|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ กำลังทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนครั้งใหญ่
มีใครสังเกตบ้างว่า บารัค โอบามา กำลังดูคล้ายประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศสเข้าไปทุกที เริ่มจากสุนทรพจน์หลังสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โอบามาประกาศว่า ถึงเวลาเลิกเถียงกันซ้ำซากเรื่องรัฐบาลควรจะมีบทบาทมากหรือน้อยแล้ว นั่นฟังดูคล้ายๆ ปรัชญาของ Sarkozy ซึ่งบางครั้งก็สนับสนุนระบบตลาด แต่บางครั้งก็สนับสนุนรัฐวิสาหกิจ โอบามาตำหนิ Wall Street ว่า "หน้าไม่อาย" และละโมบ ส่วน Sarkozy ชอบพูดบ่อยๆ ว่า เป็นเรื่อง "บ้าๆ " ที่คิดว่าตลาดถูกต้องทุกอย่าง โอบามาสนับสนุนมาตรการ "Buy American" ซึ่งกำหนดให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินหลายแสนล้านของสหรัฐฯ ต้องใช้แต่สินค้าที่ผลิตในประเทศเท่านั้น และสมาชิกในรัฐบาลโอบามา ใช้คำว่า "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของฝรั่งเศส โอบามายังประกาศจำกัดเพดานรายได้ของผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชนเข้าอุ้ม ไม่ให้มีรายได้เกิน 5 แสนดอลลาร์ ก่อนหน้านั้น Sazkozy ก็เพิ่งจะบีบให้บรรดาผู้บริหารแบงก์ฝรั่งเศสจำใจยอมสละการรับเงินโบนัส โอบามายังตำหนิผู้บริหารแบงก์ว่า "มีหน้า" จะขอรับเงินโบนัสทั้งๆ ที่ธนาคารของพวกเขาขาดทุนมหาศาล
คำพูดและการกระทำของโอบามา ข้างต้นสะท้อนว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เท่านั้น ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการเงินเมื่อปีที่แล้ว การกล่าวตำหนิติเตียนผู้บริหารอย่างรุนแรง และการหยิบยกเรื่องการกีดกันทางการค้าขึ้นมาพูดนั้น มีแต่พวกหัวซ้ายจัดเท่านั้นและความรู้สึกในสหรัฐฯ โดยทั่วไปยังคงคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ก็คือธุรกิจ แต่เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเกิดลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน นับตั้งแต่ที่โรนัลด์ เรแกนเคยประกาศว่า รัฐบาลคือตัวปัญหา
แต่มาบัดนี้บรรดาผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐฯ พิจารณาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนครั้งใหญ่ และโดยพื้นฐานแล้ว แผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่โอบามาเสนอ (ก่อนจะถูกตัดลดลงเหลือเพียงเกือบ 8 แสนล้านดอลาร์ในที่สุด-ผู้แปล) ก็คือการต่อสู้กันในเรื่องบทบาทของภาครัฐนั่นเอง ว่าควรจะเล่นบทมากน้อยเพียงใด ในการเข้าแทรกแซงภาคเอกชน ที่ถูกยกให้เป็นใหญ่กว่าภาครัฐมานานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมองกันไม่ออกว่า วันเวลาหลังจากที่วิกฤติผ่านพ้นไปแล้วนั้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าภาพกว้างๆ ของโฉมหน้าใหม่ของเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มค่อยๆ เห็นได้ชัดเจนขึ้นแล้ว
ผลอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างถาวร คงจะเป็นการที่โลกจะเขยิบเข้าใกล้สิ่งที่อาจเรียกว่าเป็น "โมเดลแบบยุโรป" ทั้งในด้านธรรมาภิบาล การเพิ่มการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ และการที่ภาครัฐจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการดูแลทุกข์สุขประชาชน ความจริงรัฐบาลสหรัฐฯ ก็กำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นอยู่แล้ว การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมหาศาลจะทำให้สหรัฐฯ เข้าใกล้โมเดลแบบยุโรปมากขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ ยิ่งภาคเอกชนหมดสิ้นความแข็งแกร่งและยังสูญสิ้นศรัทธาจากสาธารณชน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จำต้องเข้ามาอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น และต้องเล่นบท "พี่ใหญ่" ชี้นำธุรกิจอย่างมั่นคงในทุกทางที่ทำได้ ทั้งการออกกฎเกณฑ์ควบคุมบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธนาคาร วาณิชธนกิจและรถยนต์ ขณะเดียวกันก็เลือกที่จะส่งเสริมบางอุตสาหกรรม อย่างเช่น พลังงานสะอาดด้วยการสนับสนุนทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้ และปรับปรุงภาคอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล กองทุนบำเหน็จบำนาญ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง Ken Rogoff นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะปรับปรุงระบบรักษาพยาบาลให้เป็นแบบรวมศูนย์มากขึ้นและจัดสรรปันส่วนใหม่ให้ดีขึ้น พร้อมกับจะหันไปเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม การควบคุม และเพิ่มการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เขาถือว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว คือจุดเปลี่ยนที่สหรัฐฯ เริ่มเดินตามรอยยุโรป
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ จะยืดเยื้อยาวนาน แต่ธนาคารจะยังคงมั่นคง เนื่องจากการเข้าอุ้ม ของรัฐบาล แต่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ "ทันท่วงทีตรงเป้าหมาย" และเป็นวิธีแก้ที่ใช้ได้ "เพียงชั่วคราว" ดังที่ Lawrence Summers ที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนสำคัญของโอบามาต้องการจะเห็น ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะไม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นกราฟรูปตัว V แต่อาจจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว L เหมือนญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจซึมยาวโดยแทบไม่มีการเติบโตเลยไปอีก 10 ปีหรือกว่านั้น และคงจะเหมือนยุโรปที่แทบไม่มีการเติบโตเลย ซึ่งจะทำให้ประชาชนเรียกร้องต้องการบริการทางสังคมจากภาครัฐมากขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังอาจจะทำให้ลัทธิปัจเจกชนนิยมในสหรัฐฯ ต้องจบสิ้นลง สวัสดิการรักษาพยาบาลในสหรัฐฯ นั้นโดยปกติจะผูกพันอยู่กับการมีงานทำ แต่เมื่อคนอเมริกันยังคงถูกเลิกจ้างและสถานการณ์ว่างงานดูจะมีแต่ย่ำแย่ลง คนอเมริกันจำนวนมากก็คงจะต้องหันมาขอพึ่งรัฐแทน และหากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสภาพเหมือนตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือมูลค่าลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของระดับเมื่อ 20 ปีก่อน ผลกระทบทางวัฒนธรรมจะลงลึกมาก ทุกวันนี้ บริการสังคมพื้นฐานของสหรัฐฯ ล้วนผูกพันอยู่กับความมั่งคั่งของเอกชนที่ได้มาจากการลงทุนในตลาดหุ้น เช่นกองทุนบำเหน็จบำนาญที่สร้างรายได้ผ่านกองทุน 401 (k) ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนและเงินบริจาคต่างๆ ที่มีรายได้จากลงทุนในตลาดหุ้น แต่เมื่อดัชนีหุ้น S&P 500 เคยตกฮวบถึง 41% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงตกต่ำเช่นนั้น รัฐบาลก็คงจะถูกกดดันให้ต้องเข้ามาแบกภาระให้บริการสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนบรรดานักนิยมปัจเจกในสหรัฐฯ ก็คงจะต้องเปลี่ยนจุดยืน หันมาเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแบบสบายๆ เหมือนในฝรั่งเศส หรือให้บริการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมดแบบในอังกฤษ ถ้าหากการลงทุนในหุ้นยังคงตกต่ำแบบนี้ต่อไปและอัตราการว่างงานเข้าใกล้ระดับ 10% เข้าไปทุกที และยังอาจจะสูงอย่างนั้นต่อไปอีกนาน
จากข้อมูลที่ผ่านมาทำให้คาดว่า การใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกจนอาจจะมากเท่ากับยุโรป เมื่อ 10 ปีก่อนรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายงบประมาณคิดเป็นสัดส่วน 34.3% ของ GDP เทียบกับยุโรปที่ 48.2% ของ GDP หรือต่างกันถึง 14 จุด แต่ในปี 2010 หรือปีหน้านี้ คาดว่า การใช้จ่ายงบประมาณของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 39.9% ของ GDP ในขณะที่ยุโรปจะอยู่ที่ 47.1% ของ GDP จะเห็นว่าช่องว่างแคบเข้ามาโดยต่างกันเพียง 7.2 จุดเท่านั้น และคาดว่าช่องว่างนี้ยังจะหดแคบลงต่อไปอีก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่คงจะยืดเยื้อยาวนาน และประชาชนจะเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ คงจะต้องย้ายลำดับความสำคัญของการใช้เงินงบประมาณจากกลาโหมไปเป็นโครงการด้านสังคมต่างๆ อีกทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ก็คงจะทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาล Medicare และสวัสดิการสังคมต่างๆ มากขึ้น
ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันระยะหลังพบว่า ประชาชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอุดช่องว่างในจุดที่ภาคเอกชนทำไม่ได้ และพบว่าศรัทธาและความไว้วางใจที่ชาวอเมริกันมีต่อธนาคารและสถาบันการเงิน ตกต่ำที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 68% ของคนอเมริกันต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มีอิทธิพลน้อยลง เทียบกับผลสำรวจเมื่อ 8 ปีก่อน ที่มีคนอเมริกันเพียง 52% ที่คิดเช่นนั้น ผลสำรวจยังพบว่า ชาวอเมริกัน 69% หรือเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในช่วงปี 1994-2007 อีก 12% ที่ต้อง การให้รัฐบาลมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลประชาชนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และนอกจากสวัสดิการสังคมแล้ว ประชาชนยังอยากให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มบทบาทในการชี้นำธุรกิจด้วย
แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐบาลโอบามาคงจะไม่เข้าไปชี้นำธุรกิจในระดับที่มากเท่ากับในยุโรป แม้ว่าแผนกอบกู้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ "Big Three" ของโอบามา จะมองดูเหมือนมาตรการกีดกันการค้า โดยให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเป็นผู้รับกรรมไปและดูคล้ายกับที่ Sarkozy เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส เคยให้รัฐบาลฝรั่งเศสเข้าอุ้ม Alstom บริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสเมื่อปี 2004 Stephen Roach นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Morgan Stanley เชื่อว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยืดเยื้อในสหรัฐฯ คงจะ ทำให้ภาครัฐเพิ่มบทบาทในการชี้นำเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการออกมาตรการในรูปของการกีดกันการค้า แต่เขาเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่ฝรั่งเศส และการเพิ่มบทบาทของภาครัฐในสหรัฐฯ จะมีรูปแบบที่เป็นของตัวเอง
รัฐบาลโอบามาได้ประกาศแผนกระตุ้นการเติบโตและสร้างงานด้วยการลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมหรือ green technology และยังมีแผนจะเปลี่ยนแปลงสวัสดิการรักษาพยาบาลครั้งใหญ่ แต่นั่นจะหมายความว่า สหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่ให้สวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีอย่างอังกฤษ หรือจะให้สวัสดิการประกันภัยแบบครอบจักรวาลหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีในบางรูปแบบ โดยเฉพาะหากการว่างงานยังสูงอยู่เช่นนี้ เพราะว่าภาคเอกชนคงไม่มีความสามารถจะเข้ามาแบกภาระตรงนี้ได้
แต่หากภาครัฐแทรกแซงเอกชนมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหา เศรษฐกิจเติบโตน้อยหรือไม่เติบโตเลยแบบที่ยุโรปเผชิญมานานแล้ว นี่ยังไม่นับว่าจะแก้ปัญหาหนี้กองโตของภาครัฐได้อย่างไรด้วยซ้ำ ในสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังถกเถียงกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันได้ โดยที่ยังคงสามารถเพิ่มสวัสดิการทางการเงินและสังคมให้แก่ประชาชนได้ หรือสรุปก็คือ ทำอย่างไรสหรัฐฯ จึงจะสามารถรับโมเดลสวัสดิการสังคมแบบยุโรปมาใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องรับปัญหา คือการที่เศรษฐกิจจะไม่เติบโตเข้ามาด้วย หรือสามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตมากกว่ายุโรป
นักเศรษฐศาสตร์แนะนำให้รัฐบาลสหรัฐฯ กระตุ้นการแข่งขันในการปล่อยกู้ ด้วยการตั้งสถาบันค้ำประกันเงินกู้ของรัฐ เพื่อให้ค้ำประกันเงินกู้บางอย่างที่สำคัญ เช่น เงินกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยคงที่ 30 ปี ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้เอกชนสามารถแข่งขันปล่อยสินเชื่อได้ แต่ต้องทำตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด เชื่อว่า กลไกนี้จะช่วยคุ้มครองประชาชนให้สามารถกู้เงินได้ และขณะเดียวกันก็เพิ่มการแข่งขันได้ด้วย อีกวิธีหนึ่งที่มีการเสนอคือ ให้รัฐบาลลดภาระที่เกิดจากการที่ตลาดหุ้นตกต่ำ เช่นยกหนี้สินด้านการศึกษาบางส่วนหรือทั้งหมด แลกกับการที่บัณฑิตจะต้องมาทำงานให้ภาครัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่โอบามาเองก็เคยหาเสียงเอาไว้ แม้วิธีนี้อาจจะคล้ายกับของฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย Ecole Normale Superieure หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แถมยังได้รับค่าครองชีพเดือนละ 1,500 ยูโรอีก โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องมาทำงานให้ภาครัฐ 10 ปี
รัฐบาลสหรัฐฯ คงต้องคิดถึงการปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุในระยะยาวด้วย เพราะคาดว่าระบบดังกล่าว คงไม่มีความ สามารถจะให้สวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ แก่ผู้เกษียณอายุได้อีกต่อไปตั้งแต่ปี 2041 เป็นต้นไป การที่ประชาชนสูญสิ้นศรัทธาต่อตลาดการเงินโดยสิ้นเชิง คงจะทำให้แนวคิดที่จะแปรรูประบบสวัสดิการสังคมของสหรัฐฯ ต้องสูญพันธุ์ไปตลอดกาล รัฐบาลโอบามากำลังเสนอขยายโครงการเงินออมเพื่อการเกษียณ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินสมทบ และจะเพิ่มการหักเงินเข้าระบบสวัสดิการของรัฐจาก 2% เป็น 4% เฉพาะผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 250,000 ดอลลาร์ นักวิเคราะห์ยังเกรงว่า มาตรการเพียงเท่านี้ ก็อาจยังไม่เพียงพอสำหรับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมของสหรัฐฯ
การถกเถียงเรื่องบทบาทของภาครัฐไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในสหรัฐฯ เท่านั้น ในการประชุม World Economic Forum ที่ Davos สวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้ สวิตเซอร์แลนด์ Vladimir Putin ของรัสเซีย และ Wen Jiabao ของจีน ต่างถือโอกาสโจมตีทุนนิยมตลาดเสรีแบบอเมริกัน โดยมีนัยว่าระบบเศรษฐกิจของตัวเองซึ่งเป็นทุนนิยมแบบควบคุมโดยรัฐ ดีกว่าโมเดลของสหรัฐฯ แม้แต่ Gordon Brown ของอังกฤษ มิตรสนิทของสหรัฐฯ ก็ยังกล่าวประชดประชันเกี่ยวกับตลาดเสรี ส่วนญี่ปุ่นมีการพูดกันว่า ญี่ปุ่นเองก็ควรจะสร้างโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เป็นของตัวเอง โดยอาจตั้งชื่อว่า "ทุนนิยมแบบใจดี" (tenderhearted capitalism)
อย่างไรก็ตาม คำพูดของเหล่าผู้นำทั้งหมดนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นการเรียกร้องให้ฟื้นระบบสังคมนิยมกลับคืนมา สื่อในอังกฤษเคยสรุปไว้เมื่อครั้งที่รัฐบาลอังกฤษ ต้องตัดสินใจเข้ายึดระบบธนาคารเป็นของรัฐในเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า การแทรกแซง ของรัฐครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อจะละทิ้งทุนนิยมแล้วหันไปใช้ระบบอื่น แต่เพื่อต้องการช่วยชีวิตทุนนิยมต่างหาก
ในทำนองเดียวกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งการที่รัฐต้องเข้ากอบกู้ภาคการเงินการธนาคาร การออกมาตรการกีดกันการค้า การถกเถียงว่าควรยึดแบงก์เป็นของรัฐหรือไม่ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ ไม่ได้หมายความว่า สังคมนิยมจะกลับมาอย่างที่กลุ่มปีกขวาในสหรัฐฯ กำลังกล่าวหา และแม้รัฐบาลสหรัฐฯ อาจถึงขั้นต้องตัดสินใจยึดธนาคารหรือบริษัทรถยนต์เป็นของรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น ก็จะเป็นเพียงมาตรการเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าโอบอุ้มประคบประหงมธุรกิจเหมือนอย่างในยุโรป การจ้างงานและการเลิกจ้าง การก่อตั้งธุรกิจและการปิดกิจการในสหรัฐฯ จะยังคงทำได้อย่างง่ายดายต่อไปในระบบทุนนิยมที่ค่อนข้างโหดกว่าคนอื่นของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่า "การปรับสมดุลให้เป็นกลางมากขึ้น" คงจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เศรษฐกิจที่อาจจะเติบโตเพียงเล็กน้อยเป็นระยะเวลานาน อาจบีบให้สหรัฐฯ ต้องใช้นโยบายที่คล้ายยุโรป แต่หากโอบามาสามารถแหวกเข้าสู่เส้นทางสายใหม่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากนโยบายสวัสดิการสังคมแบบยุโรป และในขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวและนวัตกรรมที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้แล้วล่ะก็ นั่นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และจะเป็นหลักฐานที่สามารถยืนยันว่า ภาครัฐก็สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้จริงๆ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
นิวสวีค 16 กุมภาพันธ์
|
|
|
|
|