|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาคดีชาวบ้านแม่เมาะ สั่ง กฟผ.จ่ายค่าเสียหายรายละ 2.4 แสนบาท พร้อมอพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะเผย รู้สึกดีใจหลังต่อสู้ยืดเยื้อมายาวนาน วอน กฟผ.เห็นใจชาวบ้านไม่ยื่นอุทธรณ์คดี
วานนี้ (4 มี.ค.) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ประมาณ 300 คน จากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
พร้อมเรียกค่าเสียหาย ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2547 ที่แบ่งเป็น 2 คดี คือ คดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบและคดีขอให้ กฟผ.ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตรการขุดเหมืองลิกไนต์ และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมารับฟังการอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลปกครองเชียงใหม่
ทั้งนี้ ในคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ศาลวินิจฉัยว่า ตามรายงานการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษระหว่างเดือน พ.ย.2535 ถึง ส.ค.2541 วัดค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในพื้นที่แม่เมาะเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 50 เดือน จากระยะเวลา 70 เดือน (ซึ่งค่าที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ ก.ค.2538 คือ ไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร เฉพาะในพื้นที่แม่เมาะ ส่วนพื้นที่อื่นไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และต่อมายกเลิกการกำหนดเป็นค่าเดียวกันหมดทุกพื้นที่คือไม่เกิน 780ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ส่วนที่เหลืออีก 20 เดือน พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 17 เดือน
เมื่อ กฟผ.เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ และถูกกำหนดให้ถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย โดยไม่ปรากฏว่าก๊าซดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น อีกทั้ง กฟผ.เคยรับว่าเมื่อวันที่ 17-18 ส.ค.2541 เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใช้การได้เพียง 2 เครื่อง ในจำนวน 10 เครื่อง ทำให้ราษฎรเจ็ป่วย 868 คน ดังนั้นการที่ กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่เดือน ก.ค.2538 เป็นการผิดกฎหมายจึงเป็นละเมิด
ส่วนการปล่อยก๊าซเกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเวลาก่อนเดือน ก.ค.2538 หรือปล่อยก๊าซเกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ได้ห้าม แต่ศาลเห็นว่าคนแม่เมาะก็ไม่ต่างกับคนในพื้นที่อื่น จึงต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน เมื่อ กฟผ.ปล่อยก๊าซเกินจึงต้องรับผิดตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
สำหรับโรคจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและทำให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตาอักเสบ ประกอบกับราษฎรดังกล่าวได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นเวล 67 เดือน ใน 70 เดือน แม้โรคจะไม่ปรากฏว่าสะสมในร่างกาย แต่ร่องรอยขอโรค คือ เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตา ซึ่งอักเสบเป็นเวลานานอาจปรากฏอยู่ เมื่อแพทย์ระบุว่าเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ประกอบกับค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศเกิน 248 ครั้ง เป็นเวลา 67 เดือน ใน 70 เดือน
จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวป่วยเป็นโรคดังกล่าวจริง แต่จากอาการโรคดังกล่าว ราษฎรที่ทนไม่ได้จะไปหาแพทย์ บางรายที่ทนได้ก็จำต้องทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปหรือบางรายก็ต้องอยู่แต่ในบ้านเรือนไม่ออกไปข้างนอก
ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจแก่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่จริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่ กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนคดีที่สองเรื่องการทำเหมืองถ่านหินของ กฟผ.ที่ราษฎรฟ้องว่าไม่ทำตามเงื่อนไขประทานบัตรและมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของคดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากรายงานการตรวจร่วมและรายงานของ กฟผ.เองว่า ไม่ปฏิบัติตามาตรการหลายประการและพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนินการ ดังนี้
1.อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 2.กรณีนำที่ดินปลูกป่าไปสร้างสนามกอล์ฟนั้น ตามมาตรการระบุชัดเจนว่าให้ปลูกป่าทดแทน จึงให้ กฟผ.ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ทำสนามกอล์ฟ 3.กรณีจุดปล่อยดิน ให้กำหนดพื้นที่ปล่อยดินกับชุมชนและทำ Bunker โดยในจุดปล่อยดินต่ำกว่า Bunker เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และ 4.กรณีทำรายงานการตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี กฟผ.ยอมรับว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ศาลจึงให้ กฟผ.จัดทำและนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา หาก กฟผ.มีมาตรการที่ดีกว่าให้ยื่นแก้ไข
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า รู้สึกดีใจหลังจากที่ชาวบ้านต้องต่อสู้มายาวนานนับสิบปีเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ทั้งในส่วนของการให้ กฟผ.อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรัศมี 5 กิโลเมตร และการจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพให้กับชาวบ้าน แม้จะได้รับเพียง 131 ราย จากที่ร่วมกันยื่นฟ้องทั้งหมด 477 ราย เฉพาะรายที่มีใบรับรองแพทย์ และได้รับค่าเสียหายเพียงรายละไม่มากก็ตาม
ทั้งนี้ อยากวิงวอนไปยัง กฟผ.ว่าไม่น่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้อีกต่อไป และปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ โดยอยากให้เห็นใจชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์และต่อสู้มานานจนมีผู้ที่ต้องจากไปแล้วหลายราย ซึ่งไม่อยากให้มีการสูญเสียมากไปกว่านี้อีก แต่หาก กฟผ.จะยื่นอุทธรณ์ ชาวบ้านก็คงต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพื่อเรียกร้องรักษาสิทธิของตัวเองให้ถึงที่สุด
ส่วนนายธีระ พลวงศ์ศรี อายุ 77 ปี ชาวบ้านบ้านหัวฝาย หมู่ 1 ตำบล ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ยื่นฟ้อง กล่าวว่า ดีใจที่ศาลมีคำพิพากษา อย่างไรก็ตามรู้สึกว่าค่าเสียหายที่ได้รับ ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบสุขภาพที่ชาวบ้านแม่เมาะได้รับและต้องทนทุกข์มานานนับสิบปี แต่เมื่อศาลมีคำตัดสินออกมาเช่นนี้ก็พร้อมน้อมรับ
นายพรชัย มนัสเพ็ญศิริ รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนคดนี้ กล่าวว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ส่วนการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องนั้น จะต้องจ่ายเงินภายใน 30 วันนับตั้งแต่คดีสิ้นสุด ขณะที่การที่ศาลสั่งให้ กฟผ.ดำเนินการต่างๆ นั้น ไม่ได้กำหนดเวลาไว้เพราะการดำเนินการปรับปรุงใดๆ จำเป็นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการล่าช้า คู่กรณีก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้เร่งรัดการดำเนินการได้
นอกจากนี้นายพรชัย กล่าวถึงการกำหนดค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่แม่เมาะสูงกว่าพื้นที่อื่นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดก็ตามควรมีสิทธิที่จะใช้ค่าอากาศที่เท่าเทียมกัน เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีร่างกายที่เหมือนกัน เช่นเดียวกับชาวบ้านแม่เมาะที่ควรจะได้รับอากาศที่ดีเหมือนกัน
|
|
|
|
|