Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2531
รอยัลริเวอร์ โฮเต็ล แล้วก็หาจุดลงตัวได้ในที่สุด             
 


   
search resources

เจ้าพระยาสยาม (1975)
เฉลิมพล มหุตติการ
Hotels & Lodgings
โรงแรมรอยัลริเวอร์ The Royal River Hotel




เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ถ้าใครข้ามสะพานกรุงธนจากฝั่งกรุงเทพฯ ไปฝั่งธนฯ เหลียวมองทางด้านขวามือก็จะเห็นโครงสร้างอาคารสูงตระหง่านตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฟากฝั่งธนฯ และมักจะต้องตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่าอาคารแห่งนี้จะสร้างให้เป็นอะไรกันแน่?

หลายปีผ่านไปพร้อมๆ กับโครงสร้างอาคารที่อยู่แค่ไหนก็ยังคงแค่นั้น โดยไม่มีอะไรคืบหน้าทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าในที่สุดก็คงจะต้องทุบทิ้งหรือทรุดโทรมไปเอง ว่าไปแล้วก็น่าเสียดายไม่น้อยเหมือนกัน

แต่นั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่ลืมไปได้แล้ว!!

อาคาริมน้ำที่สร้างคาราคาซังหลายปีถึงวันนี้กลับโดดเด่นเป็นสง่าโดยเฉพาะในยามค่ำคืน เมื่อประดับไฟระยิบระยับสะท้อนกับพริ้วคลื่นของสายน้ำและใครต่อใครต่างรู้จักในชื่อ "รอยัลริเวอร์ โฮเต็ล" โรงแรมหรูแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ฝั่งธนฯ โดยที่ผู้ลงทุนก็ถือว่าจุดนี้เป็นจุดขายจุดหนึ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า ฝั่งธนฯ เป็นย่านที่ทำอะไรไม่ค่อยจะขึ้นโดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ระดับนี้

"เราวิเคราะห์ตลาดผิดไปในช่วงนั้น คือเรามีที่ดินแปลงนี้อยู่ก็คิดจะทำเป็นตลาดสี่มุมเมืองรองรับการย้ายตลาดปากคลองตลาดที่เป็นนโยบายรัฐบาลยุคนั้น" วินัย สกุลชัยวาณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ้าพระยาสยาม (1975) เจ้าของอาคารโรงแรมรอยัลริเวอร์ เล่าถึงปมเงื่อนที่ทำให้อาคารแห่งนี้ปล่อยร้างอยู่หลายปีก่อนจะลงตัวกลายเป็นโรงแรมหรูในทุกวันนี้ได้สำเร็จ

บริษัทเจ้าพระยาสยาม (1975) นั้นตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2518 มีตระกูลสกุลชัยวาณิชย์ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งถือโดยตระกูลธรรมวโรกับตระกูลวงศ์ชัยบูรณ์ เจ้าพระยาสยามวางเป้าหมายทำธุรกิจซื้อขายที่ดินและรับเหมาก่อสร้าง โดยที่โครงการใหญ่ในช่วงนั้นก็คือการสร้างตลาดและอาคารพาณิชย์บนที่ดินย่านฝั่งธนใกล้ๆ กับสะพานกรุงธนดังกล่าว

"เราสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 300 คูหา สร้างโรงภาพยนตร์ลาสเวกัสแล้วก็ตั้งใจว่าจะสร้างตลาด ที่เห็นเป็นอาคารสูงนั่นแหละชั้นล่างจะเป็นตลาดเหมือนๆ กับปากคลองตลาด ส่วนชั้นบนก็จะใช้เป็นที่พักของพ่อค้า แม่ค้า มีท่าเรือขนส่งสินค้าทีท่ารถเราเตรียมการใหญ่มาก เพื่อจะรองรับการย้ายปากคลองตลาด…" วินัย สกุลชัยวาณิชย์ บอกกับ "ผู้จัดการ"

และก็คงเป็นจริงตามความตั้งใจของเจ้าพระยาสยามในฐานะผู้ลงทุนไปแล้ว ถ้าเผอิญ ไม่มีปัญหาว่า ปากคลองตลาดยังไม่ย้ายและตลาดที่เจ้าพระยาสยามลงทุนสร้างไปแล้วนั้น เอาเข้าจริงก็ต้องถือว่าเล็กเกินกว่าที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ถึงขั้นสามารถดึงดูดให้คนหันมาจับจ่ายสินค้าแทนปากคลองตลาดที่อยู่มาเก่าแก่

อาคารพาณิชย์ 300 คูหารวมทั้งโรงหนังยังพอเอาตัวรอดไปได้ แต่อาคารริมน้ำที่ตั้งใจจะสร้างเป็นตลาดสดในที่สุดก็ต้องปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้นโดยที่เจ้าพระยาสยามเองก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ไม่ทราบว่าจะหันเหไปทำอะไร

"ก็ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงด้วย เขาก็เลยไม่กล้าตัดสินใจผลีผลาม…" แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องเล่าให้ฟัง

ในช่วงปี 2525 เป็นช่วงที่ตลาดคอนโดมีเนียมกำลังบูมเจ้าพระยาสยามก็ร่ำๆ ว่าจะใช้อาคารที่สร้างคาราคาซังนี้ทำเป็นคอนโดมีเนียม

ว่ากันว่าทุกอย่างลงตัวถึงขึ้นจัดทำแผนการตลาดแผนประชาสัมพันธ์กันไว้แล้วเสร็จสรรพ แต่เผอิญติดขัดเรื่องข้อกฎหมายและคอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งเพิ่งจะโดนเล่นงานสดๆ ร้อนๆ (โดยที่มีการดัดแปลงอาคารเหมือนๆ กับที่เจ้าพระยาสยามกำลังคิดจะดัดแปลง) เจ้าพระยาสยามก็เลยต้องถอยอีกครั้ง

อดีตตลาดสดที่เกือบจะกลายเป็นคอนโดมีเนียมริมน้ำอยู่รอมร่อถูกปล่อยให้รกร้างไร้การเหลียวแลอีกครั้ง

และก็คงไม่มีใครกล้าคิดว่าที่นี่จะสามารถพลิกฟื้นได้สำเร็จ

"ซึ่งก็ไม่เชิงหรอกครับ เขาคิดตลอดเวลาว่าจะต้องพลิกฟื้นให้ได้ แต่บังเอิญกำลังมีเรื่องวุ่นๆ ก็เลยไม่มีเวลาลงมือจริงจัง" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าเพิ่มเติม

สมบูรณ์ สกุลชัยวาณิชย์พ่อของวินัย เสียชีวิตในช่วงนั้นและหุ้นส่วนฝ่ายธรรมวโรซึ่งมีกำธรเป็นหัวเรือใหญ่เกิดเบื่อหน่ายความล่าช้าก็ประกาศขายโครงการที่ค้างอยู่ โดยตั้งราคาไว้สูงถึง 100 ล้านบาท ในขณะที่บรรยากาศทั่งๆ ไปก็ยังเป็นช่วงเงินฝืด ดอกเบี้ยสูงอีกทั้งยังมีมาตรการจำกัดสินเชื่อแบงก์ไม่ให้ขยายตัวเกิน 18 เปอร์เซ็นต์ผสมโรงเข้าไปอีก สรุปแล้วทุกอย่างสำหรับเจ้าพระยาสยามแล้วก็มีแต่ความยุ่งเหยิงไปหมด

มาเริ่มคลี่คลายก็ราวๆ ต้นๆ ปี 2529 แล้วนั่นแหละ

วินัยที่เข้าดูแลกิจการแทนสมบูรณ์ผู้พ่อที่ถูกยิงเสียชีวิตรับซื้อหุ้นในส่วนของฝ่ายธรรมวโรทั้งหมด เขาเตรียมการเงียบๆ ด้วยการเข้าเจรจากับแบงก์ไทยพาณิชย์ขอการสนับสนุนทางด้านการเงินและในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น เจ้าพระยาสยามโดยวินัย สกุลชัยวาณิชย์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการก็ประกาศใช้อาคารที่ปล่อยว่างดังกล่าวก่อสร้างเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวมีจำนวนห้องพัก 404 ห้อง

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นโครงการ รอยัลริเวอร์โฮเต็ล ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการไปเมื่อเร็วๆ นี้ และทุกอย่างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว

"โรงแรมของเราจัดเป็นซุพีเรีย เฟิร์สท์ คลาส เราอิงคอนเซ็ปท์โรงแรมแบบรีสอร์ทโฮเต็ลเน้นบรรยากาศริมน้ำ จุดขายของเราอยู่ที่เทอเรสริมน้ำซึ่งกว้างขวางมาก เราสามารถโปรโมท เอฟแอนด์บี ของเราได้เต็มที่ นอกจากนี้เรายังเป็นโรงแรมที่อยู่ฝั่งธนฯ ที่มองแสงสียามค่ำคืนของฝั่งกรุงเทพฯ ได้เต็มตา ในขณะที่อื่นๆ อยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ มองฝั่งธนฯ ก็มีแต่เงาตะคุ่มของต้นไม้" เฉลิมพล มหุตติการ ผู้จัดการทั่วไปของรอยัลริเวอร์โฮเต็ลพูดถึงโรงแรมที่เขาถูกทาบทามให้เข้ามาบริหาร

เฉลิมพล เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ คนที่ถูกดึงตัวเข้ามารับผิดชอบงานใหญ่ย่านฝั่งธนฯ ที่กลุ่มเจ้าพระยาสยามเป็นผู้ลงทุนเขามีอดีตเป็นศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ ที่ออกมาเมื่อยังเรียนเพียงปี 3 เคยทำงานอยู่โรงแรมปรินซ์ของชนัตย์ ปิยะอุยช่วงหนึ่งก่อนเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านการโรงแรมที่สหรัฐฯ เฉลิมพลร่วมงานอยู่กับโรงแรมมโนราห์ก่อนหน้าจะมาอยู่ที่นี่ และเขาเข้ามาพร้อมกับดึงมนูญ อินทรโยธา ผู้อำนวยการฝ่ายขายของรอยัลออร์คิดเชอราตันมาเป็นรองผู้จัดการทั่วไป สมนึก สุสาริกานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเอฟแอนด์บีจากเซนจูรี่พลาซ่าโรงแรมในสหรัฐฯ ถูกดึงเข้ามารับผิดชอบงานด้านที่เขาถนัดและไชยวรรณ วจีทัศนีย์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย

ซึ่งก็ต้องนับว่าล้วนแต่เป็นมือเก่าผู้คร่ำหวอดด้วยกันทุกคน

รอยัลริเวอร์ โฮเต็ล ผงาดขึ้นเหนือลำน้ำเจ้าพระยาแล้วในวันนี้

กว่าจะเป็นรอยัลริเวอร์โฮเต็ล ได้ในวันนี้ผู้ลงทุนเหน็ดเหนื่อยมากๆ กับระยะเวลาที่ยืดเยื้อและพลิกผันของโครงการ

ส่วนเส้นทางข้างหน้าจะเป็นฉันใดนั้น ก็คงจะต้องลุ้นกันต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us