|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ที่ดินเป็นหนึ่งในทุนที่สำคัญสำหรับนักลงทุนในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สำหรับ สปป.ลาวแล้ว ที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการประกอบธุรกิจเกือบทุกด้าน ทั้งในด้านกสิกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ นับเป็นสิ่งดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากให้เข้ามาลงทุน และด้วยแหล่งทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์นี้ เอกชนสัญชาติลาวจำนวนมากก็มองเห็นเป็นช่องทางในการร่วมมือเพื่อขยายความสามารถด้านธุรกิจของตน ด้วยการเสนอที่จะโอนสิทธิในการใช้ที่ดินที่ตนมีอยู่ให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ แลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทน แต่สิทธิในที่ดินของเอกชนชาวลาวที่เสนอมานั้น อาจมีความสมบูรณ์ตามกฎหมายในระดับที่ต่างกัน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวย่อมส่งผลถึงสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นเช่นกัน
ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องพิจารณาความสมบูรณ์เหมาะสมในการลงทุนครั้งนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้น สิ่งที่ลงทุนไปอาจไม่เกิดประโยชน์ เพราะที่ดินที่เป็นปัจจัยทุนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจทั้งหมดนั้นได้มาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนในที่สุด
คำถามหลักที่นักลงทุนต่างประเทศ ควรให้ความสนใจ พิจารณาก่อนตัดสินใจทำสัญญากับเอกชนชาวลาว ได้แก่
1. นักลงทุนต้องเข้าใจสิทธิของตนในการถือสิทธิในที่ดินของ สปป.ลาว
กรรมสิทธิ์ในที่ดินของ สปป.ลาวทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์รวมของชาติ แต่รัฐบาลของ สปป.ลาว อาจมอบสิทธิในที่ดินบางส่วนให้แก่ประชาชนชาวลาวได้ โดยสิทธิที่รัฐบาลจะมอบให้นั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือการให้สิทธินำใช้ที่ดิน และการให้สิทธิใช้ที่ดิน
สำหรับสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศนั้น กฎหมายที่ดินกำหนดไว้ชัดเจน ว่านักลงทุนต่างประเทศไม่มีสิทธิที่จะถือกรรมสิทธิ์ หรือสิทธินำใช้ที่ดิน หรือสิทธิใช้ที่ดินใดๆ ได้อย่างเช่นที่เอกชนลาวมีสิทธิ นักลงทุนต่างประเทศมีสิทธิที่จะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้เพียงการที่นักลงทุนทำสัญญาเช่าที่ดิน หรือสัญญาสัมปทานที่ดินกับรัฐบาล หรือทำสัญญาเช่ากับเอกชนชาวลาว หรือการร่วมลงทุนธุรกิจกับเอกชนชาวลาว โดยนำสิทธิในที่ดินมาลงทุนเป็นหุ้น เท่านั้น
2. ที่ดินที่เสนอมานั้นเป็นที่ดินของเอกชนที่มีสิทธินำใช้ หรือสิทธิใช้ หรือเป็นที่ดินรัฐ
ความเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินดั้งเดิมว่าเป็นที่ดินรัฐ ซึ่งโดยหลัก หมายถึงที่ดินที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการแจกจ่าย หรือมอบสิทธิให้กับเอกชนรายใดไป หรือเป็นที่ดินของเอกชนที่ได้รับการมอบสิทธิมาจากรัฐ ส่วนของความเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะสิทธิในการเช่าที่ดินของนักลงทุน รวมถึงกระบวนวิธีการเข้าทำสัญญาตามกฎหมาย ระหว่างที่ดินรัฐและเอกชนนั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นการเช่าหรือสัมปทานที่ดินรัฐ ระยะเวลาการเช่าจะได้สูงสุดไม่เกิน 50 ปี แต่สามารถต่ออายุสัญญาเช่าได้อีกแล้วแต่กรณี ตามการเห็นชอบจากรัฐบาล โดยต้องดำเนินการขอเช่าที่ดิน หรือหากเป็นโครงการใหญ่ ต้องขอสัมปทาน โดยทำตามรูปแบบที่กำหนดกับรัฐบาลโดยตรง
ในขณะที่กรณีการเช่าที่ดินจากเอกชนชาวลาวนั้น ขึ้นกับการตกลงระหว่าง คู่สัญญาเป็นหลัก โดยสามารถเช่าได้สูงสุด ไม่เกิน 30 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาเช่าได้อีกแล้วแต่กรณี โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การคุ้มครองที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์การหลักรับผิดชอบเรื่องที่ดินของ สปป.ลาว
สำหรับเนื้อหาในบทความฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเช่าที่ดินจากเอกชนเป็นสำคัญ
3. สิทธิของเอกชนที่เสนอมานั้นเป็นสิทธิอย่างไร และมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือไม่อย่างไร
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สิทธิในที่ดินสำหรับเอกชนซึ่งมีสัญชาติลาว แบ่งออกเป็นสิทธินำใช้ที่ดิน และสิทธิใช้ที่ดิน โดยการให้สิทธิทั้งสองประเภท จะก่อให้เกิดสิทธิแก่เอกชนที่ได้รับแตกต่างกันและจะมีเอกสารสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวแตกต่างกัน
สิทธินำใช้ที่ดินถือเป็นสิทธิความเป็นเจ้าของแบบสมบูรณ์แบบสำหรับเอกชน ชาวลาว เทียบได้กับหลักกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไทย สามารถนำไปใช้ได้รับประโยชน์ โอน สืบทอด เอาไปลงทุนเป็นหุ้น หรือให้เช่า โดยจะมีเอกสารแสดงสิทธินำใช้ที่ดิน คือใบตราดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์เทียบเคียงได้กับโฉนดที่ดินตามกฎหมายไทย หากเอกชนที่เสนอให้เช่าสิทธิในที่ดินดังกล่าวมีใบตราดิน ที่แสดงขอบเขตของพื้นที่ที่ตกลงจะดำเนินการให้เช่ามาแสดงแก่นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนนั้นย่อม มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า สิทธิที่นักลงทุนจะเช่านั้นมีความสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ต้องพิจารณา
ส่วนสิทธิใช้ที่ดิน แม้ชื่อของสิทธิทั้งสองจะใกล้เคียงกัน แต่สิทธิที่ได้นั้นแตกต่างกันมาก สิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไขจำกัดค่อนข้างมาก โดยมีเพียงใบยั้งยืนที่ดินออกมา สิทธิใช้ที่ดินนั้นรัฐบาล มอบให้แก่เอกชนชาวลาว เพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ที่ดินใน 2 ประการ คือที่ดินกสิกรรม และที่ดินป่าไม้ชั่วคราว สิทธิดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์ เป็นเพียงสิทธิเบื้อง ต้น มีเพียงสิทธิสืบทอดตามอายุใบยั้งยืน ซึ่งจะมีอายุเพียง 3 ปี โดยไม่มีสิทธิโอนเอาไปลงทุนเป็นหุ้น หรือให้เช่า สามารถเทียบเคียงได้กับใบจอง หรือ สค.1 ตามกฎหมายไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หากใช้พื้นที่ดินดังกล่าวโดยสมบูรณ์ ภายหลังระยะเวลา 3 ปี เอกชนดังกล่าวสามารถนำใบยั้งยืนที่ดินดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นใบตราดิน เพื่อรับสิทธินำใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิสมบูรณ์ได้
เนื่องจากสิทธินำใช้ที่ดิน และสิทธิใช้ที่ดินของเอกชนชาวลาวดังที่เสนอมาข้างต้นนั้นมีคามแตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นประเภทของสิทธิดังกล่าว รวมถึงเอกสารสิทธิที่เสนอมาด้วยให้ชัดเจน เพราะหากเป็น เพียงสิทธิใช้ที่ดิน ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนเป็นสิทธินำใช้ที่ดินที่สมบูรณ์ ที่ดินดังกล่าวย่อมไม่สามารถให้เช่าได้ และนักลงทุนต่างประเทศย่อมไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินดังกล่าวเพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
4. พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณพื้นที่ต้องห้ามหรือไม่
นอกจากการพิจารณาความถูกต้อง และสมบูรณ์ของที่ดินตามกฎหมายที่ดินแล้ว ยังต้องพิจารณาความถูกต้องในการมอบสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้แก่เอกชนชาวลาวตามกฎหมายอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายป่าไม้ ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่บางบริเวณของประเทศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่ารักษา หรือป่าหวงห้ามต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ที่ดินดังกล่าวแม้จะได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ดินมาโดยถูกต้อง แต่เป็นการล่วงล้ำหรือบุกรุกพื้นที่ป่าหวงห้าม ก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิได้ในภายหลัง เป็นความเสี่ยงอย่างสูงสำหรับนักลงทุนต่างประเทศเช่นกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าตามกฎหมายของ สปป.ลาวนั้น แม้ว่าประชาชนจะได้สิทธิในที่ดินดังกล่าวมาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าหวงห้าม ก็ไม่มีส่วนของข้อบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิให้แก่เอกชนผู้นั้นที่จะไม่ถูกเพิกถอนสิทธิที่ได้รับมาก่อนดังกล่าวแต่อย่างใด ความเสี่ยงที่อาจถูกเพิกถอนจึงยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบการตรวจสอบส่วนของ องค์การคุ้มครองที่ดินและกรมป่าไม้
ในช่วงแรกของการมอบสิทธินั้นยังขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในการตรวจสอบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบจากทั้งสองหน่วยงาน นอกจากประเด็นป่าสงวนแล้ว อาจต้องพิจารณาส่วนของที่ดินในบริเวณแหล่งต้นน้ำ หรือพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์เพิ่มเติมอีกด้วย
5. ที่ดินของเอกชนชาวลาวนั้นเป็นที่ดินประเภทใดตามที่กำหนดในกฎหมายที่ดิน
ตามกฎหมายที่ดินมีการแบ่งประเภทที่ดินสำหรับให้ประชาชนใช้ประโยชน์ออกเป็นประเภทตามจุดประสงค์ กิจกรรมที่ให้ทำ เป็นที่ดินเพื่อกสิกรรม ที่ดินป่าไม้ ที่ดินอุตสาหกรรม ที่ดินคมนาคม และที่ดินปลูกสร้าง เป็นต้น ซึ่งประเภทของที่ดินนี้จะถูกกำหนดมาชัดเจนพร้อมกับการมอบสิทธิในที่ดินให้แก่เอกชน ชาวลาวดังกล่าว และไม่สามารถผันเปลี่ยน ประเภทการใช้ที่ดินได้ ยกเว้นจะได้รับการอนุญาตเป็นการเฉพาะจากองค์การคุ้มครองที่ดินแห่งชาติ ดังนั้นนักลงทุนต้องพิจารณาวางแผนถึงจุดประสงค์การ นำใช้ที่ดินในบริเวณที่จะเช่าดังกล่าวให้ชัดเจน โดยต้องให้มีความสอดคล้องกับประเภทที่ดินที่ถูกกำหนดอยู่ในปัจจุบันของที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าว ไม่เช่นนั้นหากได้ที่ดินดังกล่าวมาก็อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามจุดประสงค์เท่าที่ควร
6. ที่ดินดังกล่าวได้รับมาจากการขอสัมปทานของเอกชนดังกล่าวจากรัฐบาลหรือไม่
สิทธิในการนำใช้ที่ดินของเอกชนในประเทศลาวนั้น นอกจากเอกชนจะได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าวตามการประกาศมอบดิน มอบป่า โดยรัฐบาล ตามกฎหมาย ที่ดินโดยตรงแล้ว เอกชนยังอาจเสนอขอสิทธิในที่ดินบางส่วนเป็นการเฉพาะ ตามการตกลงพิเศษกับรัฐบาล ด้วยการขอสัมปทานในพื้นที่ดินดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการของตน ซึ่งโดยหลักของกฎหมายประเทศลาวนั้น การมอบสัมปทานจากรัฐบาลให้แก่เอกชนคนใด เป็นการให้แบบ Exclusively หมายความว่าเมื่อมีการให้สัมปทานกับเอกชนคนใด ย่อมหมายถึงรัฐบาลมีความเชื่อมั่นกับเอกชนผู้นั้นเพียงผู้เดียวให้ปฏิบัติตามข้อตกลง เอกชนรายนั้นไม่สามารถโอนสิทธิสัมปทานดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น โดยที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มอบสิทธิไม่ให้ความยินยอมได้ โดยในการมอบ สัมปทานนั้นจะเป็นการมอบสิทธิสัมปทานบนสิทธินำใช้ที่ดินดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้นสิทธิสัมปทานและสิทธิในที่ดินนั้นจึงเชื่อมโยงต่อกันอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้
ดังนั้น หากที่ดินของเอกชนชาวลาวดังกล่าวได้มาจากการรับสัมปทาน ย่อมส่งผลให้เมื่อเอกชนรายนั้นจะดำเนินการโอนสิทธิในที่ดินต่อให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ ก็จะถือเป็นการโอนสิทธิสัมปทาน ที่รัฐบาลมอบให้ไปให้แก่บุคคลอื่นด้วย การโอนสิทธินำใช้ที่ดินดังกล่าว ซึ่งโดยหลัก สามารถทำได้ตามความตกลงระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อมีความเกี่ยวพันกับสิทธิตามสัมปทานย่อมต้องได้รับการรับรองและเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน และเมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวโยงถึงส่วนของสัมปทาน ความยุ่งยากและความละเอียดที่ต้องพิจารณาย่อมมีมากขึ้น
7. ที่ดินดังกล่าวนั้นเอกชนชาวลาวได้เสียภาษีที่ดินโดยถูกต้องแล้วหรือไม่
ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินของประเทศลาว ที่ดินบางประเภทของเอกชนชาวลาว กล่าวคือที่ดินเพื่อกสิกรรม และที่ดินเพื่อการปลูกสร้าง กำหนดโดยหลักให้บุคคลผู้มีสิทธินำใช้ที่ดินต้องดำเนินการเสียภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นภาษีรายปีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยหากบุคคลใดไม่ดำเนินการให้สอดคล้อง กฎหมายก็ได้กำหนดโทษ ไว้ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของเบี้ยปรับ ซึ่งมีอัตราสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
สำหรับส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะเช่าสิทธิในการใช้ที่ดินจากเอกชนชาวลาว กฎหมายภาษีที่ดินก็ได้กำหนดชัดเจนไว้เช่นกัน ให้นักลงทุนที่เช่าและครอบครองที่ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินตลอดระยะเวลาที่เข้าครอบครอง และดำเนินการเช่าสิทธินำใช้ที่ดินจากเอกชนชาวลาวนั้น ในกรณีที่หากเอกชนชาวลาวนั้นไม่ชำระค่าภาษีให้ถูกต้อง ตาม กฎหมายแล้วผู้มีสิทธิครอบครองสิทธินำใช้ที่ดินนั้นก็ต้องรับผิดชอบเสียภาษีที่ดินทั้งหมดให้ถูกต้อง ทั้งส่วนที่เจ้าของเดิมไม่ได้ทำการชำระให้ถูกต้อง และภาษีที่ดินที่ตนมีหน้าที่ต้องจ่ายภายหลังการเช่าสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงเบี้ยปรับภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งย่อมถือเป็นต้นทุนที่สูงมากเกินกว่าที่จะลงทุน ดังนั้นการตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จ หรือคู่มือบัญชีการชำระค่าภาษีที่ดินดังกล่าว จึงถือเป็นประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ต้องตรวจสอบ
8. นักลงทุนต่างประเทศได้เคยไปติดต่อกับหน่วยงานขั้นท้องถิ่นหรือไม่
ตามกฎหมายที่ดินและกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศลาว โดยองค์การคุ้มครองที่ดินแห่งชาติได้มีการกำหนดกระจายอำนาจในส่วนของที่ดินบางส่วนให้แก่หน่วยงานขั้นท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นขั้นแขวง ขั้นเมือง หรือแม้แต่ขั้นบ้าน ในกฎหมายได้กำหนดให้อำนาจเฉพาะแก่หน่วยงานขั้นท้องถิ่นที่สำคัญในการตรวจสอบการนำใช้ที่ดิน รวมถึงการออกเอกสารยืนยันสิทธิในที่ดินบางส่วน และมีหน้าที่รักษาสมุดทะเบียนที่ดิน ซึ่งจะระบุรายละเอียดทั้งหมดที่ได้มีการทำนิติกรรมกับที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไว้ ดังนั้น เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจสูงสุดในส่วนของสิทธินำใช้ที่ดินที่จะเช่ามานั้น การไปติดต่อกับหน่วยงานขั้นท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่พื้นที่จริงและเก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับนิติกรรมที่เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดของเอกสารว่าออกโดยถูกต้อง สมบูรณ์และตรวจสอบนิติกรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นกับที่ดินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำที่ดินดังกล่าวไปค้ำประกัน หรือการทำสัญญาเช่า เป็นต้น
9. นักลงทุนต่างประเทศนั้นเคยได้ไปสำรวจพื้นที่จริงมาก่อนหรือไม่
นักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้าไปเช่าที่ดินจากเอกชนชาวลาวนั้น ไม่ควรเชื่อความสมบูรณ์ของพื้นที่ดินดังกล่าว จากเพียงเอกสารที่นำมาแสดงเท่านั้น เพราะเอกสารในที่ดินดังกล่าวนั้นมีข้อมูลที่ระบุไว้เพียงจำกัด ตามที่กฎหมายระบุเท่านั้น กล่าวคือมีเพียงชื่อของเจ้าของสิทธิ ในที่ดิน จำนวนเนื้อที่ดิน ขอบเขตเนื้อที่ดินเท่านั้น แต่ลักษณะของเนื้อที่ตัวจริงนั้นอาจมีรายละเอียดมากกว่าที่ปรากฏในเอกสาร ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่รอบข้างที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าปกคลุม หรือเป็นบริเวณที่ติดกับแหล่งน้ำมาก หรือที่ดิน ดังกล่าวมีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใดไว้ก่อนเป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพื้นที่ตัวจริงที่ได้เห็นนั้น อาจส่งผลกระทบที่สำคัญมากต่อการเข้าถือครองที่ดินดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้สามารถรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดของที่ดินดังกล่าวได้ครบถ้วน การไปสำรวจ พื้นที่จริงนั้น ย่อมจะเป็นส่วนสำคัญ
10. นักลงทุนต่างประเทศเลือกรูปแบบการถือครองสิทธิในที่ดินจากเอกชนชาวลาวอย่างไรได้บ้าง
นักลงทุนต่างประเทศมีทางเลือกในการรับโอนสิทธิในการถือครองที่ดินจากเอกชนชาวลาวได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง เช่น
- นักลงทุนต่างประเทศเข้าทำสัญญาเช่าระยะยาวกับเอกชนชาวลาว โดยไม่ได้มีการตกลงร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและเอกชนชาวลาวแต่อย่างใด นักลงทุนต่างประเทศและเอกชนชาวลาวนั้นมีความสัมพันธ์กันเพียงผู้เช่า และผู้ให้เช่าเท่านั้น
- นักลงทุนต่างประเทศเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับเอกชนชาวลาว โดยมีการนำเอาสิทธินำใช้ที่ดิน ไม่ว่าจากการที่เอกชนชาวลาวนั้นถืออยู่ตามใบตราดินโดยตรง หรือสิทธิการเช่าของนักลงทุนต่างประเทศที่ดำเนินการเช่าที่ดินจากเอกชนชาวลาวนั้นมาลงทุนเป็นทุนในสัญญาร่วมทุนดังกล่าว
สำหรับการเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมทุนกับเอกชนชาวลาวนั้น จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการต่างๆ ในประเทศลาวนั้นมีความสะดวกมากขึ้น เพราะการติดต่อ หน่วยงานขั้นต่างๆ หากมีผู้ประสานงานเป็นคนพื้นถิ่นย่อมเป็นการสะดวกกว่าคนต่างชาติ
รูปแบบการลงทุนแต่ละรูปแบบดังกล่าวนั้น ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียถึงสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศในการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้เช่าดังกล่าวต่างกันไป นักลงทุนจึงต้องพิจารณาความเหมาะสม ในการดำเนินการของตนให้ละเอียด โดยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อพิจารณาความถูกต้องและเป็นไปได้ของการเช่าสิทธิดังกล่าวแต่ละรูปแบบให้ละเอียดต่อไป
กล่าวโดยสรุป การเสนอให้เช่าสิทธินำใช้ที่ดินที่เอกชนชาวลาวเสนอมาให้แก่นักลงทุนต่างประเทศนั้น ย่อมถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้าดำเนินธุรกิจและกิจการอยู่ใน สปป.ลาว เพราะที่ดินเป็นแหล่งทุนพื้นฐานที่สำคัญ แต่ทั้งนี้ การที่นักลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการตกลงเข้ารับสิทธิจากเอกชนรายใด ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของสิทธิในที่ดินดังกล่าวเสียก่อน ไม่เช่นนั้นโอกาสที่มีอาจกลายเป็นวิกฤติที่เกินเยียวยาสำหรับนักลงทุนต่างประเทศได้
|
|
|
|
|