|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ไวไว” ต่อยอดแบรนด์ที่แข็งแกร่งจากตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แตกไลน์สินค้าใหม่สนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน ส่งแบรนด์ "รสเด็ด" ลงตลาดเครื่องปรุงรส เข้าร่วมชิงเค้กในตลาด 5 พันล้านบาท สะเทือนบัลลังก์ “รสดี” และ “คนอร์” ด้วยการตั้งเป้าหมายปี ‘52 มีส่วนแบ่งตลาด 5% และปี ‘53 เพิ่มเป็น 10%
ปัจจัยที่ทำให้ ไวไว ต้องขยับจากตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปเล่นในตลาดผงปรุงรส ภายใต้แบรนด์ “รสเด็ด” วางตำแหน่งสินค้าเป็นผงปรุงสำเร็จ สำหรับประกอบอาหาร ภายใต้สโลแกน “เพียง รสเด็ด” ก็เสร็จสรรพ” จับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายกลุ่มชาย หญิง อายุตั้งแต่ 25-40 ปี ที่ชอบความสะดวก ที่มาพร้อมกับความอร่อย นั่นเพราะปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการขยายตลาดสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ค่ายไวไว กระโดดลงมาเล่นในตลาดผงปรุงรส นอกจากกระแสความนิยมของผู้บริโภคจะเป็นแรงขับเคลื่อนแล้ว ปัจจัยภายในซึ่งบริษัทเป็นเบอร์ 2 ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนมาสู่การแตกโปรดักส์ไลน์ครั้งแรกในรอบ 36 ปี ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการด้านการสื่อสารการตลาด โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “ไวไว” และ “ควิก” กล่าวว่า การก้าวสู่ตลาดผงปรุงรส ถือว่าเป็นการต่อยอดจากบะหมี่ ไวไว ที่มองเห็นโอกาสธุรกิจ จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจเดิมซึ่งบริษัทมีโนว์ฮาวและเป็นเจ้าของสูตรส่วนผสมของเครื่องปรุงรสที่มากับไวไว
แม้ว่าเป็นผู้นำติดอันดับ 2 ในตลาดบะหมี่ก็ตาม ทว่าการทำตลาดของ ไวไว ในเส้นทางตลาดผงปรุงรสที่เข้ามาสวมบทผู้ท้าชิงในตลาดครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรุกตลาดที่เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งมี 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องปรุงรสอย่าง คนอร์ จาก “ยูนิลีเวอร์” และรสดี ของ"อายิโนะโมะโต๊ะ" ซึ่งเข้ามาจับจองส่วนแบ่งตลาดในตลาดผงปรุงรสมาเป็นเวลานาน โดยมีแบรนด์ที่แข็งกร่งอย่าง “คนอร์” ครองความเป็นผู้นำตลาดแบบซุปก้อน ขณะที่ “รสดี” เป็นเบอร์ 1 ในตลาดเครื่องปรุงรส ในรูปแบบผง โดยในตลาดรวมมูลค่า 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนตลาดรูปแบบผงปรุงสำเร็จรูป 60-70% และชนิดก้อน 30-40% มีแบรนด์“รสดี” ครองส่วนแบ่งตลาด 62% และ “คนอร์” 34%
ขณะที่ภาพรวมของตลาดเครื่องปรุงรส ส่วนใหญ่พฤติกรรมผู้บริโภคจะมีความภักดีต่อสินค้าสูง โดยจะยึดติดกับแบรนด์เดิมไม่ค่อยเปลี่ยน ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้ ค่ายอายิโนะโมะโต๊ะ นำมาเป็นแนวทางในการทำการตลาดสำหรับการขยายตลาด ภายใต้แบรนด์ “ซุปดี” เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยใช้คอนเซ็ปต์การถ่ายทอดความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น หรือ Generation to Generation ที่อาศัยชื่อของ “รสดี” มาช่วยหนุนการทำตลาดของสินค้าใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดนี้ผู้บริโภคจะมีแบรนด์ลอยัลตี้สูงก็ตาม ทว่าศึกตลาดผงปรุงรสในปีนี้ดูจะเป็นตลาดที่ร้อนแรงเป็นอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาทำกับข้าวกินที่บ้านมากขึ้น และต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความสะดวกสบาย ทำให้ตลาดปรุงรสสำเร็จรูปปีนี้คาดว่ามีอัตราการเติบโต 7% โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อน ไวไว จะประกาศศึกลงตลาดผงปรุงรสนั้น ค่ายเบอร์ 2 อย่าง คนอร์ก็ออกมาเคลื่อนไหวในเชิงรุกเพื่อมาต่อกรกับ รสดี และซุปดี โดยเปิดตัว “คนอร์ อร่อยชัวร์” ผงปรุงครบรส ที่ชูจุดเด่นปรุงอาหารได้ทุกเมนู ทั้ง ผัด ทอด หมัก ต้ม มั่นใจอร่อยครบทุกรสชาติ ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ต้องเติมเครื่องปรุงอื่นๆ เพิ่ม ในรูปแบบซองสะดวกใช้ 4 ขนาด คือ ราคา 4 บาท 12 บาท 25 บาท และ 60 บาท พร้อมเทงบ 160 ล้านดึง “หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพันธ์” เป็นพรีเซนเตอร์สร้างการจดจำแก่ผู้บริโภค ร่วมทำกิจกรรมเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 1 ล้านคนผ่านแคมเปญคาราวาน “ครัวหน่อย อร่อยชัวร์” ตะลุยทัวร์ทั่วประเทศ
สำหรับการเดินเกมซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ “ไวไว” เข้าไปช่วงชิงตลาด หลังจากค่ายผู้นำตลาดที่ออกตัวมาสกัดตั้งแต่ต้นปีนั้น ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ ไซซิ่ง และไพรซิ่ง รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยผงปรุงรส “รสเด็ด” ที่มี 4 รสชาติคือ รสยำแซ่บมะนาว รสต้มยำหม้อไฟ รสหมูทรงเครื่อง และรสไก่โอชา จะเป็นแนวรุกที่สำคัญ ขณะเดียวกันจุดเด่นของรูปแบบ Package ชูเรื่องความทันสมัย ใช้ครั้งเดียว และสะดวกสำหรับการรับประทาน 1-2 ท่าน รวมทั้งการบริหารโครงสร้างราคาและมีปริมาณที่คุ้มค่ากับราคา ผู้บริโภคซื้อได้ในราคาที่ถูกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งเทียบกับปริมาณการบริโภคเดียวกันด้วยขนาดซอง 10, 30 กรัม ราคา 5 บาท และ 12 บาท ขณะเดียวกันก็มีแพกเกจจิ้งในขนาด 72 และ 1,000 กรัม ราคา 9 บาท และ 85 บาท ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในธุรกิจช่องทางร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่บริษัทเน้นสัดส่วน 10% ส่วนอีก 90% เน้นกลุ่มผู้บริโภคในครัวเรือน
ส่วนการกระจายสินค้าเน้นช่องทางการขายผ่านโมเดิร์นเทรดในช่องทาง Special สำหรับ 7-Eleven และ Family Mart เป็นหลัก ขณะที่การกระจายสินค้าผ่านเทรดดิชันนัลเทรดซึ่งทางบริษัทมีหน่วยรถในการกระจายสินค้ากว่า 100 คันทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะให้ความสำคัญกับการบริหารโครงสร้างราคา จนถึงการให้ส่วนลดที่มากกว่าคู่แข่งขันเพื่อจูงใจให้ร้านค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เกิดความสนใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายสินค้า โดยจุดที่ตั้งราคาถูกกว่าคู่แข่งนั้น จะกำหนดการบรรจุสินค้าให้พอดีแก่การจำหน่าย ไม่ให้ร้านค้าแบกรับภาระการซื้อสินค้าใหม่ในปริมาณมาก โดยหากเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดอย่าง “รสดี” มีขนาด 80 กรัม บรรจุ 100 ซอง/หีบ แต่ทว่า “รสเด็ด” ของไวไว จะเน้นชูจุดเด่นทำราคาขายให้ต่ำกว่าคู่แข่งขันด้วยขนาด 72 กรัม บรรจุ 72 ซอง/หีบ
ด้านการสื่อสารการตลาดของ “รสเด็ด” ในช่วงแรกที่วางตลาดจะเน้นกลยุทธ์การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบ บีโลว์เดอะไลน์ ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม–ธันวาคม 2552 โดยสร้างความใกล้ชิดผู้บริโภคผ่านการแจกสินค้าตัวอย่าง และการทำกิจกรรมชงชิม ในช่องทางเทรดดิชันนัลเทรดและย่านอาคารสำนักงาน ตลาดสด ร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักทดลองใช้สินค้าให้ได้มากที่สุด ขณะที่การสื่อสารผ่านสื่อโฆษณาจะเน้นผ่านสื่อนิตยสารสตรีเกี่ยวกับอาหาร สื่อโฆษณาวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ในช่วงสิ้นปี
สำหรับเป้าหมายของการขยับแนวรุกเข้ามาช่วงชิงตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสของ “รสเด็ด” จะทำให้ค่ายไวไว มีรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมียอดขายประมาณ 3.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 75% เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป 25% โดยแบ่งเป็นภายใต้แบรนด์ไวไว 22% และควิก 10% ทว่าภายในปี 2552 จะสร้างยอดขายบริษัทเพิ่มขึ้นจากการแตกไลน์สินค้ากลุ่มผงปรุงรส โดยตั้งเป้าหมาย “รสเด็ด”จะมีรายได้ราว 250 ล้านบาท หรือส่วนแบ่งตลาด 5% ของตลาดรวม 5 พันล้านบาท และปีถัดไปบริษัทจะมีส่วนแบ่งตลาด 10%
|
|
|
|
|