รับอาจจะหมายถึงการหลุดออกจากตำแหน่ง หรือการถูกโยกย้าย"

ไกรศรี-ชยุติ เขาถูกตัดสินให้ออกจากราชการซึ่งก็หมายถึงการจบชีวิตราชการ ถ้าเขาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์กับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่เพราะคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนก็มีผู้บังคับบัญชาคือรัฐบาลเหมือนกัน

ในอดีตอำนวย วีรวรรณ ถูกปลดออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ซึ่งเขายื่นอุทธรณ์ แต่กว่าจะพ้นพงหนามก็ต่อเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นนายกชื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ กรณีนี้มิต้องรอให้เปลี่ยนรัฐบาลกันก่อนหรือ?

"ปัจจุบันเราไม่มีกลไกอะไรจะไปยกเลิกคำสั่งนายกฯได้ ปัญหานี้ทำให้ข้าราชการประจำต้องสยบยอมข้าราชการการเมือง ถ้ามีคำสั่งนายกฯ มานี่คุณจบเลย ศาลปกครองคือที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ ปัจจุบันเรามีแต่ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลปกครองมีหน้าที่พิจารณาคดีระหว่างรัฐกับราษฎร และเจ้าหน้าที่ของรับกับผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นองค์กรอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส เขามีในรูปแบบต่างๆ กันไป ศาลปกครองนี่จะเข้าควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมือง สมัยที่ผมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 เคยบรรจุเรื่องนี้ไว้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมือง ทั้งที่บุคลากรของเราที่จบมาทางกฎหมายมหาชนมีมากมาย ถ้ามีศาลปกครองไกรศรี-ชยุติสามารถฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งที่กฎหมายมหาชนที่จบจากสำนักฝรั่งเศสอธิบายถึงสรรพคุณของศาลปกครอง

แต่ตราบใดที่บ้านเมืองเรายังปกครองแบบกึ่งเผด็จการ ศาลปกครองคงไม่มีวันได้ผุดได้เกิดและวัฏจักรแห่งการเข่นฆ่ากันก็คงจะยังอยู่ (โดยปราศจากกลไกถ่วงดุล) ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถช่วงชิงโอกาสยามที่อีกฝ่ายพลาดพลั้ง วัฏจักรน้ำเน่าคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานนัก???

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us