|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บ่อยครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงแนวทางแก้ไขที่จำต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากและยังไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพดีพอ
ในขณะที่ประเด็นหัวข้อ "ฝุ่นทรายเหลือง" กลับถูกประเมินให้เป็นเพียงปัญหาระดับภูมิภาคและหลบเลี่ยงในการถกแถลงร่วมกันอย่างจริงจังมาเป็นเวลาช้านาน โดยกล่าวอ้างให้เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้
หลายปีที่ผ่านมาฝุ่นทรายเหลือง (ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Yellow Dust หรือ Yellow Sand ส่วนในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า อ่านว่า Kousa) กำลังกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เกิดจากฝุ่นทรายขนาดเล็กจำนวนมหาศาลที่ถูกพัดพามาจากทะเลทรายในประเทศจีนไปทางตะวันออก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
กระแสลมแรงรวมไปถึงพายุทะเลทรายที่โหมกระหน่ำทะเลทรายทากลามากันในภาคตะวันตกของจีน และทะเลทรายโกบีในทางตอนใต้ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียต่อกับตอนกลางของจีน สมทบกับลมกรรโชกในเขตราบสูงหวงถู่ได้หอบพัดเอาฝุ่นทรายที่มีอนุภาคเล็กขนาดไมครอน* ลอยขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งมองเห็นได้ราวกับม่านหมอกสีเหลืองขนาดใหญ่ อันที่จริงแล้วมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศจีนซึ่งระบุถึงปรากฏการณ์ฝนโคลนตกลงมาในราว 1,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช นอกจากนี้บันทึกเมื่อปี ค.ศ.1477 ในสมัยเอโดะก็เคยรายงานเกี่ยวกับหิมะสีเหลืองซึ่งตกในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อุบัติการณ์ของฝุ่นทรายเหลืองทวีความถี่และความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุหลักทำให้แผ่นน้ำแข็งที่เคยปกคลุมผิวทรายนั้นละลายไปและผลกระทบจากการขยายตัวของทะเลทรายอันแห้งแล้ง ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังนี้สิ่งที่แฝงมากับฝุ่นทรายเหลืองนั้นเป็นอันตรายเกินกว่าจะมองข้ามไปได้ เพราะทิศทางของกระแสลมที่หอบอนุภาคเล็กๆ ของฝุ่นทรายเหลืองมานั้นได้ผ่านเขตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศจีน ซึ่งพัดพาข้ามทะเลมาตกในเกาหลีและญี่ปุ่น อีกทั้งมีรายงานว่าฝุ่นทรายเหลืองนี้สามารถปลิวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปไกลถึงฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกา ลำพังฝุ่นทรายเหลืองอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดโรคตาและโรคของระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ผลการวิเคราะห์ฝุ่นทรายเหลืองที่สุ่มเก็บตัวอย่างในญี่ปุ่นยังพบยาฆ่าแมลงหลายชนิด สารประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารก่อมะเร็งและเถ้าถ่านจากการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรม สารประกอบซัลเฟอร์ซึ่งทำให้เกิดฝนกรด นอกจากนี้ยังพบไวรัสและแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ข้อเท็จจริงดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ยวดยานและทัศนียภาพของเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพเช่น โรคภูมิแพ้ในเด็กเล็ก การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน รวมทั้งโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในประชากรวัยทำงาน เป็นต้น
ดังนั้นกิจกรรมกลางแจ้งในฤดูใบไม้ผลิอาจถูกยกเลิกไปอย่างช่วยไม่ได้ในวันที่พยากรณ์อากาศรายงานความหนาแน่นของปริมาณฝุ่นทรายเหลืองที่มากเกินกำหนดซึ่งในกรณีของประเทศเกาหลีใต้นั้นอาจถึงขั้นประกาศหยุดเรียน
ทั้งนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ, ค่าซักเสื้อผ้าเนื่องจากอนุภาคขนาดเล็กของฝุ่นทรายเหลืองที่ฝังตัวในเนื้อผ้าไม่สามารถกำจัดได้หมดด้วยเครื่องซักผ้าทั่วไป, ค่าทำความสะอาดอาคารและยานพาหนะ** รวมไปถึงความเสียหายในการยกเลิกเที่ยวบิน ฯลฯ
นอกจากนี้ฝุ่นทรายเหลืองยังส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ลดผลิตผลทางการเกษตร หากรวมตัวกับฝนที่ตกลงสู่ทะเลก็เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและปะการังในระยะยาว
แม้ในขณะนี้ผลกระทบจากฝุ่นทรายเหลืองในประเทศญี่ปุ่นยังไม่รุนแรงหากเทียบกับประเทศเกาหลีใต้หรือประเทศจีนก็ตาม การวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นทรายเหลืองร่วมกันมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งดำเนินการผ่านนโยบายในระดับรัฐต่อรัฐ การช่วยเหลือของ NGO การวิจัยในมหาวิทยาลัยจนถึงความร่วมมือจากประชาชนในทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง
ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควรโดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของรัฐต่อปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับการบอกปัดการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยสู่บรรยากาศเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ที่ว่า "เป็นประเทศกำลังพัฒนา" กอปรกับทัศนคติที่มองว่า "ฝุ่นทรายเหลืองเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตกาลและเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้"
กระนั้น การปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อลดปริมาณของฝุ่นทรายเหลือง นับเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างง่ายๆ ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ได้บริจาคต้นไม้จำนวนหนึ่งไปให้ หากแต่ต้นไม้ดังกล่าวถูกนำไปปลูก ตามแนวทางด่วนสายหนึ่งแทนที่จะกลายเป็นป่า
อีกตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกบริบทที่กล่าวถึงได้ชัดแจนคือความพยายามที่ล้มเหลวของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเจรจาให้ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการขยายตัวของทะเลทราย
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีองค์กร NGO หลายองค์กรและกลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกระจายกำลังสู่ภาคสนามหลายจุดในพื้นที่ที่เป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นทรายเหลือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพลิกฟื้นผืนทรายให้กลับเป็นสีเขียวอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหลายโครงการได้รับความร่วมมือและร่วมแรงจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี
หากเปรียบประเทศเป็นบ้าน การขอร้องเพื่อนบ้านด้วยปิยวาจาหรือตักเตือนผ่านบุคคลที่สาม เช่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น ซึ่งหากไม่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วสุดท้ายอาจนำไปสู่การตัดสินใจย้ายบ้าน แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายประเทศให้ไกลออกไปได้ดังนั้นความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำ
เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้วในอนาคตคนญี่ปุ่นอาจจะต้องนั่งชมดอกซากุระผ่านทีวีจอยักษ์อยู่ในบ้านแทนการออกไปสังสรรค์ใต้ต้นซากุระในวันฟ้าใสของฤดูใบไม้ผลิก็เป็นได้
หมายเหตุ
* 1,000 ไมครอน เท่ากับ 1 มิลลิเมตร
** การชำระล้างฝุ่นทรายเหลืองออกจากเครื่องบินจัมโบเจ็ต 1 ลำ ต้องใช้น้ำ 24,000 ลิตร และใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง
|
|
|
|
|