|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ทำไม?...ธุรกิจร้านอาหารไทยในอดีตที่เคยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำต้องตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน หลังเปิดการค้าเสรีของรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ ว่ากันว่า...การรุกตลาดของธุรกิจร้านอาหารต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและอิตาลีคือต้นตอของปัญหาที่ยากจะสะสาง ขณะที่กระแสของรสนิยมบริโภคอาหารต่างชาติมากกว่าอาหารไทยเริ่มมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สมาคมภัตตาคารไทยต้องออกมาทบทวนบทบาทใหม่ เพื่อประคองธุรกิจร้านอาหารไทยให้อยู่รอดไปได้
วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจร้านอาหารไทยในทุกวันนี้ไม่ต่างไปจากชะตากรรมเดียวกับร้านโชว์ห่วย หลังเศรษฐกิจตกต่ำ แถมต้องผจญกับการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศที่บุกขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 500บริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,000บริษัทกอบโกยเม็ดเงินในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งมีแนวโน้มว่าร้านอาหารอิตาเลี่ยนมีการขยายตัวอีกมาก ซึ่งว่ากันว่าเกิดจากประเทศไทยไม่มีกำแพงกีดกันการเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศ ขณะที่ร้านอาหารไทยจะเข้าไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศ กลับมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย
สอดคล้องกับที่ ปวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย บอกว่าที่ผ่านมาโชว์ห่วยในประเทศไทยล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากจากร้านค้ากว่าแสนแห่ง ปัจจุบันเหลือประมาณเพียง 5 หมื่นแห่ง ซึ่งในอนาคตธุรกิจร้านอาหารไทยอาจตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับโชว์ห่วย ที่เริ่มล้มหายตายจากไป ซึ่งปัจจุบันตัวเลขของผู้ประกอบรายเล็กประมาณกว่า 1.5 แสนราย หรือคิดเป็นกว่า 50% ที่มีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ อีกทั้งยังขาดการจัดการ และการยกระดับสู่มาตรฐานสากล
แม้ว่าในปีหนึ่งๆมูลค่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยจะสูงถึง 3 แสนล้านบาทก็ตาม หากมองว่ารายได้ในระยะยาวถูกต่างชาติแย่งส่วนแบ่งไปเชื่อได้ว่าธุรกิจร้านอาหารของคนไทยก็อาจจะเข้าสู่วิกฤติขั้นรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่มีการปรับตัวตั้งแต่วันนี้
ล่าสุด...แผนดำเนินการเพื่อยกระดับธุรกิจร้านอาหารไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3-5 ปี โดยมีการวางเป้าหมายให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเทียบขั้นมาตรฐานสากล คือการเปิดเกมรุกที่สมาคมภัตตาคารไทยต้องการวางกลยุทธ์เพื่อบูรณาการ เชื่อมโยงทุกภาคส่วน โดยแผนระยะสั้น ได้ผนึกกับ 8 กระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ แรงงาน สาธารณะสุข เป็นต้น ออกนโยบาย-ประสานจุดแข็ง สร้างมาตรฐานคุณภาพ การบริหารจัดการ และที่สำคัญคือการทำประชาพิจารณ์ เพื่อนำสู่ภาคปฏิบัติจริง
“การเปิดตัวโครงการจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี52 ธุรกิจร้านอาหารของไทยนี้ จะก้าวสู่วิวัฒนาการใหม่ พลิกโฉมไปสู่อีกรูปแบบที่น่าจับตาจากตลาดโลก”ปวรรณ กล่าว
ขณะเดียวกันการสร้างแบรนด์อาหารไทยและโมเดลต้นแบบร้านอาหารไทยคืออีกหนึ่งยุทธวิธีที่เตรียมออกไปต่อสู้แข่งขันในตลาดต่างประเทศเช่นกัน ร้านไก่ย่างส้มตำ,ข้าวแกง, ก๋วยเตี๋ยว และ ผัดไทย คือแบรนด์ตัวอย่าง 4 แบบที่จะออกมานำร่องเพื่อพัฒนาให้เป็นร้านอาหารไทยต้นแบบ โดยใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารสู่ตลาดโลก หวังเพิ่มรายได้เข้าประเทศ โดยรุกเข้าไปในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง
แม้ว่าร้านอาหารของไทยในประเทศไทยจะมีประมาณกว่า 3 แสนแห่งก็ตาม ซึ่งในแต่ละปีจะมีการขยายตัวที่น้อยมากปัจจุบันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแค่เพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจรวมถึงพฤติกรรมการกินข้าวของคนไทยที่ลดลงด้วย ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารของต่างชาติกลับมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นทุกปีๆละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการขยายตัวของเหล่าบรรดาร้านอาหารของต่างชาติในประเทศไทยเช่นนี้ การเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยสามารถแข่งขันกับตลาดต่างชาติและที่สำคัญเป็นการโกยเงินเข้าประเทศด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการสร้างแบรนด์อาหารไทยและโมเดลต้นแบบร้านอาหารไทยเพื่อต่อยอดทางธุรกิจยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่เป็นไปได้สูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ที่ถือว่ามีศักยภาพมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีกำลังการซื้อและราคาอาหารต่อเมนูสูง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมามีร้านอาหารในต่างประเทศประมาณกว่า 1.3 หมื่นแห่งที่เปิดให้บริการ
“หากโครงการนี้ภาครัฐมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังแล้ว เชื่อได้ว่าร้านอาหารไทยในต่างประเทศจะมีแบรนด์อาหารไทยและต้นแบบร้านอาหารน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นแห่ง”นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาความพยายามผลักดันให้แบรนด์อาหารไทยโกอินเตอร์ ส่งผลทำให้การแข่งขันเริ่มร้อนแรงสุดๆในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันหากสังเกตประเทศรอบข้าง แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองก็ยังเห็นว่าโอกาสประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เพียงแต่ประเทศไทยยังถูกจำกัดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับบทบาทใหม่ของธุรกิจร้านอาหารไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อหวังเป็นแรงขับเคลื่อนและสานฝันดันธุรกิจร้านอาหารไทยไปสู่อินเตอร์ได้อย่างเต็มตัว
|
|
 |
|
|