|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปตท.จับตาระเบียบกติกาใหม่หลังประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ยันมีผลชี้ขาดว่าโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ระบุหากเข้มงวดจนไม่คุ้มการลงทุนจะส่งผลต่อโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 เฟส 2 มูลค่ากว่าแสนล้านบาทสะดุด ขณะที่ ส.อ.ท.แนะรัฐบาลเร่งวางกรอบลดผลมลพิษให้ชัด พร้อมวางโมเดลกำหนดแผนลงทุนใหม่ป้องกันปัญหาระยะยาว ยกมาบตาพุดเป็นบทเรียนบริหารจัดการผิดพลาด ด้านชุมชนมาบตาพุดที่หนุนรัฐไม่อุทธรณ์ เล็งยื่นปรับแผนอีไอเอใหม่ให้นำเอาผลกระทบด้านสุขภาพเข้ามาพ่วง แกนนำ 27 ชุมชนหารือฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากรัฐ
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษว่า ปตท.คงต้องติดตามเรื่องกฎระเบียบ กติกาใหม่หลังประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนนัก ส่วนโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม(ส.ผ.) แล้ว เช่นโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 กำลังผลิต 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ต่อวัน จะแล้วเสร็จต้นปี 2553 รวมทั้งโรงงานปิโตรเคมีต่อเนื่องมูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาทก็ทยอยแล้วเสร็จในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนโครงการที่ยังไม่มีการลงทุนหรือยังไม่ได้ขออนุมัติสิ่งแวดล้อมก็คงต้องมีการทบทวน
สำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 7 มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาทขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาปริมาณสำรองก๊าซฯในอ่าวไทยว่าจะเพียงพอที่จะป้อนโรงแยกก๊าซฯใหม่ได้ในนานกี่ปี โดยยังไม่มีแผนยกเลิก เพียงแต่ทบทวนโครงการอยู่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสะดุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับรายละเอียด กฎระเบียบที่ออกมาใหม่ หากไม่คุ้มการลงทุนก็คงเกิดโครงการขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้
ทั้งนี้ หากสร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 จะมีขนาดกำลังการแยกก๊าซฯได้ใกล้เคียงโรงแยกฯ หน่วยที่ 6 ทำให้มีปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) รวมถึง อีเทนและโพรเพนออกมา ซึ่งสุดท้ายปตท.ก็จะต้องมีการลงทุนโครงการต่อเนื่อง หรือโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 3 เฟส 2 ตามมา มูลค่าการลงทุนคงอยู่ที่แสนกว่าล้านบาทเช่นกัน ซึ่งโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 ควรตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกแทนที่จะลงทุนในภาคใต้ เพราะจะไม่ต้องมีการลงทุนวางท่อก๊าซฯเพิ่มเติม
สำหรับโครงการวางท่อก๊าซฯบนบกเส้นที่ 4 จากระยอง-สระบุรี ซึ่งได้ชะลออกไปก่อน อาจได้รับผลกระทบจากการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติอีไอเอ แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับกติกาใหม่ที่ออกมา ว่าจะยิ่งทำให้โครงการดังกล่าวล่าช้าออกไป และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่
" ขณะนี้ปตท.ได้หารือร่วมกับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างเชฟรอน ปตท.สผ. เพื่อตรวจสอบปริมาณสำรองก๊าซฯในอ่าวไทยว่ามีตรงไหน เท่าไร หลังจากพบว่าตัวเลขปริมาณสำรองเดิมเพียงพอป้อนโรงแยกฯ 6โรงได้ 20 ปี หากพบว่าปริมาณสำรองก๊าซฯในอ่าวไทยมีเพียงพอป้อนโรงแยกฯ 7 ได้แค่ 6-7 ปี ก็ไม่คุ้ม เว้นแต่จะพอป้อน 20 ปี ซึ่งเดิมปตท.มีแผนจะนำก๊าซฯจากพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา มาใช้ร่วมด้วย แต่ช่วงนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะยังไม่มีความชัดเจน ขณะเดียวกันก็คงต้องติดตามกฎระเบียบที่จะประกาศใช้ ภายหลังจากมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย"
ที่ผ่านมา การลงทุนของปตท.ในพื้นที่เขตมาบตาพุดไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซฯ โรงงานผลิตปิโตรเคมีต่างก็ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงเพื่อลดปัญหามลพิษ รวมทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดมลพิษเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วในเครือปตท.
นายจิตรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยนี้ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศลดลงพอสมควรตั้งแต่ธ.ค. 51 หดมาอยู่ที่ 2,800 ล้านลบ.ฟุต/วัน ล่าสุดเดือนมี.ค.พบว่าปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯกลับขึ้นมาอยู่ที่ 3,400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เป็นระดับการใช้ก๊าซฯเฉลี่ยของปี 2551 แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณการใช้ก๊าซฯในช่วงมี.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงนี้อากาศร้อนทำให้การใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัว ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ส่วนการใช้ก๊าซฯในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พบว่า ลดลงมากในช่วงธ.ค. 51 แต่ปัจจุบันได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องเฝ้าจับตาในช่วงเม.ย.ที่จะมีโรงงานปิโตรเคมีในตะวันออกกลางเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยอย่างไรหรือไม่
นายจิตรพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าความต้องการใช้ก๊าซฯจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3400 ล้านลบ.ฟุต/วัน แต่ก็เป็นปริมาณก๊าซฯที่ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4-5%ของความต้องการใช้ก๊าซฯเฉลี่ยของปีที่แล้วที่วันละ 3,400 ล้านลบ.ฟุต/วัน ดังนั้นปตท.จึงต้องมีการวางแผนบริหารปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้ไม่ให้สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดปตท.ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ จะรายงานโครงการต่างๆ ของเครือปตท.ในมาบตาพุดมีโครงการใดบ้าง ที่ผ่านอีไอเอหรือยังไม่ผ่านอีไอเอ ใช้เงินลงทุนเท่าไร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ส.อ.ท.ย้ำแผนลดมลพิษต้องชัด
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นักลงทุนต่างชาติได้สอบถามถึงกรณีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษมาพอสมควรซึ่งยอมรับว่าได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนดังนั้นรัฐบาลคงจะต้องเร่งทำความเข้าใจให้ถูกต้องและที่สำคัญจะต้องชัดเจนถึงกรอบแผนงานลดและขจัดมลพิษใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร เนื่องจากการขยายการลงทุนส่วนหนึ่งต้องชะลอออกไปเพื่อรอดูแผนที่ชัดเจนจากรัฐ
"รัฐบาลคงจะต้องทำหน้าที่ตอบคำถามนี้แล้วเพราะที่ผ่านมาเอกชนก็ได้เสนอไปค่อนข้างมากถึงปัญหาต่างๆ โดยสิ่งที่ต้องการเห็นและได้เสนอรัฐบาลไปแล้วคือการศึกษาและกำหนดรูปแบบหรือโมเดลการลงทุนให้ชัดเจนร่วมกันทุกฝ่ายก่อน หลังจากนั้นก็เดินหน้าเพราะระยะยาวแล้วเป็นห่วงว่าเมื่อชุมชนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ออกมาค้านก็จะไม่จบสิ้นซึ่งไทยเองก็ต้องพึ่งพิงการลงทุนอยู่" นายสันติกล่าว
นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการส.อ.ท.กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีการศึกษาภาพรวมของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย จากการลงทุนต่างๆ ให้ชัดเจนโดยใช้หลักทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศในการจัดทำเพื่อกำหนดรูปแบบหรือโมเดลในการลงทุนของประเทศให้เดินไปในทิศทางเดียวกันหากไม่เช่นนั้นแล้วการพัฒนาพื้นที่ใหม่รองรับอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ของรัฐในการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดจะเกิดได้ลำบาก
" การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกโดยเฉพาะมาบตาพุดเป็นบทเรียนของการบริหารจัดการที่ผิดพลาดที่เดิมมีคณะกรรมการพัฒนาฯอยู่แล้วไปยกเลิกเพิ่งจะมาตั้งในรัฐบาลนี้อีกครั้งทำให้การทำงานไม่สามารถประสานกันได้ทุกหน่วยงานทั้งที่ต้องเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเอกชนเคยเรียกร้องมานานมาให้มีการศึกษาอุตสาหกรรมแล้วจัดโซนนิ่งที่เหมาะสมแต่ก็หายเงียบไป "นายสมมาตกล่าว
นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส.อ.ท.กล่าวว่า มาบตาพุดถือเป็นบทเรียนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาลควรจะใช้โอกาสนี้ทำการศึกษาให้ชัดเจนในด้านหลักวิชาการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตและกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของแต่ละกิจการและกำหนดรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจนเพื่อที่จะได้นำโมเดลดังกล่าวใช้ในการพิจารณาการลงทุนระยะยาว
ดึงศึกษาผลกระทบสุขภาพพ่วง
นายรัชยุทธ วงศ์ภุชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนา ต.มาบตาพุด กล่าวว่า เร็วๆ นี้ชุมชนฯจะเข้าร่วมกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเตรียมจัดทำแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากโครงการต่างๆ ที่ชุมชนฯเห็นว่าจะต้องนำเอาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพหรือ เฮชไอเอ เข้าไปผนวกด้วย เป็นสำคัญ
"เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพนั้นขณะนี้ก็มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้วเห็นว่าจะต้องนำมาประเมินการลงทุนด้วยซึ่งหากมีการปรับอีไอเอใหม่ที่จะต้องคำนึงถึงสุขภาพอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมแต่มันก็เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะดูแลชีวิตชุมชน"นายรัชยุทธกล่าว
27 ชุมชนเตรียมฟ้องแพ่ง
นายเจริญ เดชคุ้ม ประธานชุมชนเกาะกก หนองแตงเม เปิดเผยว่า แกนนำทั้ง 27 ชุมชน กำลังนัดหารือเพื่อฟ้องร้องทางแพ่งกับหน่วยงานที่ปล่อยปละละเลยปัญหาสุขภาพของชุมชน ฐานละเมิดและละเลยต่อปัญหามลพิษ มานานกว่า 30 ปี
นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันที่19 มี.ค.ชุมชนจะร่วมกันพิจารณาหาทางออกกรณีความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่ เช่น กลุ่มประมง การท่องเที่ยว เพื่อสรุปการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองต่อกรณีการประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีความคิดขัดแย้งกับศาลฯ แต่ต้องการชี้แจงว่าแผนจัดการมลพิษนั้นได้ทำมาได้ผลระดับหนึ่งชัดเจน
กรอ.ยึดแผนจัดการสวล.เดิม
นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.คงจะเดินหน้าแผนจัดการมลพิษตามเดิมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 60 ล้านบาทในการจัดทำ 8 แผนในการลดมลพิษ ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปแก้ไขปัญหาเรื่องกากอุตสาหกรรมนั้นจะมีการหารือในเร็วๆ นี้ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปจัดการในพื้นที่สระบุรีอย่างต่อเนื่อง
"อภิสิทธิ์" ยันอุทธรณ์มาบตาพุดจบแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการอุทธรณ์คดีมาบตาพุด ที่ภาคเอกชนจะดำเนินการว่า ตนคิดว่าคงไม่อุทธรณ์แล้ว เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะคำว่าเขตควบคุมมลพิษไม่ใช่เขตที่ไม่ให้ลงทุน แต่เป็นการมีโอกาสในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งตนคงจะต้องทำความเข้าใจต่อไป เพราะมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เพิ่งออกมาเมื่อบ่ายวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่งประชุมเมื่อช่วงค่ำของวันเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ควรจะมีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลได้พยายามรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายและได้เอาข้อห่วงใยของภาคเอกชนเข้าไปพิจารณาด้วย ซึ่งได้ฟังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก็เห็นตรงกันว่าเป็นข้อห่วงใยที่เมื่อเรามีมติออกไปแล้วเราสามารถให้คำตอบได้ เช่น ข้อห่วงที่บอกว่าเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วจะเกิดความตื่นตกใจหรือไม่ว่าเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วจะไม่มีใครไปเที่ยวจ.ระยอง แต่เมื่อเราดูเมืองพัทยา หัวหิน ปราณบุรีต่างก็เป็นเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้มีผลกระทบแต่อยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นเอง องค์ประกอบกรรมการเป็นไปตามกฎหมายอยู่
|
|
|
|
|