อย่ามองข้ามการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย
Jim Harris ที่ปรึกษาด้านการจัดการจะชี้ให้ท่านเห็นว่า เหตุใดแม้แต่บริษัทที่มั่นคงที่สุด
จึงมิควรดูแคลนคู่แข่งหน้าใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือแม้แต่บริษัทที่เพิ่งเข้าตลาดมาใหม่
ด้วยการเล่าถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับบริษัทชื่อดังหลายแห่งที่มองดูแข็งแรงมั่นคงดี
เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีเสถียรภาพมานาน มีลูกค้าที่แน่นอน และมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว
แต่กลับล้มคว่ำคะมำหงายเอาง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อภายในชั่วระยะเวลาอันสั้น
เหตุที่เป็นดังนั้น เพราะบริษัทเหล่านี้มองข้ามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาด
และไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วพอ
Polaroid ต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลายเมื่อปี 2001 เพราะไม่ตระหนักถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีภาพถ่ายดิจิตอล
โกดักก็เช่นกัน มองข้ามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าว จึงต้องเจ็บปวดกับยอดขายที่ตกฮวบลงถึง
20% ในช่วงระหว่างปี 1996-2001 ไมโครซอฟท์มองข้ามความสำคัญของอินเทอร์เน็ต
จึงปล่อยให้ Netscape สามารถขายหุ้น IPO ได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่หุ้นของไมโครซอฟท์กลับถูกลดอันดับลงโดย
Goldman Sachs ซึ่งมองว่า ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์รายนี้กำลังจะตกยุคอินเทอร์เน็ต
ความผิดพลาดของสหรัฐฯ และค่ายเพลงยักษ์ใหญ่
Harris กล่าวต่อไปว่า สหรัฐฯ ไม่ตระหนักถึงภัยจากการก่อการร้าย จึงเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อวันที่
11 กันยายน 2001 ขึ้น ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2,800 คน สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
และส่งผลให้สายการบิน 4 แห่งถึงกับล้มละลายเพราะไม่มีใครกล้าเดินทางโดยเครื่องบินอีกเลย
เหตุการณ์ดังกล่าวถึงกับฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ยิ่งดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย
บรรดาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มองข้าม Napster จึงหาได้ตระหนักถึงศักยภาพของ MP3
ไม่ เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่ง Detroit ที่มองข้ามผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น
รายชื่อบริษัทที่ทำผิดพลาดทำนองนี้ยังมีอีกเป็นพะเรอเกวียน
Harris ชี้ว่า วิธีจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเช่นนี้ องค์กรต้องเพิ่มความเร็วในการตระหนักรู้และสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง
มีระบบและโครงสร้างที่จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการรับรู้ และสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและได้ผล
Harris ยังอธิบายว่า มีสถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้องค์กรอาจมองข้ามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ
ไป และชี้เหตุผลว่า เหตุใดผู้กุมอำนาจการตัดสินใจจึงต้องใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง
ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างไม่ยอมให้ตกหล่น ทั้งนี้ Harris ได้เสนอเครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ
ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน
และไหลบ่าเข้ามาในอัตราที่รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ Harris ยังเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก
จนผู้นำก็มิอาจมีคำตอบให้แก่ทุกอย่าง ดังนั้น ผู้นำจึงต้องเลิกควบคุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง
ใกล้ชิดลูกค้าให้มากขึ้น
Harris กล่าวต่อไปว่า อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้บริษัทสามารถสานสัมพันธ์กับลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
และเพิ่มมูลค่าให้แก่ลูกค้าได้ เทคนิคใหม่ๆ อย่างการเข้าถึงข้อมูลตามเวลาจริง
การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ การวางแผนจัดการเหตุการณ์ในอนาคตไว้ล่วงหน้า และซอฟต์แวร์ที่ช่วยทำงานที่ซับซ้อน
ล้วนช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงยิ่งขึ้น
สุดท้าย Harris กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลว่า เป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงในระดับองค์กรและระดับสังคม
โดยอาศัยหลักลัทธิเต๋าและกฎธรรมชาติมาอธิบาย เขาย้ำว่าการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล
คือก้าวแรกของการหลีกเลี่ยงการมองข้ามความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เพราะในระดับบุคคล
เราทุกคนล้วนมีอำนาจควบคุมตัวเองสูงสุด