ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริษัทสยามพารากอน ดีเวลลอปเมนท์ ยืนยันว่า
โครงการ "สยาม โอเชี่ยนเวิลด์" เวิลด์คลาส โอเชี่ยนเนเรียมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กว่า
10,000 ตารางเมตรในโครงการ สยามพารากอนนั้นมันยิ่งใหญ่กว่าที่จะใช้กับคำว่า
Aquarium ธรรมดา
โครงการนี้จะเป็นแม่เหล็กสำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะดึงดูดผู้คน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้เข้ามาใน
"สยามพารากอน" ศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ นอกเหนือไปจากแม่เหล็กตัวอื่นๆ
ที่ทยอยเปิดตัวไปแล้วเช่นเครือเมเจอร์เข้ามาสร้างโรงภาพยนตร์ 16 โรง กว่า
5,000 ที่นั่ง โรง Imax ที่ทันสมัยหรือการร่วมกับกลุ่มเนเชอรัลพาร์คสร้างเดอะสยามโอเปร่า
ถึง 1,800 ที่นั่ง
จะว่าไปแล้ว โอเชี่ยนเวิลด์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทีมงานบริหารของสยามพารากอนได้ให้ความสนใจตั้งแต่เริ่มทำโครงการ
แต่ติดปัญหาที่ว่าจะหาใครเข้ามาลงทุน
ศุภลักษณ์บอกว่า เป็นการบังเอิญจริงๆ ที่เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2545 ก่อนการก่อสร้างชั้นฐานรากของสยามพารากอนจะเกิดขึ้น
Peter Julian กรรมการผู้จัดการ และ Robert Adams ผู้บริหารจากบริษัท Oceanis
Australia Group บริษัทผู้บริหารและลงทุน Aquarium เจ้าใหญ่รายหนึ่งของโลก
ได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทย เพื่อหาลู่ทางการลงทุนแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Devid Simister กรรมการผู้จัดการบริษัท CB Richard Ellis คือผู้ชักนำ 2
คนนี้มาเจอกับผู้บริหารของบริษัทสยามพากอน หลังจาก ปรึกษาร่วมกันหลายรอบ
ในที่สุดท่ามกลางควันปืนในสงครามอิรักที่ยังไม่ทันจาง กระแสข่าวเรื่องโรคซาร์สที่ยังคุกรุ่น
ทั้งสองบริษัทก็ได้ตกลงเซ็นสัญญาทำโครงการร่วมกันด้วยความมั่นใจ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม
และเปิดแถลงข่าวไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
สิ่งสำคัญในข้อตกลงก็คือ โอเชี่ยน เวิลด์ที่นี่ ต้องยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
โดยมีเป้าหมายให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชม ดังนั้นโครงการนี้จึงได้สร้างขึ้นในเนื้อที่กว่า
10,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน ประมาณ 1 พันล้านบาท
สยามโอเชี่ยนเวิลด์จะแบ่งออกทั้งหมด 10 โซน เช่น โซนของ โอเชี่ยนแฟนตาซี
ที่มีแมงกะพรุนและปูยักษ์ขนาดใหญ่หลากชนิด โซน โอเชี่ยนการ์เด้น เต็มไปด้วยดอกไม้ทะเล
หรือปะการังจำนวนมาก ก่อนจะเข้าสู่โซนของสัตว์จากป่าอเมซอน และโซนของนกเพนกวินและ
แมวน้ำ หลังจากนั้นก็จะสามารถดำดิ่งลงสู่โลกใต้ทะเลด้วยอุโมงค์อะคริลิคใส
ที่หนาถึง 21 เซนติเมตร มองเห็นได้ถึง 270 องศา ผู้ชม จะต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปลาฉลามขนาดยักษ์
ปลากระเบน และปลากะพงขนาดใหญ่ และที่สำคัญยังมีโซนของ "Panoramic Fishbowl"
ที่สามารถชมวิวใต้ท้องทะเลถึง 360 องศา เส้นผ่าศูนย์กลาง 10.5 เมตร รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในเรื่องของ
4D Simulator Theatre เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจเพิ่มขึ้น
สำหรับค่าเข้าชมนั้น Busan Aquarium ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของบริษัทโอเชี่ยนนิส
ออสเตรเลีย กรุ๊ป ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วนั้น คิดค่าดูคนละประมาณ
600 บาท แต่ในเมืองไทยนั้นศุภลักษณ์ยืนยันว่าต่ำกว่าราคานั้นแน่นอน และยังมีแนว
ทางการคิดค่าเข้าชมไว้หลายแบบ เช่น กับสมาชิก นักเรียน นักศึกษา กรุ๊ปทัวร์
และบุคคลทั่วไป โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
โดยคาดหวังว่าประมาณ 5 ปีก็น่าจะ คืนทุนได้
โครงการสยามพารากอนมีกำหนดเปิดตัวไว้ในปี 2548 ดังนั้น สยามโอเชี่ยนเวิลด์
อีกหนึ่งโครงการที่กลุ่มนี้ภูมิใจนำเสนอก็จะเปิดในช่วงเวลาเดียวกัน