แบงก์กรุงศรีฯสบโอกาส "เอไอจีกรุ๊ป" เซ ทุ่ม 2,055 ล้าน ซื้อหุ้น "แบงก์เอไอจี เพื่อรายย่อย" 99.5%และเอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) 100% ดันพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเพิ่ม 14% เป็น 36%ของสินเชื่อรวม และจำนวนบัตรเพิ่ม 2.2 แสนบัตร ด้าน ธปท.แจงเหตุซื้อกิจการของธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ไม่ได้เกิดจากปัญหาฐานะ ระบุเอไอจีในไทยแข็งแกร่งเงินกองทุนสูงถึง 26.6% สภาพคล่องสูง วอนลูกค้าอย่าตื่น พร้อมผ่อนผันให้เปิดกิจการ 2 ธนาคารได้ถึงสิ้นปีก่อนคืนใบอนุญาต และขณะนี้ยังไม่มีธนาคารแห่งอื่นยื่นขอควบรวมกิจการเพิ่มเติม
นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ ได้ประกาศการทำสัญญาซื้อกิจการ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเข้าซื้อหุ้นของ ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ของกลุ่มบริษัทเอไอจี และคาดว่าการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2552 โดยขึ้นอยู่กับการได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รวมทั้งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาด้วย
สำหรับรายละเอียดในการซื้อขายครั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเข้าซื้อหุ้น 99.5% ในธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และถือหุ้น 100% ในบริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ในราคารวมประมาณ 2,055 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง ณ วันที่ซื้อขายสำเร็จ
ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการสองบริษัทในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท จาก 745,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 777,000 ล้านบาท และส่งผลให้ฐานสินเชื่อรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้น 14% และจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นประมาณ 222,000 บัตร
นายตัน คอง คูน กล่าวอีกว่า เราพอใจกับโอกาสทางธุรกิจในครั้งนี้ การเข้าซื้อธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำกลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งของธนาคารที่จะเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth)ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจปกติ และแผนการเข้าซื้อกิจการเพิ่มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป สำหรับการซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความคืบหน้าในเป้าหมายการเร่งขยายธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยของธนาคาร หลังจากที่ธนาคารได้ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต ลีส จำกัด (มหาชน) ในปี 2551 ที่ผ่านมา
"การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ฐานสินเชื่อเพื่อรายย่อยของธนาคารเติบโตขึ้น 14% และทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 36% ซึ่งจะช่วยเสริมฐานะการเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของไทย ในขณะเดียวกัน ลูกค้าของธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ก็จะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครบวงจรและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีให้บริการอยู่”นายตัน คอง คูน กล่าว
นายตัน คอง คูนกล่าวอีกว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีการเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่งอนาคตจึงจะยังมีการมองหาธุรกิจเข้ามาเสริมแบบนี้ต่อไปอีก และยังคงเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยให้เพิ่มมาอยู่ที่ 50% ภายในปี 2553
"จากวันนี้ไปเราต้องทำงานรวมกับทางเอไอจี และต่อไปก็คงต้องมีการพิจารณาในเรื่องขององค์กรและพนักงานว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ที่จะเปลี่ยนองค์กรของเอไอจีที่เราซื้อมาเป็นชื่อของธนาคารกรุงศรีฯ"
โดยการซื้อการกิจการในครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อสภาพคล่องของธนาคารแต่อย่างใด เพราะในขณะนี้ยังคงมีอยู่อย่างเพียงพอและไม่จำเป็นที่จะต้องออกหุ้นกู้เพิ่มเติม
และการซื้อกิจการครั้งนี้กระทบเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารเพียง 0.8% โดย ณ สิ้นปี 2551 ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.8% ส่วนขนาดสินทรัพย์ของธนาคารนั้นมีการเพิ่มขึ้นประมาณ 5 % แต่อันดับขนาดของสินทรัพย์เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ๆ นั้นยังคงอยู่ที่อันดับที่ 5 เช่นเดิม
ส่วนในด้านของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) นั้นคงจะมีผลบ้าง โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็น 4.20% จากสิ้นปี 2551 อยู่ที่ 4.13%
ด้านนายชาลี มาดาน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย เป็นสถาบันการเงินที่มีคุณภาพ การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งเอไอจีและธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยลูกค้าของเอไอจีเองก็จะได้รับประโยชน์จากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจากเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นนี้ พนักงานของเอไอจีทุกคน ยังพร้อมให้บริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งนี้มีขั้นตอนในการเลือกที่ค่อนข้างเข้มข้น เพราะต้องการผู้ที่จะมาต่อยอดธุรกิจ และดูแลลูกค้าและพนักงานได้ อีกทั้งจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ได้อย่างสะดวก
ส่วนจะมีลูกค้าแห่ถอนเงินฝากออกไปหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาธนาคารได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แต่ต้องยอมรับว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะผู้ถือหุ้นใหม่นั้นมีความมั่นคงสูงและขอให้ผู้ฝากทุกคนมั่นใจได้ว่าธนาคารยังมีการคุ้มครองเงินฝากไว้เหมือนเดิม
"เรามั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้องที่จะให้ธนาคากรุงศรีฯเป็นผู้ดูแลลูกค้าของเราและมั่นใจว่าทางธนาคารกรุงศรีฯจะมีการเติบโตได้แบบก้าวกระโดดและบรรลุเป้าหมายในการทำธุรกิจรายย่อย"
อย่างไรก็ตามธุรกิจต่าง ๆ ของเอไอจีจะยังคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เพราะเอไอจีได้ทำธุรกิจในประเทศไทยมาค่อนข้างยาวนาน
และการขายกิจการในครั้งนี้ก็เป็นนโยบายที่ทางบริษัทแม่ได้ประกาศมาตั้งแต่ในเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งภายในกลุ่มธุรกิจผู้บริโภค (คอนซูมเมอร์)นั้นได้มีการขายกิจการที่ประเทศฟิลิปปินไปแล้ว ต่อมาคือไทยต่อจะคงจะเป็นในเอเชีย ละตินอเมริกาและยุโรป
ทั้งนี้ การซื้อขายกิจการครั้งนี้ แบล็กสโตน แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้แก่เอไอจีในด้านการปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วโลก โดยมีธนาคารดอยช์แบงก์เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และลิงค์เลเตอร์เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายฝ่ายเอไอจี ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (GECAL) จาก General Electric Capital Asia Investment, Inc. (GECAI) และผู้ถือหุ้นรายอื่น คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 17,000 ล้านบาท
อนึ่ง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 745,321 ล้านบาท โดยมีจีอี มันนี่ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 33 หลังบรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 ขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมลดสัดส่วนการถือลงทุนเหลือ 25%
ขณะที่ ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (เอไอจี) ซึ่งเป็นผู้นำด้านประกันชีวิตและประกันภัยของโลก โดยธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เริ่มประกอบกิจการเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 สำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและมีสาขาอีก 10 สาขาทั่วประเทศ มีผลิตภัณฑ์และบริการทางเงินหลากหลายทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และบริการเงินฝาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ธนาคารฯ มีเงินฝากรวมทั้งสิ้น 18,600 ล้านบาท และมีมูลค่าลูกค้าสินเชื่อรวม 16,500 ล้านบาท
และบริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้ชี่อ เอไอจี คาร์ด, เอไอเอ คาร์ด, X คาร์ด, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด คาร์ด และบัตรกดเงินสดจัสต์แคช ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 บริษัทมีลูกหนี้การค้า 9,300 ล้านบาท และมีฐานลูกค้ากว่า 300,000 ราย
ธปท.ชี้ขายแบงก์ดึงเงินช่วย บ.แม่**
ด้านนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การขายหุ้นของบริษัทในเครือเอไอจีทั้ง 2 แห่งนี้ เนื่องจากบริษัทแม่ของเอไอจีในสหรัฐได้รับผลกระทบวิกฤตการเงินโลก ทำให้ต้องขายกิจการต่างประเทศ รวมถึงไทย แต่คงไว้เฉพาะธุรกิจประกันในไทย เพื่อนำเงินสดที่เป็นสภาพคล่องกลับคืนไปช่วยบริษัทแม่
อย่างไรก็ตาม การขายกิจการครั้งนี้เชื่อว่าไม่กระทบต่อฐานะธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย (ธย.) เพราะธย.เอไอจีได้ส่งเงินสดสภาพคล่องมาฝากไว้ที่ธปท.มากถึง 2 หมื่นล้านบาทเท่ากับยอดเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันมีการถอนเงินฝากไปบ้างเหลือเงินสดอยู่ที่ธปท.อีกถึง 1.8 หมื่นล้านบาท แต่หลังควบรวมเสร็จในสิ้นปีคงนำกลับบริษัทแม่ด้วย ฉะนั้นลูกค้าของธนาคารเอไอจีในไทยไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะการขายกิจการให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีสาขาการให้บริการจำนวนมาก น่าจะดีต่อลูกค้าธนาคารเอไอจีที่เดิมมีเพียง 10 สาขาเท่านั้น ซึ่งน่าช่วยให้ลูกค้ารายย่อยได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วย
“ในเมื่อการขายกิจการหรือการควบรวมกิจการไม่เกิดจากแบงก์มีปัญหา ลูกค้ารายย่อยทั้งผู้ฝากเงิน ลูกค้าสินเชื่อที่มีกับเอไอจีก็ไม่ต้องกังวล เพราะยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆในธนาคารได้ตามปกติจนกว่าธนาคารทั้ง 2 แห่งจะควบรวมกิจการกันให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถ้าควบรวมเสร็จเชื่อว่าธนาคารกรุงศรีฯ คงรับโอนบัญชีลูกค้าไปทั้งหมดอยู่แล้ว” นายสรสิทธิ์กล่าว
ไฟเขียวจีอีถือหุ้น2แบงก์ถึงสิ้นปี
นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า ธปท.ผ่อนผันให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงศรีดำเนินกิจการในธนาคาร 2 แห่งได้โดยไม่ขัดกับหลักเกณฑ์หนึ่งสถาบันการเงิน 1 รูปแบบการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์(One Presence) แต่เมื่อครบกำหนดผ่อนผันในสิ้นปีนี้ธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อยต้องคืนใบอนุญาตการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ ณ สิ้นธ.ค.ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสิทรัพย์ 74,200 ล้านบาท ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อยมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 35,000 ล้านบาท รวมกันเป็น 77,800 ล้านบาท ส่วนเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยามี 5.4 แสนล้านบาท เอไอจีรายย่อยมี 1.8 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 5.58 แสนล้านบาท ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ก่อนหักสำรองธนาคารกรุงศรีอยุธยามี 6.26% ของสินเชื่อรวม ส่วนเอไอจีรายย่อยมี 4.37% ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)ธนาคารกรุงศรีมีถึง 14.94% ธนาคารเอไอจีรายย่อยมี 26.6% รวมกันแล้วเป็น 15%
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ฐานะของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันยังคงแข็งแกร่ง และยืนยันว่าบริษัทแม่ที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์อื่นยังไม่มีใครมีปัญหาหรือต้องการกิจการธนาคารพาณิชย์ในไทยเพิ่มเติม รวมทั้งธนาคารยูโอบีในไทย ซึ่งมีบริษัทแม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ เพราะเงินกองทุนก็ยังสูงถึง 18.4% หนี้เสียก็ต่ำเพียง 4.58% ที่สำคัญก็ไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่เกี่ยวกับซับไพร์มด้วยจึงไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมมีกระแสข่าวว่าธนาคารแห่งนี้มีฐานะไม่ดี
|