อะนิเมชั่น พรีเซนเตอร์ เคลื่อนสู่โลกการตลาด เซ็นทรัม ชิงออกตัว ทุ่ม 10ล้าน เปิด “ทิมเบอร์ทอท” บริษัทใหม่ที่รับจ้างผลิตอะนิเมชั่น 2D-3D ช่วยสื่อสารแบรนด์สินค้าสู่กลุ่มเป้าหมาย เบื้องต้นเตรียมส่ง ขุนแผนแฟนตาซีและโรบิโต สองคาแรกเตอร์ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในช่วงปีนี้ มั่นใจทัพอะนิเมชั่น พรีเซนเตอร์จะสร้างกระแสการตอบรับที่ดีจากเจ้าของสินค้า เนื่องจากมีความแปลกใหม่และสามารถสร้างสรรค์ทุกความต้องการและต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้ในอนาคต
การปรับกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือเจ้าตลาดของประเทศไทย เอไอเอส ที่ในอดีตเคยเลือกที่จะสื่อสารผ่านพรีเซนเตอร์นักร้องขวัญใจวัยรุ่นในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ซาร่า ผุงประเสริฐ, นิโคล เทริโอ จนถึง ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา กลายมาเป็นพรีเซนเตอร์จากโลกอะนิเมชั่นในวันนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาของกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดที่น่าสนใจยิ่ง
สินค้าที่ต้องผูกติดไปกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีอยู่ตลอดเวลาในวันนี้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการสื่อสารที่สามารถทำหน้าที่สื่อสารแบรนด์ได้ตลอดเวลา แต่กับศิลปินนักร้องที่ต้องเดินทางอยู่ภายใต้วัฏจักรของอาชีพ เมื่อผ่านความโด่งดัง ก็ต้องพบเจอกับความนิยมที่ลดต่ำลง เช่นในกรณีของ ซาร่า ผุงประเสริฐ และนิโคล เทริโอ ยุคแรก ย่อมไม่มีศักยภาพพอที่จะสื่อสารแบรนด์สินค้าให้ได้รับความนิยมได้ต่อไป จนถึงปัญหาส่วนตัวของศิลปินที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคข่าวก็อสซิบเต็มแผงหนังสือ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ข่าวนั้นๆ จะส่งผลกระทบไปถึงแบรนด์ที่ศิลปินคนนั้นติดตัวอยู่ด้วย เช่นกรณีข่าวเชิงชู้สาวของนักร้องวัยรุ่น ลีเดีย และข่าวครอบครัวแตก ของนิโคล ปานพุ่ม ที่กลับมาเป็นพรีเซนเตอร์ของเอไอเอส เป็นครั้งที่สอง ขณะที่สินค้าอีกหลายแบรนด์ก็ประสบปัญหาพรีเซนเตอร์คนสวย คนหล่อของตน รับงานสื่อสารแบรนด์อื่นอีกนับสิบแบรนด์ สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค
วันนี้เราจึงเห็นภาพของน้องอุ่นใจ อะนิเมชั่น พรีเซนเตอร์ ที่ปราศจากข้อจำกัดทุกประการที่พรีเซนเตอร์ในอดีตของเอไอเอสเคยมี ไม่ได้อยู่ในวัฏจักรของศิลปิน ไม่มีปัญหาส่วนตัว ไม่ติดคิวงาน และไม่โก่งค่าตัว กลายมาเป็นพรีเซนเตอร์คน(ตัว)ล่าสุดของเอไอเอส
น้องอุ่นใจถูกออกแบบมาให้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของเอไอเอส โลดแล่นอยู่หน้าจอโทรทัศน์ กลายเป็นอะนิเมชั่นที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นและสร้างการจดจำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการต่อยอดน้องอุ่นใจด้วยการออกแบบให้มีท่าทาง แสดงความรู้สึกต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าของแบรนด์สามารถที่จะดาวน์โหลดรูปภาพน่ารักๆ เก็บไว้บนหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดแบรนด์น้องอุ่นใจด้วยการทำแคมเปญต่างๆ ออกมา และประสบความสำเร็จ สร้างความจดจำได้เป็นอย่างดีไม่แพ้พรีเซเนเตอร์คนก่อนๆ ของเอไอเอส
อะนิเมชั่นที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์นั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาตลาดยังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เพราะความนิยมส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การจ้างดารา นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคม มาเป็นตัวแทนของแบรนด์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคมากกว่า เพราะเชื่อกันว่าจะได้รับผลการตอบรับที่รวดเร็วกว่า แต่วันนี้นักสื่อสารการตลาดก็ได้พบแล้วว่า พรีเซนเตอร์ที่มีชีวิต จิตใจเหล่านี้ก็สามารถสร้างปัญหาให้มากได้เช่นกัน
การจุดติดของอะนิเมชั่น พรีเซนเตอร์ จากเอไอเอส ทำให้ เนตรนิภา สิญจนาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัทเซ็นทรัม จำกัด บริษัทที่อยู่ในวงการอีเวนต์ เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ทำการทุ่มงบประมาณราว 10 ล้านบาท เปิดบริษัททิมเบอร์ทอท จำกัด ให้บริการรับจ้างผลิตและออกแบบอะนิเมชั่น เซอร์วิสที่เน้นการสร้างงานแบบ 2D ที่จะผลิตตั้งแต่ Charactor Design, Concept Design, Story Board & Animation, Mascot Design รวมไปถึงการสร้างการ์ตูนคอมมิค รวมไปถึงงาน 3D อาทิ Character Modeling, Model & Texture, Flash Animation
“ทิมเบอร์ทอทคือการสร้างความต่างให้กับตลาด โดยเรามองว่าในกลุ่มธุรกิจเดียวกันยังไม่มีใครที่รุกตลาดนี้ และการชูจุดเด่นของอะนิเมชั่นของเรา ก็เพื่อเป็นการตอบโจทย์ของแบรนด์ คาแรกเตอร์ โดยที่ผ่านมาได้มีการทำงานมาระยะหนึ่ง แต่เป็นการทำเพื่อสนับสนุนอีเวนต์ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ เรามองว่าอะนิเมชั่นเหล่านี้จะช่วยชูสินค้าให้เป็นที่รู้จักได้กว้างกว่าจำกัดอยู่แค่งานอีเวนต์ จุดเด่นของอะนิเมชั่นที่ผลิตขึ้นมาเป็นตัวแทนของสินค้านั้นคือสามารถวางคาแรกเตอร์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกความต้องการ มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้พรีเซ็นเตอร์ ราว 50% และที่สำคัญสามารถต่อยอดคาแรกเตอร์ต่างๆ ทั้งในรูปแบบของการบริหารลิขสิทธิ์ การผลิตเป็นเมอร์เซนไดส์หรือจะเป็นรูปแบบการ์ตูนที่เป็นซีรีส์ต่างๆ” เนตรนิภากล่าว
โดยการรุกตลาดของทิมเบอร์ทอทในช่วงแรก คือการเปิดตัวคาแรกเตอร์ 2 ตัวแรก คือขุนแผนแฟนตาซีและโรบิโต้ ซึ่งเนตรนิภา เลือกเอาคาแรกเตอร์ขุนแผนมาสื่อสารเป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นคาแรกเตอร์ที่มีความเป็นไทย มีบุคลิกเรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จัก สามารถสะท้อนความเก่งกาจในหลายด้าน จึงเลือกมาทำคาแรกเตอร์แรกที่จะสื่อสารกับลูกค้าและผู้คนทั่วไป โดยในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมาก็ได้เริ่มเปิดตัวขุนแผนแฟนตาซีให้เป็นที่รู้จักผ่านรูปแบบของอีการ์ด ขณะที่การต่อยอดคาแรกเตอร์ของขุนแผน อยู่ระหว่างการพูดคุยกับโอเปอร์เรเตอร์รายต่างๆ ในช่วงปลายปีจะมีการผลิตซีรีส์ของขุนแผนแฟนตาซีออกมา และเตรียมที่จะทำตลาดเมอร์เซนไดส์ในอนาคต ขณะที่อีกหนึ่งคาแรกเตอร์ที่กำลังจะผลิตออกมาคือโรบิโต้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ภายในปีนี้ โดยคาแรกเตอร์จะเป็นเด็กส่งนม และจะเจาะตลาดที่นำไปสู่การเรียนการสอน
“การทำตลาดในเบื้องต้นของทิมเบอร์ทอทนั้น มีเป้าหมายคือการสร้างภาพลักษณ์ของตัวคาแรกเตอร์ให้เป็นที่จดจำก่อนที่จะทำตลาด ดังนั้นจึงมีการสื่อสารทางเว็บไซต์มากกว่าที่จะแพร่ภาพบนหน้าจอทีวี โดยมองว่าทิมเบอร์ทอทนั้นจะเป็นหนึ่งในนิวมีเดียที่จะเติบโตตามสื่อออนไลน์อาทิมือถือหรืออินเทอร์เน็ต”
ด้านบริษัทคู่แข่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านอะนิเมชั่น อาทิ วิธิตา ที่อยู่ในวงการมานาน เนตรนิภากล่าวว่าบริษัทที่ผลิตคาแรกเตอร์การ์ตูนชัดๆ นั้นมีเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่ในกลุ่มที่เป็นบริษัทรับจ้างผลิตงานด้านอีเวนต์ เช่น เซ็นทรัม ยังไม่มี ดังนั้นงานของเซ็นทรัมจากนี้จึงมีความแข็งแกร่ง มีทางเลือกให้กับลูกค้า รวมถึงสามารถรับจ้างผลิตทั่วไป ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บริษัทเติบโตควบคู่กันไปทั้งในส่วนของอีเวนต์และการผลิตคาแรกเตอร์
ปัจจุบันทิมเบอร์ทอทมีกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจ อาทิ ภาครัฐ หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น มูลนิธิเมาไม่ขับ ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าที่เป็นเอกชนก็มีการนำเสนอ คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยหากมีการผลิตคาแรกเตอร์ของตัวสินค้าออกมาแล้ว เจ้าของสินค้าก็สามารถที่จะบริหารสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ได้หรือลูกค้าเลือกที่จะใช้คาแรกเตอร์ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดและการขายในรูปแบบเดิมก็ได้ โดยปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัมมีลูกค้าเอกชนที่ใช้บริการ อาทิ P&G, BP, คาสตรอล ประเทศไทย เป็นต้น
เนตรนิภากล่าวว่า เป้าหมายของทิมเบอร์ทอทในปีนี้ มุ่งเน้นให้แบรนด์มีความชัดเจนมากขึ้น มากกว่าการวางเป้าหมายด้านยอดขาย เนื่องจากเป็นปีแรก ซึ่งแนวทางใหม่นี้ก็จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทเซ็นทรัมที่ก้าวตามนโยบายของการเป็น Intergrated Margeting Event ที่ผลิตและสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดและการขายแบบครบวงจรให้กับลูกค้า
โดยแนวทาง Intergrated Margeting Event นั้นจะเน้นไปที่ Below the Line Service แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ Promotion ซึ่งถือเป็นกิจกรรมกลุ่มหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40%, Seminar & Presentation คิดเป็น25% ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมากในปีนี้, Exhibition Mobile คิดเป็นสัดส่วน 30% โดยในปีนี้จะมีการรุกรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน, และ Public Relation ซึ่งถือเป็นส่วนเสริมของกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้น
|