ทุนนิยมรูปแบบใหม่
Shoshana Zuboff นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง และ James Maxmin ได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์
จิตวิทยาสังคม และเศรษฐศาสตร์ของธุรกิจสมัยใหม่ จนได้ข้อสรุปว่า "คนเปลี่ยน
แปลงเร็วกว่าองค์กร ในขณะที่ความสุขสบายของคนขึ้นอยู่กับองค์กร" เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดช่องว่างระหว่างบริษัทกับผู้บริโภคขึ้น
ผู้ประพันธ์เรียกช่องว่างนี้ว่า วิกฤติการทำธุรกรรม (transaction crisis)
อย่างไรก็ตาม คนกับองค์กรสามารถจะหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม
ผู้ประพันธ์ชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบ managerial capitalism ในปัจจุบัน
มีอายุยืนกว่าสังคมที่มันถูกคิดขึ้นมาให้รับใช้ แม้ว่า managerial capitalism
จะบรรลุเป้าหมายในการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณมาก แต่คนยังคงเรียกร้องมากกว่านั้น
ดังนั้น ผู้ประพันธ์จึงชี้ว่า ก้าวต่อไปในการสร้างความมั่งคั่งร่วมกันระหว่างคนกับองค์กร
จะขึ้นอยู่กับการเกิดขึ้นของทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "distributed capitalism"
ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะสามารถสนองความต้องการในระดับปัจเจกบุคคลได้ดีกว่า
โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างเต็มที่ในการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้
เมื่อปัจเจกปะทะองค์กร
ส่วนแรกของ The Support Economy กล่าวถึงความท้าทายที่ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่
โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาโครงสร้างของการปฏิวัติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วง
100 ปีที่แล้ว และการถือกำเนิดขึ้นของตรรกทางธุรกิจที่ใช้เป็นมาตรฐานจนถึงทุกวันนี้
จากนั้นผู้ประพันธ์จึงชี้ให้เห็นการเกิดขึ้นของสังคมใหม่ๆ ในระดับปัจเจก
การบริโภคที่มีลักษณะเฉพาะบุคคลมากขึ้น และการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการ
"การสนับสนุน" จากองค์กรในระดับที่ลึกขึ้น พัฒนาการใหม่ๆ เหล่านี้คือความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้ากับ
managerial capitalism
ส่วนที่สองกล่าวถึงวิกฤติการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเผชิญอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกในฐานะผู้บริโภคปะทะกับองค์กรแบบเก่า
ผู้ประพันธ์อธิบายว่า เหตุใดการปะทะกันนี้จึงก่อให้เกิดวิกฤติการทำธุรกรรม
และเหตุใดตรรกทางธุรกิจมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงกลับไม่สามารถจัดการกับปัญหาใหม่นี้ได้
จากนั้น ผู้ประพันธ์อาศัยความรู้ด้านจิตวิทยาสังคมมาอธิบายความสัมพันธ์เชิงขัดแย้ง
ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และเลยไปสำรวจวิธีการใหม่ๆ
มากมาย ที่มีผู้คิดค้นขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสามารถช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์
ระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้ดีขึ้นได้ตรรกใหม่ในการทำธุรกิจ
ส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของหนังสือกล่าวถึงโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติทางเศรษฐกิจครั้งใหม่
ซึ่งจะเกิดจากการมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการค้าเกิดขึ้น นวัตกรรมเหล่านั้นถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการ
"การสนับสนุน" ในระดับที่สูงขึ้นของปัจเจกบุคคลได้ ผู้ประพันธ์ชี้ว่า เทคโนโลยีใหม่อย่าง
eCommerce สามารถช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างบริษัทกับลูกค้าระดับบุคคล
และช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ "support economy" ได้ มีการเสนอหลักการใหม่ๆ
ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมทางธุรกิจเสียใหม่เช่น "คุณค่าทั้งมวลเป็นของปัจเจกบุคคล"
และ "เศรษฐกิจที่เน้นความสัมพันธ์ (Relationship Economy) คือกรอบของการสร้างความมั่งคั่ง"
ผู้ประพันธ์ยังอธิบายถึงโครงสร้างและประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า
distributed capitalism และชี้ว่านวัตกรรมทางการค้าชนิดใด ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ
ได้