เป็นคำที่สามารถสร้างสีสันได้พอสมควร เมื่อกล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์
และบรรจุภัณฑ์ "สินสาคร" คือนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกของโลก เพราะปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่พยายาม
รวบรวมโรงพิมพ์ และโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่อยู่กระจัดกระจายกันหลายๆ แห่งเข้ามาอยู่รวมในพื้นที่เดียวกัน
แต่บริษัทซี.เอ.เอส.พริ้นติ้ง ซิตี้กำลังพยายามทำในสิ่งดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ซี.เอ.เอส.พริ้นติ้ง ซิตี้ เป็นบริษัทในเครือกลุ่มเจริญอักษร ซึ่งอยู่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์
มานานกว่า 30 ปี ดังนั้นจึงมองเห็นปัญหา และอุปสรรคของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะหากจะขยายบทบาทของอุตสาหกรรม
จากเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศให้ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นการเป็นอุตสาหกรรมส่งออก
การรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) จึงเป็นแนวทางที่ซี.เอ.เอส.พริ้นติ้ง
ซิตี้ นำมาใช้ ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้เกิด cluster
ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพลัง ในการส่งออกของประเทศไทย
ซี.เอ.เอส. พริ้นติ้ง ซิตี้ ได้ลงทุนเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
"สินสาคร" ขึ้นบนพื้นที่ 700 ไร่ บนถนนพระราม 2 ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมากพอสมควร
เพราะอยู่ห่างจากจุดขึ้น-ลงทางด่วนพระราม 2 ไปเพียง 20 กิโลเมตร
"การที่โรงพิมพ์อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ทำให้ประสบปัญหาทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิต
การขนส่ง การตลาด การบริการ ที่ต้องการความรวดเร็ว ข้อขัดข้อง หรือข้อจำกัดในการขยายโรงพิมพ์
รวมถึงการขออนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ เรื่องสิ่งแวดล้อม"
สมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร ซี.เอ.เอส.พริ้นติ้ง ซิตี้ ให้เหตุผล
"เรามีเป้าหมายให้นิคมอุตสาหกรรมสินสาครเป็นศูนย์กลาง การพิมพ์ที่ทันสมัย
ครบวงจร โดยภายในจะมีทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องพิมพ์ที่เปิดให้บริการตลอด
24 ชั่วโมง ศูนย์กลางการป้อนวัตถุดิบ สถาบันผลิตช่างพิมพ์ และช่างเทคนิคระดับสูง
ส่วนบริการ การส่งออก ศูนย์แสดงสินค้าสิ่งพิมพ์ ตลอดจนส่วนราชการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
เขาเสริม
เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ซี.เอ.เอส. พริ้นติ้ง ซิตี้ ได้เซ็นสัญญากับการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อจัดตั้งนิคมดังกล่าว
โดยถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 30 ในประเทศไทย
ภายในพื้นที่ 700 ไร่ ซี.เอ.เอส.ได้ซอยพื้นที่ขายออกเป็น 150 แปลง เนื้อที่ต่อแปลงประมาณ
5-25 ไร่ เริ่มเปิดขายตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ และคาดว่าโรงพิมพ์ที่ซื้อพื้นที่จะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ในเดือนมิถุนายนปีหน้า
โรงพิมพ์ที่เข้าไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก
BOI โดยยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี รวมถึงยกเว้นและลดหย่อนภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มของเครื่องจักร
และวัตถุดิบ
หากโครงการระยะแรกประสบความสำเร็จ ซี.เอ.เอส.พริ้น ติ้ง ซิตี้ ยังมีโครงการจะขยายพื้นที่ระยะที่
2 ออกไปอีก 500 ไร่
อนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยกำลังจะก้าวไกลได้ออกไปโชว์ผลงานในระดับโลก