เมื่อเกิดการล้มครืนของ Lehman Brothers ธนาคารเพื่อการลงทุนใหญ่อันดับสี่ของสหรัฐฯ ความวิตกกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจครอบคลุมไปทั่วภาคธุรกิจการเงินของอินเดีย ซึ่งบรรดากูรูและผู้นำสถาบันการเงินต่างๆ พากันให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบจะไม่รุนแรงและค่อนข้างจำกัดวง ด้วยความที่มีภูมิคุ้มกันของระบบบริหารสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของอินเดีย แต่เพียงไตรมาสเดียว ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลามอยู่ทั่วโลกก็เริ่มออกอาการในอินเดียในรูปของการปลดคนงาน
ในช่วงวิกฤติ Black Monday กลางเดือนกันยายนปีก่อน เมื่อ Lehman Brothers ธนาคารเพื่อการลงทุนใหญ่อันดับสี่ของสหรัฐฯ ถูกประกาศล้มละลายและบริษัทการเงินระดับโลก Merrill Lynch ถูกขายทอดตลาดให้แก่ Bank of America ภาคธุรกิจและการเงินของทุกประเทศทั่วโลกต่างพากันตั้งคำถามเดียวกัน ว่าตนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน บรรดาผู้รู้ทางเศรษฐกิจของอินเดียคาดการณ์ว่า ผลกระทบอาจตรงแต่จะค่อนข้างจำกัดวง นั่นคือภาคส่วนที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ซึ่งพบว่าบริษัทเลห์แมนฯ มีการลงทุนในอินเดียราว 2 หมื่นล้านรูปี อาทิ ใน ICICI ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และธนาคารของรัฐอีก 2 แห่งคือ Punjab National Bank และ State Bank of India ส่วนผลพวงด้านการจ้างงานมีการประเมินในเบื้องต้น ว่าอาจส่งผลให้มีการปลดคนงานที่อยู่ในธุรกิจภาคการเงินและไอทราว 25,000 คน
โดยผลกระทบดังกล่าวอาจคงค้างอยู่ราว 6-8 เดือน แต่ไม่น่าจะกระเทือนต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะด้วยประชากรกว่าพันล้านคน ระบบเศรษฐกิจของอินเดียค่อนข้างพึ่งพาและอยู่ได้ด้วยตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เช่นที่ ดร.อมิต มิตรา เลขาธิการทั่วไปของ FICCI (Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry) ชี้ว่า "เงินทุนเพื่อการลงทุนของอินเดียนั้น ร้อยละ 92-93 มาจากภาคออมทรัพย์ภายในประเทศเอง เราไม่ได้พึ่งพิงสถาบันการเงินต่างประเทศ ตลาดในภาพรวมตอนนี้ถือว่ายังดีอยู่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์" เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสารเตเฮลกาเมื่อปลายเดือนกันยายนปีก่อน
แต่เพียงช่วงไตรมาสเดียวเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อินเดียเองไม่ว่าจะมีภูมิคุ้มกันดีแค่ไหน ก็เริ่มส่อเค้าถึงผลกระทบที่ขยายวงกว้าง เช่นที่อมาร์ตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลปี 1998 สรุปภาพไว้เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า "วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่ออินเดียชัดเจนขึ้นในปี 2009 นี้ ผมคาดว่าอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งลดลงเมื่อปลายปีก่อนจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 7 จะลดลงไปเหลือ 5-6 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าอันที่จริงอัตราดังกล่าวไม่ถือว่าเลวร้ายนัก แต่ปัญหาสำคัญคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงก่อนใครคือคนในสังคมที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว"
จนถึงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่วนที่รับผลกระทบชัดเจนคืออุตสาหกรรมสำหรับการส่งออก เมื่อตลาดโลกอยู่ในภาวะชะงักงันและถดถอย ปริมาณการสั่งซื้อลดลง ย่อมทำให้ลดปริมาณการผลิต และผู้ที่โดนดาบแรกก็คือบรรดาคนงาน ดังพบว่าตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เมืองติรุปปูร์ เพชรพลอยที่เมืองสุรัต พรมที่เมืองบาโดไฮ เครื่องไหมพรมที่เมืองลุดฮาน่า ฯลฯ มีการลอยแพคนงานแล้วหลายแสนหรืออาจมากกว่าล้านคน
ในกรณีของสุรัตเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมเพชรพลอยและอัญมณี จนถึงปลายเดือนธันวาคมมีการปลดคนงานรวมแล้วกว่าแสนคน "นี่เป็นครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษ ที่อุตสาหกรรมเพชรพลอยต้องเจอกับภาวะฝืดเคืองเช่นนี้" เจ้าของบริษัทผู้ผลิตอัญมณีรายหนึ่งกล่าว จากตัวเลขของ FICCI ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพชรพลอยซึ่งเคยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญ ลดลงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะปริมาณการส่งออกเพชรที่ผ่านการเจียระไน ซึ่งช่างในอินเดียเป็นผู้เจียระไนเพชรถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของเพชรดิบจากทั่วโลก ลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่ได้รับผลโดยตรงคือแรงงานนับจากคนงานเหมืองพลอยจนถึงช่างเจียระไนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้ราว 1.5 ล้านคน
ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วประเทศมีการลอยแพคนงานแล้วกว่า 7 แสนคน ตัวอย่างเช่นเมืองติรุปปูร์ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอในเขตนี้ปกติมีการจ้างงานถึง 4 แสนคน โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2006-2007 สูงถึงกว่าแสนล้านรูปี แต่ยอดสำหรับ ปีที่ผ่านมาเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โรงงานหลายแห่งที่เคยจ้างงาน 3 กะต่อวัน ก็เหลือเพียงแค่กะเดียว "นั่นแค่เผาหลอก ของจริงคงได้เห็นในปีนี้ เพราะครึ่งหนึ่งของผู้ที่ผลิตเพื่อการส่งออกหลังเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้วก็ไม่มีออร์เดอร์จากตลาดต่างประเทศเลย การปลดคนงานย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้" ประธานสมาคมส่งออกของติรุปปูร์ให้ความเห็น และคาดการณ์ว่าจนถึงปลายปี 2009 นี้อาจมีคนตกงานถึงกว่า 2 แสนราย
แต่ผลกระทบไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ แม้จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด ปริมาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมถือว่าลดลง ขณะที่การขนส่งสินค้าภายในประเทศลดลงในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลอดปี 2008 เอง
ธุรกิจอีกด้านที่ส่อแววพิษไข้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายปีก่อนคือ การท่องเที่ยวและบริการ ตัวอย่างเช่นแหล่งท่องเที่ยวในรัฐทางใต้อย่างเคราล่า ซึ่งปกติไฮ-ซีซั่นจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคม จนแทบจะหาเกสต์เฮาส์โรงแรมว่างไม่ได้ แต่หนาวนี้ยอดนักท่องเที่ยวร่วงลงไป 30-35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสถานการณ์แย่เสียยิ่งกว่าช่วงหลังสึนามิ เป็นเหตุให้มีคนตกงานแล้วราว 7,000 คน
พิษไข้ทางเศรษฐกิจกำลังลุกลาม นิตยสารเตเฮลกาพยากรณ์ว่าบรรดาบรรษัทอินเดียที่ชื่อเคยเป็นตัวเต็งตัวรองอยู่ในตลาดหุ้นก็คงหนีวิกฤติหนนี้ไม่รอด ส่วนใครจะมีอาการสาหัสแค่ไหน ก็น่าจะเรียงกันไปตามอันดับที่เคยวิ่งไล่บนกระดานหุ้นนั่นเอง อาทิ DLF, Unitech, Larsen & Tubro Infotech, Motorola, Goldman Sachs, American Express, Reliance Retail, Kingfisher Airlines, Spicejet and Jet Airways ฯลฯ และปรากฏการณ์ซองขาวก็เริ่มขึ้นแล้วในหลายบริษัท เช่น Siemen AG, JP Morgan, Merrill Lynch, American Express เป็นต้น ซึ่งวิธีการแจกซองขาวและผลพวงที่เกิดแก่พนักงานก็แตกต่างกันไป
Soumyakant Dash อดีต Senior Analyst บริษัท Merrill Lynch มุมไบกำลังเบื่องานและวางแผนที่จะลาออกในช่วงต้นปี แต่กลับถูกชิงปลดกลางอากาศในวันที่เขาลาป่วย ทุกวันนี้แทนที่จะเป็นหนึ่งในมนุษย์เงินเดือน ดาชหันมาทำงานอยู่กับบ้านด้วยการซื้อขายหุ้น ใช้ประสบการณ์ความรู้ในอดีตบริหารเงินลงทุนของตนเอง
Vivekananda Mahalingam วิศวกรวัย 46 ปี ทำงานให้กับ Siemen AG มากว่า 15 ปี แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองขาวทางบริษัทกลับใช้เวลาเพียง 70 นาทีในการตัดสินใจและบอกข่าว
ในขณะที่การปลดคนงานของบรรษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะในธุรกิจไอทีและการเงิน มักเป็นที่จับตามองของสื่อ แต่แรงงานส่วนใหญ่ที่จะโดนลงดาบก่อนใคร มักเป็นแรงงานระดับล่าง นัยหนึ่งแรงงานนอกระบบการว่าจ้าง ที่ไม่มีสวัสดิการ เงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือแม้แต่ซองขาวที่จะมาพร้อมกับเงินชดเชย 3 เดือน และสิ่งที่น่าสะท้อนใจต่อการลอย แพแรงงานที่ถือเป็นแค่โหมโรงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือ แรงงานลักษณะนี้ถือเป็นร้อยละ 94 ของตลาดแรงงานในอินเดีย
หากนี่คือผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อินเดียไม่อาจหลบเลี่ยง คำถามต่อมาที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหาคำตอบคือ จะทำเช่นไรกับแรงงานระลอกใหม่ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกกว่า 10 ล้านคนต่อปี
|