จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประสบการณ์ และวิถีชีวิตของเขาที่ผ่านมา ในธุรกิจค้าปลีกของไทย
ล้วนสอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสะสมประสบการณ์อย่างสำคัญ
ในการปักธงในค้าปลีกแบบครบวงจรใจกลางเมืองหลวง ไปสู่การปรับความคิดใหม่ๆ
ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงอย่าง เชี่ยวกรากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
เขาเป็น "สะพานเชื่อม" ระหว่างเจนเนอเรชั่นของ "จิราธิวัฒน์"
พร้อมๆ กับการปรับสไตล์การบริหารจากยุคผู้นำ ที่เข้มแข็ง และ เด็ด ขาดในยุคการก่อร่างสร้างกิจการ
ไปสู่ยุคของการ "ระดมความคิด" ของคนระหว่างรุ่น เพื่อตอบสนองตลาดยุคใหม่ ที่มีความหลากหลาย
ผันแปร ภายใต้ธุรกิจค้าปลีกแข่งขันอย่างดุเดือด
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนสุดท้องของเตียง จิราธิวัฒน์ กับภรรยาคนแรก
ในช่วงที่บิดาของเขาบุกเบิกห้างสรรพสินค้าใน เมืองไทยกับพี่ๆ เขายังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ
และเขาก็โชคดีกว่ารุ่น พี่ๆ บางคนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาในต่างประเทศ เพราะกิจการค้าเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ
เขาเกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2488 ในช่วง ที่บิดา และพี่ๆ ของเขากำลังดำเนินธุรกิจค้าขาย
และนำนิตยสารต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นรายแรกๆ โดยมีร้านเป็นตึกแถวอยู่สี่พระยา
ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นทั้งร้าน และ ที่อยู่ด้วย ถือว่าช่วงนั้น ประสบความสำเร็จด้วยดี
โดยการขยายการสั่งสินค้าอื่นๆ จากต่างประเทศมาขายมากขึ้น "เกิดในครอบครัวต้องทำงาน
สมัยพี่สัมฤทธิ์ สั่งหนังสือเข้ามา บรรทุกรถโกดังมา ต้องช่วยกันทำงาน แกะลังออก
ถอนตะปู เอาหนังสือมาเรียงให้ดี ปั๊มตรา วันรุ่งขึ้นก็ออกขายเลย" เขาเล่า
เพราะพี่ชายรุ่นทำงานของเขา ไม่ว่าสัมฤทธิ์ วันชัย สุทธิพร มีความรู้ภาษาอังกฤษ
เมื่อสั่งนิตยสารต่างประเทศมาขาย พวกเขาก็ค่อยๆ สะสมความรู้ใหม่ๆ จากโลกตะวันตก ที่เจริญกว่า
รวมทั้งเรียนรู้สินค้าตะวันตก ที่จะนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วย
เขาโตพอ ที่ได้เห็นพัฒนาการห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเมืองไทย ในปี 2499
ห้างเจ็งอันเต็ง ที่วังบูรพา จนถึงห้างเซ็นทรัล สีลม ในปี 2511 ท่ามกลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเติบโต
ของกรุงเทพฯ มากขึ้น
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ก็นับว่าเป็นคนที่โชคดี ที่เติบโตมากับการเติบโตทางธุรกิจของตระกูล
จึงได้รับการศึกษาอย่างดี โดยเริ่มจากโรงเรียนอัสสัมชัญ จากนั้น ก็เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศระดับมัธยม ที่อังกฤษ
ในระดับ O ' level เมื่ออายุ 18 ปีที่ Bath Technical College ในเมือง Bristol
ห่างจากลอนดอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 100 กิโลเมตร
"ผมเป็นคนสุดท้าย ที่เรียน ที่อังกฤษ"
เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งหมายถึง จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 ได้แก่
สุทธิเกียรติ สุทธิชัย และเขา จากนั้น ตระกูลจิราธิวัฒน์ในรุ่นน้องในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน
ก็มักเดินทางไปศึกษา ที่สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์
ในช่วงเรียน ที่อังกฤษ เขามีโอกาสช่วยงานในธุรกิจครอบครัว บ้างเล็กน้อย
"ไปช่วยซื้อของ ไปงาน แฟร์ร่วมกับพี่ๆ" เขาเล่าถึงแบบ แผนการเรียน
และการฝึกงานไปพร้อมๆ กันของคนในตระกูลจิรา ธิวัฒน์
อย่างไรก็ตาม สุทธิชาติก็ไปเรียนด้านบัญชีในระดับปริญญาตรี ที่สหรัฐฯ (St.
Joseph's College, Philadelphia) หลังจากใช้ชีวิตอยู่ ที่อังกฤษประมาณ 2 ปี
เป็น 2 ปีที่เขามีความผูกพันกับอังกฤษอย่างมาก ด้วยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสาวชาวอังกฤษคนหนึ่ง
ซึ่งเธอก็ตัดสินใจติดตามเขาเดินทางไปแต่งงาน ที่สหรัฐอเมริกา Marriann คือ
ผู้หญิงคนนั้น เธอมีชีวิตคู่ร่วมกับทายาทครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ที่ใหญ่มากครอบครัวหนึ่งในประเทศไทย
ครองคู่กันมายาวนานในประเทศไทยประมาณ 25 ปีแล้ว
ในปี 2515 เขาจบปริญญาตรี แต่แทน ที่สุทธิชาติจะกลับมาทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัล
ซึ่งกำลังวางแผนขยายตัวครั้งใหญ่ด้วยการเปิดสาขาแห่งใหญ่ใจกลางเมือง เขากลับไปฝึกงานกับห้างสรรพสินค้า ที่สหรัฐฯ
Lord & Taylor Department Store เพื่อเตรียมพร้อมกับยุคใหม่ของธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้น
ระหว่างเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ เขาทดลองทำการค้าด้วยตัวเองระหว่างเรียน "ผมเลี้ยงปลาขาย
ปลาเทวดา ปลาสอด ปลาหางนกยูง มี 20-30 ตู้ ผมทำตู้เอง และก็ช่วยทำบัญชีให้นักเรียนไทยด้วย"
ปัจจุบัน สุทธิชาติก็ยังเลี้ยงปลาเหล่านั้น อยู่ ที่อ่างเล็กๆ ณ สนามหน้าบ้านศาลาแดง
ซึ่งเป็นงานอดิเรก อย่างหนึ่ง
Lord & Taylor Department Store ก่อตั้งเมื่อปี 2459 มีสำนักงานใหญ่อยู่ ที่นิวยอร์ก
ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 80 แห่ง โดยถูก The May Department Store เครือข่ายห้าง ที่เป็นอันดับ
2 ของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2529 Lord & Taylor นับเป็นห้าง ที่มีสินค้าระดับพรีเมียม
เข้าใจกันว่าประสบการณ์การฝึกงานของสุทธิชาติในครั้งนั้น มีอิทธิพลทางความคิด
ไม่มากก็น้อย ในการ สร้างสาขาชิดลม ซึ่งกลายเป็นห้างไทย ที่อยู่ในระดับพรีเมียมในเวลาต่อมา
"ผมอยู่แผนกรับของ ขายของ และฝ่ายบุคคล ทั้งเคยขอเขาถูพื้นห้างด้วย"
สุทธิชาติได้พูดถึงการฝึกงานในห้าง ที่ต่างประเทศของเขา
ในช่วงการเปิดสาขาชิดลมนั้น ถือว่าเป็นช่วงผู้ประกอบการชาวไทยหลายรายกำลังวางแผน
เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกกันอย่างขะมักเขม้นหลายราย เนื่องจากเล็งเห็นว่าธุรกิจนี้กำลังเติบโตไปกับเมืองหลวง ที่กำลังขยายตัวอย่างมากมาย
แม้ว่าสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยจะดีนักก็ตาม
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ได้ศึกษาการเปิดสาขาชิดลมพร้อมๆ กับการฝึกงานในต่างประเทศ
และกลับเมืองไทยทันที ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม เกิดขึ้น ซึ่งมีความหมายมากทีเดียว
"ห้างเซ็นทรัล สาขาชิดลม มีความหมายทั้งเชิงยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนา
ธุรกิจค้าปลีกครบวงจรของไทย และของเครือเซ็นทรัล ในแง่องค์กรธุรกิจ และมีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์แห่งความกลมเกลียวแน่นแฟ้นของตระกูลใหญ่
อันเกิดขึ้นในรุ่นที่สอง ทั้งๆ ที่พวกเขามาจากต่างมารดา
ความสำเร็จของสาขาชิดลม พิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ครอบครัวใหญ่ของไทยแล้ว
คือ ความสำเร็จ ที่สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ได้แสดงบทบาทผู้นำ รุ่นที่ 2 ซึ่งประสานความสัมพันธ์ที่ดีของคนในตระกูล
เป็นผลงานชิ้นแรกของพวกเขา หลังจากบิดาของเขา (เตียง จิราธิวัฒน์) จากโลกไปกว่า
5 ปี"
"ห้างเซ็นทรัลชิดลม ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ อันเป็นที่ดิน ที่เตียง
จิราธิวัฒน์ ซื้อไว้นานแล้ว ด้วยราคาเพียงตารางวาละ 7,000 บาท (ขณะสร้างราคาเป็นแสน)
จากอดีตอธิบดีกรมสรรพากรคนหนึ่ง ผู้รู้เล่าให้ฟัง ที่ดินผืนนี้เดิมมีบ้านขนาดใหญ่หลังหนึ่งทรงแบบเดียวกับพระราชวัง ที่หัวหิน
เพราะ สร้างโดยสถาปนิกคนเดียวกัน เตียงได้รับปากกับเจ้าของเดิมว่าจะไม่รื้อ
ครั้นต่อมาบริษัทฟิลิปส์ขอ เช่าทำ Service Center ทำให้เสียหายไปบ้าง พอตกมาถึงมือลูกๆ
ของเตียง เพราะความจำเป็นทางธุรกิจ บ้านหลังนั้น จึงถูกรื้อทิ้ง
ห้างเซ็นทรัล สาขาชิดลม ยังเป็นศูนย์การจับจ่ายของคนที่ถือเป็นใจกลางของกรุงเทพฯ
ที่มีความหมายมากกว่าภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นดัชนีแนวโน้มของพฤติกรรมของผู้บริโภค
ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทที่สุดของสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ทั้งแง่กำลังซื้อ และรสนิยมโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมา"
(จาก "หมายเหตุธุรกิจ" โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ผู้จัดการรายวัน 27
พฤศจิกายน 2538)
สุทธิชาติ เริ่มต้นทำงานในการบุกเบิกสร้างสาขาใหม่ ซึ่งกลายเป็นสาขา ที่มีความหมายสำคัญที่สุดในธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัล
ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานใหญ่ของกลุ่มค้าปลีกไปแล้ว ด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน และบุคคล
เมื่อห้างแห่งนี้สร้างเสร็จ และดำเนินการได้ระยะหนึ่งเขาก็คือ ผู้จัดการห้างอย่างเป็นทางการ
ซึ่งตั้งบริษัทใหม่ต่างหาก ไม่ใช่เซ็นทรัล ดีพาทเม้นท์สโตร์ หากเป็นบริษัท
ห้างสรรพสินค้าชิดลม พร้อมๆ กับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลในเครือเซ็นทรัลด้วย
ในปี 2524 ที่สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ รับผิดชอบห้างเซ็นทรัล ชิดลมอย่างเต็มตัว
ธุรกิจค้าปลีกรายใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเป็นระลอก และแข่งขันกันอย่างดุเดือด
ห้างพาต้า เกิดขึ้นในปี 2518 ตั้งฮั่วเส็ง ปี 2519 เมอร์รี่คิงส์ ดีพาร์ท
เมนท์สโตร์ ปี 2520 บางลำภูสรรพสินค้า ปี 2521 โรบินสัน ปี 2522 แก้วฟ้า
ปี 2522 เป็นต้น ขณะเดียวกัน ศูนย์การค้าราชประสงค์ ซึ่งอยู่ในทำเลใกล้เคียงก็เกิดขึ้นในปี
2523 ด้วย
ในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ชัดเจนว่า ห้างเซ็นทรัล ชิดลม ก็คือ ต้นแบบ ของห้างเซ็นทรัล ที่ยกตัวเองขึ้นสู่ตลาดบน
ในฐานะสาขาเรือธง (Flagship Store) นอกจากจะสร้างเครือข่ายค้าปลีก ที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นผู้นำตลาดอย่างแท้จริงแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่ลาดพร้าว ในเวลาถัดมา
ภายใต้ ที่ดินเช่าของการรถไฟฯ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
และโรงแรม ก็เนื่องจากความมั่นใจในความสำเร็จของสาขาชิดลมเป็นฐาน ซึ่งกลายเป็นสาขา ที่ทำรายได้สูงสุดนับตั้งแต่นั้น มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ที่สำคัญยังสร้างบุคลิกของ Brand ที่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นห้างระดับพรีเมียมของไทยในเวลาต่อมา
งานสำคัญ ที่สุทธิชาติดูแลมาตั้งแต่ต้น และมีความหมายเชิงยุทธศาสตร์มากสำหรับธุรกิจค้าปลีกคือ
งานบุคคล ที่เขาดูแลทั้งเครือเซ็นทรัล ตั้งแต่การสรรหาบุคลากรจำนวนมาก เพื่อตอบสนองการขยายตัวของห้างเซ็นทรัล ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้น เป็นต้นมา
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือเป็นหัวใจของงานบริการ
"ผมเป็นคนชอบสอน" เขาบอกถึงบุคลิกของเขา
ในงาน ที่มีประสบการณ์มาตั้งแต่ปี 2517 จึงมีความใกล้ชิดกับพนักงาน ลงมือสอนพนักงานด้วยตนเองในทุกด้าน
ไม่ว่าในเรื่องการทำงาน การดำรงชีวิต การเลือกคู่ ความประหยัด การวางแผนรายได้
เพราะมีความเชื่อว่างานค้าปลีกจะไปได้ดี พนักงานจะต้องมีความสุขกับการทำงาน
ในการสอนพนักงาน สุทธิชาติย้ำในเรื่องความรอบรู้ และความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบต่อห้าง ที่ต้องเท่าเทียมกัน
โดยพนักงานทุกคน จะต้องมีความรับผิดชอบต่อห้างเท่ากับระดับ Management
"แม่บ้านในห้าง ซึ่งเป็นคนที่ต้องรับรู้ข้อมูลของลูกค้าได้ง่ายที่สุด
เพราะสามารถได้ใกล้ชิดกับลูกค้าเวลาเข้าห้องน้ำ เป็นจุดที่ลูกค้าสามารถแสดง
ออกถึงความรู้สึก ที่มีต่อห้างได้ หากมีลูกค้าคนใดบ่นเรื่องห้าง แล้วแม่บ้านได้ยิน
จะต้องรายงานขึ้นถึงระดับ Management ได้" เขายกตัวอย่าง
เขากล่าวว่าประสบการณ์ในการพัฒนาคนเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นหัวใจของธุรกิจนี้
ซึ่งเขาดูแล และมีประสบการณ์นี้มายาวนานมากที่สุด ในบรรดาพี่น้องจิราธิวัฒน์
พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้ายุคใหม่
"จากนี้ไป เราจะเริ่มจับเรื่องสัมมนามากขึ้น
ซึ่งเขาเรียกว่า Management Development ภายใน 3 ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่อง ที่ใหญ่มาก"
สุทธิชาติ กล่าวอย่างสำคัญว่า นี่คือ 1 ใน 2 เรื่อง ที่เขาจะทำจากนี้ไปในฐานะซีอีโอ
ซึ่งได้ลดบทบาทการบริหารงานประจำวันไปมากแล้ว
อีกเรื่องหนึ่ง ที่เขากำลังจะวางระบบงานอย่างเข้มข้นจากนี้ไป ก็คือ งานวิจัย และพัฒนา
(R&D)
เขามีทีมงาน ที่นำเสนอข้อมูลใหม่ของธุรกิจค้าปลีกเสมอ ในขณะเดียวกันก็เป็นนักอ่าน ที่ศึกษาบทเรียนต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา
เมื่อปี 2534 สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ก้าวขึ้นตำแหน่งประธานกลุ่มค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล
ในช่วงสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้นำ ที่เข้มแข็งกำลังวางรากฐานอันมั่นคงของกลุ่ม
ในช่วงเขาเข้าสู่วัย 64 ปี พร้อมกับมีโรคประจำตัว โดยในปี 2532 ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณา
และตัดสินใจงานระดับนโยบายของกลุ่มเซ็นทรัล และได้จัดแบ่งโครงสร้างแยกธุรกิจเป็นกลุ่มๆ
แต่งตั้งผู้เหมาะสมต่างๆ ในแต่ละกลุ่ม
สุทธิชาติก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีก หลังจากมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกมาประมาณ
15 ปี ภายใต้สถานการณ์ผันแปรอย่างรวดเร็ว จากการแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้นระหว่างธุรกิจค้าปลีกไทยไปสู่ยุคธุรกิจค้าปลีกต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาสู่สนามมากขึ้น
และก่อนหน้าที่สัมฤทธิ์จะจากโลกไปอย่างไม่มีวันกลับไม่กี่ปี
โดยเริ่มต้นจากห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น หลังจากรายแรกบุกตลาดไทยมาแล้ว
20 ปีเต็ม ใน ปี 2527 ห้างโซโก้ก็เข้ามาเผชิญหน้ากับสาขาเรือธงของเซ็นทรัล
จากนั้น อีก 5 ปีก็มีอิเซตัน (ปี 2532)
ในเวลาเดียวกัน โมเดลธุรกิจใหม่ ที่ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กับค้าปลีกมีหลากหลายมากขึ้น
เริ่มต้นด้วยธุรกิจค้าส่ง ซึ่งถือเป็นโมเดลใหม่ กรณีแม็คโครจากเนเธอร์แลนด์
ก็เข้ามาเมืองไทยในปี 2531 ขณะที่โลตัสของซีพี เปิดฉากในปี 2537 นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้ออย่าง
7-eleven ที่ขยายตัวเป็น ดอกเห็ดก็เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2531
คำนิยามของการค้าปลีกตามโมเดลจะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ สุทธิชาติเชื่อเช่นนั้น
ก็คือ การจัดแบ่งธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกเสียใหม่ในปี 2536 พร้อมกับการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ
ธุรกิจต่างๆ อย่างมาก ซึ่งถือว่า ยุคของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียว
(โปรดอ่านจากเรื่อง CRC หัวหอกธุรกิจเซ็นทรัลกรุ๊ป)
ในเวลาเดียวกันกลุ่มเซ็นทรัล ที่นอกจากค้าปลีก ซึ่งก็พยายามปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
และการแข่งขัน ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเผชิญวิกฤติการณ์ ที่ผ่านมา
แม้สุทธิชาติจะบอกว่า ธุรกิจค้าปลีกไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากนัก แต่เขาเองเคยตั้งใจเกษียณอายุเมื่อ
55 ปี ก็คือ ในปีนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องอยู่เป็น "สะพานเชื่อม"
ให้รุ่นต่อๆ ไปอีกระยะหนึ่ง
"ผมไม่อยากใช้สัญชาตญาณ ผมว่าความมั่นใจสำคัญที่สุด
แต่ความ มั่นใจต้องมาจากการทำงานหนัก ต้องมีความรู้ มีข้อมูล" สุทธิชาติกล่าวว่า
การใช้สัญชาตญาณอาจจะทำได้ในยุคที่มีการแข่งขันน้อย แต่ปัจจุบันดำเนิน ธุรกิจเช่นนั้น ไม่ได้แล้ว
"มันอยู่ในยุคค้าเสรี วันดีคืนดี แฮร์รอดส์มา
เดวิดโจนส์มา คุณต้องเตรียมพร้อม" เขาบอกกับตัวเอง
งานของเขาวันนี้จะต้องมองไปข้างหน้าด้วยภารกิจสำคัญ 2 ประการ หนึ่ง-Management
Development สอง-R&D
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ในฐานะซีอีโอธุรกิจค้าปลีกบอกว่า หน้าที่ประจำวันของเขา
ก็คือ การมอนิเตอร์ "มอนิเตอร์ทุกเรื่อง มอนิเตอร์ยอดขาย ลูกค้าคอมเพลน
ฯลฯ ต้องทัน ต้องไว" ซึ่งเขากำลังวางระบบข้อมูล เพื่อให้การมอนิเตอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อมิให้ลูกค้าหนีไปจากเขา
นอกจากมีข้อมูลจากการมอนิเตอร์ ต้องมีข้อมูลจากการวิจัย และเซอร์เวย์เป็นฐาน
ขณะเดียวกันการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศก็ต้องทำอยู่เสมอ จากการอ่านด้วยตนเอง
ชั้นหนังสือของเขา ที่ตั้งอยู่หน้าห้องทำงาน ที่โป่รงสบายในอาคารเซ็นทรัล
ชิดลม มีหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกมากทีเดียว เช่น STORES, Retail Asia,
Strategy & Business, DSN Retailing Today, DSN SUPERCENTER, LEADERS, Foodservice
Yearbook International (FYI), FIRST และ CLUB BUSINESS เป็นต้น "ตาผมไม่ค่อยดี
จึงไม่ได้ศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแต่มีสตาฟคอยมอนิเตอร์ให้"
บทบาทของเขาก็คือ วางโครงสร้างทางความคิดสำคัญในการนำพาธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล
ให้เป็นธุรกิจ ที่มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ในฐานะผู้นำธุรกิจนี้ในประเทศไทย
"ซีอีโอที่ดี ต้องให้พวกเขาคิด ผมจะไม่ออกความคิดหากไม่จำเป็น ผมให้คุณว่าไป
แล้วเอาความคิดนี้มาตัดสิน เฮ้ย! ผมว่าอย่างนี้ดี เห็นด้วยไหม เห็นด้วยก็จบ
ผมทำอย่างนี้มาตลอด ไม่ใช่ว่าต้องเอาอย่างผมนะ ไม่มีประโยชน์"
ที่สำคัญอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งเซ็นทรัลกรุ๊ปกำลังพยายามสร้างประเพณีใหม่
ในความพยายาม สลับสับเปลี่ยนหน้าที่ระหว่างพี่น้อง เพื่อความเหมาะสมในธุรกิจต่างๆ
มิใช่ฝังอยู่ในสายงานเดิมเหมือน ที่ผ่านมา เช่น สายสุทธิเกียรติ ดูแลโรงแรม และฟาสต์ฟูดส์
สายเตียงกับภรรยาคนที่สอง ที่นำโดยสุทธิธรรม ทายาทสายนี้ ก็จะอยู่ ที่เซ็นทรัลพัฒนาเป็นส่วนใหญ่
"เราจะเริ่มนโยบายนี้ในปีหน้า" สุทธิชาติระบุ
นี่คือ แนวทางของการบริหารกิจการยุคนี้ ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อนอย่างมากทีเดียว
วันชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัลคนปัจจุบัน ที่รับช่วงจากสัมฤทธิ์
เมื่อปี 2532 นั้น ก็ทำงานอย่างเงียบๆ มาแล้วกว่า 10 ปี ปัจจุบันอายุ 70 กว่าปี
ซึ่งถือว่ามากทีเดียว วงในเชื่อกันว่ากลุ่มเซ็นทรัลกำลังวางทายาทคนใหม่ดูแลกิจการทั้งหมด
ที่สำคัญเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ กำลังก้าวขึ้นมาแทน ที่รุ่นเก่า
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ได้พิสูจน์บทบาทสำคัญในการสร้าง "สะพานเชื่อม"
ระหว่างรุ่นไว้อย่างดี พร้อมกับการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นธุรกิจแกนของกลุ่มเซ็นทรัลให้เหมาะสมกับโอกาส และสถานการณ์
ในวงการจึงเชื่อกันว่า ประธานกลุ่มเซ็นทรัลคนต่อจากนี้ คงไม่ยึดระบบอาวุโสเช่นแต่ก่อน
หากยึดระบบการยอมรับของคนในตระกูลจิราธิวัฒน์
พวกเขามีชื่ออยู่ในใจกันแล้ว