|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บอร์ด ก.ล.ต. หาแนวทางหนุนบริษัทจดทะเบียนไทย ระดมทุนในต่างประเทศสะดวกขึ้น โดยผ่อนผันกรณีผู้สอบบัญชี ที่ได้มาตรฐานสากลตามเงื่อนไข EC โดยไม่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีจากต่างประเทศ พร้อมเข้าเยี่ยมสำนักงานสอบบัญชี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและให้คำแนะนำ รวมทั้งวางระบบควบคุมคุณภาพ ก่อนเริ่มบังคับใช้ปี 56
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 52 ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถไประดมทุนในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้ผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบทำการตรวจสอบงบการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สอบบัญชีจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากที่สหภาพยุโรป (European Commission : EC) ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า ข้อกำหนดปัจจุบัน กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทที่จะระดมทุนในประเทศสมาชิก EC จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานอิสระที่กำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศสมาชิกนั้น ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวสามารถผ่อนผันการขึ้นทะเบียนหรือผ่อนคลายการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศได้ หากประเมินแล้วเห็นว่า ระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศนั้นๆ มีคุณภาพทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศสมาชิก EC
สำหรับ กรณีของประเทศไทยนั้น EC ยินดีจะพิจารณาขยายเวลาให้ไทยมีเวลาเตรียมตัวนานขึ้นก่อนที่ EC จะเข้ามาประเมินระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีของไทยอย่างเป็นทางการ หากไทยสามารถให้คำรับรองได้ว่ามีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีที่ได้มาตรฐานตามที่กล่าว ในการประชุมครั้งนี้ บอร์ด ก.ล.ต. จึงเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ดังนี้คือ
1. กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ จะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. 2. สำนักงานสอบบัญชีที่จะได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. จะต้องจัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีเพื่อให้แน่ใจว่าการสอบบัญชีได้มาตรฐานสากลที่กำหนดโดย International Federation of Accountants ได้แก่ ISQC1 และ ISA220 ซึ่งมีข้อกำหนดใน 7 ส่วนหลัก
"ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ขยายขอบเขตธุรกิจงานให้บริการรับฝากจากเดิมที่ให้บริการเฉพาะการรับฝากหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหุ้นมาให้บริการรับฝากทรัพย์สินอื่นในรูปแบบ physical storage แก่บริษัทประกันได้ด้วย ตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด เพื่อให้ TSD สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ครบวงจร และยังจำกัดประเภทเฉพาะทรัพย์สินทางการเงิน "นายธีระชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สำนักงานสอบบัญชีมีระยะเวลาในการเตรียมตัว ก.ล.ต. จึงจะกำหนดให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับในปี 56 โดยก่อนที่จะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือสำนักงานสอบบัญชีในการเตรียมความพร้อม ก.ล.ต. จะเข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานสอบบัญชี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวางระบบการควบคุมคุณภาพด้วย
|
|
|
|
|