"กิ่งฉัตร" กาวขึ้นมาบนถนนสายนักประพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว เธอมีแฟนๆ ที่ติดตามผลงานตั้งแต่วัยรุ่นจนกระทั่งวัยสูงอายุ
ถนนสายนี้ดูเหมือนไม่ยากเลยสำหรับเธอ
"พี่คะ ชื่อ "มีคณา" ของพี่หนูชอบจังเลย ขออนุญาตเอาไปเป็นชื่อตัวละครในนิยายของหนูนะคะ"
เสียงใสๆ ของ "กิ่งฉัตร" เคยเอ่ยกับเพื่อนรุ่นน้องอีกคนที่นั่งพิมพ์ข่าวใกล้ๆ
กับดิฉันเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว
ช่วงเวลานั้นเธอยังเป็นนักข่าวสาวหน้าใสของกองบรรณาธิการ "ผู้จัดการปริทรรศน์"
เป็น "น้องปุ้ย" หรือปาลิฉัตร ศาลิคุปต์ ที่มีบุคลิกแคล่วคล่องว่องไว และใฝ่รู้สมกับการเป็นนักข่าว
และบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 หมาดๆ ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น้อยคนที่จะทราบว่าในเวลาว่างเธอจะนั่งพล็อตเรื่องเขียนนิยายเป็นประจำ
ประเด็นข่าวหลายเรื่องในช่วงเวลาทำงานเพียง 2 ปีที่หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ"
กลายเป็นวัตถุดิบที่เธอใช้เขียนนิยายในเวลาต่อมา
ในวันที่เธออายุเพียง 24-25 ปี ก็เริ่มสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในวงการด้วยนวนิยายเรื่องแรกคือ
"พรพรหมอลเวง" ซึ่งนิตยสารโลกวลีตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ โชคดีซ้ำสองเมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง
7 สี ซื้อบทประพันธ์เรื่องนี้ไปทำเป็นละครทีวี และเป็นละครเรื่องที่มีเรตติ้งความนิยมสูงมาก
พล็อตเรื่องในแนวแฟนตาซีเป็นความแปลกที่แตกต่างจากละครเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น
และได้กลายเป็น "จุดขาย" สำคัญ "น้องเมย์" ตัวละครเอกในเรื่องได้กลายเป็นขวัญใจของคนทั้งเมืองในช่วงนั้น
ความแรงของเรื่องนี้ทำให้หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ออกมาติดๆ กันถึง 3 ครั้ง
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี กิ่งฉัตรก็มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องหลายเรื่อง
และสามารถก้าวมายืนอยู่ในระดับแถวหน้า ไล่หลังรุ่นพี่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในแวดวงนักเขียนเมืองไทย
สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการอาวุโสนิตยสารสกุลไทย เคยพูดถึงกิ่งฉัตรในบทบรรณาธิการ
ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2543 ว่า "กิ่งฉัตรเคยเป็นนักข่าวมาก่อน มีพื้นฐานเป็นนักเจาะหาข้อมูลจากเหตุการณ์และการทำงานต่างๆ
ที่น่าสนใจ แม้ทุกวันนี้เธอมิได้ทำอาชีพเดิมแต่ด้วยพื้นฐานเดิมผนวกกับอุปนิสัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง
ชอบการท่องเที่ยว แสวงหาวัตถุดิบเพื่อประโยชน์ทางการเขียนอยู่เสมอ ทำให้นวนิยายของเธอมีรสของความแปลกในเค้าโครง
ความใหม่ของตัวละครซึ่งมีบุคลิกภาพและความคิดร่วมสมัยกับคนยุคใหม่ เรื่องของเธอจึงครองใจทั้งนักอ่านรุ่นใหม่และรุ่นเก่า"
"ยอมรับค่ะว่าโชคดี ได้รับการยอมรับค่อนข้างเร็ว ก็เลยมีความรู้สึกว่า
มันไม่ใช่เรื่องยากหากเราตั้งใจจริง แล้วตั้งใจเขียน" กิ่งฉัตรกล่าวยิ้มๆ
เมื่อเล่าให้ฟังถึง "โอกาส" ที่ได้รับในครั้งแรก วันนั้นเราเจอกันที่บ้านของเธอย่านประชาชื่น
ซึ่งเป็นบ้านหลังเดิมที่อยู่กับครอบครัวมาตั้งแต่เล็กๆ
นวนิยายของเธอส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ที่ว่ากันว่าผู้จัดละครทุกค่ายในเมืองไทยต้องอ่าน
เช่น สกุลไทย แพรว หรือขวัญเรือน โดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 เองก็ไม่พลาดที่จะนำนิยายของเธอมาทำเป็นละครทีวี
เช่นเรื่อง มายาตะวัน บ่วงหงส์ ด้วยแรงอธิษฐาน ในขณะที่ช่อง 3 ก็คว้าบทประพันธ์เรื่อง
ละครเล่ห์เสน่ห์หา เพรงเงา และตามรักคืนใจ มาลงจอ
"พรพรหมอลเวง" กำลังถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยดาราวิดีโอ ในขณะที่บางกอกการละคร
กำลังเตรียมนำเรื่อง "สืบรักรหัสลับ" นิยายฮิตอีกเรื่องหนึ่งในสกุลไทยมาทำเป็นละครลงจอในเร็วๆ
นี้เช่นกัน
ระยะเวลาที่ผ่านไป 12 ปี กิ่งฉัตรมีนวนิยายและเรื่องสั้นประมาณ 20 เรื่อง
เป็นละครไปแล้ว 10 เรื่อง ปัจจุบันกิ่งฉัตรในวัย 35 ปีจึงมีรายได้ค่อนข้างมั่นคง
"ก็พอใจสำหรับรายได้วันนี้นะคะ เพราะบ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ
ครอบครัวและลูกหลาน ก็ไม่มีเลี้ยง เป็นรายได้สำหรับคนคนเดียว มีรายจ่ายบ้างก็ในเรื่องการค้นคว้าหาข้อมูล
การเดินทางท่องเที่ยว และซื้ออาหารให้ไอ้พวกตัวเล็กๆ นี่ล่ะค่ะ" เธอเล่าต่อยิ้มๆ
พร้อมกับชี้ไปรอบๆ ตัวที่มีสุนัขลูกสมุนคอยเดินป้วนเปี้ยน และหันมาดูผู้มาเยือนเป็นระยะๆ
พร้อมที่จะเห่าเบาๆ ทันทีที่เราสบตากับมัน
รายได้ประจำจริงๆ ที่แน่นอนของเธอ น่าจะมาจากค่าเรื่องของการตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นตอนๆ
(แต่ละเรื่องประมาณ 30 ตอน) โดยราคาค่าเรื่องแต่ละตอน นักเขียนแต่ละคนอาจจะได้
ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสามารถและอายุในการทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิในการพิจารณาของบรรณาธิการแต่ละฉบับ
กิ่งฉัตรปฏิเสธเด็ดขาดที่จะเปิดเผยค่าเรื่อง แต่เท่าที่ "ผู้จัดการ" พยายามหาข้อมูลจากบุคคลอื่นๆ
ในแวดวงวรรณกรรม พบว่านักเขียนนวนิยายแนวหน้าของไทย มีอยู่ประมาณ 3 คนที่จะได้ค่าเรื่องเป็นตอนๆ
ละเกือบ 1 หมื่นบาทคือ ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน และ ว.วินิจฉัยกุล ส่วนนักเขียนรองๆ
ลงมาอย่างกิ่งฉัตร นั้นจะได้ค่าเรื่องประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อตอน
ปัจจุบันเธอเขียนลงประจำอยู่ที่นิตยสารสกุลไทย (รายสัปดาห์) ขวัญเรือน
(รายปักษ์) และแพรว (รายเดือน) ซึ่งค่าเรื่อง ของแต่ละสำนักพิมพ์สำหรับนักเขียนคนหนึ่งๆ
นั้นจะไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นรายได้ต่อเดือนของเธอเฉพาะค่าเรื่องจากนิตยสารทั้ง
3 ฉบับ ไม่น่าจะต่ำกว่า 30,000 บาท
เม็ดเงินตรงนี้ไม่รวมรายได้อีกก้อนหนึ่งซึ่งทยอยมาเรื่อยๆ จากการพิมพ์รวมเล่ม
ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก คูณด้วยจำนวนพิมพ์ ซึ่งเริ่มต้นพิมพ์ครั้งแรกที่
5,000 เล่ม โดยครั้งต่อๆ ไปสำนักพิมพ์จะประเมินจากยอดความต้องการของคนอ่านเป็นหลัก
นิยายรวมเล่มของกิ่งฉัตรที่วางขายอยู่ในตลาดปัจจุบันมีประมาณ 20 เล่ม บางเรื่องพิมพ์หลายครั้ง
เช่น เสราดารัล พิมพ์ครั้งที่ 6 ไปเมื่อปี 2544 บ่วงหงส์ พิมพ์ครั้งที่ 6
ไปเมื่อปี 2543 เพรงเงา พิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี 2543 ส่วนเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่จะพิมพ์ไม่ต่ำกว่า
3 ครั้ง ราคาต่อเล่มเฉลี่ยตั้งแต่ประมาณ 200-300 บาท
รายได้อีกทางหนึ่งก็คือการขายลิขสิทธิ์ในการทำละคร ซึ่งในการขายละครเรื่องแรกของกิ่งฉัตรเมื่อ
10 ปีก่อนนั้น อาจจะประมาณ 2-3 หมื่นบาทเท่านั้นแต่ปัจจุบันสูงกว่านั้นมาก
ขึ้นอยู่กับความพอใจในการตั้งราคาของคณะผู้จัดละคร หรือผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง
ผลพวงของรายได้ที่ตามมาอีกก็คือ หากละครเรื่องใดถูกนำไปออกอากาศในช่วงเวลาดีหลังข่าว
ก็จะสามารถขายลิขสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์รายวัน 3 เล่มหลักๆ คือ ไทยรัฐ
เดลินิวส์ ข่าวสด ลงตีพิมพ์เป็นตอนได้อีกต่อหนึ่งเช่นกัน
ทุกวันนี้เธอมีความสุขกับการได้นั่งทำงานอย่างอิสระที่บ้าน ไม่ต้องตระเวนออกไปทำข่าว
และกลับบ้านดึกๆ เหมือนช่วงเวลาเป็นนักข่าว โดยปกติในแต่ละวันเริ่มงานเขียนในช่วงบ่ายไปจนถึงเย็น
หลังจากนั้นคือช่วงเวลาของการอ่านหนังสือทุกประเภท ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นต้องการข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอะไร
ต่อด้วยการดูทีวีไปจนดึกดื่น ก่อนจะตื่นในตอนสายของอีกวัน
ลองติดตามสำนวนการเขียนในบทบาทนักข่าวสาวและนักการเมืองหนุ่ม ในเรื่อง
"เสราดารัล" ที่ขายดีจนต้อง พิมพ์ซ้ำ 6 ครั้ง แล้วจะรู้ว่าทำไมกิ่งฉัตรจึงได้รับการยอมรับในฝีมือจากแฟนๆ
ตลอดมา