ผู้คนมากมายที่กำลังนั่งและยืนเรียงรายอย่างหนาแน่น บริเวณหน้าหอศิลป์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เลยเรื่อยไปยังบริเวณสวนแก้วด้านใน ในช่วงเย็นวันหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คือผู้ที่รอคอยชม นิทรรศการศิลปกรรม เชิดชูเกียรติ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เนื่องในวาระอันงดงามฉลองครบรอบ
60 ปี คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เป็นครั้งแรกที่คณะจิตรกรรมจัดงานเชิดชูเกียรติให้รุ่นพี่อย่างเป็นทางการ
ส่วนปีต่อไปนั้นจะเป็นการจัดงานให้แก่รุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อ ถวัลย์
ดัชนี
หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จมาเป็นองค์ประธาน
เสด็จกลับ ฝูงชนที่มีทั้งบุคคลต่างๆ ที่สนใจติดตามงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
และบรรดานักศึกษาที่เฝ้ารออยู่นานหลายชั่วโมงนั้นก็ทะลักเข้าไปในหอศิลป์
ซึ่งมีพื้นที่ไม่กว้างนักทันที จนเจ้าหน้าที่ต้องรีบปิดประตูเพื่อกันคนส่วนหนึ่งไว้ด้านนอกและให้รอกันต่อไป
อาจจะเป็นเพราะไม่บ่อยนักที่ศิลปินท่านนี้จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้ได้ชื่นชมกันและโอกาสนี้ก็
"พิเศษ" จริงๆ เพราะผลงานที่นำมาแสดงในครั้งนี้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
ทั้งหมดมีจำนวน 211 ชิ้น มีทั้งผลงานทางด้านจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ด้วยดินสอสีบนกระดาษ
สีน้ำ สีน้ำมัน ภาพเขียนจิตรกรรมไทยประเพณี สีฝุ่น ปิดทองคำเปลว ภาพจากวรรณคดีและศาสนา
ทั้งในแบบเหมือนจริงและแบบจิตรกรรมไทยประเพณี และงานด้านวิจิตรศิลป์เกี่ยวกับศิลปะไทยหลายแขนง
เป็นครั้งแรกในการจัดงานนิทรรศการของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเช่นกัน ที่มีการทำการประกันภัยป้องกันรูปวาดสูญหายเป็นมูลค่าสูงถึง
90 ล้านบาท
งานของจักรพันธุ์ชิ้นใหญ่ๆ โดยปกติแล้วไม่ได้หาดูกันง่ายๆ เพราะนอกจากไม่มีแกลลอรี่แสดงผลงานของตนเองแล้ว
ส่วนใหญ่จะรับวาดภาพเหมือนให้บุคคลในครอบครัวชนชั้นสูง ซึ่งทำให้ชิ้นงานเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและไม่ตกมาอยู่ในงานประมูลต่างๆ
นอกจากผลงานภาพเขียนที่นำมาแสดงแล้ว ในวันนั้น จักรพันธุ์ได้มีการเชิดหุ่นเบิกโรง
ลิลิตตะเลงพ่าย ตอนพระนางสุพรรณกัลยาไปพม่า ให้ชมด้วย แม้เป็นการเชิดสั้นๆ
เพียง 12 นาที แต่ความสวยงามของหุ่นพระนางสุพรรณกัลยา และหุ่นตัวพระตัวนางอีก
10 ตัว ลีลาอันอ่อนช้อยของคนเชิด เสียงปี่พาทย์ และดนตรีไทยที่สอดรับ กันอย่างกลมกลืนกับเสียงร้องอันไพเราะ
ทำให้หลายคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับเพลงไทยนัก ต้องยอมรับว่าเพลงอะไร ไพเราะเหลือเกิน
นอกจากเป็นศิลปินวาดภาพเหมือนและจิตรกรรมภาพเขียนประเพณีไทยแล้ว เขายังเป็นนายโรงละครหุ่นที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
มีความสามารถอย่างมากในเรื่องออกแบบเครื่องแต่งตัวละคร ทำหุ่น ออกแบบหุ่น
รวมทั้งเชิดหุ่นเองด้วย ปัจจุบันจักรพันธุ์และคณะศิษย์กำลังจัดทำหุ่นเพื่อเตรียมการแสดงอีกครั้งในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย
ซึ่งคาดว่าจะสมบูรณ์แบบ ในอีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้นเป็นเพราะว่า
ปัจจุบันมีงานสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่งที่กำลังเร่งทำอยู่คือ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถใหม่วัดตรีทศเทพวรวิหาร
ซึ่งเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 ที่หุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะออกแสดงเรื่อง
สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นเวลานานถึง
14 ปีทีเดียวที่จักรพันธุ์ไม่ได้นำหุ่นกระบอกมาแสดงที่ใดอีกเลย
คืนนั้นนอกจากอิ่มตากับการได้ดูผลงานและการเชิดหุ่นแล้ว ยังได้ฟังเพลงปี่พาทย์ที่มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
ซึ่งบรรเลงไปพร้อมกับการฉายภาพสไลด์ผลงานจากเรื่องดังกล่าว และจากภาพเรื่องอิเหนาและกากีให้ชมกันด้วย
ภาพเขียนที่ฉายชัดให้เห็นความสวยงามในหน้าตา และเรือนร่างของนางวันทองกับความล่ำสันบึกบึนของขุนแผน
ในระหว่างที่ทั้งคู่มีอารมณ์สิเน่หาต่อกันนั้น สะกดนิ่งให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปราวกับว่าทั้งคู่มีชีวิตจริงอยู่ตรงหน้าทีเดียว
จากเย็นถึงค่ำล่วงเลยไปจนดึก ผู้คนก็ยังคงเดินชมผลงาน และนั่งฟังเพลงกันอย่างไม่ยอมเลิกรา
ทำให้จักรพันธุ์ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเตรียมงานมาหลายวัน นั่งยิ้มอย่างปลาบปลื้ม
และมีแรง ลุกขึ้นเชิดหุ่นให้ชมในค่ำคืนนั้นถึง 3 รอบด้วยกัน ส่วนในวันอาทิตย์ถัดมาที่มีกำหนดการเชิดหุ่นไว้
4 รอบนั้น ต้องแสดงเพิ่มเป็น 6 รอบ และยังมีคนอีกมากที่มาชมผลงานตลอดทั้งวัน
จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นช่างเขียนภาพที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย
เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชุบ และนางสว่างจันทร์ โปษยกฤต เกิดที่กรุงเทพฯ ในปี
พ.ศ.2486 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งหมายถึงว่าเขาอายุครบ
60 ปี ในปีนี้เช่นกัน
เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมถึงมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม
และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม
ในปี 2511 และเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2543
เป็นคนที่ชอบเขียนรูปมาตั้งแต่เด็กโดยได้รับแรงกระตุ้นให้มีอารมณ์ศิลปินเพิ่มขึ้นจากผู้เป็นแม่
ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี อีกคนหนึ่งที่ชอบเล่นเปียโน ชอบดูละคร
และชอบงานศิลปะอย่างมาก ดังนั้นเธอจึงเข้าใจ และไม่เคยดุว่าเลย เมื่อเห็นเด็กชายจักรพันธุ์
ลูกชายของเธอชอบนั่งวาดรูปครั้งละนานๆ ตั้งแต่เล็กๆ
ปัจจุบันนอกจากผลงานที่รวบรวมไว้ที่บ้าน ได้มีการคัดเลือกผลงานบางชิ้นก๊อบปี้เพื่อนำมาจัดแสดงไว้ที่โรงเรียนวชิราวุธฯ
ทั้งที่หอประวัติ และที่ห้องแสดงศิลปะ ตึกเวสสุกรรมสถิต ซึ่งทางโรงเรียนจัดไว้ให้โดยเฉพาะ
1 ห้อง
ช่วงระยะเวลา 8 ปีในโรงเรียนประจำที่วชิราวุธฯ ทำให้จักรพันธุ์ได้รับโอกาสในเรื่องงานวาดภาพมากขึ้นจากบรรดาอาจารย์ที่สอน
และท่านผู้บังคับการในสมัยนั้นคือ พระยาภะรตราชา โดยสนับสนุนให้ส่งภาพไปประกวดตามงานต่างๆ
และได้เลือกภาพของเขาถวายเจ้านายต่างๆ ที่เสด็จมางานโรงเรียน
และโรงเรียนแห่งนี้เป็นรากฐานสำคัญทำให้เขาได้มีเพื่อนและรู้จักผู้คนในสังคมชั้นสูง
ผู้คนในแวดวงข้าราชการ ในแวดวงธุรกิจ และกลายเป็นคอนเนกชั่นของเขาในการสร้างลูกค้า
"เฉพาะกลุ่ม" ที่มีฐานะและมีตำแหน่ง ในสังคมในเวลาต่อมา ผลงานของจักรพันธุ์จึงทำให้คนธรรมดาไม่สามารถหาซื้อหรือ
"เข้าถึง" ตัวเขา เพื่อว่าจ้างกันได้ง่ายๆ เลย