|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผย ดำเนินงาน 6 เดือน ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบส่งเงินสมทบเข้ามาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท เล็งปรับอัตราเก็บเบี้ยประกันใหม่ ตามระดับความเสี่ยงของแบงก์ หวังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวมากขึ้น พร้อมเดินหน้าศึกษาแนวทางอุ้มลูกหนี้ หากแบงก์ล้ม ระบุแนวทางเบื้องต้น ตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมารองรับ ส่วนการแก้ไขกฏหมาย คุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในช่วง 3 ปีแรก ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ก่อนสิงหาคมนี้
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยว่า การดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลังมีการจัดตั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2551 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบได้ส่งเงินสมทบเข้ามาแล้ว 10,372 ล้านบาท จากการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตรา 0.4% แบ่งเป็นจ่ายงวดแรกในเดือนมิ.ย. และงวดที่สองในเดือนธ.ค. ทุกๆปี
ทั้งนี้ ในการเก็บเบี้ยประกัน เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนนั้น สถาบันเองกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ตามระดับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชน์แต่ละแห่ง ซึ่งรูปแบบการเก็บเบี้ยประกันดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ใช้ในระดับสากล เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งการจัดเก็บในอัตราที่ต่างกันออกไปนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ แนวทางในการคุ้มครองลูกค้าที่เป็นหนี้เงินกู้ในกรณีที่สถาบันการเงินล้ม สถาบันคุ้มครองเงินฝากเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางในการคุ้มครองเช่นกัน นอกเหนือจากผู้ฝากเงินที่สถาบันคุ้มครองอยู่ ซึ่งจากแนวทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ การจัดตั้งสถาบันขึ้นมาอีก 1 แห่งเพื่อดูแลโดยเฉพาะ
"เรื่องนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มีความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่กู้เงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งในเบื้องต้นอาจมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายรองรับด้วย"นายสิงหะกล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก ที่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แก้ไขให้กฏหมายคุ้มครองเงินฝาก ยังคุ้มครองเต็มจำนวนในช่วง 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 คุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาท และปีที่ 5 คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทนั้น ขณะนี้กฤษฎีกาได้ยืนยันกลับไปยังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว รอเพียงให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งหลังจากเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีก็สามารถทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย และประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ซึ่งการที่กฏหมายเดิมที่คุ้มครองเต็มจำนวนในปีแรกจะครบในเดือนสิงหาคมนี้ เชื่อว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้ทัน
ทั้งนี้ กฏหมายเดิมกำหนดให้ในปีแรกคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ปีที่ 2 ลดการคุ้มครองเหลือ 100 ล้านบาท ปีที่ 3 จำนวน 50 ล้านบาท ปีที่ 4 จำนวน 10 ล้านบาท และปีที่ 5 จำนวน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการยืดเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในช่วง 3 ปีแรก แต่ภาระในการคุ้มครองทั้งหมดหากสถาบันการเงินมีปัญหา ก็อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด
นายสิงหะกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝาก และเพดานการคุ้มครองเงินฝาก เป็นผลสืบเนื่องจากในปีที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ทำให้รัฐบาลในช่วงนั้น โดยมี ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรมว.คลัง ได้มอบนโยบายให้หาช่องทางในการฟื้นความเชื่อมั่นผู้ฝาก เพื่อป้องกั้นความตื่นตระหนก ทั้งนี้ คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงอาศัยอำนาจตามกำหมายในมาตรา 72 บทเฉพาะการ เสนอให้กระทรวงการคลัง ขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนออกไปเป็นเวลา 3 ปี
"วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินไทย เนื่องจากในช่วง 11 ปี ที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยได้ผ่านวิกฤติมาแล้ว และระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันมาตรฐานการปล่อยกู้ยังอยู่ในระดับสากล ทำให้ไม่น่าจะมีปัญหา ต่อให้เกิดวิกฤติรุนแรง สถาบันการเงินของไทยน่าจะสามารถทัดทานกับปัญหาได้"นายสิงหะกล่าว
นายสิงหะกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก มีการคุ้มครองในเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเออร์เท่านั้น ซึ่งในส่วนของเงินฝากแบงก์เองไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ในขณะที่ตั๋ว P/N ในนิยามใหม่ของเงินฝากไม่มีคำนี้แล้ว แต่เจตนารมณ์เหมือนเดิม ดังนั้น จึงแจ้งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเออร์ทราบ ซึ่งเขาเองก็ได้เปลี่ยนจากตั๋ว P/N เป็นบัตรเงินฝาก หรือ CD แทนแล้ว
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีการออกตั๋ว B/E แล้วลักไก่โยกเข้าไปเป็นเงินฝากเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเงินฝากนั้น ขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือเตือนไปยังธนาคารดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการใดออกมาควบคุม เพราะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินรายเดียวเท่านั้น
จัดพอร์ตลงทุนความเสี่ยงต่ำ60%
นายสิงหะกล่าวว่า สำหรับกรอบการลงทุนในส่วนของเงินที่สถาบันการเงินส่งเข้ามานั้น ในเบื้องต้นได้กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงและสภาพคล่องสูงเป็นอันดับแรก ส่วนผลตอบแทนเป็นเรื่องรอง โดยในส่วนนี้กำหนดสัดส่วนเอาไว้ 60% ซึ่งจะเป็นการลงทุนตราสารหนี้ประเภทเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่สถาบันการเงินที่มีกฏหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นต้น
ส่วนที่เหลืออีก 40% นั้น เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรีโดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติด้วยก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ อาจจะเป็นการลงทุนในหุ้น ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเน้นลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงเป็นหลัก
|
|
 |
|
|