|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2009 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามประกาศกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายตรงข้ามเพียง 3 เสียง ขณะที่อเมริกันชนได้รับผลกระทบแรงถึงเวลาปรับตัวครั้งใหญ่
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Plan) ได้ผ่านสภาคองเกรสออกเป็นกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งสหรัฐอเมริกาประจำปี 2009 (The American Recovery and Reinvestment Act of 2009) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากฎหมายฟื้นฟูฯ (Recovery Act) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นงบประมาณชิ้นแรกของรัฐบาลโอบามา ที่มีมูลค่าประมาณ 787 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีเป้าหมายสำคัญดังนี้
ช่วยให้คนมีงานทำประมาณ 3-4 ล้านตำแหน่ง โดย 90% เป็นการสร้างงานในภาคเอกชน ยกเครื่องระบบสาธารณสุข นำระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดระบบรายงานสุขภาพของประชาชน เพื่อลดความผิดพลาดและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ฟื้นฟูและสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนด้วยการจัดสรรเงินทุนเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้อีกเท่าตัว ปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการจำนวน 75% และบ้านเรือนกว่าล้านครัวเรือนให้มีสภาพประหยัดพลังงานกว่าที่เป็นอยู่ นับเป็นโครงการปรับปรุงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ช่วยเหลือนักศึกษากว่า 7 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงินทุนรัฐบาล (Pell Grants) และลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับสูง ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้เกือบ 4 ล้านคน
จัดสรรงบประมาณจำนวน 150 พันล้านเหรียญในการปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน สะพาน และระบบขนส่งมวลชนที่เก่าทรุดโทรม เนื่องจากการใช้งานที่ยาวนานกว่า 50 ปี
ลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลสูงสุดครัวเรือนละ 800 เหรียญสำหรับคู่สมรส และ 400 เหรียญสำหรับคนโสด ซึ่งแต่ละครอบครัวจะได้เงินสดคืนสู่กระเป๋าประมาณเดือนละ 65 เหรียญหรือมากกว่า โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 เมษายนนี้
ทุกกระบวนการในมาตรการภายใต้ กฎหมายฟื้นฟูฯ นี้จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
โดยสัดส่วนงบประมาณนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือจำนวนประมาณ 288 พันล้านเหรียญสำหรับมาตรการลดหย่อนภาษี และจำนวนประมาณ 499 พันล้านเหรียญ สำหรับเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ จัดสรรงบประมาณประจำปีให้แก่รัฐและท้องถิ่นคิดเป็นจำนวนประมาณ 114 พันล้านเหรียญ เพื่อป้องกันการตัดงบประมาณของรัฐและท้องถิ่นด้านสุขภาพและการศึกษา รวมถึงป้องกันการขึ้นภาษีรัฐและท้องถิ่น โดยในอดีตรัฐและท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางมาเป็นเวลานาน และล่าสุดผู้ว่าการรัฐบางรัฐจากฝ่ายรีพับลิกันออกมาปฏิเสธรับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้สนับสนุนกฎหมายนี้
จำนวน 111 พันล้านเหรียญสำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและวิทยาศาสตร์ รวมอีก 15 ล้านเหรียญในการลดหย่อนภาษี
จำนวน 81 พันล้านเหรียญสำหรับช่วยเหลือประชากรรายบุคคลที่มีความเสี่ยงจากการว่างงานหรือล้มละลาย ถูกธนาคารยึดบ้านจนไม่มีที่อยู่อาศัย รวมอีก 61 ล้านเหรียญในการลดหย่อนภาษี
จำนวน 59 พันล้านเหรียญสำหรับโครงการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รวมถึงการประกันสุขภาพ
จำนวน 53 พันล้านเหรียญสำหรับการศึกษาและการฝึกอบรม รวมอีก 25 ล้านเหรียญในการลดหย่อนภาษี
จำนวน 43 พันล้านเหรียญสำหรับโครงการด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทน รวมอีก 22 ล้านเหรียญในการลดหย่อนภาษีและโครงการอื่นๆ อีกจำนวน 8 พันล้านเหรียญ
Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดัง ได้วิจารณ์กฎหมายฟื้นฟูนี้ว่า "งบประมาณจำนวน 787 พันล้านเหรียญนี้ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่มีทางที่เงินจำนวนนี้จะทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้น"
นอกจากนั้นเขายังคาดการณ์ว่า รัฐบาลโอบามาอาจพยายามผ่านกฎหมายฟื้นฟูฉบับที่ 2 ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าตัวเลขคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นถึง 9% ภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทรุดอย่างน้อย อีก 2 ปี หรืออาจมากกว่าหากเศรษฐกิจยังคงทรุดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
อเมริกันยามยาก : ถูกตัดชั่วโมง ถูกตัดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง
วิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลให้ ชาวอเมริกันบางส่วนที่เคยทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ถูกนายจ้างลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง เริ่มจาก 36 ชั่วโมงในสัปดาห์แรก ต่อๆ ไปเหลือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และส่วนใหญ่จะจบด้วยการเลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน สร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อคนเหล่านี้ เนื่องจากการตกงานพร้อมๆ กันจำนวนมาก สวนทางกับตำแหน่งงานที่ลดลง การหางานใหม่หรืองานเสริมจึงเป็นเรื่องยาก ประกอบกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่เคยเก็บออม มีค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวสูง เป็นหนี้บัตรเครดิต ได้เงินเดือนมาแต่ละเดือนก็ต้องจ่ายออกหมด ไม่มีเหลือเผื่อไว้ในยามยาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายต่อการปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
วันนี้ หากออกไปเดินในห้างสรรพสินค้าใหญ่ในสหรัฐฯ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ จะพบว่าจำนวนคนมาจับจ่ายลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย คนที่เห็นส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นที่ใช้เป็นสถานที่นัดพบกัน ร้านค้าหลายร้านมีสต๊อกสินค้าล้นร้าน ปิดป้ายลดราคา แต่ไม่ได้ลดจริงๆ บ้างร้านถึงขั้นต้องปิดตัวลง
หลายครอบครัว จากที่สามีทำงานหารายได้เพียงคนเดียวสามารถเลี้ยงดูคนได้ทั้งครอบครัว ภรรยาไม่ต้องทำงาน อยู่บ้านดูแลลูก ปัจจุบัน ภรรยาหรือแม้แต่ลูกที่มีอายุเข้าเกณฑ์ทำงานได้ต้องออกไปหางานทำ ไม่ว่าจะเป็น Full-Time (ต้องมีอายุครบ 18 ปี) หรือ Part-Time (ต้องมี อายุครบ 14 ปี) เพื่อช่วยกันหารายได้ ต้องตัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งสิ้น
ซึ่งสวนกระแสกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคประชาชน เนื่องจากการใช้จ่ายในอดีตของคนอเมริกันเป็นการใช้จ่ายที่เกินตัวมาเป็นเวลานาน หากจะให้กลับไปเหมือนเดิมคงไม่ใช่เรื่องง่าย
"ผมกับภรรยาอยากมี HDTV สักเครื่อง เราสองคนก็ทำงานเก็บเงินเพื่อจะซื้อ แต่ตอนนี้ภรรยาผมตกงาน เราเลยต้อง หยุดความอยากนี้ไว้ก่อน" เป็นข้อความที่สมาชิกคนหนึ่งของฟอรั่มอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในอินเทอร์เน็ต
เมืองอุตสาหกรรมกระทบหนัก
พิษเศรษฐกิจครั้งนี้กระทบผู้คนในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ค่อนข้างหนักกว่าเมืองอื่นๆ เนื่องจากเป็นฐานที่ตั้งของบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น บริษัท Delphi Corp. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เคยมีโรงงานถึง 5 โรงงาน ตอนนี้เหลือเพียง 1 โรงงานที่ยังคงเปิดทำการอยู่แบบไม่เต็มกำลัง
บริษัท General Motor หรือ GM มีโรงงานผลิตรถยนต์ SUV อยู่ที่นี่ มีพนักงานถึง 11,000 คน ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 26 เหรียญต่อชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เริ่มตัดชั่วโมงการทำงานรอบค่ำ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาตัดชั่วโมงการทำงานรอบค่ำ ปัจจุบัน บริษัทได้ปิดโรงงานอีกแห่งในละแวกเดียวกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2008 เป็นผลให้มีคนตกงานจำนวนมากกว่า 1,000 คน
บริษัท DHL ประกาศย้ายฐานจอดเครื่องบินคาร์โกออกจากสนามบินในพื้นที่ ส่งผลให้จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นถึง 8,000 คน นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ในพื้นที่เขตเดย์ตัน-สปริงฟิลด์ มีคนตกงานแล้ว 35,000 คน คิดเป็น 7.5% ของงานทั้งหมด และมากกว่าครึ่งเป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรม
แม้ว่าตัวเลขว่างงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้คนในเมืองเดย์ตัน ก็ไม่ท้อถอย อย่างเช่น Philip Lange อดีตวิศวกรออกแบบระบบไฟฟ้าแห่งบริษัท GM วัย 41 ปี จบเอกอังกฤษ แต่ไม่เลือกที่จะเป็นครู กลับเข้าทำงานที่ GM บริษัทที่เสนอเงินก้อนให้เขาลาออก เริ่มต้นจากค่าแรง 9.88 เหรียญ เพิ่มเป็น 27.50 เหรียญก่อนที่จะถูกซื้อให้ออก (buyout) เขาตัดสินใจรับข้อเสนอจำนวน 140,000 เหรียญ ซึ่งเขาคำนวณหลังหักภาษี เขา ภรรยา และลูกอีก 4 คน จะอยู่ได้ด้วยเงินจำนวนนี้เป็นเวลา 18 เดือน
ในระหว่างนี้เขาต้องหางานอย่างอื่นทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เขาจึงเข้ารับการฝึกงานที่ศูนย์ฝึกงานในเมือง หวังจะเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเขายังไม่ทราบอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เขาเตรียมพร้อมรับกับรายได้ที่จะลดลงอย่างแน่นอน หมายถึงเขาต้องหางานที่สองเตรียมไว้ด้วย
Jerome McCorry นักสังคม สงเคราะห์ วัย 58 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านอาชญาวิทยุ และปริญญาโททางด้านศาสนศาสตร์ เคยทำงานกับบริษัทรับจ้างให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์ให้แก่รัฐ ต่อมาบริษัทล้มละลาย เขาตกงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2007 เป็นต้นมา ช่วงระยะเวลา 15 ปีของการทำงาน เขามีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่คนตกงาน คนติดยา คนที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำในการหางาน ตั้งแต่การกรอก ใบสมัคร เขียนประวัติการทำงาน ไปจนถึงการสัมภาษณ์
แต่ตอนนี้เขาเองกลับเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หลังจากสูญเสียงานเมื่อ 2 ปีก่อน เขาสมัครงานไปทุกที่ทุกแห่ง และถูกสัมภาษณ์งานกว่า 20 ครั้ง แต่ยังไม่มีใครจ้างเขา เนื่องจากมีคุณสมบัติ สูงเกินไป มีอายุมากเกินไป แต่เขายังไม่ยอมแพ้ เขาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นนักฝึกสุนัข เขาหวังว่าจะได้งานในด้านนี้ "แม้ว่าเขาจะจ้างให้ผมไปเก็บสุนัขจรจัด ผมก็จะทำ"
เรื่องราวเหล่านี้เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอเมริกันท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน แผนฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยลดความรุนแรงได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูลจาก:
www.recovery.gov
www.mcclatchydc.com
|
|
|
|
|