กระทรวงไอซีทีเดินหน้าหนุนภูเก็ตเป็นไอซีที ซิตี้ แก้ปัญหาโครงสร้าง พื้นฐาน
ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ ด้วยการให้ภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ราคาถูกสุด
เดือนละไม่เกิน 1,000 บาท พร้อมลดราคาค่าโทรต่างประเทศเหลือครึ่ง คาดเริ่มได้ภายในปี
47 มั่นใจ หลังลดอุปสรรค จะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้านไอทีในภูเก็ต ไม่น้อยกว่า
10 บริษัท
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ICT) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิด บริษัท อีคลิฟ เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า
หรือโฮม อิเล็กทรอนิกส์ในภูเก็ต ว่า การที่บริษัท อีคลิฟ เอเชีย จำกัด เปิดให้บริการที่จังหวัด
ภูเก็ต เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพที่ดีและพร้อมเป็นเมือง ICT
หรือ ICT City Hub ในแถบภูมิภาคเอเชียในอนาคตแน่นอน
ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ยังเข้ามาเปิดบริษัทเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยในจังหวัดภูเก็ต
และบริษัท อีคลิฟ ยังเป็นบริษัทชั้นนำในต่างประเทศด้านการให้บริการเทคโนโลยีไร้สายทุกชนิด
ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและมอเตอร์ทั้งหมด โดยผ่านสื่อบลูธูท ใช้ได้กับบ้าน
สำนักงานทุกชนิด ซึ่งบริษัทได้วิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าของ
บริษัทใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ
สำหรับการลงทุนธุรกิจด้านอุปกรณ์ไร้สายของบริษัท อีคลิฟ ในจังหวัดภูเก็ต ใช้งบประมาณดำเนินการกว่า
10 ล้านบาท คาดว่าบริษัทจะขยายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งนำบุคลากรที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี
เข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์ในภูเก็ตเพิ่มขึ้นด้วย ตนคิดว่าธุรกิจด้านนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้การส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากการส่งเสริมจาก BOI
ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อรองรับการเป็นเมือง
ICT City ในจังหวัดภูเก็ต โดยการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น ลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือการลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ตนคาดว่าจะสามารถดำเนินการนำร่อง เรื่องนี้ที่จังหวัดภูเก็ตได้ เพื่อดูว่าหากลดค่าบริการแล้ว
ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของ ประชาชนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผู้ให้บริการด้าน โทรคมนาคมไม่ลดลง
หากประสบความสำเร็จตนคิดว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การ ลดอัตราค่าบริการโทรคมนาคมนี้ขยายไปตามจังหวัดอื่นๆ
ได้
ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ ตนต้องปรึกษาร่วมกับทางบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น
จำกัด และผู้ให้บริการราย อื่นๆ ก่อน เพราะตามหลักการตนได้วางนโยบายไปแล้วว่า ต้องการที่จะให้อัตรา
ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศลดลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยการลดค่าบริการครั้งนี้
อาจจะลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง ของค่าบริการเดิม
นอกจากนั้น บอร์ดแบรนด์อินเทอร์เน็ตเองก็ต้องลดลงเช่นเดียวกัน ตามมาตรฐานสากล
คือให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์ เน็ตใช้บริการได้ตามความต้องการภายใต้ค่าบริการต่อเดือนไม่เกิน
1,000 บาท โดย การให้บริการลักษณะนี้จะแตกต่างจากค่าบริการในปัจจุบัน และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นด้วยส่วนหนึ่ง
โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคมในจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้ ทศท
คอร์ปอเรชั่น ได้ขออนุมัติ งบประมาณดำเนินการเรียบร้อย ประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับดำเนินการที่ขอนแก่น
เชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่งในส่วนของภูเก็ตคาดว่าภายในปี 2547 จะสามารถเห็นความคืบหน้าได้แน่นอน
เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างด้านออพติกไฟเบอร์ในจังหวัดภูเก็ตมีพร้อมอยู่แล้ว แต่ขาดเพียงการ
ต่อระบบไฮเวย์ไปตามอาคาร สถานที่ต่างๆ ซึ่งหากมีการลดอัตราค่าบริการลง และมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นแน่นอน
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงการลงทุนด้านไอทีในภูเก็ตว่า ปัจจุบันนอกจากบริษัท
อีคลิฟ ที่เข้ามาดำเนินการลงทุน เปิดกิจการในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังมีบริษัทเอกชนอื่นๆ
เข้ามาดำเนินการด้วย และ ตนคิดว่าจะมีบริษัทอื่นๆ เข้าร่วมอีกเป็นจำนวนมาก หากมีการลดอัตราค่าบริการโทรคมนาคมลง
คาดว่าภายใน 1 ปี จะมีบริษัทด้านไอทีเข้ามาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า
10 ราย และหากมีการ ส่งเสริมแพคเกจด้านการลงทุนที่ดีจะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน
นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอทางเอกอัครราชทูตไอส์แลนด์ ว่ารัฐบาลไทยต้องการ ให้มีการสร้างสถาบันการศึกษาระดับนานา
ชาติขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศไทยกับประเทศไอส์แลนด์
ซึ่งสถาบันการศึกษาของประเทศไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากประเทศ
ไอส์แลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้าน การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ ICT
ปีละนับล้านบาท และมีสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้าน ICT ที่มีประสิทธิภาพมากด้วย
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าตามยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นเมือง
ICT City ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปแผนการดำเนินงานทั้งหมด โดยพิจารณาจากข้อมูลของจังหวัดภูเก็ต
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ตส่งให้กระทรวง ICT แล้ว และตนจะได้เสนอเรื่องเข้าครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
คาดว่า จะได้รับการสนับสนุนจาก ครม. ทั้งในด้านนโยบายและงบประมาณแน่นอน
สำหรับการตั้ง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือ SIPAในภูเก็ต ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
อยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา หากว่ามีการประกาศเมื่อไหร่ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งสำนักงานฯ
ที่จังหวัดภูเก็ตได้แน่นอน