Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2552
ปกป้อง Chinese Dream             
 


   
search resources

Economics




ปัญหาการตกงานของบัณฑิตจบใหม่ในจีน กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นศรัทธาของชาวจีนที่มีต่อความฝันที่จะใช้การศึกษากรุยทางสู่ความสำเร็จ

อเมริกามี American Dream คือการเรียนสูงๆ ขยันทำงาน แล้วคุณจะประสบความสำเร็จและร่ำรวย จีนก็มีความฝันในแบบของจีนที่ยึดมั่นมานานแล้ว นับตั้งแต่ที่จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ทรงริเริ่มระบบการสอบจอหงวนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกคนเข้ารับราชการตามสติปัญญาและความสามารถ มิใช่ด้วยชาติกำเนิด Chinese Dream ก็ไม่ต่างจาก American Dream ซึ่งมีศรัทธามั่นคงต่อการทำงานหนักเท่าใดนัก แต่ดูเหมือนว่าจีนอาจจะให้ความสำคัญกับคุณค่าของการศึกษามากเป็นพิเศษ การศึกษาเป็นเหมือนเครื่องรับประกันให้คนหนุ่มสาวชาวจีนสามารถถีบตัวเองขึ้นมาจากความยากจน และมีชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวพวกเขาเองและพ่อแม่ ความฝันแบบจีนยิ่งมีคุณค่าความหมายเป็นพิเศษ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศจีนสู่โลกภายนอก และการสามารถสร้างตัวจนร่ำรวย กลายเป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญในจีน

แต่มาบัดนี้ เมื่อเศรษฐกิจที่เคยร้อนแรงสุดขีดของจีนเริ่มเย็นลง คนหนุ่มสาวชาวจีนนับล้านๆ คนกำลังต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า การศึกษาสูงอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ Chinese Dream กลายเป็นความจริง ตัวเลขจากมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) ระบุว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้ว บัณฑิตจบใหม่ของจีนจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคนยังคงตกงานและทันใดนั้น ดูเหมือนว่า Chinese Dream กำลังถูกคุกคามเสียแล้ว และคนที่วิตกกับเรื่องนี้มากที่สุดอาจเป็นรัฐบาลจีน และผู้นำจีนก็ไม่ได้พยายามปิดบังความวิตกนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ไปพบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขากล่าวต่อนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่า "ถ้าพวกคุณกลัวจะตกงาน ขอให้รู้ว่าผมกลัวยิ่งกว่าพวกคุณ" พร้อมให้สัญญาว่า การหางานให้บัณฑิตเป็นนโยบายสำคัญที่สุดของรัฐบาล นอกเหนือไปจากการหางานให้คนงานโรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

เป็นที่เข้าใจได้ว่า ทำไมรัฐบาลจีนจึงต้องกลัวปัญหาคนงานในโรงงานตกงาน ประวัติศาสตร์ของจีนที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจอาจเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ได้ไม่ยาก แต่ในส่วนของนักศึกษาจีนนั้นอยู่ในสภาพที่ว่านอนสอนง่ายและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 เป็นต้นมา และสัดส่วนของบัณฑิตในตลาดแรงงานของจีนก็จัดว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับชนชั้นแรงงาน คือมีสัดส่วนเพียง 6% ของตลาดแรงงานในจีน

อย่างไรก็ตาม การมีงานทำของบัณฑิตจบใหม่มีความหมายและความสำคัญอย่างมากในเชิงสัญลักษณ์ "บัณฑิตจีนแบกความหวังของคน 2 รุ่น" ศาตราจารย์ Wei Zhizhong ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาในกวางเจากล่าว หากพ่อแม่และบัณฑิตสูญเสียศรัทธาต่อระบบ ความกลัวของพวกเขาจะทำให้ความเสื่อมศรัทธาในระบบลุกลามไปทั่วทั้งสังคมได้

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงได้เริ่มออกมาตรการหลายอย่าง เพื่อไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาใน Chinese Dream มาตรการใหม่ๆ เหล่านั้นรวมถึงการออกคำสั่งให้กองทัพจีนรับบัณฑิตจบใหม่เพิ่มเป็น 2 เท่าเป็น 33,000 คน และขยายงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะเพิ่มตำแหน่งงานให้แก่บัณฑิต รวมทั้งพยายามจูงใจบัณฑิตให้ไปเป็นครูในท้องถิ่นชนบทที่ยากจน ด้วยการเสนอจะยกหนี้สินทางการศึกษาให้และที่สำคัญที่สุดคือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสน 8 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลจีนอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่ จะเป็นการอัดฉีดผ่านรัฐวิสาหกิจที่สร้างทางรถไฟ สายส่งไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป้าหมายคือ เพื่อสร้างงานใหม่ให้ได้ 9 ล้านตำแหน่งภายในปีนี้ ซึ่งคงจะทำให้บัณฑิตจบใหม่รวมทั้งวิศวกรอีกครึ่งล้านได้ยินดีปรีดา

พ่อแม่ของนักศึกษาชาวจีนอีก 6.1 ล้านคนที่กำลังจะจบเป็นบัณฑิตใหม่ในฤดูร้อนที่จะถึงนี้ ก็หวังเช่นกันว่า มาตรการสร้างงาน 9 ล้านตำแหน่งจะได้ผล นับตั้งแต่จีนได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้อีกครั้ง หลังสิ้นสุดยุคปฏิวัติ วัฒนธรรมในปี 1978 พ่อแม่ชาวจีนก็ต้องกัดฟันทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ หาเงินส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะเชื่อมั่นว่าการศึกษาดีๆ จะทำให้ลูกๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะนี้ พ่อแม่ชาวจีนจำนวนมากเริ่มกลัวว่า พวกเขาอาจจะเหนื่อยเปล่ากับการที่ทุ่มเทให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี ในประเทศที่ไม่มีระบบสวัสดิการสังคมอย่างจีน บรรดาพ่อแม่ต่างก็กลัวว่า ลูกๆ จะไม่มีปัญญาเลี้ยงพวกเขาเมื่อยามที่ย่างเข้าสู่วัยชรา

ชีวิตของ Gong Ailing นักศึกษาสาวระดับหัวกะทิในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ซึ่งมาจากครอบครัวชนบทในภาคกลางของจีน ดูเหมือนพอจะเป็นตัวแทนฝันร้ายที่สุดของ Chinese Dream ได้ พ่อของเธออายุ 59 ปี เลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพพ่อครัวซึ่งมีรายได้เพียงเดือนละ 175 ดอลลาร์ "เราไม่มี เงินบำเหน็จบำนาญหรือประกันสังคม" พ่อของ Gong กล่าว "ตอนแก่ๆ เราก็ได้แต่พึ่งลูกเท่านั้น" ครอบครัวนี้ต้องใช้เงินเกือบ 15,000 ดอลลาร์ เช่นเดียวกับครอบครัวชาวจีนทั่วไปในการส่งเสีย Gong ให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย นับเป็นการเดิมพันที่สูงสำหรับอนาคตของครอบครัว

ครอบครัวของ Gong ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว แม้ว่าบัณฑิตจบใหม่ของจีนได้เผชิญกับความยากลำบากในการหางานทำมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกแล้ว การขยายการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจีนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เริ่มทำให้ใบปริญญาเฟ้อ จำนวนนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ความกลัวว่าจะตกงานก็เริ่มมองเห็นได้ชัดเจน แม้กระทั่งนักศึกษาระดับหัวกะทิก็ยังต้องตะเกียกตะกายแย่งกันหางานในเมืองชั้นรอง

ในงานตลาดนัดแรงงานซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย Tsinghua Unitversity มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อแย่งกันสมัครงานในเมืองที่เงียบเหงาอย่างนานกิง และคนที่โชคดีได้งานก็อาจจะได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าที่พวกเขาและพ่อแม่ ซึ่งต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าเล่าเรียนลูก คาดหวังเอาไว้ นักศึกษาด้านการบริหารจัดการคนหนึ่งบอกว่า เงินเดือนลดลง 1,000 หยวน หรือประมาณ 146 ดอลลาร์ และปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเท่านั้น ศาสตราจารย์ Wei นักจิตวิทยาชี้ว่า พ่อแม่ชาวจีนซึ่งไม่เคยมีโอกาสทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง จึงตั้งความหวังไว้ที่ลูกๆ แทน ว่าจะทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ ส่วนวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวจีนที่ได้มีโอกาสออกจากถิ่นชนบทบ้านนอก ก็ไม่อยากที่จะหวนกลับไปอีก และหากต้องกลับไป พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

สิ่งที่เกิดขึ้นจะโทษใคร ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนจะสามารถแก้ปัญหานี้อย่างไร อันตรายก็คือความโกรธแค้นที่ต้องตกงานของคนหนุ่มสาวชาวจีน อาจจะไปลงที่ผู้นำจีน หรือที่ผู้คุมกฎระบบการเงินโลกในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งหันไปโทษพ่อแม่ของตัวเอง ที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าสู่การเรียนมหาวิทยาลัยในเมือง อันตรายอีกอย่างคือ อาจเกิดการปะทุขึ้นของลัทธิชาตินิยมที่ก้าวร้าว ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์จีน ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนยากจะควบคุมได้

เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงพยายามเน้นความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ และไม่พยายามกล่าวโทษสหรัฐฯ มากนัก ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา (ยกเว้นการทะเลาะกับสหรัฐฯ ในเรื่องค่าเงินหยวน) รัฐบาลจีนทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักศึกษาว่า โอกาสยังมีอยู่อีกมาก และกระตุ้นให้พวกเขาหันไปสนใจงานที่อาจจะมีความน่าตื่นเต้นท้าทายน้อยลงทว่าได้ความมั่นคงมาแทน ประการหลังนี้ทำได้ง่ายขึ้นในยามนี้ เนื่องจากงานที่เคยได้ค่าตอบแทนดีๆ อย่างงานด้านการเงินและการทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ไม่มีความมั่นคงเหลืออยู่เลยในขณะนี้ ข้อมูลจากศูนย์จัดหางานให้ บัณฑิตของมหาวิทยาลัย Tsinghua พบว่า ขณะนี้จำนวนนักศึกษาที่เลือกทำงานกับรัฐวิสาหกิจของจีนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อปีที่แล้ว

การพยายามทำให้นักศึกษาจีนเปลี่ยนความตั้งใจที่จะทำงานกับบริษัทต่างชาติมาเป็นบริษัทของจีน พยายามลดระดับความคาดหวัง นับเป็นกลยุทธ์ที่มีเหตุผล หากรัฐบาลจีนสามารถสร้างงานใหม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ก็อาจสามารถรักษา Chinese Dream ไว้ได้ต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่เต็มที่เท่าเดิมก็ตาม สิ่งที่ผู้นำจีนได้พยายามทำไปหลายอย่างนับว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของจีนยังเพิ่มการจัดตลาดนัดแรงงานและฝึกงานให้แก่บัณฑิตจบใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วันเวลาของการสร้างความร่ำรวยอย่างรวดเร็วในจีนตอนนี้อาจจบสิ้นลงไปแล้ว บัณฑิตจบใหม่ในอนาคตอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขาจะต้องเข้าสู่โลกของการทำงานปกติที่มีวัฏจักรขึ้นลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ แน่นอนว่า พวกเขายังคงสามารถที่จะมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ได้ และยังสามารถจะเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่าได้ แต่ทว่ายุคแห่งความอุดมสมบูรณ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และผู้นำจีนก็จำเป็นจะต้องช่วยให้บัณฑิตใหม่ของตน ลดระดับความฝันถึงอนาคตอันสวยหรูตามไปด้วย

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
นิวสวีค 16 กุมภาพันธ์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us