|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักการเงินเผยแหล่งลงทุนสร้างผลตอบแทนเหนือดอกเบี้ยฝาก แต่ต้องพร้อมแลกกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ชี้จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะออกมาเพียบ ที่จะมาบนเงื่อนไขให้ต้องปฎิบัติตาม แนะต้องสำรวจตัวเองก่อน ศึกษาสัญญาและเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจ หากรับไม่ได้ต้องทนก้มหน้ารับดอกเบี้ยต่ำต่อไป
การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง ๆ 3 ครั้ง ตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2551 และ 14 มกราคม 2552 จนถึง 25 กุมภาพันธ์ 2551 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.75% เหลือ 1.5% เท่ากับลดลงไปถึง 2.25%
ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่การปรับลดของธนาคารพาณิชย์นั้น ปรับลดไม่เท่ากับระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์เลือกที่จะลดอกเบี้ยเงินฝากลง 1.5%-2% โดยเงินฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 0.75% โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนปรับลดลงมากที่สุด 2 เหลือเพียง 1.5% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) อยู่ที่ 6.25% หรือปรับลดลงไปเพียง 1% เท่านั้น
นาทีนี้คงไม่ต้องเหลียวกลับไปมองถึงความเห็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมของการลดอัตราดอกเบี้ยของเหล่าธนาคารพาณิชย์กันแล้ว ลองมาหาทางออกกันว่าจะทำอย่างไรกันดีสำหรับผู้ที่เคยฝากเงินอยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างนี้
ออมทรัพย์-ประจำไม่แตกต่าง
ผู้บริหารเงินลงทุนของหน่วยงานรัฐรายหนึ่งกล่าวว่า โดยภาพรวมของช่องทางในการหาผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือแทบไม่มีเลยแล้วได้ผลตอบแทนในระดับ 2%นั้นขณะนี้หาไม่ได้แล้ว ผู้มีเงินฝากต้องหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ก่อนว่า พร้อมที่จะก้มหน้าก้มตายอมรับกับการฝากเงินที่ได้ผลตอบแทนต่ำอย่างนี้หรือไม่ ถ้าใช้ก็ต้องทนฝากต่อไป
เฉพาะในกรณีของการฝากเงินนั้น ท่านต้องทราบก่อนว่าระหว่างบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทน 0.5% กับบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือนของแบงก์ใหญ่ให้ผลตอบแทนเพียง 0.75% นั้นผลตอบแทนไม่ต่างกันมากนัก เพราะเมื่อหักภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากประจำอีก 15% ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 0.6375% เท่านั้น
ถ้ามีเงินฝากไม่มากผลตอบแทนที่ได้ย่อมแทบไม่ต่างกัน เนื่องจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเนื่องจากได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 2 หมื่นบาทจึงได้รับการยกเว้น หมายถึงมีเงินฝากในบัญชีนี้ไม่ถึง 4 ล้านบาท
อีกทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ อาจทำให้เราต้องสำรองเงินไว้ใช้ ซึ่งบัญชีออมทรัพย์จะคิดดอกเบี้ยให้ทุกวัน แต่บัญชีเงินฝากประจำหากถอนก่อนกำหนดจะไม่ได้รับดอกเบี้ย เมื่อหันไปดูดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือนอยู่ที่ 1% ได้ดอกเบี้ยจริงแค่ 0.85% หรือ 24 เดือนได้ดอกเบี้ยจริง 1.275% เท่านั้น
เงินฝากพ่วงประกัน-กองทุน
ผู้มีเงินออมจะต้องคิดและคำนวณให้ดีว่าจะยอมรับเงื่อนไขของการฝากเงินได้ในรูปแบบใด หากจะเปลี่ยนรูปแบบการออมเงินก็ยังมีทางเลือกอีกหลายแนวทางที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่จะตามมา
จากนี้ไปจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ออกมานำเสนอขายมากขึ้น ทั้งจากธนาคารพาณิชย์เอง กองทุนรวม บริษัทเอกชนรวมถึงจากรัฐบาล ซึ่งรูปแบบที่จะออกมาเสนอขายนั้นจะมีการพ่วงเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ท่านต้องแน่ใจว่าท่านสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้จึงค่อยตัดสินใจลงทุน
ระยะนี้ธนาคารจะเริ่มออกเงินฝากพ่วงกับกองทุนรวมบ้างหรือพ่วงกับประกันชีวิตบ้าง เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วและใช้ความได้เปรียบของสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศเสนอขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยได้รับค่าธรรมเนียมจากบริษัทลูกอีกต่อหนึ่ง
ลองมาพิจารณาผลิตภัณฑ์ของธนาคารกรุงไทยที่เพิ่งออกมาคือ KTB 4+ (Four Plus) โดยรวมผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยพิเศษ 4% ต่อปี และแผนการออมเพื่อความมั่นคงของชีวิต กรุงไทย อีซี่ แคช 10/6 ซึ่งลูกค้าชำระเบี้ยประกันเพียง 6 ปี แต่ได้รับความคุ้มครองชีวิตถึง 10 ปี และได้ปันผลทุกปี
โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอด 10 ปี ประมาณ 3.72% ต่อปี สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทน 3.62% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถฝากเงินขั้นต่ำ 40,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และซื้อเบี้ยประกันชีวิตเท่ากับยอดเงินฝาก ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองชีวิต 3.2 เท่าของเบี้ยประกันรายปี รวมทั้งประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีก 2 เท่าของเบี้ยประกัน
นอกจากนี้ยังได้รับเงินปันผลตลอด 10 ปี โดยในปีที่ 1-6 ได้ปันผล 2%ต่อปีของทุนประกัน ส่วนปีที่ 7-10 ได้ปันผล 4%ต่อปี และปีที่ 10 ได้รับเงินคืนทั้งเงินต้นพร้อมเงินปันผล 2 เท่าของทุนประกัน รวมผลตอบแทนทั้งสิ้น 228%
กรณีนี้เป็นการเอาบัญชีเงินฝากมาผูกกับประกันชีวิตแล้วนำมาเสนอขาย โดยแบงก์ยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้มากกว่าเดิมเป็น 4% ผู้มีเงินออมต้องทราบไว้เบื้องต้นว่า 4% นั้นได้เฉพาะ 3 เดือนแล้วหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติของธนาคาร
จากนั้นให้พิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดว่าฝากขั้นต่ำที่ 4 หมื่นบาทและต้องซื้อเบี้ยประกันชีวิตเท่ากับยอดเงินฝาก จึงจะได้รับความคุ้มครองชีวิต 3.2 เท่าของเบี้ยประกันรายปี นั่นหมายความว่าท่านจะต้องซื้อเบี้ยประกันที่ 4 หมื่นบาทต่อเนื่องกันไป 6 ปีเป็นเงิน 2.4 แสนบาท หลังจากนั้นไม่ต้องส่งเบี้ยแล้วรอรับผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดในปีที่ 10 ส่วนความคุ้มครองชีวิตนั้นจะได้รับความคุ้มครองประมาณ 1.28 แสนบาท
เมื่อสอบถามไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ยกตัวอย่างว่า หากซื้อเบี้ยประกันที่ 1 แสนบาทต่อปี จะได้ความคุ้มครองที่ 3.2 แสนบาทในเรื่องของเงินปันผล 2% ต่อปีนั้นปีที่ 1-6 จะได้เงินปันผลคืน 6,400 บาท ปีที่ 7-10 จะได้เงิน 12,800 บาท รวมแล้วส่งเงิน 6 แสนบาทเมื่อครบ 10 ปีจะได้เงินคืนราว 7.2 แสนบาท(รวมเงินที่จ่ายปันผล)
ต้องคำนวณตัวเลข
สำหรับตัวเลขผลตอบแทนรวมทั้งสิ้นนั้น ขณะนี้ผู้ที่เสนอขายประกันแบบออมทรัพย์นี้ทุกแห่งจะโชว์ตัวเลขว่าได้ผลตอบแทนสูง ท่านจะต้องนำเอาตัวเลขเงินที่ท่านส่งไปทั้งหมดมาหักออกจากยอดรวมของเงินที่ได้คืนเมื่อครบกำหนดที่บวกด้วยเงินที่จ่ายเงินในแต่ละปี จะพบว่าส่วนต่างที่ได้นั้นไม่สูงนัก จากนั้นลองนำเอายอดดังกล่าวมาคำนวณแบบหยาบ ๆ ว่าได้ทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์แล้วหารด้วยอายุของกรมธรรม์ เช่น หารด้วย 10 ปีจึงจะทราบผลตอบแทนที่แท้จริงว่าท่านได้ผลตอบแทนเท่าใด
บางแห่งแจ้งตัวเลขว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผลตอบแทนที่ได้สูงถึง 500% นั่นเป็นการรวมเอาเงินที่ท่านนำส่งไปมาคำนวณถือว่าเป็นการใช้ลูกเล่นทางการตลาดเข้ามาช่วยขายสินค้า แต่เมื่อคำนวณออกมาจริง ๆ แล้วผลตอบแทนที่ได้นั้นไม่ได้สูงอย่างที่แจ้งมา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1-2% ต่อปีเท่านั้น
แต่ความได้เปรียบของกรมธรรม์ประเภทนี้ที่คล้ายกับการออมเงิน คือมีวงเงินคุ้มครองให้กรณีเสียชีวิต ซึ่งบัญชีเงินฝากปกติไม่มี อีกทั้งเงินที่จ่ายเบี้ยประกันดังกล่าวสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ถือเป็นจุดเด่นของการออมเงินด้วยวิธีนี้
ประกันลักษณะนี้มีแยกขายเดี่ยว ๆ ก็มี ทางที่ดีที่สุดคือควรนำเอากรมธรรม์ของหลาย ๆ บริษัทมาเปรียบเทียบกันว่าที่ใดให้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากในเรื่องของรูปแบบในการคืนเงินนั้นแต่ละแห่งอาจมีลูกเล่นไม่เหมือนกัน แล้วลองคำนวณออกมาเฉลี่ยต่อปี
สำหรับรูปแบบของกรมธรรม์แบบออมทรัพย์นั้นได้ถูกออกแบบมาจะมีอายุกรมธรรม์ไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อเป็นจุดขายสำหรับหักลดหย่อนภาษี แต่ที่เราได้เห็นเช่น 6/10 หรือ 7/10 นั้นความหมายคือส่งเบี้ยประกัน 6 ปีหรือ 7 ปี แต่ให้ความคุ้มครอง 10 ปี เนื่องจากระยะเวลาที่ส่งเบี้ยประกันนั้นเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้เอาประกันคนไทย ที่ไม่อยากส่งเบี้ยนานแต่ได้รับความคุ้มครองแม้ไม่ต้องส่งเบี้ยประกัน
ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำเอาพฤติกรรมของผู้บริโภคมาเป็นตัวออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่มีภาระต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เพราะอย่างน้อยก็นำไปหักลดหย่อนภาษีได้ขั้นต่ำที่ 10% และสูงถึง 37%
ประกันประเภทนี้ยังมีรูปแบบให้เลือกอีกนับร้อยแบบ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้มากที่สุด ตรงนี้จะต้องนำเอารายได้แต่เดือน การเสียภาษีต่อปีและรายการหักลดหย่อนอื่น ๆ มาพิจารณาเพื่อเลือกแบบประกันที่เหมาะกับลูกค้ารายนั้นโดยเฉพาะ
กองทุนรวม+เงื่อนไข
อีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ คือกองทุนรวม ขณะนี้มีเงินฝากจำนวนไม่น้อยที่โยกเข้ามาซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก หากจะให้ปลอดภัยควรเลือกลงทุนในกองที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินหรือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ต้องทราบด้วยว่าเมื่อ ท่านต้องการขายกองทุนแล้วท่านจะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้น ไม่ใช่ได้ทันทีเหมือนถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตัวเอง
ภายใต้การลงทุนกองทุนรวมยังมีกองทุนรวมที่รัฐให้สิทธินำเอาเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ ที่น่าสนใจคือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) นโยบายลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยคือกองตราสารหนี้และถ้าเลือกได้ควรเป็นกองทุนลงทุนในตลาดเงินหรือพันธบัตรรัฐบาล แต่กองทุนประเภทนี้จะมีเงื่อนไขมาก เช่น ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีและต้องซื้อต่อเนื่องจากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะขายหน่วยลงทุนได้ หากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ได้ก็จะต้องคืนเงินที่ได้จากนำไปหักลดหย่อนภาษีทั้งหมดคืนให้กรมสรรพากร และถ้าไม่ดำเนินการคืนจะถูกปรับอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือน
ท่านต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าท่านพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่
หุ้นกู้โดดแย่งเงินออม
นอกจากนี้ยังมีหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ออกมาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป ที่เสนอผลตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าเงินฝากมาก เช่น หุ้นกู้ ปตท.อายุ 15 ปีที่ผลให้ผลตอบแทน 5 ปีแรกที่ 5% ปีที่ 6-8 ผลตอบแทน 6.2% และใน 7 ปีสุดท้ายดอกเบี้ย 6.8%
ผู้ที่สนใจในหุ้นกู้ของเอกชนนั้น ท่านจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตลอดอายุของหุ้นกู้ว่า สถานะของบริษัทมั่นคงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ท่านตามเงื่อนไขหรือไม่ และเมื่อครบกำหนดแล้วเงินต้นจะได้คืนหรือไม่ แม้ว่าบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้นั้นจะถูกกำหนดให้ต้องผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงอันดับดังกล่าวเป็นการวัดสถานะของบริษัท ณ วันใดวันหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รับประกันว่าในวันข้างหน้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมั่นคงตลอดไป
ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะไม่มั่นคง ที่ผ่านมาหุ้นกู้ของเอกชนส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ อาจจะมีบ้างในบางบริษัทที่ประสบปัญหา ดังนั้นในเรื่องของการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องของผู้ลงทุนเองว่าพร้อมที่จะได้ผลตอบแทนสูงและพร้อมที่จะยอมรับกับความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงนั้นอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
แต่ที่ผู้ออมเงินอยากได้และรอกันมากคือพันธบัตรรัฐบาล ขณะนี้ยังไม่มีการออกมาจำหน่ายกับประชาชน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความมั่นคง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ออกเอง ส่วนผลตอบแทนนั้นย่อมต่ำกว่าหุ้นกู้ของเอกชนมาก เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีเมื่อ 3 มีนาคม 2552 อยู่ที่ 1.89% เท่านั้น ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.98% ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าดอกเบี้ยเงินฝากคงจะต่ำไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี และตราสารหนี้ระยะยาวน่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้มีเงินออมควรระมัดระวังคือเรื่องตัวเลขของผลตอบแทน ต้องพิจารณาให้ดีว่าเราจะได้จริงอย่างที่โฆษณากันไว้หรือไม่ เช่น ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งให้ผลตอบแทน 3 เดือนได้ราว 2.9% และตั้งแต่ตั้งกองทุนมาได้ผลตอบแทนเกือบ 11% นั้น ท่านต้องมาดูความเป็นจริงว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเมื่อไหร่ อัตราดอกเบี้ยในเวลานั้นเป็นเท่าไหร่
หากท่านเข้าไปลงทุนในเวลานี้ท่านจะได้ผลตอบแทนตามที่โชว์ตัวเลขกันอยู่หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นตัวเลขในอดีต ดอกเบี้ยในเวลานั้นแตกต่างจากปัจจุบัน
หุ้นปันผลไม่ใช่เซียนอย่าแหยม
สำหรับคำเชิญชวนให้หันมาซื้อหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากนั้น ก็เช่นเดียวกัน ตัวเลขของเงินปันผลที่แสดงออกมานั้น ต้องกลับไปดูว่าเป็นการปันมาจากกำไรที่แท้จริงในงวดนั้นหรือไม่ เพราะมีบางแห่งดึงเอากำไรสะสมที่มีอยู่เดิมมาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น นอกจากนี้เปอร์เซ็นต์ที่แสดงนั้นล้วนเป็นการกล่าวถึงผลการดำเนินงานในอดีต ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าในอนาคตท่านจะได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม
อีกทั้งการซื้อหุ้นเพื่อรับเงินปันผลนั้น ในความเป็นจริงแล้วเหมาะสำหรับผู้ที่ถือหุ้นมาระยะหนึ่ง ยิ่งซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำ ๆ ยิ่งได้ผลตอบแทนสูง แต่โดยธรรมชาติของราคาหุ้นแล้วเมื่อบริษัทใดประกาศว่าจะจ่ายเงินปันผลสูง ๆ ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้น ตรงนี้ต้องถามว่าท่านจะซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำหรือสูง คำตอบคือมักจะซื้อหุ้นได้ในราคาสูง
เมื่อรับเงินปันผลแล้วคำนวณผลตอบแทนที่ได้จึงต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประกาศไว้ อีกทั้งเมื่อหุ้นได้จ่ายเงินปันผลแล้วราคาหุ้นย่อมปรับลดลงเป็นปกติ ถามว่าราคาหุ้นที่ท่านเข้าซื้อบวกด้วยเงินปันผลที่ได้แล้วหักด้วยราคาหุ้นที่ท่านขายออกไปนั้นท่านจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ ในบางครั้งหากตลาดหุ้นตกแรง ๆ สิ่งที่ท่านตัดสินใจไปนั้นเท่ากับว่าท่านอาจขาดทุนได้ การลงทุนในลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญมาก หากเป็นมือใหม่เข้าไปคงลำบาก
ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างไม่น่าลงทุนนั้น คงไม่ใช่ เพราะผู้มีเงินออมแต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน บางคนสามารถรับความเสี่ยงได้มาก บางคนรับความเสี่ยงได้น้อย ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละท่าน เพียงแต่ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ยึดเอาประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นหลัก โดยที่ท่านไม่สามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้จากผู้ที่กำลังขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินกับท่าน
|
|
|
|
|