Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน10 กุมภาพันธ์ 2552
ชำแหละวิกฤตแรงงานไทยธุรกิจ"ขาดสภาพคล่อง-เจ๊ง"             
 


   
search resources

Economics
Social




วิกฤตการณ์แรงงานสาหัส ตัวเลขว่างงานพุ่ง ว่างงานแฝงอีกเพียบหลังออร์เดอร์ส่งออกหด เผยสาเหตุหลักบริษัทขาดทุน-ขาดสภาพคล่อง ขณะที่โรงงานกัดฟันประคองตัว งัดกลยุทธ์ "ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว-กดดันให้คนงานลาออก" เตือนแรงงานรักษาสถานภาพอย่าเสี่ยงลาออก เหตุได้ไม่คุ้มเสีย

วิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลพวงมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในบางประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ (Depression) สำหรับประเทศไทยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น หลังสัญญาณการเลิกกิจการ การเลิกจ้าง และ การลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขเลิกจ้างยังพุ่งไม่หยุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากร ณ สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 5.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2550 ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยอัตราการว่างงานเคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับร้อยละ 4.4 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2541

ล่าสุด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 – 26 มกราคม 2552 พบว่า มีสถานการณ์ประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้าง 748 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 58,412 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 461 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 271,179 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 67,210 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากการลดโอทีหรือการลดชั่วโมงทำงาน 203,969 คน

ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงระหว่าง วันที่ 1- 26 มกราคม 2552 มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้าง 50 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 2,863 คน ที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 102 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 68,122 คน จะถูกเลิกจ้าง 23,296 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากการลดโอทีหรือการลดชั่วโมงทำงาน 44,826 คน

สำหรับพื้นที่ที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 จังหวัดแรก เรียงจากมากไปน้อยได้แก่ ปทุมธานี ถูกเลิกจ้าง 10,473 คน สมุทรปราการ ถูกเลิกจ้าง 8,873 คน กรุงเทพฯ ถูกเลิกจ้าง 7,619 คน พระนครศรีอยุธยา ถูกเลิกจ้าง 5,157 คน และตาก ถูกเลิกจ้าง 3,331 คน

จากแนวโน้มของสถานการณ์ข้างต้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราการว่างงานจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น หากการจ้างงานในภาคการผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่องดังเช่นในปัจจุบัน และถ้าหากตัวเลขการว่างงานเป็นไปตามที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า ตัวเลขการว่างงานในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านคน ก็จะทำให้อัตราการว่างงานในสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 โดยประมาณ

บริษัทขาดทุนเหตุเลิกจ้างมากสุด

สาเหตุของการเลิกจ้างงาน เรียงตามลำดับ ดังนี้ อันดับหนึ่ง สถานประกอบการประสบภาวะขาดทุน หรือ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำนวน 441 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 24,492 คน อันดับสอง หมดฤดูการผลิต สินค้าไม่ได้คุณภาพ จำนวน 53 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 881 คน อันดับสาม ลดขนาดองค์กร/ลดวันทำงาน จำนวน 34 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 2,413 คน และ อันดับสี่ หมดสัญญา ยกเลิกสัมปทาน จำนวน 26 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 3,113 คน

สำหรับสถานประกอบการที่มีปัญหาส่วนใหญ่ประกอบกิจการประเภทผลิตสิ่งทอ ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง โดยพิจารณาจากสถานการณ์บ่งชี้ว่า อาจจะมีการเลิกจ้างถ้าปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และนายจ้างไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 5 อันดับแรก คือ 1. มีการหยุดกิจการชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างบางส่วน 2. ค้างจ่าย/ผิดนัดการจ่ายค่าจ้าง 3.ลดการผลิต ลดวันทำงาน 4.อื่นๆ (แจ้งการปิดกิจการ หมดสัญญาเช่าที่ดินฯ) และ 5. ขาดแคลนวัตถุดิบ

ฮิตหยุดกิจการชั่วคราว

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” สำรวจสถานการณ์การผลิตตามย่านอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศ พบปัญหาหลัก ๆ เรียงตามลำดับของความรุนแรงของปัญหาตั้งแต่ 1.เลิกกิจการถาวรและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 2. ลดกำลังการผลิตและเลิกจ้างพนักงานบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานเหมาช่วง 3. หยุดกิจการชั่วคราว กินระยะเวลายาวนานตั้งแต่ 1 วันต่อสัปดาห์จนกระทั่งถึงหยุดยาวติดต่อกันหลายเดือน และ 4. ลดการทำงานล่วงเวลา(โอที) หรือ ยุบรวมกะจากเดิมผลิตวันละ 3 กะ ก็อาจจะลดลงเหลือ 1-2 กะเป็นต้น

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากแม้ไม่ได้ประกาศเลิกกิจการแบบถาวร แต่โรงงานหลายแห่งหันมาใช้กลยุทธ์การผลิตแบบประคองตัวตามออร์เดอร์ที่หดหาย โดยประกาศหยุดงานชั่วคราว (Temporary Stop) โดยระยะเวลาการหยุดชั่วคราวก็แล้วแต่สถานการณ์ บางแห่งหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ บางแห่งประกาศหยุดเป็นช่วงเวลาเช่น หยุด 1 เดือน บางแห่งหยุดติดต่อกันหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท

จากการสำรวจพบว่า โรงงานที่ประกาศหยุดเป็นช่วงเวลา เช่น โรงงาน SANYO ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ประกาศหยุดทุก 2 สัปดาห์ ตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี โดยในเดือนมกราคม เดือนมกราคมหยุดวันที่ 10-18 เดือนกุมภาพันธ์หยุดวันที่ 8-18 เดือนมีนาคมหยุดวันที่ 8-19 หรือ อย่างโรงงาน ROHM ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร บางแผนกประกาศหยุดทุกวันเสาร์อาทิตย์ บางแผนกประกาศให้ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน

วิศวะกรโรงงานแห่งหนึ่งในย่านนวนคร เปิดเผยว่า จากคำสั่งซื้อของลูกค้าที่เคยพุ่งสูงไปถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลง ในช่วงปีที่ผ่านมา บางเดือนเหลือ 16 ล้าน บางเดือนเหลือ 5ล้านบาท และก็ลดมาเหลือ 1 ล้านบาท สินค้าที่ผลิตก็เหลือค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องผลิตอีกหลายเดือนก็ยังได้ เพื่อล้างสต๊อกเดิม ดังนั้น โรงงานจึงประกาศหยุดงานยาวเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน นี้ มาเริ่มงานใหม่อีกทีเดือนพฤษภาคม แต่ในระหว่างที่หยุดบริษัทจ่ายค่าจ้างให้เป็นจำนวนร้อยละ 75%

“ช่วงที่หยุดยาวนี้ อาจจะหาอะไรทำไปก่อน อาจจะรับจ๊อบเป็นครูสอนพิเศษเด็ก ๆ หรือไปสมัครเป็นพนักงานขายชั่วคราว หรือไม่ก็หางานตำแหน่ง วิศวะ ที่ใหม่ไปเลย ขณะนี้ก็ยังสับสนอยู่พอสมควร ตอนแรกบริษัทก็ดูมั่นคง จึงไม่คิดว่าจะเปลี่ยนงานหรือหางานที่ใหม่เลย” เขากล่าว

สำหรับตนเองปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่เพื่อนบางคนที่ทำงานด้วยกัน หลายคนกำลังผ่อนบ้านผ่อนรถ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ก็ไม่น่าไว้วางใจ ทุกคนจึงเริ่มเครียดกันมากขึ้น

พนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมอมตะนคร ระบุว่า นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางโรงงานประกาศหยุดกิจการชั่วคราวทุกวันศุกร์ โดยจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานโดยจ่ายให้ร้อยละ 75 ของค่าแรงปกติ (ค่าจ้างเฉพาะวันศุกร์จะได้รับแค่ 75%)

“โรงงานให้เหตุผลว่า ตอนนี้ออร์เดอร์ไม่เข้า ไม่มีงานให้ทำ ถ้าให้พนักงานมาทำงานก็จะเปลืองค่ารถรับส่ง ค่าน้ำค่าไฟ จึงให้พนักงานอยู่บ้านเฉยๆ ไปเลย โรงงานก็จะได้ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ไม่จำเป็น จึงต้องประกาศให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างให้ 75%”

พนักงานโรงงานคนนี้กล่าวว่า ตั้งแต่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่ง ก็เข้ามาทำงานในตำแหน่งจัดซื้อที่โรงงานแห่งนี้เป็นเวลา 4 ปี เริ่มจากเงินเดือน 12,000 บาท ปัจจุบันมีเงินเดือนราว 14,000 บาท รวมค่าทำงานล่วงเวลาและสวัสดิการอื่นก็ประมาณ 16,000-17,000 บาทต่อเดือน และสถานการณ์ของโรงงานขณะนี้ก็กระทบต่อรายได้พอสมควร เพราะนอกจากไม่มีค่าล่วงเวลาแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งก็ยังหดหายจากนโยบายการหยุดกิจการชั่วคราว

“ที่กระทบโดยตรงก็คือรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายส่วนตัวทั้งค่าเช่าหอพัก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังต้องมีภาระต้องผ่อนซื้อสินค้าอีกหลายชนิด ตอนนี้จึงเครียดมาก แต่ก็ยังดีกว่าถูกเลิกจ้าง จึงต้องปรับตัวใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น” เขากล่าว

เตือนแรงงานอย่าเสี่ยงลาออก

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แม้ข่าวสารด้านแรงงานที่ออกมาในระยะนี้จะดูหดหู่น่ากลัว แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการประคองสถานการณ์ของผู้ประกอบการเพื่อรอจังหวะในการผลิตต่อไป ซึ่งขณะนี้เองเริ่มมีสัญญาณที่ดีว่าการเลิกจ้างแรงงานเริ่มมีน้อยลง จึงอยากเตือนแรงงานที่ยังมีงานทำอยู่พยายามเกาะงานให้แน่น

เขากล่าวว่า นโยบายของหลายบริษัทในขณะนี้คือการลดกำลังการผลิต อาจจะมีการสร้างสถานการณ์เพื่อให้แรงงานขาดความมั่นใจ ขาดความมั่นคงในชีวิต บางแห่งประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ลดโอที ยุบรวมกะลง จากนั้นก็เปิดรับสมัครพนักงานให้สมัครใจลาออก เมื่อพนักงานสมัครใจลาออกผลดีก็จะตกอยู่กับบริษัทเพราะจ่ายเงินชดเชยหรือสวัสดิการอื่นๆ น้อยกว่า

“ตามกฎหมายแรงงาน พนักงานที่ลาออกเองได้รับเงินชดเชยน้อยกว่ากรณีบริษัทเลิกจ้าง ถ้ายังมีงานทำอยู่ก็ควรทำงานต่อไป เพราะถือว่ายังมีความมั่นคงในชีวิตระดับหนึ่ง แต่ถ้าสมัครใจลาออกได้เงินมาก้อนหนึ่งแลกกับการไม่มีงานทำหรือหางานใหม่ทำไม่ได้ เงินก้อนนั้นใช้ไปไม่นานก็จะหมด หรือยิ่งบางคนอายุมากแล้วโอกาสหางานใหม่ทำก็ยากหรือแทบไม่มีเลย” นางวิไลวรรณ กล่าว

งานนัดพบแรงงานกร่อย

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” เข้าไปสังเกตการณ์งานนัดพบแรงงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์ และ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาของกระทรวงแรงงาน ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการประชาสัมพันธ์งานผ่านสื่อสารมวลชนค่อนข้างมาก

แต่มีข้อสังเกตว่า ภาพรวมของงานไม่คึกคักเท่าไหร่นัก มีบอร์ดประกาศรับสมัครงานจำนวน 7 บอร์ด ปิดป้ายประกาศรับสมัครงานทั้ง 2 ด้านของบอร์ด มีจำนวนผู้ประกอบการมาร่วมรับสมัครงานจำนวน 39 บริษัท จำนวนตำแหน่งงานว่างไม่เกิน 1,000 อัตรา โดยประมาณ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมสมัครงานตลอดทั้งวัน ไม่เกิน 1,000 คน

ตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่เป็นงานทางด้านงานขาย พนักงานธุรการ พนักงานบริการในโรงพยาบาล หรือพนักงานวิชาชีพทางด้านพยาบาล พนักงานขับรถส่งเอกสาร เป็นต้น โดยส่วนมากจะจำกัดอายุของผู้สมัครในช่วง 21-25 ปี หรืออย่างมาก ไม่เกิน 35 ปี

บัณฑิตจบใหม่คนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวกับ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า จบการศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาเกี่ยวกับสุขอนามัยในโรงงาน จากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง และได้รับใบประกาศความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) เมื่อได้ข่าวจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับงานนัดพบแรงงานของ กระทรวงแรงงาน จึงเดินทางมาสมัคร แต่ไม่มีตำแหน่งงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเลย แม้ตามกฎหมายทุกโรงงานจะต้องมีเจ้าหน้าที่ดังกล่าวประจำโรงงาน หลังจากนี้ คงจะต้องเดินทางไปสมัครตามโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us