คำพูดที่ว่า "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" ยังสามารถใช้ได้อยู่เสมอกับทุกคน ทุกยุคทุกสมัย 3 ปีก่อน คุณแม่เพื่อนที่ทำงานองค์กร NGO อายุเลข 7 นำหน้า พยายามเรียนจนจบเป็นมหาบัณฑิต ถือเป็นตัวอย่างที่ดี
ปีที่แล้วเพื่อนรุ่นพี่ผู้บริหารระดับกรมมีโอกาสใช้คำนำหน้า "ดอกเตอร์" ในวัยเกษียณอายุพอดิบพอดี
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนรุ่นน้องหลัก 5 (อายุ) เชิญร่วมถ่ายรูปเป็นเกียรติในงานรับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย แต่ต้องขอปฏิเสธเพราะด้วยสังขารและสิ่งแวดล้อมไม่อำนวยด้วยประการทั้งปวง แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียน้ำใจและเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่กัน ผมจึงขอนัดเลี้ยงแสดงความยินดีพร้อมได้โอกาสสังสรรค์กับบรรดาเพื่อนในกลุ่มด้วยที่
ร้านอาหารอิตาเลียน ชื่อ "จารดิโน" ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ฝั่งขาออก เลยอนุสาวรีย์หลักสี่ไปเล็กน้อย
ก่อนจะไปลิ้มรสชาติอาหาร ผมขอเล่าเรื่องราวบริเวณแถบนี้เพื่อรื้อฟื้นความหลัง ความทรงจำครั้งเก่าก่อนสักเล็กน้อย
ถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 จุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นไปสู่จังหวัดทางภาคเหนือ เริ่มจากปทุมธานี สิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 1,005 กิโลเมตร เป็นถนนที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตนายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
การเดินทางไปร้านอาหารใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน พอถึงหลักกิโลเมตรที่ 18 เขตบางเขน ด้านซ้ายมือจะเห็นวัดพระศรีมหาธาตุ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างเมื่อปี 2483 ในสมัยนายกรัฐมนตรี พลตรีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใช้เป็นวัดเริ่มแรกในสมัยประชาธิปไตย เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ภายในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ศรีมหาธาตุเป็นปูชนียสถานสำคัญซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และดินจากสังเวชนียสถาน
ด้านหลังวัดพระศรีมหาธาตุจะมีพื้นที่ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งได้รับการสถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อ "โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์" ผลิตครูเพื่อรองรับการขยายตัวของการจัดการศึกษาในระบบ เปิดสอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2435 ถือว่าเป็นสถานศึกษาด้านการฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีมิสเตอร์กรีนรอด ชาวอังกฤษ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ตั้งอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็ก สวนมะลิ และเปลี่ยนสถานที่อีกหลายแห่ง
15 พฤษภาคม พ.ศ.2461 เปลี่ยนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) โดยไปอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ในปี 2475 เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดครูประถม ภายในพระราชวังมีศาลพระพิฆเนศวร ทางโรงเรียนจึงได้นำรูปพระพิฆเนศวรเป็นตรา และสัญลักษณ์ของโรงเรียน
พ.ศ.2477 ย้ายมาที่กองพันทหารราบที่ 6 ถนนศรีอยุธยา (ปัจจุบันคือกองพลที่ 1 รักษาพระองค์) ชื่อโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ผลิตครูตามหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ใช้เวลาเรียน 3 ปี
พ.ศ.2498 ใช้หลักสูตรใหม่ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เรียน 2 ปี เพื่อเร่งรัดการผลิตครูให้ทันกับความต้องการ และย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บนถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อ 1 มิถุนายน 2499
เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยครูพระนคร เมื่อปี 2509 เปิดหลักสูตร ป.กศ.สูง พ.ศ.2517 เปิดหลักสูตรประโยคครูอุดมศึกษา (ป.อ.) รับผู้จบ ป.กศ.สูง หรืออนุปริญญา เรียน 2 ปี ได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต 14 กุมภาพันธ์ 2518 ปรับหลักสูตรประโยคครูอุดมศึกษา เป็นหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต พ.ศ.2523 เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต หลักสูตร 4 ปี รุ่นแรก
เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันราชภัฏ 24 มกราคม 2538 จึงใช้คำว่าสถาบันราชภัฏพระนคร เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำวิจัย บริการวิชาการให้สังคม ปรับปรุงถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยี บำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู และเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปัจจุบัน
จากวัดพระศรีมหาธาตุจะพบวงเวียนบางเขน อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์หลักสี่ (ช่วงรอยต่อระหว่างถนนรามอินทรากับถนนแจ้งวัฒนะ) บริเวณนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นสมรภูมิสู้รบของกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้สร้างเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏ ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การสู้รบ การทำสงครามกลางเมือง ซึ่งแฝงไว้ด้วยสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นศิลปกรรมสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ด้วยการชูประเด็นสำคัญที่ยึดเป็นหลักความชอบทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ กองทัพ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันได้สร้างอุโมงค์หลักสี่ ลอดทางแยก โดยอนุสาวรีย์หลักสี่ยังคงอยู่ในพื้นที่เดิมมีความโดดเด่นและสง่างาม
เลยวงเวียนหลักสี่ประมาณ 100 เมตร จะเห็นร้านอาหารจารดิโน ซึ่งหมายถึงสวน ในภาษาอิตาลี มองเข้าไปภายในบริเวณร้านจะพบกับความร่มรื่น ด้วยร่มเงาไม้ มุมสวน พร้อมห้องนั่งรับประทาน เบเกอรี่และไอศกรีม หรือนั่งจิบกาแฟเพื่อการพักผ่อน
ปัจจุบันกระแสความนิยมของคนไทยในอาหารชาติตะวันตกมีมากขึ้น มีการเปิดโรงเรียน
สอนทำอาหารเพื่อทำรับประทานเองหรือเพื่อการค้า ร้านอาหารต่างชาติจึงผุดขึ้นราวดอกเห็ด
แต่บรรดาอาหารของชาวยุโรปทั้งหมด อาหารอิตาเลียนได้รับยกย่องว่า เป็นอาหารที่มีรสชาติถูกปากที่สุดจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะพิซซาหรือพาสต้า อาหารเส้นที่คนไทยรู้จักและนิยมรับประทานอย่างสปาเกตตี หรือมะกะโรนี
พิซซาเป็นอาหารที่ทุกคนรู้จัก เชื่อกันว่าพิซซามีต้นกำเนิดมาจากเมืองทางตอนกลางของอิตาลี "เนเปิล" ในช่วงก่อนสมัยเรเนซองส์ เริ่มแรกเป็นอาหารของคนยากคนจน ซึ่งใช้พวกเครื่องเทศตามแต่จะหาได้ ส่วนที่อร่อยของพิซซา คือหน้าของพิซซานั่นเอง เนยแข็งทำจากนมควาย และมะเขือเทศ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ว่ากันว่ามะเขือเทศมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา ชาวยุโรปนำมาจากเม็กซิโก
คำว่าพิซซา สันนิษฐานว่ามาจากคำละตินที่ว่า Picea ซึ่งชาวโรมันใช้สำหรับเรียกขนมปังอบ Pizza คำนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยกลาง (Middle Ages) บุคคลที่ทำให้พิซซามีชื่อเสียงโด่งดังคือราฟาเอล เอสโปสีโต ซึ่งทำพิซซาถวายกษัตริย์ Umberto I และ Queen Margherita ปี 1889 ซึ่งออกเยี่ยมเยียนราษฎรเมืองเนเปิล
เอสโปสีโตถวายความจงรักภักดีด้วยการทำพิซซาถวาย โดยใส่สัญลักษณ์ของธงชาติอิตาลีเข้าไปด้วย ใช้มะเขือเทศ Mozzarella และ Basil (ใบโหระพา) แทนสีแดง ขาว เขียวบนธงชาติของอิตาลี
Queen Margherita ทรงโปรดปรานมาก ทำให้พิซซาเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ในชื่อ Pizza Margherita "Antica Pizzeria Port Alba" เป็นชื่อร้าน Pizza ร้านแรกของโลก และยังขายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนร้านที่นายเอสโปสิโต เคยอาศัยอยู่เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันยังเปิดขายอยู่ชื่อ "Pizzeria Brandi" ภายในร้านยังมีคำขอบคุณจากราชสำนักตั้งโชว์อยู่ด้วย
ชนิดของพิซซาที่พบเห็นกันทั่วไป มีหน้าทะเล หน้าเห็ดทาซอสมะเขือเทศโรยปลาแองโชวี หรือพิซซาใส่เนยแข็ง 4 อย่าง หรือพวกพิซซาเจหน้าผัก
พาสต้าถือเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการทำอาหารอิตาเลียน การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ของชาวอิตาเลียน อาหารจานแรกจะเป็นพาสต้าเท่านั้น แต่ไม่ใช่อาหารจานหลัก แต่ก็ไม่ผิดกติกา
การประกอบอาหารพาสต้ามีหลายวิธี ใช้เส้นพาสต้าหลายรูปแบบไม่เฉพาะแต่สปาเกตตีหรือมะกะโรนีกับซอสและเครื่องปรุงนานาชนิด
ผัดน้ำมัน ที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ สปาเกตตีผัดหอยลาย ซึ่งปรุงรสด้วยน้ำมันมะกอก พริกไทย ผักชีร่วมกับหอยลายหรือปลาแองโชวี
ซอสแดง สปาเกตตีเนื้อสับ ซึ่งใช้เส้นต้มสุกราดด้วยซอส ซึ่งมีมะเขือเทศร่วมกับเนื้อวัว
ส่วนซอสครีม คือสปาเกตตีคาร์โบนารา ใช้เส้นคลุกเคล้ากับซอส ซึ่งมีเนย ครีม ไข่ และเนยแข็งเป็นส่วนผสม เนื้อสัตว์ที่ใช้จะเป็นพวกแฮม เบคอน
แบบมีไส้ อย่างราวิโอลี ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเกี๊ยว คือเป็นแผ่นแล้วห่อด้วยเนื้อสับ เนยแข็ง หรือผักโขม นำไปต้มให้สุก แล้วนำมาราดด้วยซอสมะเขือเทศหรือซอสครีม โรยเนยแข็งขูด
หรือประเภทอบ เช่น ลาซานญา และคันแนลโลนีเป็นพาสต้าแผ่นหรือรูปกระบอกขนาดใหญ่ สอดไส้ด้วยเนื้อสับ ผักโขม เนยแข็ง มะเขือเทศราดด้วยซอสเนยแข็งแล้วนำไปอบก่อนเสิร์ฟ
เมนูหลักของ
อาหารอิตาเลียน มักประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ต้ม อบ ทอด ย่าง ตุ๋น มีทั้งแบบง่ายๆ อย่างปลาซาร์ดีน คลุกเกลือย่าง สเต๊กเนื้อแกะ อกไก่อบซอส สตู อาหารทะเล เนื้อลูกวัวชุบแป้งขนมปังทอด
พูดคุยสัพเพเหระพอหอมปากหอมคอ คราวนี้ถึงเวลาไปเริ่มเรื่องอาหารที่จารดิโนเสียที
เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ร้านจะพบกับสมชาย ปรีเปรม แขกหรือ คนในวงการ Airline Catering เรียกกันติดปากว่าสมชาย ลุฟท์ คร่ำหวอดในงานด้านนี้มาเกือบ 40 ปี จากการบินไทย อาลิทาเลีย และสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ซึ่งรับหน้าที่ผู้จัดการของร้านจะคอยต้อนรับและดูแลลูกค้าด้วยความเอาใจใส่ และใส่ใจด้วยความสุภาพอ่อนน้อม ได้แนะนำตั้งแต่อาหารจานเรียกน้ำย่อย ของกินเล่น ของว่าง พิซซา พาสต้า อาหารจานหลัก ของหวานและไอศกรีม จนอยากสั่งรับประทานไปเสียทุกอย่าง อาหารจานเด็ดของร้านมากมายพวกเราจึงเริ่มด้วย
- Prestro Olive Oil Spinach Squce กับ Cibatta Bread ซึ่งเป็นขนมปังที่ทางร้านทำเองสดใหม่ทุกวัน
- Pizza 4 Season พิซซา 4 หน้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย เห็ด มะกอก แฮม ไส้กรอก และซีฟู้ด หอมกรุ่นจากเตา
ทางร้านจะมีเตาอบใหญ่มาตรฐาน โชว์กรรมวิธีในการทำ ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่การตระเตรียมแป้ง นวดแป้ง จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายจนสำเร็จเป็นพิซซาจานโต ซึ่งเตาพิซซาจะอยู่บริเวณทางเข้าร้านให้ลูกค้าได้เห็นวิธีทำอย่างใกล้ชิดทีเดียว
- Spaghetti Seafood สปาเกตตีกับซอสมะเขือเทศและกุ้งใหญ่
- Smoked Duck Bread Salad สลัดอบเป็ดรมควัน ทางร้านจะแยก cheese เสิร์ฟให้ต่างหาก เพราะบางท่านอาจจะไม่พึงประสงค์ เป็นเมนูจานเด็ด จานโปรดของแขกที่ร้านนี้เช่นกัน
- Onion Soup ซุปหัวหอมสไตล์อิตาเลียนกับขนมปังอบชีส
- Chocolate Pudding with Ice Cream ช็อกโกแลตพุดดิ้งกับไอศกรีมมอลล์ เป็นเมนูที่ลูกค้าเรียกหาเสมอ พร้อมทั้งสั่งกาแฟตบท้ายรายการอีกด้วย
- เอสเปรซโซ กาแฟดำเข้มข้น ผ่านการกลั่นกรองใส่ถ้วยขนาดเล็กดื่มได้ 2-3 อึก ว่ากันว่า เป็นเครื่องดื่มโดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร เป็นชีวิตจิตใจของคนอิตาเลียน ซึ่งเป็นเจ้าตำรับของกาแฟที่แพร่หลายไปทั่วโลก
จริงๆ แล้ว จารดิโนมีเมนูอาหารเรียกน้ำย่อย สลัด ซุป พาสต้า เมนูอาหารหลัก พิซซา ของหวาน เมนูที่มีตามร้านอาหารอิตาเลียนทั่วๆ ไป หรือจารดิโนสไตล์มากมายเกือบร้อยเมนู
เมื่อเสร็จการสังสรรค์ และรูดปื๊ด รูดปื๊ด เรียบร้อยแล้ว Order by Jude เห็นว่าร้านนี้บรรยากาศดี ตกแต่งน่ารัก สถานที่สวยงาม โดยเฉพาะรสชาติอาหารโดดเด่น อร่อยถูกปาก ราคามาตรฐานไม่แพงอย่างที่คิด เซอร์วิสดี ทำให้อยากแนะนำผู้อ่านได้ไปลิ้มลองบ้าง ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้านในหลากหลายเรื่องราว ทำให้รู้จักตัวตนของเขามากขึ้น โดยเฉพาะเหตุผลการทำธุรกิจร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน และได้รับความนิยมของนักชิมมากมาย แม้ว่าสถานที่ตั้งจะอยู่ชานเมืองก็ตาม
พรสถิต นฤนาทวานิช ปัจจุบันเป็น CEO ของพีบีแอร์ และดำเนินธุรกิจของตัวเองเกี่ยวกับอิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต และที่เกี่ยวข้องอีกหลายบริษัท
เมื่อก่อนเคยเป็นกัปตันของการบินไทย บังเอิญไฟลต์บินจะได้บินไปโรมอยู่เป็นประจำ เป็นคนที่ชอบรับประทานอาหารอิตาเลียนเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว จึงได้ลองรับประทาน ร้านอาหารอิตาเลียนที่โรมมาแล้วแทบทุกร้าน และติดใจรสชาติอาหารและบรรยากาศการจัดร้าน ซึ่งเมื่อทำร้านจารดิโนจึงมีลักษณะคล้ายกับร้านในดวงใจที่กรุงโรม
บ้านหลังนี้เป็นสมบัติเก่าของภรรยา พรทิพย์สร้างมากว่า 50 ปี ยุค 2500 ปล่อยทิ้งร้างมานานกว่าสิบปี คิดว่าถ้าไม่ได้ทำประโยชน์หรือปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่มีผู้อยู่อาศัยต่อไป จะทำให้บ้านยิ่งทรุดโทรมหนักขึ้น เมื่อได้มาเปิดดูเพื่อทำความสะอาด มองเห็นฝ้า เพดาน ผุพัง หลุดลุ่ย พองตัว จึงสั่งให้รื้อทิ้งทั้งหมด ทำให้ได้พบเห็นความสวยงามใต้ฝ้า ซึ่งเป็นพื้นกระดานพร้อมคานไม้แผ่นหนายาวตรง ดูแล้วคลาสสิกมาก
จึงตกลงใจกับภรรยาปรับปรุงบ้านนี้ทำเป็นร้านอาหารอิตาเลียน ซึ่งมีความชอบเป็นทุนอยู่แล้ว และดำเนินการปรับปรุง ต่อเติม ตกแต่งบริเวณโดยรอบ และภายในบ้านจนสวยงาม โดยใช้เวลากว่า 1 ปี จึงได้เปิดกิจการ
ด้วยความโชคดีที่เคยมีเพื่อนเป็นเชฟชาวดัตช์และชาวอิตาเลียนทางตอนใต้ ซึ่งรสชาติอาหารจะมีรสจัดเข้มข้นใกล้เคียงกับปากคนไทย จึงช่วยกันจัดทำเมนูอาหารอิตาเลียนสไตล์จารดิโนอย่างที่เห็น
อาหารต้องมีคุณภาพ สดใหม่ บางครั้งลูกค้าอาจจะได้ชิมของที่มาจากยุโรปอย่าง Pama Ham จะนำมาแล่ให้เห็นกันจะจะเลยทีเดียว
ขนมปังจะทำเองวันต่อวัน เช่นเดียวกับพิซซาจะทำเอง แม้ว่าไอศกรีมของที่ร้านนำมาจากมวกเหล็ก แต่ก็เป็นสูตรของที่ร้านโฮมเมดทั้งสิ้น
พรสถิตเล่าว่าเป็นคนที่ไม่ชอบเที่ยวเตร่ เมื่อเสร็จจากงานประจำ จะตรงกลับบ้านทันที ร่วมรับประทานอาหารกับภรรยาและลูก เมื่อเปิดกิจการร้านอาหารก็ทำให้บรรยากาศที่ร้านเหมือนอยู่บ้าน เป็นที่พักผ่อนของครอบครัวไปในตัว บางครั้งนัดญาติหรือเพื่อนสนิทมานั่งกินนั่งดื่มที่ร้าน
ร้านจะมีห้องหรือมุมให้เลือกนั่งตามสะดวก มากันแบบครอบครัว สังสรรค์กันเป็นหมู่คณะ เลี้ยงวันเกิด แต่งงาน ฉลองปริญญา หรือคู่รักสวีตหวาน หรือกลุ่มผู้นิยมในรสชาติไวน์ ซึ่งที่ร้านนี้ก็จะมี Party ชิมไวน์อยู่เป็นประจำ
ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของร้าน จะเป็นข้าราชการกองทัพอากาศ พนักงานสายการบิน และผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ อย่างน้อย รสชาติอาหารราคาใกล้เคียงเหมือนกัน หรือดีกว่าในเมือง ไม่ต้องเข้าเมือง ประหยัดน้ำมัน ค่าทางด่วน ไม่แออัด อากาศบริสุทธิ์
อย่างวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ทางร้านต้อนรับลูกค้าตั้งแต่ก่อนเที่ยงวันยันเที่ยงคืน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าออกประดุจการเล่นเก้าอี้ดนตรี
บางครั้งมากันเป็นครอบครัว มีเด็กๆ วิ่งเล่นกันสนุกสนาน ทางร้านจะจัดให้เด็กๆ ไปทดลองทำพิซซาด้วยตัวเอง ชิมฝีมือตัวเอง เด็กๆ ก็จะติดใจบอกเป็นพิซซาที่อร่อยที่สุดในโลก เพราะเป็นผลงานของตัวเอง
วันก่อนพนักงานบางกอกแอร์เวย์ส ปิดห้องสังสรรค์อยู่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นกลุ่มจัดเลี้ยงของพนักงานการบินไทย เป็นที่สนุกสนานโดยถ้วนหน้า
จากลูกค้าของร้านบางท่านกลายเป็นเพื่อนกิน เพื่อนดื่ม เพื่อนสนิทกับเจ้าของร้านในที่สุด
บรรยากาศของร้านเหมาะกับการจัดงานวิวาห์ ร้านนี้เปิดมากว่า 3 ปี จึงมีคู่รักมาจัดงานแต่งงานที่นี่แล้วถึง 5 คู่ พิธียกขันหมาก พิธีหมั้นตอนเช้า จนเลี้ยงฉลองในช่วงเย็น ทางร้านเนรมิตได้ตามความต้องการ
ก่อนที่จะมาคุยกับเรา พรสถิตอยู่ในวง Party Wine กับเพื่อนชาวต่างชาติ เราจึงถือโอกาสคุยเรื่องไวน์ที่ดื่มอีกเล็กน้อย เพราะเราเห็น Shelt Wine โชว์อยู่หลายยี่ห้อ ทั้งไทย ทั้งเทศ ที่นี่จะเน้นไวน์อิตาเลียน ซึ่งไวน์จะมีรสชาติเข้าได้กับอาหารที่เราขายอยู่
นอกจากนี้ยังมีไวน์ของออสเตรเลียไว้บริการ เพราะเป็นไวน์ที่มีรสชาติเข้มข้น เป็นที่นิยมของลูกค้าคนไทย
สำหรับไวน์ไทยที่มีให้เห็นในร้าน แหล่งผลิตอยู่ที่เขาใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ เช่น จากไร่พีบีของปิยะ ภิรมย์ภักดี เจ้าของพีบี แอร์นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีไวน์จากกราน-มอนเต้ ของวิสุทธิ์ โลหิต-นาวี วิลเลจ ฟาร์ม ของวีระวัฒน์ ชลวณิช รวมถึงไวน์จากประจวบคีรีขันธ์ อย่างมอนซูน วาลเลย์ ของเฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งถือว่าไวน์เหล่านี้มีคุณภาพดี มีไว้บริการสำหรับนักดื่มเสมอ
เราเห็นว่ากลุ่ม Party Wine ยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม เราจึงถือโอกาสอำลากลับในที่สุด ราตรีสวัสดิ์