ปตท. แตกไลน์ธุรกิจ ไฟเขียวบริษัทย่อยซื้อหุ้นโฮลดิ้งส์เหมืองถ่านหินจากบริษัทในออสเตรเลีย มูลค่า 1.18 หมื่นล้านบาท เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการลงทุนในระยะยาว กำหนดชำระเงินงวดแรก 7,774.8 ล้านบาท ภายในเมษายนนี้ ส่วนที่เหลือจ่ายเมื่อได้รับการยืนยันการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณสำรองถ่านหินของเหมืองถ่านหินที่เกาะ Sebuku ในอินโดนีเซีย ล่าสุดพบบิ๊กล็อตหุ้นกลุ่มปตท. 10 รายการ รวม164 ล้านบาท ตามกระแสหุ้นพลังงานดีดตัวดันดัชนีเพิ่ม
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา Lints Limited, Hong Kong ( Lints ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTI) หรือบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100 % โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ปตท.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Share sale agreement) กับบริษัท Straits Resources Limited (SRL) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ออสเตรเลีย เพื่อซื้อหุ้นบริษัท Straits Bulk and Industrial Pty Limited (SBI) (บริษัทย่อยที่ SRL ถือหุ้น 100 %) คิดเป็น 60 % ของหุ้นทั้งหมด ในมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 11,838.9 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) (การเข้าซื้อกิจการ)
ทั้งนี้ การซื้อหุ้น SBI ซึ่งทำธุรกิจถ่านหินสอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ที่จะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของ ปตท. ในระยะยาว ซึ่ง SBI เป็นบริษัทที่ SRL ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (HoldingCompany) โดย ณ ปัจจุบัน SBI ถือหุ้นในสินทรัพย์ที่สำคัญคือถือหุ้น 47.1 % ในบริษัท Straits Asia Resources (SAR) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX)
สำหรับ SAR ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ SBI เป็นผู้ผลิตถ่านหินที่มีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ และมีโอกาสที่จะเติบโตในระยะยาว มีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพและมีพนักงานที่มีประสบการณ์สูง และการซื้อหุ้น SBI ในครั้งนี้เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้แล้ว (producing coal assets) อยู่ระหว่างการพัฒนา และอยู่ระหว่างการสำรวจ ส่งผลให้ ปตท.สามารถรับรู้ผลการดำเนินงานจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องและทันที
ส่วนสาเหตุ การซื้อกิจการดังกล่าวเนื่องจาก เหมืองถ่านหินที่ SBI ถือหุ้นเป็นเหมืองที่มีศักยภาพทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อไป (Upside potential) โดยไม่จำเป็นต้องเรียกเงินทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้นในช่วงนี้ และการลงทุนของ ปตท.ในครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างพื้นฐาน พันธมิตรทางกลยุทธ์ร่วมกับหุ้นส่วนทางการค้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเหมืองแร่และพลังงานของ ปตท.
ขณะเดียวกัน การจ่ายชำระเงินจำนวนแรก 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 7,774.8 ล้านบาท) จะชำระเมื่อคู่สัญญาต่างได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions Precedent) ของสัญญาซื้อขายหุ้นสำเร็จเรียบร้อย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปีนี้ ส่วนเงินส่วนที่เหลือไม่เกิน 115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 4,068.7 ล้านบาท) จะชำระเมื่อได้รับการยืนยันการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณสำรองถ่านหิน (JORC reserve upgrades) ของเหมืองถ่านหินที่เกาะ Sebuku ซึ่งตั้งอยู่ที่ South Kalimantan ประเทศอินโดนีเซีย หรือกรณีอื่นตามที่ Lints และ SRL จะตกลงกัน ทั้งนี้ จำนวนเงินที่จ่ายจริงขึ้นอยู่กับวันที่ได้รับการยืนยันดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะชำระเงินได้ภายในปี 2552 เช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อการเข้าซื้อกิจการข้างต้นเสร็จสิ้นลง Lints จึงต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดของ SAR (ไม่รวมส่วนของหุ้นที่ถือหรือหุ้นที่ตกลงจะซื้อโดย Lints ) ในราคาเสนอซึ่งกำหนดราคาโดยการอ้างอิงข้อกำหนดในประมวลกฏหมายว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการของประเทศสิงคโปร์ของ SGX ซึ่งคำนวณจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (daily Volume Weighted Average Prices) ของหุ้น SAR ที่ซื้อขายใน SGX ย้อนหลัง 20 วันทำการนับจากวันทำการก่อนหน้าวันประกาศการเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นฉบับนี้
กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2552 และ Lints ต้องทำคำเสนอซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ซื้อหุ้นสามัญ (warrants) จำนวนรวมทั้งสิ้น 35 ล้านหน่วย โดยราคาเสนอซื้อจะคำนวณตามหลักการคำนวณราคาแบบ See Through basis ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อกับราคาแปลงสภาพของวอร์แรนต์ซื้อหุ้นสามัญ ขณะที่ SBI ได้ออกคำรับรองที่เพิกถอนไม่ได้แก่ Lints ว่า จะไม่เข้าเสนอขายหุ้นจำนวนประมาณ 47.1% ใน SAR ตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ Lints
โดย แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหุ้น SBI และการทำคำเสนอซื้อหุ้น SAR นั้น ปตท. จะเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนให้แก่ Lints ผ่านทาง PTTI สำหรับการซื้อหุ้น SBI และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ SAR โดยเบื้องต้น อีกทั้งปตท.จะเพิ่มทุนจดทะเบียนใน PTTI และให้กู้ยืมเงิน (Shareholder's Loan) โดยมีเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ทั่วไป ซึ่ง PTTI จะดำเนินการจัดโครงสร้างทางการเงินตามความเหมาะสมต่อไป
อนึ่ง การเข้าซื้อหุ้น SBI และการทำคำเสนอซื้อหุ้น SAR คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2552
พบบิ๊กล็อตเครือปตท.164ล้าน
ส่วนตลาดหุ้นไทย วานนี้ปิดที่ ปิดที่ 438.17 จุด เพิ่มขึ้น 8.53 จุด หรือ 1.99 % มูลค่าการซื้อขายรวม 15,134.49 ล้านบาทหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ1.PTT ปิดที่ 160.00 บาท เพิ่มขึ้น 9.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,735 .37 ล้านบาท2.PTTEP ปิดที่ 98.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,929.44 ล้านบาท3.BANPU ปิดที่ 224.00 บาท เพิ่มขึ้น 12.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,220.10 ล้านบาท4.SCB ปิดที่ 55.00 บาท เพิ่มขึ้น 1 .00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 898.92 ล้านบาท5.KBANK ปิดที่ 44.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 847.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่ขานรับการที่รัฐมนตรีการคลังของสหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดของแผนที่จะให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันขจัดหนี้เสียออกจากระบบสถาบันการเงิน และใกล้ช่วงปิดงบไตรมาส 1/52 ประกอบกับ สัญญาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ค.52 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาปิดที่ 52.07 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป
ขณะเดียวกัน พบว่ามีการทำรายการซื้อขายหุ้นในกลุ่มปตท.บนกระดานใหญ่ (BIG LOT) รวม 10 รายการ มูลค่ารวม 164.94 ล้านบาท แบ่งเป็น PTT 5รายการ 610,200 หุ้น มูลค่า 97.391 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ย 159.61 บาท หุ้นPPTCH 1รายการ 1,371,000 หุ้น มูลค่า 41.404 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 45.46 บาท PTTEP 3รายการ 223,000 หุ้น มูลค่า21.985 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 98.59 บาท และ PTTEP-F 1รายการ 42,200 หุ้น มูลค่า4.16 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 98.60 บาท
|