|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาพซึ่งนำมาประกอบเนื้อหาในหน้านี้ เป็นกลุ่มคนไทยในชุมชนหนึ่ง ซึ่งผมไปพบมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ประเทศไทยกำลังขะมักเขม้นกับการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
คนไทยกลุ่มนี้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมสถานที่ภายในวัดประจำชุมชน เนื่องจากในช่วงบ่ายของวันนั้นจะมีงานบุญ
กลุ่มผู้หญิงเตรียมมัดดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อเตรียมไว้ถวายพระ ขณะที่ผู้ชายทำหน้าที่ทำความสะอาดเชิงเทียนหน้าองค์พระที่มีผู้ศรัทธา มากราบไหว้เป็นประจำ
ถือเป็นวิถีไทยที่มีมายาวนาน ในการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของชุมชนนั้นๆ
แต่เป็นวิถีไทยที่พบเห็นน้อยลงทุกทีในสังคมไทยปัจจุบัน
กลุ่มคนไทยที่เห็นในภาพ เป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติมาเลเซีย ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบาลิง รัฐเคดาห์ ของมาเลเซีย!!!
คนไทยกลุ่มนี้ยังคงยึดแน่นอยู่กับขนบธรรมเนียมวิธีปฏิบัติที่เป็นวิถีไทยแท้ๆ ที่เคยเป็นมานับแต่อดีต
พวกเขาไม่ใช่ผู้อพยพ ตรงข้ามพวกเขา เกิด และอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานาน นับตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า
เพียงแต่บังเอิญว่า เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วงลัทธิการล่าอาณานิคมได้แพร่ขยายเข้ามาในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย ทำให้ราชอาณาจักรสยามจำเป็นต้องยอมเสียพื้นที่บางส่วนในรัฐกลันตัน ตรังกานู และปะริส ให้ไปอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษ
ต้นตระกูลของคนไทยกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนในอาณานิคมของอังกฤษไปโดยปริยาย
เห็นวิถีไทยของคนไทยในต่างแดน แล้วย้อนกลับมาดูสังคมไทยปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่างที่เจ็บปวด
กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติใดมาก่อน
คนไทยในประเทศไทยถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจมาตั้งแต่เด็ก ถึงสถานะความเป็นประเทศเอกราช แต่เราไม่เคยถูกปลูกฝังให้เห็นถึงข้อดีของการมีวิถีชีวิตแบบไทยแท้ๆ ที่เรียบง่าย สมถะ ตรงข้ามกับคนที่อยู่ในประเทศซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคม สิ่งที่คนรุ่นปู่ รุ่นย่าของเขาแสวงหา และต่อสู้มาตลอดคือความพยายามสร้างเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชาติตนเอง และเมื่อประเทศเหล่านี้ได้รับเอกราชในภายหลังแล้ว ก็ยังคงปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ มองเห็นถึงข้อดีของเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชาติที่คนรุ่นก่อนหน้าต้องต่อสู้แลกมาด้วยเลือด
ดังนั้นเมื่อกระแสวัฒนธรรมจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเหล่านี้ในภายหลัง คนในประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย แม้กระทั่งลาวหรือกัมพูชา จึงมิได้โอนอ่อน ทำตัวไหลอย่างเรื่อยเปื่อยไปกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาโดยง่าย
ผิดกับเด็กไทยรุ่นใหม่ที่หากไม่คลั่งไคล้ดารา นักร้องจากเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ก็อาจจะมีพฤติกรรมที่รักอิสระจนเกินตัวเหมือนเด็กในประเทศตะวันตก
อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ วิถีชีวิตแบบไทยๆ เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก
เด็กไทยยุคปัจจุบันรู้จักความเป็นเอกราชแต่เพียงกายภาพ แต่จิตใจกลับตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ
ผิดกับคนไทยพลัดถิ่นในต่างแดน ที่ในทางกายภาพ เขาไม่แตกต่างจากคนที่เคยตกอยู่ในอาณานิคม แต่จิตใจเขากลับมีเอกราช กล้า และเต็มใจที่จะแสดงออกถึงความเป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
|
|
|
|
|