หน้าร้อน... ไม่มีอะไรดีเท่า กับการออกไปเที่ยวนอกเมือง ต้องรีบฉกชิงเวลาอันมีค่าก่อนที่หิมะจะมาเยือน...ปีนี้จึง
ตัดสินใจว่าจะนั่งรถไฟ Metra (Metra Union Pacific West Line: Chicago to
Geneva Suburban Service) ไปเที่ยวทุกเมืองที่รถไฟจอดก่อนถึงชิคาโก ซึ่งมีทั้งหมด
15 สถานี แต่ละเมืองมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ... Oak Park เป็นสถานีสุดท้ายก่อนถึงชิคาโกและเป็นปลายทางแห่งการเริ่มต้น...การเดินทางไม่มีอะไรมาก
ขับรถจาก DeKalb ไปที่เมือง Geneva ซึ่งเป็นสถานี Metra สุดปลายทางจากชิคาโก
และอยู่ใกล้ DeKalb มากที่สุด ขับรถเพียงแค่ 30-40 นาทีจากนั้นก็จอดรถทิ้งไว้ที่ข้างๆ
สถานีรถไฟ...จอดฟรี...ขึ้นรถไฟราวๆ เที่ยง รถไฟจะออกทุกๆ 2 ชั่วโมงในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
สุดสัปดาห์เป็นวันที่น่าเที่ยวมากที่สุด แม้ว่าคนจะเยอะ แต่ราคาตั๋วถูกมาก
เพียงแค่ 5 เหรียญฯ ขึ้นได้ทั้งไปและกลับ จะขึ้นลงกี่สถานีก็ได้ไม่มีกำหนด
ซื้อครั้งเดียวใช้ได้ทั้งเสาร์และอาทิตย์
รอบๆ เมืองชิคาโก มีสถานที่น่าเที่ยวมากมาย อย่างเช่นที่ Oak Park ชานเมืองชิคาโก
เป็นเมืองที่มีอาคารและบ้านที่อยู่อาศัยที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังอย่าง
Frank Lloyd Wright รวมกันมากถึง 25 อาคาร แต่ละอาคารมีอายุร่วมๆ 100 ปี
ในที่นี้รวมถึงบ้านและสตูดิโอแห่งแรกของ Wright เองที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1889
และเสร็จสมบูรณ์ในปีถัดมา แม้ว่าบ้านของ Wright จะมีอายุเก่าแก่ถึง 114 ปี
แต่สไตล์ไม่ล้าหลังเท่ากับอายุของตัวบ้าน หากคงความร่วมสมัยที่น่าอัศจรรย์
ปัจจุบันบ้านและสตูดิโอของ Wright ได้ถูกบูรณะและอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม
รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและแรงบรรดาลใจให้แก่เหล่าสถาปนิกรุ่นใหม่ที่หลงใหลในอัจฉริยะของ
Wright ภายใต้การดูแลของ Frank Lloyd Wright Preservation Trust ซึ่งเปิดทัวร์ให้บุคคลทั่วไปเข้าชม
ในวันธรรมดา 3 รอบ เริ่มตั้งแต่รอบ 11.00 น. รอบ 13.00 น. และรอบ 15.00 น.
เป็นรอบสุดท้าย ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 11.00 น.-15.30 น. โดยทัวร์จะเริ่มทุกๆ
20 นาที ค่าเข้าชม 9 เหรียญฯ
วันนั้น Gary Howell ผู้อำนวยการของสมาคม Unity Temple Restoration ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครไกด์ทัวร์
โดยเขาเริ่มต้นเล่าว่า Wright ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านและสตูดิโอหลังนี้นานถึง
20 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 ถึง ค.ศ.1909 ซึ่งนอกจากจะเป็นบ้านที่เขาใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาคนแรก
Catherine Tobin และลูกๆ อีก 6 คนแล้ว ยังเป็นสถานที่ทำงาน สตูดิโอที่ Wright
นั่งออกแบบบ้านให้แก่ลูกค้า และเป็นที่ที่ Wright สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงหลายแห่งด้วยกัน
เช่น อาคาร Robie House อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยชิคาโกในดาวน์ทาวน์ อาคาร
Larking และ อาคาร Unity Temple ที่อยู่ใน Oak Park ไม่ไกลจากบ้านของเขานัก
นอกจากนั้น ยังมีแบบพิมพ์เขียวอีกหลายแบบที่ Wright ออกแบบไว้แต่ยังไม่มีการก่อสร้าง...
Gary เล่าว่า หลังจากที่ Wright ย้ายออกจากบ้านไปในปี ค.ศ.1910 เขาไม่ได้ขายบ้านจนกระทั่งในปี
ค.ศ.1925 จากนั้นเจ้าของคนใหม่ได้แบ่งบ้านออกเป็น 7 ส่วนให้เช่า นับตั้งแต่นั้นบ้านและสตูดิโอ
ของ Wright ขาดการดูแลรักษา เสื่อมโทรมลงทุกวัน จนกระทั่งเกือบ 50 ปีต่อมา
คือในปี ค.ศ.1974 สมาคม Frank Lloyd Wright Home and Studio ได้ถูกก่อตั้งขึ้น
เพื่อดำเนินการบูรณะซ่อมแซมบ้านและสตูดิโอ Wright ให้เหมือนใกล้เคียงกับสภาพจริงในช่วงปี
ค.ศ.1909 ก่อนที่ Wright จะย้ายออกไปให้มากที่สุด กิจกรรมครั้งนั้นนับเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนักสถาปนิก
นักประวัติศาสตร์ ทั้งในอเมริกาและทั่วโลก โดยมีสถาปนิกทั้งสิ้น 30 คน บริษัทก่อสร้าง
80 แห่ง ช่างฝีมือ ช่างไม้ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจก่อสร้างกว่า 350 ชีวิต ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาคมอีก
150 คน รวมทั้งอาสาสมัครอีกนับพันคน และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงการบูรณะร่วมบริจาคเงินอีกกว่าสามแสนคน
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 การบูรณะใช้เวลา ยาวนาน 13 ปี โดยเสร็จสมบูรณ์ในปี
ค.ศ.1987 หมดค่าใช้จ่ายเป็นเงิน จำนวนสูงถึง 13 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า
500 ล้านบาท นับว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับเงิน 5,000 เหรียญ หรือประมาณสองแสนบาทที่
Wright ขอยืมเพื่อใช้สร้างบ้านหลังแรกในชีวิตเขา ด้วยวัยเพียง 20 ปี จากบริษัท
Louis Sullivan บริษัทออกแบบ ก่อสร้างชื่อดังในสมัยนั้น ซึ่ง Wright เป็นนักออกแบบลูกจ้างให้
และทำ เงินจำนวนมหาศาลให้แก่บริษัทในขณะนั้น...ปัจจุบัน บ้านและสตูดิโอ แห่งนี้มีความหมายมากเกินกว่าจะเปรียบเป็นมูลค่าได้...
ภายใต้หลังคานี้นอกจากจะให้ความสุขความอบอุ่นแก่ครอบครัว Wright แล้ว ยังคงเป็นเสมือนห้องทดลองให้แก่
Wright ใช้ในการคิดค้นออกแบบบ้านใหม่ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย...หลายปีต่อมา Wright
ขยายและต่อเติมบ้านเพื่อใช้เป็นสตูดิโอออกแบบ ห้องนัดพบลูกค้า ซึ่งหันหน้าออกถนนชิคาโก
ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มากที่รวมเอาบ้านที่อยู่อาศัยและที่ทำงานอยู่ในหลังเดียวกัน
สำหรับตัวบ้านของ Wright ที่ Oak Park ถือเป็นงานออกแบบรุ่นแรกๆ ของ เขา
เป็นงานออกแบบที่มีลักษณะหลังคาหน้าจั่ว มุงด้วยแผ่นไม้ Shingle สไตล์ "Queen
Anne" แบบโบราณ ในขณะที่สตูดิโอที่ถูกสร้างในอีก 6 ปีต่อมา Wright ออกแบบให้มีลักษณะหลังคาต่ำและเรียบ
มีหน้าต่างเรียงยาว ห้องออกแบบและห้องสมุดเป็นห้องแปดเหลี่ยม ซึ่งสมัยก่อนจะพบห้องลักษณะนี้ตามโบสถ์มากกว่าบ้านที่อยู่อาศัย
นี่ถือ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ Wright ที่ผสมผสานงานสถาปัตยกรรมกับจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน
Wright ชอบให้แต่ละห้องในตัวบ้านมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างต่างระดับ
ไม่ใช่กล่องที่วางต่อๆ กันถัดไป โดยเขาออกแบบ ให้ใช้ฉากกั้นห้องมากกว่าสร้างเป็นผนังอย่างบ้านทั่วไป
นอกจากนั้นเขาใช้มาตรฐานความสูงของห้องตามส่วนสูงของตัวเองที่สูงประมาณห้าฟุตแปดนิ้วครึ่ง
ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก ดังนั้นเมื่อเดินเข้าไปในบ้าน Wright จะมีความรู้สึกว่าเพดานบ้านต่ำกว่าบ้านโดยทั่วไป
จากนั้นภายนอกตัวบ้านส่วนใหญ่จะไม่มีทางเข้าออกที่ชัดเจน เขาซ่อนประตูเข้าอย่างไว้อย่างแนบเนียน
จากการที่เขามีไอเดียเช่นนี้ทำให้สถาปนิกรุ่นหลังวิจารณ์ว่า เป็นเพราะ Wright
ไม่ชอบสังคมกับเพื่อนบ้าน และมีความเป็นส่วนตัวสูง เขาจึงออกแบบบ้านให้มีลักษณะปิดมากกว่าเปิด
ซึ่ง Wright แนะนำลูกค้าของเขาให้ซื้อที่ดินที่อยู่ไกลไปจากตัวเมืองให้มากที่สุด
เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่ในที่สุดไม่สามารถทนสังคมเมืองที่วิ่งเข้าสู่บ้านเขาได้...
Wright ย้ายจาก Oak Park กลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่ Wisconsin ในปี ค.ศ.1911
เขาได้สร้างบ้าน "Taliesin" หมายถึง "หน้าผาอันเจิดจรัส" ซึ่งเป็นบ้านและสตูดิโอแห่งที่สองของเขา
Taliesin มีลักษณะผสมผสานลดหลั่นบิดเบี้ยวไม่เท่ากัน หลังคาเตี้ย ตัวบ้านแตกต่างจากสไตล์ทั่วๆ
ไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านหรืออาคารสไตล์ "Prairie" อันโด่งดังของ
Wright ผลงานของ Wright ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานระหว่างงานศิลปะและสถาปัตยกรรมจากประเทศต่างๆ
ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรีย และญี่ปุ่น ที่ลงตัว เรียกได้ว่า เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นอมตะจนถึงยุคปัจจุบัน
และคุ้มค่าต่อการเข้าเยี่ยมชม... Taliesin ที่ Wisconsin เป็นอีกรายการทัวร์ที่ต้องไปเยือนสักวัน...