ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2530 นี้โรงแรมเอราวัณได้หยุดดำเนินการและทำการรื้อถอนตัวอาคารเพื่อสร้างใหม่
เป็นการปิดฉากของโรงแรมชั้นหนึ่งของรัฐที่เคยเป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองมากว่า
30 ปี
โรงแรมเอราวัณมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ก่อตั้งเมื่อปี
2496 โดยบริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นอยู่ประมาณ
80% ที่เหลือเป็นหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และธนาคารไทยพาณิชย์
การดำเนินงานของโรงแรมขาดทุนมาโดยตลอดตามประสารัฐวิสาหกิจที่ดี จนกระทรวงการคลังประกาศให้ฝ่ายเอกชนเข้ามาบริหาร
ซึ่งมีผู้แสดงความสนใจอยู่หลายราย การเจรจาใช้เวลาเกือบ 2 ปี จนในที่สุดก็ได้กลุ่มบริษัทอมรินทร์
ดีเวลลอปเมนท์ เจ้าของโครงการอมรินทร์พลาซ่าเข้ามารับช่วงไป
การเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2530 ตามสัญญามีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นชื่อ
บริษัทโรงแรมเอราวัณ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 330 ล้านบาท โดยกลุ่มอมรินทร์ถือหุ้น
2 ใน 3 ที่เหลือ 1 ใน 3 เป็นหุ้นของสหโรงแรมไทยเป็นเจ้าของเดิม บริษัทใหม่นี้จะสร้างโรงแรมขึ้นใหม่มีห้องพัก
400 ห้อง ห้องประชุมจุ 1,500 ที่นั่ง ภัตตาคาร ศูนย์การค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น
ๆ การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี ใช้เงิน 936 ล้านบาท
ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเป็นของกรมธนารักษ์มีเนื้อที่ 10 ไร่ บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องทำสัญญาเช่าเป็นเวลา
30 ปี โดยทำการต่ออายุการเช่า 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ค่าเช่าปีละ 7 ล้าน
ทุก ๆ 10 ปีจะมีการปรับค่าเช่าใหม่ นอกจากนี้แล้วยังต้องจ่ายค่าซื้อหน้าดินให้กับสหโรงแรมไทย
120 ล้านบาท รวมทั้งตัวอาคารเดิมและทรัพย์สินอีก 16.8 ล้านบาท
สำหรับพนักงานของโรงแรมที่เหลืออยู่ 400 คนนั้นจะได้รับเงินชดเชยคนละ 6
เดือน เป็นจำนวนรวมประมาณ 46 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกลุ่มอมรินทร์ฯ 16 ล้านบาท
กระทรวงการคลัง 14 ล้านและเงินจากการขายทรัพย์สิน 16 ล้านบาท
กลุ่มไฮเทคจะเป็นผู้บริหารโรงแรมเมื่อสร้างเสร็จ โดยจะใช้ชื่อว่า "ไฮเอทเอราวัณและจะซื้อหุ้นในส่วนของกลุ่มอมรินทร์ฯ
ด้วย
ส่วนศาลท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมก็ยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครต่อไป
โดยไม่มีการรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปไหน