|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เฟต อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังมาตรการดอกเบี้ยต่ำติดดิน ยอมเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ หวังอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน พลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 ด้วยการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือไปจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ตามเดิมแล้ว เฟดได้ประกาศมาตรการเชิงปริมาณ (ในทิศทางที่สอดคล้องกับการดำเนินการของธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์) เพิ่มเติมเพื่อช่วยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ การขยายวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองเป็น 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (จาก 5.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ) และเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นวงเงินใหม่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ (จาก 1.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ)
ท่าทีที่สะท้อนความจริงจังในการแก้ไขภาวะความตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองและพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ของเฟดในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวเชิงบวกที่ได้รับการตอบรับจากตลาดการเงินอย่างกว้างขวาง โดยภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของการเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน (จากการขยายงบดุลของเฟด) เพื่อพลิกฟื้นกลไกการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อประกอบเข้ากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทีมบริหารของทำเนียบขาวนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นคืนกลับมาบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (กิจกรรมภาคการผลิตที่ยังคงหดตัว ความไม่ชัดเจนของสัญญาณเสถียรภาพในตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่ อัตราการว่างงานที่ยังคงมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากระดับ 8.1% ในปัจจุบัน) นั้น ยังคงต้องการความต่อเนื่องของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเชิงปริมาณ นอกเหนือไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำใกล้ 0%
ทั้งนี้ ในระยะสั้น คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ข่าวในเชิงบวกของมาตรการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขสภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินการเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่อาจทยอยเปิดเผยรายละเอียดในช่วงระยะถัดไปนั้น อาจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ความต้องการเสี่ยงฟื้นกลับคืนมาสู่ตลาดหุ้น แต่ก็อาจส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการความชัดเจนก่อนที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้ผ่านพ้นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยประสิทธิผลของมาตรการของทางการสหรัฐฯ และเฟด อาจถูกประเมินผลจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่จะทยอยถูกเปิดเผยออกมาในระยะถัดไป โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และราคาที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ ซึ่งหากความคาดหวังในเชิงบวกยังไม่ถูกยืนยันด้วยความชัดเจนของแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจกลับมาได้รับแรงหนุนจากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนระลอกใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เนื่องจากการขยายงบดุลของเฟดผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ในรอบนี้ มีความแตกต่างไปจากการเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วง 40 ปีก่อนหน้า (ช่วง ค.ศ. 1961-1965) ที่ปริมาณเงินในระบบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (มีการ Sterilization) เพราะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวและขายพันธบัตรระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของเฟดในรอบนี้ อาจจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบเพื่อเอื้อต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ
ดังนั้น สิ่งที่ยังต้องติดตามก็คือ แนวโน้มเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาพคล่อง/ปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขยายขนาดงบดุลของเฟด และการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวอาจจะกลายมาเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับเฟดในการใช้งบดุลของตนเพื่อสนับสนุนตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เฟดอาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจสามารถสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น ขณะที่ เฟดอาจจะต้องเตรียมกระบวนการถอยออกจากมาตรการขั้นพิเศษเชิงปริมาณดังกล่าวทันทีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
|
|
 |
|
|