ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดสินเชื่อแบงก์พาณิชย์เดือนก.พ.ลดลงจากเดือนม.ค.กว่า 5 หมื่นล้านหรือ 0.93% เป็นส่วนของแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่โดยเฉพาะ"ไทยพาณิชย์"ลดลงมากสูด 3.6 หมื่นล้าน รวม 2 เดือนแรกของปีสินเชื่อลดลง 1.4 แสนล้านหรือ 2.51% ระบุเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่เงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.เล็กน้อย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 มียอดคงค้างสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวน 5,669,429 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 53,218 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 0.93 และหากเทียบกับสิ้นปี 2551 แล้วยอดสินเชื่อคงค้างลดลง 145,847 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.51 ขณะเดียวกัน แม้อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.88 แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 10.97 ในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง สินเชื่อปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 31,023 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.82 นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสินเชื่อลดลงจำนวน 36,532 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงบัญชีของสินเชื่อที่ธนาคารให้กับบริษัทในเครือแห่งหนึ่ง มาเป็นเงินลงทุน ขณะเดียวกัน สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยและกรุงเทพ ลดลง 7,573 และ 4,413 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารกรุงไทยกลับมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 17,495 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง สินเชื่อปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 19,347 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.38 อันเป็นผลจากการลดลงของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 8,610 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารทหารไทย 7,173 ล้านบาท และธนชาต 3,942 ล้านบาท ส่วนธนาคารนครหลวงไทยมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 378 ล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง สินเชื่อลดลงจากเดือนที่แล้วจำนวน 2,849 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.54 โดยเป็นผลจากการลดลงของสินเชื่อที่ธนาคารยูโอบี 3,873 ล้านบาท ไทยธนาคาร 669 ล้านบาท เกียรตินาคิน 415 ล้านบาท และสินเอเซีย 185 ล้านบาท แม้ว่าธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยและทิสโก้จะมีสินเชื่อเติบโต 1,802 และ 492 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,551,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 79,704 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.23 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ แม้ว่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากจะเติบโตร้อยละ 6.16 แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 7.07 ในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการชะลอตัวของเงินให้สินเชื่อสุทธิ โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจำนวน 93,314 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.19 อันเป็นผลจากการออกโครงการเงินฝากพิเศษเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เงินฝากที่เพิ่มขึ้นนั้น นำโดยธนาคารกรุงเทพจำนวน 40,774 ล้านบาท ไทยพาณิชย์จำนวน 34,973 ล้านบาท กรุงไทยจำนวน 14,496 ล้านบาท และกสิกรไทยจำนวน 3,071 ล้านบาท
กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 10,566 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.66 ตามการลดลงของเงินฝากที่ธนาคารทหารไทยและธนชาตจำนวน 10,988 และ 6,004 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่เงินฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและนครหลวงไทยเพิ่มขึ้น 4,908 และ 1,518 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้ว 3,044 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.50 อันเป็นผลจากการลดลงของเงินฝากที่ธนาคารไทยธนาคารจำนวน 10,710 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารเกียรตินาคินและยูโอบีที่เงินฝากลดลงในปริมาณใกล้เคียงกันที่จำนวน 2,207 และ 2,181 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ทิสโก้ และสินเอเซีย มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 7,375 4,565 และ 113 ล้านบาท ตามลำดับ
และสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวน 8,746,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 153,067 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.78 ตามการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 141,029 ล้านบาท โดยเฉพาะจากธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และกรุงไทย เช่นเดียวกันสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น 12,612 ล้านบาท นำโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลาง มีสินทรัพย์ลดลง 573 ล้านบาท จากการลดลงของสินทรัพย์ธนาคารทหารไทยและธนชาต
|