ผู้บริหารระดับสูงหลายคนของเครือปูนใหญ่เคยให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"
ต่อการขยายตัวของเครือซิเมนต์ไทยว่า ความใหญ่โตของปูนซิเมนต์ไทยเองทำให้ต้องเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
มิฉะนั้นแล้วจะเกิดปัญหาขึ้น
ปี 2530 ปูนใหญ่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการลงทุนขยายการผลิต
การลงทุนใหม่ และการซื้อกิจการอื่นมาไว้ในเครือ ที่เป็นข่าวเด่นที่สุดคือการรวมทุนก่อตั้งบริษัทสยามโตโยต้าอุตสาหกรรมเพื่อทำการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ขนาดไม่เกิน
2,500 ซีซี. โดยมีการเซ็นสัญญาเมื่อเดือนมิถุนายน 2530 ในระยะแรกนี้ สยามโตโยต้ามีทุนจดทะเบียน
150 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนของปูนซิเมนต์ไทย 40% บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นของญี่ปุ่น
40% บริษัทนิปปอน เดนโซ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบริษัทละ
10% โดยพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการปูนใหญ่นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท จะเริ่มทำการผลิตต้นปี 2532 นอกจากจะจับมือกับโตโยต้าในโครงการนี้แล้ว
ปูนซิเมนต์ไทยยังเข้าไปถือหุ้นใน บริษัทโตโยต้า 10% เป็นการแลกหุ้นกัน ยังมีการแลกหุ้นกันระหว่างสองบริษัทคือปูนซิเมนต์เข้าไปถือหุ้นในโตโยต้า
10% และโตโยต้าถือหุ้นในบริษัทนวโลหะไทยกับบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทยแห่งละ
10% ด้วย
อีกโครงการหนึ่งที่มีการร่วมทุนกับญี่ปุ่นคือ การตั้งบริษัทสยามซานิทารี่
ฟิตติ้งส์ จำกัด ทำการผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องสุขภัณฑ์ที่ทำจากทองเหลืองและทองสัมฤทธิ์ชุบโครเมี่ยมเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและทดแทนการนำเข้า
บริษัทใหม่นี้มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทโดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยถือหุ้น 33%
บริษัทสยามซานิทารี่แวร์ซึ่งอยู่ในเครือซิเมนต์ไทยเช่นกันถือหุ้น 33% และบริษัทโตโยต้าของญี่ปุ่นถือหุ้น
34% ใช้เงินทุน 195 ล้านบาทและจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือนสิงหาคม 2531
ล่าสุดก่อนสิ้นปี 30 เมื่อต้นเดือนธันวาคมคือ การร่วมทุนกับบริษัทผลิตยางเรเดียลรายใหญ่จากฝรั่งเศสเพื่อผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็ก
บริษัทใหม่นี้คือ บริษัทสยามมิชลิน เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง บริษัทยางสยามกับบริษัทมิชลิน
ซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตยางเรเดียลฝ่ายละ 50% มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
จะเริ่มผลิตยางเรเดียลในปี 2532 ใช้เงินลงทุนขั้นแรก 1,000 ล้านบาท
นี่คือโครงการที่เป็นตัวตนขึ้นมาแล้วในอาณาจักรปูนใหญ่ ยังมีแผนการลงทุนใหม่
ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาคือการตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์สำรองด้วยเงินลงทุน
400 ล้านบาทเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในกรณีที่คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้นใช้งานไม่ได้
อีกโครงการหนึ่งคือ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 1,500 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งของบริษัทอุตสาหกรรมเท่านั้น
โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท และจะเริ่มในปีหน้า
สำหรับโครงการผลิตคอมเพรสเซอร์ร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริคของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ตามโครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 220-250 ล้านบาท ผลิตปีละ 130,000 เครื่อง ตามแผนจะเริ่มผลิตในปี
2532 อีกโครงการหนึ่งที่ปูนใหญ่เอาแน่แต่ว่ายังไม่ลงตัวเสียทีคือโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสเพื่อทำเยื่อกระดาษ
แล้วก็มาถึงการเทคโอเวอร์ เดือนมิถุนายนปูนซิเมน์ตไทยใช้เงิน 30 ล้านบาทซื้อหุ้นบริษัทคัสตอมแพค
ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาชนะโฟมและพลาสติก ที่ทำจากเม็ดพลาสติก โพลีสไตรลีนหรือ
พีเอส และโพลีเอททิลีน หรือพีเอ คัสตอมแพคมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เป็นหุ้นของปูนซิเมนต์ไทย
40% กลุ่มไวท์กรุ๊ป 40% ทำให้ปูนซิเมนต์ไทยมีกิจการพลาสติกครบวงจรปูนใหญ่มีหุ้นอยู่
48% อยู่แล้วในบริษัทแปซิฟิค พลาสติกซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกพีเอส ให้คัสตอมแพค
และกำลังจะลงทุนในโครงการผลิตสไตรรีน โมโนเมอร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติก
พีเอสด้วย ส่วนโครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีอีกำลังเดินหน้าก่อสร้างโรงงานอยู่หลังจากที่เริ่มโครงการเมื่อปี
2528
และการซื้อหุ้นจากบริษัทยางสยาม ผู้ผลิตยางไฟร์สโตน จากบริษัทไฟร์สโตนของสหรัฐฯ
เมื่อเดือนตุลาคม 2530 บริษัทยางสยามเดิมชื่อบริษัทไฟร์สโตน ตั้งเมื่อปี
2505 ทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท มีไฟร์สโตนของสหรัฐฯ ถือหุ้น 55% และเป็นของคนไทย
45% ต่อมาไฟร์สโตนถอนหุ้นไป 35% ทางปูนซิเมนต์รับซื้อไป 30% และเปลี่ยนชื่อเป็นยางสยาม
ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2530 ไฟร์สโตนขายหุ้นที่เหลือ 20% ให้อีก
ทำให้ปูนใหญ่มีหุ้นรวม 50%
ส่วนการขยายการผลิตนั้นในเดือนพฤษภาคม 2530 ได้มีการเปิดหม้อเผาที่ 3 ที่โรงงานแก่งคอย
สระบุรี อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปลายปี 2529 หม้อเผานี้มีกำลังการผลิต
1.6 ล้านตันต่อปีทำให้โรงงานที่แก่งคอยมีกำลังการผลิต 7.4 ล้านตันต่อปี ในสายวัสดุทนไฟก็มีการขยายกำลังการผลิตจากปีละ
35,000 ตันเป็น 55,000 ตันเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและเพื่อส่งออก
ใช้เงินลงทุน 60 ล้านบาท กำหนดเสร็จในปี 2531 นี้ เดือนมิถุนายน มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมสำหรับเครื่องยนต์
รถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์เบนซินอเนกประสงค์ ของบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทย
โดยใช้เงินลงทุน 80 ล้านบาท จะเสร็จเต็มโครงการในเดือนกรกฎาคม 2532 ในเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน
บริษัทสยาม เอส บี แบตเตอรี่ ก็ได้ขยายการผลิตแบตเตอรี่จากปีละ 1.5 แสนลูกเป็น
2.5 แสนลูกใช้เงิน 40 ล้านบาท กำหนดเสร็จในปี 2535 และในวันที่ 1 กรกฎาคม
2530 บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมก็ได้เปิดเครื่องจักรใหม่เพื่อผลิตกระดาษคราฟท์โดยมีกำลังการผลิต
100,000 ตันต่อปี เมื่อร่วมกับเครื่องจักรเดิมแล้ว สยามคราฟท์อุตสาหกรรมจะมีกำลังการผลิตรวม
204,000 ตันต่อปี สยามคราฟท์อุตสาหกรรมเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี
2529 เพื่อรับซื้อกิจการของบริษัทสยามคราฟท์ที่ประสบกับการขาดทุนถึง 600
ล้านบาท ปูนซิเมนต์ไทยส่งทีมงานเข้าไปบริหารและแก้ไขเมื่อปลายปี 2518 แต่ก็ไม่สามารถลดยอดขาดทุนลงได้จนต้องหาทางออกด้วยการเลิกกิจการ