Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์9 กุมภาพันธ์ 2552
คุ้ยซากบินไทย-กสท-ทีโอที เมื่อห่านทองคำใกล้สิ้นลม             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

การบินไทย, บมจ.
กสท โทรคมนาคม, บมจ.
ทีโอที, บมจ.




ทำไมหน่วยงานที่เคยสร้างรายได้ก้อนมหึมา ต้องอยู่ในสภาพแทบล้มละลาย รัฐบาล บอร์ด พนักงาน ใครคือตัวการและสร้างผลงานอันน่าขยะแขยงนี้
...เปิดที่มาที่ไปถึงเหตุผลที่ทำให้รัฐวิสาหกิจชั้นดีมีปัญหา

จับตามาตรการต่อไปจะกู้ชีพ 3 องค์กรกลับค้นสภาพได้ดังเดิมหรือไม่

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับการบินไทยทุกวันนี้น่าจะไม่ต่างจากรัฐวิสาหกิจเกรดเอขุมทรัพย์รายอื่น ที่มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน การเข้ามาครอบงำของกลุ่มการเมือง ที่จ้องจะแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คืออีกสองรัฐวิสาหกิจชั้นดีที่กำลังจะเกิดวิกฤตการดำเนินงาน เนื่องจากการไม่มีมาสเตอร์แพลนในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและการแข่งขันกับเอกชนในระยะยาว รวมถึงการบริหารงานแบบราชการที่หาประโยชน์จากการลงทุนด้านต่างๆ โดยไม่ยึดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพราะทั้งสององค์กรมีรายได้จากกิจการที่เคยผูกขาด และส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานที่เอกชนส่งมาให้จำนวนมหาศาล

ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ การเข้ามาครอบงำของกลุ่มการเมือง ด้วยการแต่งตั้งกรรมการในบอร์ดบริหาร เพื่อเป็นตัวประสานนโยบายจากพรรครัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่จะเข้ามาจัดการบริหารและเกลี่ยผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามายัง 2 หน่วยงานนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กรรมการบอร์ดที่เป็นตัวแทนกลุ่มการเมือง 2.ผู้บริหารระดับสูงที่สามารถเอื้อประโยชน์หรือลงโทษเอกชนที่ทำธุรกิจได้ และ 3.กลุ่มสหภาพแรงงาน ที่สามารถเคลื่อนสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการต่างๆ ด้วยการอ้างผลประโยชน์ของภาครัฐและพนักงาน ภาพเบื้องหลังการทำงานของทั้ง 3 กลุ่ม จะมีทั้งบริษัทเอกชน ซัปพลายเออร์ ผู้ประมูลโครงการ โดยเป็นผู้ให้ผลประโยชน์แก่ทั้งสามกลุ่ม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้เคยกล่าวไว้ว่ารัฐบาลควรจะหันมาสรรหาคณะกรรมการ ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพเข้ามาบริการจัดการทีโอที และ กสท แทนการใช้เส้นสายส่งนักการเมืองเข้ามาบริหาร เพราะจะเป็นการซ้ำเติมให้ 2 องค์กรยิ่งอ่อนแอ และหากปล่อยไว้ ทีโอที และ กสท จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

หมดสัมปทานกระอักแน่ รายได้ธุรกิจหลักตกต่ำ

หากมองรายได้ในระยะยาวของทั้งทีโอที และ กสท แล้ว มีการระบุว่าหากวันใดที่รายได้จากการผูกขาดและการได้รับสัมปทานจากภาคเอกชนหมดลง ทั้งสององค์กรนี้จะประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีการปรับตัวตั้งแต่วันนี้

ผลการดำเนินธุรกิจของทีโอทีในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา ทีโอทีมีรายได้รวมทั้งสิ้น 72,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีรายได้ 71,186 ล้านบาท จำนวน 914 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,974 ล้านบาท ลดลงจาปี 2550 ที่มีกำไร 6,232 ล้านบาท หรือลดลง 258 ล้านบาท

เมื่อแบ่งรายได้ในปี 2551 ของทีโอทีจะพบว่า เป็นรายได้จากการดำเนินงานของทีโอทีเอง 27,681 ล้านบาท รายได้จากสัญญาร่วมการงาน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือทีทีแอนด์ที ประมาณ 22,839 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 1,991 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวม 254,995 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ที่มีจำนวน 266,244 ล้านบาท

จะเห็นว่า รายได้ที่ได้จากการทำงานทั้งปีของทีโอทีที่มีเพียง 27,681 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าสัมปทานมีถึง 22,893 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้ทีโอที ในขณะที่สัมปทานของทั้งสองบริษัทก็เหลือน้อยลงทุกที

สำหรับผลการดำเนินงานของ กสท แม้ว่าภาพรวมของงบกำไรขาดทุนจะดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2550 คือมีรายได้รวมโตขึ้นร้อยละ 12 หรือจาก 47,418 ล้านบาทเป็น 53,065 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่โตขึ้นร้อยละ 47 หรือจาก 7,688 ล้านบาท มาเป็น 11,320 ล้านบาท

แต่หากพิจารณาเพียงตัวเลขผลดำเนินงานที่เป็นของ กสท ไม่รวมสัมปทานจะพบว่า กสท มีรายได้รวมในปี 2551 ที่ 22,268 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักภาษี ที่ 4,354 ล้านบาท โดยรายได้ที่ กสท ทำได้นี้ถือเป็นร้อยละ 41.9 ของรายได้รวมทั้งหมดของ กสท

รายได้ที่น่าเป็นห่วงของ กสท จากธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศ มีการปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2550 คือลดลงถึงร้อยละ 28 จาก 9,523 ล้านบาท มาอยู่ที่ 6,864 ล้านบาท อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของเอกชนที่ได้รับไลเซนส์การให้บริการจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาอย่างรุนแรง ที่สำคัญเป็นการทุบกำแพงการผูกขาดการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของ กสท ที่มีมาอย่างยาวนานลง จน กสท ต้องมาทบทวนการทำธุรกิจนี้ และหาแนวทางเพื่อแข่งขันกับบริษัทเอกชน

แนวทางการแข่งขันหนึ่งที่ กสท ปล่อยออกมาเร็วๆ นี้ก็คือ การลดราคาค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศลงเหลือเพียงนาทีละ 50 สตางค์ เพื่อท้าชิงกับคู่แข่ง และทวงความเป็นเจ้าตลาดบริการโทรทางไกลต่างประเทศคืนจากผู้เล่นที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จำนวน 6 ราย อาทิ ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น ที่ได้เลขหมาย 006 บริษัท ดีแทต เนทเวอร์ค ผ่านเลขหมาย 004 บริษัท ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท เครือทีทีแอนด์ที ผ่าน 102 ซึ่งผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งหลายทั้งปวงต่างมีข้อได้เปรียบกว่า กสท.ตรงที่มีฐานลูกค้าอยู่ในมือจำนวนมาก เพราะการโทรออกไปยังต่างประเทศนั้นสามารถกดรหัส 3 หลักผ่านโทรศัพท์ของตนเองได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ กสท.ที่เคยผูกขาดธุรกิจนี้เพียงเจ้าเดียวตลอต ระยะเวลา 40 ปี ผ่านรหัส 001 และ 009 ในรูปแบบโทรผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตต้องออกอาการอึดอัด และกระสับกระส่ายไม่น้อย ซึ่งผลจากการแข่งขันด้านราคาเยี่ยงนี้ทำให้มูลค่าตลาดโทรทางไกลต่างประเทศจากปัจจุบันมีมูลค่าตลาดปีละประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท หดลงเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าต่อไปในอนาคตส่วนแบ่งตลาด และรายได้ของ กสท ย่อมหดหายไปมากกว่านี้แน่นอน

ก่อนหน้านี้ ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เคยกล่าวไว้ว่า ทีโอที และ กสท ต้องเผชิญกับภาวะรายได้ตกต่ำ ต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลรายละเอียดของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องไปพิจารณาว่าจุดไหนที่รายได้ตกต่ำและจะทำอย่างไรเพื่อให้รายได้เพิ่ม

จุดอ่อนทางธุรกิจเพียบ ยากที่จะแข่งขันกับเอกชน

เมื่อมามองถึงจุดอ่อนของทั้งสององค์กร ไม่ว่าจะเป็นทีโอที หรือ กสท ต่างมีจุดอ่อนที่เข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจจนยากที่จะแข่งขันกับภาคเอกชนที่มีความคล่องตัวและมีเงินลงทุนมหาศาลสำหรับการเป็นผู้นำในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมแทนที่ทั้ง ทีโอที และ กสท

ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนนั้น มาจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่ ทำให้การบริหารไม่มีความคล่องตัว ต้องอยู่บนกฎระเบียบของรัฐ การทำงานต่างๆ จึงล่าช้าติดขัดขั้นตอนต่างๆ ในส่วนการลงทุนงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง รวมถึงการจะนำงบประมาณออกมาใช้ในแต่ละโครงการก็มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทำให้ธุรกิจที่ต้องการจะแข่งขันกับเอกชนเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ ธุรกิจด้านโทรคมนาคม ต้องยอมรับว่ามีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ผู้ให้บริการจะต้องมีความเร็วในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องมีบริการใหม่ๆ ที่ฉีกแนวจากผู้ให้บริการรายอื่น ในจุดนี้ทั้ง ทีโอที และ กสท ขาดผู้บริหารที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำพาธุรกิจให้ก้าวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี รวมถึงตัวองค์กรที่มีขนาดใหญ่ เป็นผลพวงสำคัญที่ทำให้องค์กรมีความยากลำบากในการทำงาน

และปัจจัยที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่คอยฉุดรั้งทั้งทีโอที และ กสท คือ การถูกการเมืองแทรกแซง ทำให้นโยบายไม่มีความต่อเนื่อง โครงการต่างๆ มักจะมีการหยุดชะงัก เสียผลประโยชน์ เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งสององค์กรนี้มักจะถูกแทรกแซง จนหลายโครงการต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจในการแข่งขัน (อ่านข่าวประกอบ เปิดเส้นทางใหม่ว่าที่ ซีอีโอ ใหม่ กสท)

การบีบจากฝั่งการเมืองนั้นมีผลอย่างมากกับบอร์ดบริหาร และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในองค์กรทีโอทีและ กสท ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงสองคนของ กสท ได้ประกาศลาออก คนแรกคือ พิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้วยเหตุผลว่าผิดคุณสมบัติเพราะเป็นคณะกรรมการในบริษัทที่ กสท เข้าไปถือหุ้นอยู่ จึงขัดกับข้อกำหนดตามมาตรา 8 ตรี (12) พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่ห้ามไม่ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ มีตำแหน่งในบริษัทรับสัมปทาน และบริษัทร่วมทุนกับ กสท เพื่อป้องกันการเกิดประโยชน์ทับซ้อน และเหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ ส่วนคนที่สองคือ มารุต บูรณะเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย ที่ลาออกไปอยู่กับกลุ่มเบียร์ช้าง

การลาออกของทั้งสองคนนี้ คนวงในมองว่าเป็นการถูกแรงบีบจากการเมือง เนื่องจากไม่สามารถสนองตอบกับสิ่งที่กลุ่มการเมืองต้องการได้

เน็ตเวิร์กโพวายเดอร์ เป้าหมายธุรกิจทีโอที

ธุรกิจที่ส่อเค้าลางว่าจะวิกฤตของทีโอทีที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่จะทำให้องค์กรนี้รอดพ้นวิกฤตได้ หากสามารถพัฒนาธุรกิจและดำเนินงานไปตามที่วางไว้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายธุรกิจของทีโอทีในปี 2552 นี้ไว้ว่า จะมีนโยบายการทำงานทั้งแนวรับและแนวรุกไปควบคู่กัน การทำงานในแนวรับจะเน้นรักษาธุรกิจเดิม คือโทรศัพท์ประจำที่ โทรศัพท์สาธารณะ และโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ให้มีอัตราลดลงช้าที่สุด

ส่วนแนวรุกจะมุ่งเน้นธุรกิจใหม่ ด้วยการผันทีโอทีไปเป็นผู้ให้บริการโครงการ หรือการเป็นเน็ตเวิร์กโพวายเดอร์ การให้บริการ 3G โครงการข่ายบรอดแบนด์ไอพี บริการไวร์เลสบรอดแบนด์ ทั้งไว-ไฟ และไว-แม็กซ์ หรือการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ครบวงจรไอซีทีที่สุด

ทั้งนี้ แผนการลงทุนของทีโอทีในปี 2552 มีแผนลงทุนในธุรกิจดาต้า สื่อสารข้อมูลรวม 37,300 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาระบบ 3G โดยทีโอทีจำนวน 29,000 ล้านบาท โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ไอพี ใช้เงินลงทุน 4,700 ล้านบาท และโครงการขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 1 ล้านพอร์ต จำนวน 3,600 ล้านบาท

การพัฒนาระบบ 3G ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของทีโอที ที่ถูกมองว่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในอนาคต ในส่วนความคืบหน้าการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮริตช์ยังอยู่ระหว่าง กทช.กำลังดำเนินการโอนคลื่นความถี่ และทีโอทีอยู่ระหว่างการขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์จาก กทช.โดยจะมีการดำเนินการติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการนครหลวงและภูมิภาค

สำหรับการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อพัฒนาการบริการให้ทันสมัย ซึ่งเมื่อโครงการพัฒนานี้แล้วเสร็จ โครงข่ายของทีโอทีจะเพิ่มความสามารถ ความจุ วงจรสื่อสัญญาณ สำหรับบริการใหม่ๆ โดยโครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2553 ถือเป็นการพัฒนาโครงข่ายแห่งอนาคต NGN รองรับความเร็วสูงสุด 160 กิกะบิต

ส่วนโครงการขยายบริการบรอดแบนด์จำนวน 1 ล้านพอร์ต เพื่อเป็นการขยายส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากโครงการนี้จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับทีโอทีในระยะยาวมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และบริการมัลติมีเดีย

สิ่งที่ทำให้ทีโอทีต้องเร่งหาธุรกิจใหม่ด้วยการลงทุนด้านต่างๆ อย่างมากมายนั้น เป็นผลพวงจากรายได้หลักจากธุรกิจดั้งเดิม ทั้งบริการโทรศัพท์พื้นฐานหรือฟิกซ์ไลน์ โทรศัพท์สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจกับฟิกซ์ไลน์ยังคงเป็นรายได้ที่สำคัญของทีโอที มีลูกค้าประมาณ 3.7 ล้านเลขหมาย และมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 55% ส่งผลในปี 2552 ทีโอทีมีแผนการขยายบริการฟิกซ์ไลน์อีกจำนวน 186,000 เลขหมาย แยกเป็นเทคโนโลยีไวร์เลส ซีดีเอ็มเอ 470 ขนาด 150,000 เลขหมาย โดยติดตั้งสถานีฐาน 190 แห่ง และจัดหาเครื่องลูกข่าย 50,000 เครื่อง และใช้เทคโนโลยีไวร์ไลน์จำนวน 36,000 เลขหมาย

ผู้ให้บริการโครงข่ายเบอร์หนึ่ง แย่งตลาดโทร.ตปท.คืน

หันมามองการปรับตัวของ กสท เพื่อผลักดันให้องค์กรก้าวอยู่ในหนึ่งผู้นำการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทย คือการยกระดับให้องค์กรแห่งนี้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการพัฒนาบริการหลักในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลในอนาคต

สิ่งที่ กสท ต้องทำและเน้นมากเป็นพิเศษ คือ การกระจายบริการซีดีเอ็มเอไปตามเมืองใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับการตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเบอร์หนึ่ง พร้อมๆ ไปกับการวางกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันและแย่งส่วนแบ่งทางตลาดของบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศกลับมาให้ได้

ตามแผนธุรกิจใน 3 บริการหลักของ กสท นั้นประกอบด้วย 1.แผนบริการเชิงลึกธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ โดยจะเน้นการให้บริการในพื้นที่ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมให้มากยิ่งขึ้น และเน้นการให้บริการซีดีเอ็มเอในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ เพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า ในส่วนของธุรกิจมือถือนี้ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของ กสท ทั้งการเกิดขึ้นของการให้บริการ 3G รวมถึงการเจรจากับฮัทช์ เพื่อให้ กสท เป็นผู้ทำตลาดซีดีเอ็มเอทั่วประเทศไทยเอง

2.กสท ต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่เคยตั้งเป้าหมายการเป็นเบอร์หนึ่งด้านการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ด้วยการเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรที่มีโครงข่ายให้บริการอยู่ทั่วประเทศ และ 3.แผนการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักมายาวนาน กสท ต้องเดินหน้าแข่งขันกันคู่แข่งขัน โดยจะต้องทำค่าบริการให้ถูกกว่าคู่แข่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง

การบินไทยขุมทรัพย์ที่เหลือแต่ซาก

หุ้นการบินไทยจาก 60 บาท วันนี้เหลือเพียงแค่ 6 บาท

บางคนตั้งคำถามว่าสายการบินแห่งชาติแห่งนี้จะมีโอกาสล้มละลายหรือไม่ เพราะวันนี้มีหนี้สินกว่า 1.3 แสนล้านบาท

พิชัย ชุณหวชิร กรรมการบอร์ดการบินไทย เคยตอบคำถามนี้ว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า หรือทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี มันก็คงเป็นอย่างที่ถามได้ ถึงแม้จะมีสมบัติอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่อาคาร และที่ดินบนถนนวิภาวดีรังสิต ครัวการบินไทย หรือเครื่องบินอีก 85 ลำก็ตาม

กรณี “การบินไทย” ที่นับวันจะคล้ายศพอาจารย์ใหญ่เข้าไปทุกทีเพราะนอกจากจะให้ระบบบริหารในภาครัฐบาลไทยได้ผ่าตัดศึกษากันมาหลายยุคหลายสมัย หากเทียบตัวเงินในกระเป๋ากับบัญชีหนี้สิน การบินไทยนับว่าเป็นองค์กรที่ใกล้เจ๊งแล้ว แต่ที่ไม่เจ๊งก็เพราะเป็นสายการบินแห่งชาตินั่นเอง สอดคล้องกับรัฐบาลที่ออกมาประกาศก้องว่า “สมบัติของชาติ ปล่อยให้เจ๊งไม่ได้”

ว่ากันว่าสมบัติของชาติต้องเก็บไว้ให้นักการเมือง และวางเส้นสายอำนาจเข้าไปกัดแทะให้ได้มากที่สุด ยิ่งตอนนี้ สุเทพ-เนวิน จับมือกันส่ง “รัฐมนตรีซาเล้ง” ไปนั่งหน้าแป้นบริหารพร้อมให้บริการพวกพ้องแบบสุดตัว เพื่อความประทับใจของเครือข่ายและสหาย “คิงเพาเวอร์”

ต้องยอมรับกันว่า ท่าทีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อปัญหาปลวกแทะการบินไทยยังคง “ไม่รู้ร้อนรู้หนาว” จริงๆ เวลานี้เป็นแค่ “ให้ยาตามอาการ” ไม่มีวี่แววสำหรับแนวทางว่าจะบริหารแบบวินิจฉัยโรคเพื่อผ่าตัดอย่างแท้จริง

ทุกกรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เงินเดือนไม่มีจ่าย รัฐก็เข้าไปอุ้ม เงินบริหารหมด เงินหมุนเวียนหมด เงินค่างวดเครื่องบินไม่มี ทางฝ่ายรัฐจำใจต้องเข้าไปอุ้ม ทำธุรกิจมายาวนานคุยฟุ้งว่ากำไรมาโดยตลอด หรือแม้แต่พอพันธมิตรฯ ชุมนุมที่สุวรรณภูมิเท่านั้น ผู้ว่าการการท่าฯถึงกับต้องประกาศปิดสนามบิน รายได้หดหายลงไปงานนี้เลยเหมาไปที่พันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ส่งผลให้การบินไทยไม่ต่างไปจากบริษัทมหาชนที่กำลังจะเจ๊ง!

ยิ่งดู ก็ยิ่งชัดขึ้นทุกทีว่า การบินไทย “เสร็จแน่ๆ” ไม่มีทางรอดอุ้งเล็บ “เสือห้อย-เสือโหน-เสือหิว”!!บทบาทของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมานับเป็นขุมทรัพย์มีค่ามหาศาลของพวกขาใหญ่จากวงการต่างๆโดยเฉพาะเหล่าบรรดานักการเมืองที่หวังคอยหาโอกาสส่งคนของตัวเองเข้าไปบริหาร โดยในยุคก่อนหน้านั้นถือเป็นอาณาจักรของฐานทัพทหารอากาศ แม่ทัพต้องเป็นประธาน และกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจเบ็ดเสร็จสั่งการเต็มที่ ใครจะเข้ามาแหยมไม่ได้เด็ดขาด!

ขณะที่บอร์ดบริหารก็ได้สิทธิพิเศษสารพัดมากมาย ทั้งโครงการจัดซื้อ จัดจ้าง และโครงการใหญ่ๆอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการคัดเลือกซื้อเครื่องบินที่มักถูกหยิบโยงนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรียกร้องถึงความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ สร้างความมั่งคั่งส่วนตัวให้กับผู้มีอำนาจหลายยุคหลายสมัย จวบจนกระทั่งเข้าสู่หลังยุค รสช. ความเปลี่ยนแปลงในการบินไทยจึงเกิดขึ้นมา แต่ทว่ากับไม่รุ่งโรจน์ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์นัก

นั่นหมายความว่า การบินไทยจะถูกปลอดแอกจากการแสวงหาผลประโยชน์ไม่มากนัก แต่ว่ากันว่าเหมือนหนีเสือปะจระเข้ หลังจากทหารอากาศถูกลดบทบาทลงไป ก็ดันมีกลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลับใช้อิทธิพลส่งสมุนนอมินีเข้าไปเป็นขาใหญ่แทนที่ และรับประทานส่วนต่างคำโตกว่าเดิมเสียอีก ดูได้จากที่ผ่านมามีการสั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหญ่เข้ามาด้วยเม็ดเงินที่มีมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม การซื้อเครื่องบินถูกแบบและใช้งานเหมาะสมกับสภาพธุรกิจนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจการบินไทยไม่น้อย ซึ่งที่ผ่านมาการซื้อเครื่องบินภายใต้เงื่อนไขเช่าซื้อกับทำให้การบินไทยต้องใช้เงินจำนวนมาก และถูกมองว่านี่คือการตอบสนองผลประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองที่มีโอกาสเข้าไปโดยเฉพาะการกินเงินค่านายหน้าจากการเช่าซื้อเครื่องบินและกลายเป็นปัญหาที่ไม่มีใครสามารถล้วงความลับสาวเข้าไปถึงตัวบงการได้

แม้แต่เครื่องบินที่ใช้งานนอกจากยังไม่คุ้มกับราคาค่าเช่าซื้อ แถมยังขาดทุนบักโกรก โดยเฉพาะในเส้นทางบินตรงอย่าง กรุงเทพฯ ไปนิวยอร์ก และลอสแองเจลิส แทนที่จะได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำฟันผลกำไรเข้าสู่องค์กร แต่ที่ไหนได้การให้บริการต่อเที่ยวบินกับประสบภาวะขาดทุนครั้งละ 2 ล้านบาทมาโดยตลอด เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก การบินไทยไม่ได้ขาดทุนเฉพาะรายได้จากการขายตั๋วซึ่งปีละกว่าพันล้านบาท แต่ยังขาดทุนจากค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ค่าโฆษณา น้ำมัน บริหารจัดการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำตลาด ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปี

ขณะเดียวกัน ยังมีภาระซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 4 ลำ แต่การนำเครื่องดังกล่าวไปขายคงไม่สามารถขายได้เท่ากับราคาที่ซื้อมาอย่างแน่นอน

หากรวมความเสียหายจากการเปิดบินเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก แล้วเชื่อว่าการบินไทยเสียหายเป็นจำนวนมาก เฉพาะขาดทุนจากการขายตั๋ว 3 ปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ถ้านับรวมส่วนอื่นๆ ค่าเครื่องบิน ค่าบริหารจัดการน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน การมีเครื่องบินและเครื่องยนต์หลากหลายประเภทกลับกลายเป็นปัญหาของการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้นักบินที่มีความชำนาญเครื่องยนต์ในแต่ละรุ่น กอปรกับต้องมีช่างเครื่อง และการเก็บสต็อกอะไหล่รวมถึงการซ่อมบำรุงที่ต้องมีไว้รองรับอย่างน้อยถึง 3 ชุด นับว่าไม่เป็นผลดีต่อการบริหารจัดการเท่าไรนัก ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถสะสางให้หมดสิ้นลงได้เพราะการบินไทยยังคงมีเครื่องบินรอการเข้าซ่อมบำรุงอยู่อีกประมาณกว่า 20 ลำ
เมื่อพลเรือนเริงอำนาจ

เข้าสู่ช่วงในยุคบอร์ดบริหารที่มีคณะกรรมการเป็นพลเรือนและเป็นนอมินีของนักการเมืองเข้าไปเป็นใหญ่ ส่งผลให้การบินไทยขาดทุนสะสมอย่างมโหฬาร ถึงขนาดต้องขายเครื่องบินที่มีอยู่เพื่อเอาเงินสดมาหมุน แล้วนำไปเช่าเครื่องบินลำเดิมมาใช้แทน ยอมเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ยส่งผลให้บอร์ดบริหารออกอาการร่อแร่หลายครั้ง แต่อาศัยความชำนาญในการทำบัญชีตัวเลขที่แยบยลจึงสามารถยื้อชะตามาได้

หมอกควันปัญหาในการบินไทยยังไม่ทันจางหายหรือถูกแก้ไขเท่าที่ควร ก็มีการสั่งเปิดให้บริการบนเส้นทาง เชียงใหม่ จิตตะกอง ช่วงนั้นมีข่าวลือว่าเป็นเส้นทางที่ให้เซลส์แมนไปขายสัญญาดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร แถมมีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คน เบื้องหลังการเปิดเส้นทางบินตรงครั้งนั้นเหตุผลสั้นๆง่ายๆจึงหนีไม่พ้นเพื่อหาเรื่องซื้อเครื่องบินลำใหม่เข้ามาหวังเอาเงินค่านายหน้าเข้ากระเป๋าตัวเอง

เมื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ปัญหาการขาดทุนสะสมแบบต่อเนื่องของการบินไทยจึงยากที่เกินจะเยียวยาและกลายเป็นเรื่องที่การบินไทยไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ สุดท้ายการบินไทยก็เปรียบเสมือนเหมืองทองคำที่ถูกเหล่าบรรดาเหลือบเข้าไปขุดเจาะแทะกินจนไม่เหลือซากอะไรอีกต่อไป

ปัจจุบันการบินไทยจึงต้องการเงินอัดฉีดอย่างเร่งด่วนเพื่อให้องค์กรดำเนินธุรกิจต่อไป และต้องการค้ำประกันเงินกู้โดยกระทรวงการคลัง เพื่อให้อยู่รอด และแน่นอนที่สุดรัฐบาลจำเป็นต้องช่วย แต่อาจมีเงื่อนไขสำคัญที่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวและที่สำคัญมากที่สุดคือต้องลดค่าใช้จ่ายพร้อมกับมีการสอบสวนย้อนหลังเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดในการตัดสินใจผิดพลาดรวมไปถึงการทุจริตในการซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ โครงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคนักการเมืองพลเรือนเป็นใหญ่ ใช้สมุนนอมินีเข้าไปกอบโกยอย่างบ้าคลั่ง ผลจากการนี้ ทำให้การบินไทยต้องเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงถึงขั้นไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน จำเป็นต้องยื่นเรื่องขอให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินให้เป็นจำนวนสูงถึง 34,000 ล้านบาทมาช่วยแก้ขัดไปก่อน

หลังแปรรูป...ไม่รุ่งมีแต่ร่วง

นับย้อนหลังไปกว่า 17 ปี กระทรวงการคลังเลือกเอารัฐวิสาหกิจอย่างการบินไทย เข้ามาเป็นต้นแบบของการแปรรูป โดยนำเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อกระจายหุ้นให้ประชาชน ร่วมเป็นเจ้าของ

แต่ช่วงเวลาผ่านไปแทนที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างคุ้มค่าจากความมั่นคงแข็งแกร่งของการบินไทย ในทางกลับกันสถานะและราคาหุ้นของเจ้าจำปี กลับร่วงหล่นลงตามลำดับ กระทั่งล่าสุด ราคาหุ้นได้ไหลรูดลงสู่ระดับ 7-8 บาท ซึ่งเกิดจากนักลงทุนรายใหญ่ถอนตัวออกจากการถือครองนั่นเอง ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการ บริหารธุรกิจการบินเริ่มเข้าสู่ในยุคที่ตกต่ำลงถึงขีดสุด!

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะวิกฤติจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2008 ที่ผ่านมาส่งผลให้การบินไทยมีการลงทุนตั้งค่าน้ำมันล่วงหน้าไว้สูงจนเกินเหตุประมาณ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาเลน ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันตกลงมาเพียงแค่ 40 เหรียญต่อบาเลนเท่านั้น กอปรกับวิกฤติการเมืองภายในประเทศที่บานปลายนำไปสู่การสั่งปิดสนามบินของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ยิ่งซ้ำเติมให้ผลการดำเนินงานของการบินไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2008 ที่ผ่านมาต้องประสบการขาดทุนถึง 6,611 ล้านบาท และมีการคาดว่าตลอดทั้งปี 2008 การบินไทยอาจขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

สถานะตัวตนที่แท้จริงของสายการบินไทยในวันนี้ จึงไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่อยู่ในห้องไอซียูที่ต้องคอยให้ออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่การบินไทยมีหนี้สินกว่า 130,000 ล้านบาทโอกาสที่การบินไทยจะล้มละลายนั้นเป็นเรื่องยากเพราะเชื่อได้ว่าภาครัฐจะหาทางเข้ามาอุ้มอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม บอร์ดบริหารที่รับผิดชอบปัญหาในการบินไทย ทุกคนน่าจะต้องมีสปิริต เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆถ้าหาก “ความถูกต้อง”ยังไม่ปรากฎ !?! ขณะที่คนใน “การบินไทย” เองก็แสบสันต์พอตัวอยู่ไม่น้อย แถมยังได้ผู้บริหารห่วยแตก ! เข้าไปอีก..แล้วสโลแกนที่ว่าจะ “รักคุณเท่าฟ้า” คงจะเป็นไปไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้นในเหตุการณ์แบบนี้คนการบินไทยควรจะ “รักกันเอง” ให้มากยิ่งขึ้น

ปัญหาคาราคาซังใน “องค์กร”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นับว่าสร้างความงุนงงให้ประชาชนมากที่สุด ด้วยไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไรกันแน่ที่สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นแบบไม่จบสิ้น จนต้องเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานกรรมการบริษัทคนแล้วคนเล่า การเข้ามาของเหล่าบรรดานอมินีพรรคการเมืองที่ว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อให้การ บินไทยดีขึ้นนั้น ดูเหมือนความจริงจะสวนทางกัน เพราะนอกจากสถานการณ์การบินไทยจะไม่ดีขึ้นแล้วมีแต่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดความแตกแยกภายในองค์กร ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่รู้จะมีวิธีแก้ไขกันอย่างไร

ปัจจุบันปัญหาบิ๊กบริหารของการบินไทยแต่ละฝ่ายยังคงหันหลังให้กัน ไม่ยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมเท่าไรนัก ทั้งที่คนในการบินไทยเวลานี้เริ่มรู้ชะตากรรมตัวเองแล้วว่ากำลังเผชิญกับสภาพการณ์แบบใด

สอดคล้องกับที่กรรมการบอร์ดคนหนึ่งของการบินไทยที่อ้าวว่า“ทุกคนยอมรับถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นกำลังเป็นไฟลามมาถึงบ้านแล้ว และโอกาสเดียวที่จะแก้ไขได้ก็คือ หันหน้าเข้าหากัน และทุกฝ่ายอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง”

ที่ผ่านมา การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ และเป็นสายการบินแห่งชาติกว่า 48 ปี แต่ปรากฏว่า เรื่องราวในการบินไทยที่มีภาพลักษณ์สู่สายตาคนทั่วไป กลับไม่สมศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสายการบินแห่งชาติ สภาพภายในเต็มไปด้วยผลประโยชน์ที่แบ่งกันเป็นก๊กเป็นก๊วนซึ่งเป็นอย่างนี้มาแทบทุกยุคสมัย ส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจากระดับเบื้องบนที่พยายามจ้องเลื่อยขาเก้าอี้กันเอง โดยใช้พนักงานระดับล่างเป็นเครื่องมือในการต่อรอง โดยเฉพาะพนักงานภาคพื้นดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกช่าง จึงเรียกมาปฏิบัติการได้ง่ายสุด

วันนี้ปัญหาในการบินไทยยังคงมีรูปแบบไม่แตกต่างไปจากเดิม ยังคงมีสภาพเป็นน้ำเน่าแม้จะใช้ระบบคัดสรรตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มาจากการคัดเลือกก็ตาม แต่ดูเหมือนจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม เพราะคนเก่าที่อยากได้เก้าอี้ ก็ยังคงประพฤติตัวด้วยวัฒนธรรมเดิม ๆนอกจากนั้นฝ่ายการเมืองก็เข้ามายุ่งเกี่ยวในการบินไทย ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาล

ปัญหาในการบินไทยอาจถูกแบ่งเป็น 2 ก๊ก ฝ่ายแรกคือฝ่ายบริหารที่มักจะขัดขากันอยู่ตลอดเวลา เมื่อใครขึ้นมามีอำนาจก็จะใช้บารมีเข้าแทรกแซงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่อส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาในการบินไทย ฝ่ายบริหารมักจะเป็นคนนิ่งเงียบและเก็บเนื้อปิดตัวมากสุด เหมือนกับไม่มีส่วนรู้เห็น แต่หลายครั้งผ่านมา กระแสข่าวก็ระบุว่า มีส่วนรู้เห็นหรืออยู่เบื้องหลัง

ส่วนก๊กที่สองมักจะขึ้นอยู่ได้เพราะมีการเมืองมาคอยหนุนหลังในทุกยุคสมัย ส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) มักถูกครอบงำจากนักการเมืองที่หวังผลประโยชน์และคอยกำกับดูแลพฤติกรรม ซึ่งตำแหน่งผู้บริหารนี้มักเจอมรสุมในทุกทางทั้งระดับบนและล่าง ส่งผลให้มีสภาพเหมือนเป็นลูกบอล ถูกเตะไปมาหากผลงานไม่เข้าตาก็มักถูกการเมืองรังแกหาเรื่องปลดออกจากตำแหน่งในทันที

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

วิกฤติการบินไทยที่เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่งแบบนี้ หากคิดจะดับไฟให้หมดไปอย่างรวดเร็วคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจุดเกิดเหตุนั้นมีอยู่หลายแห่งการเข้ามาแก้ไขปัญหาจึงต้องค่อยๆสะสางทีละจุดและคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องที่กำลังเป็นอยู่นี้ให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับเร่งหาวิธีการที่จะทำให้ได้รายได้เข้าอย่างรวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามปรับลดรายจ่ายลงให้มากที่สุดด้วย

หน้าที่บริหารจัดการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ที่จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการตลาดและการเงินควบคู่กัน เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การคัดเลือกดีดีการบินไทยมักจะเป็นตัวแทนจากนักการเมืองหรือพนักงานลูกหม้อของการบินไทยเองที่มีความชำนาญเฉพาะทางแค่เพียงด้านเดียวเข้ามาบริหาร เพราะนั่นหมายถึงจุดบอดที่สร้างความอึดอัดใจในการบริหารจัดการจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ดีดีการบินไทยควรจะต้องมีคุณสมบัติเชี่ยวชาญด้านการตลาดและการเงินทั้งสองอย่างในคนคนเดียวกันจึงจะนำพาให้องค์กรสายการบินแห่งชาติรอดพ้นวิกฤตได้” แหล่งข่าวระดับสูงของการบินไทยกล่าว

ขณะเดียวกัน มิติแห่งการแข่งขันในธุรกิจที่สายการบินแห่งชาติที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเปลี่ยนวิกฤติที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสสร้างความแข็งแกร่งทางการตลาดและฐานการเงิน ด้วยกระบวนการขั้นตอนในการบริหารจัดการไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นศักยภาพความพร้อมของการบินไทยที่มีอยู่แล้วนำมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพของความเป็นจริงเท่านั้น

อันดับแรกคือ การลดคอสต์ต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือนฝ่ายบริหารที่เชื่อได้ว่าหากลดลง 10%จะสามารถมีเงินเหลืออีกกว่า 720 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันการต่อรองกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT)เพื่อขอส่วนลดจะทำให้มีเงินเหลือเก็บอีกปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ในส่วนของการซ่อมบำรุงที่ถือหุ้นอีกหัวใจสำคัญของการปรับลดรายจ่าย ซึ่งที่ผ่านมา ด้วยมูลเหตุที่การบินไทยมีฝูงบินที่หลากหลายทำให้ต้องสต๊อกอะไหล่เพิ่มมากกว่าปกติ และการจัดหาเครื่องบินในอดีตยังมีจุดบอดที่ไม่ได้คำนึงถึงค่าซ่อมและอะไหล่ในอนาคต

ที่สำคัญ การเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บนเครื่องบินแทนการเช่าซื้อ นับเป็นวิธีการที่สามารถรักษาเงินไม่ให้หลุดรั่วไหลไปอย่างฟุ่มเฟือย เชื่อได้ว่าศักยภาพของฝ่ายช่างการบินไทยมีความพร้อมอยู่แล้วและสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีทีเดียว

ขณะเดียวกัน ด้วยวิธีแบบนี้จะสามารถสร้างโอกาสหารายได้เข้าบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการเกิดธุรกิจใหม่ฝ่ายช่างที่จะมีงานเข้าตลอดทั้งปี สอดคล้องกับที่นโยบายรัฐที่ต้องการให้ดอนเมืองเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินในอนาคตอันใกล้เช่นกัน

“นับเป็นโบนัสที่การบินไทยจะได้รับในช่วงเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสแบบนี้ เพราะนอกจากจะช่วยเซฟเงินแล้ว เครื่องบินก็ไม่ต้องสั่งซื้อหรือเช่าใช้เครื่องบินเก่าไปก่อนแต่ภายในตกแต่งเหมือนใหม่ เรียกว่าเหมือนได้เครื่องบินใหม่เลย และที่สำคัญทุกกระบวนการวิธีที่ควรจะนำมาใช้จะทำให้การบินไทยสามารถมีกำไรกลับคืนมาได้” แหล่งข่าวระดับสูงจากการบินไทยกล่าว

ชำแหละองค์กรบินไทย

ที่ผ่านมาการบินไทยเคยมีระบบข้อมูลแจ้งการเกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมงทั่วโลกพร้อมกับประเมินสถานการณ์ให้เสร็จสรรพเพื่อหาทางแก้ไขเบื้องต้นและในระยะยาว แต่เมื่อมีการเมืองภายในองค์กรเข้าแทรกแซงเพียงเพราะอาจไม่เข้าใจต่อความสำคัญของศูนย์ข้อมูลดังกล่าว กอปรกับต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในบริษัทลงจึงส่งผลให้ศูนย์แจ้งเตือนของการบินไทยต้องถูกปิดลงไป จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากที่ยุติบทบาทของศูนย์ดังกล่าวลงและเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทำให้การบินไทยไม่สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์นั้นได้ทัน

6 SIGMA โครงการหนึ่งที่เป็นผลงานของกัปตันชูศักดิ์ต้องการให้การบินไทยพยายามแยกปัญหาออกจากกันเพื่อย่อยลงไปจัดการที่ละชั้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลเห็นภาพได้ในช่วง 3-4 ปีหลังจากเปิดโครงการนั้นขึ้นมาและสามารถลดต้นทุนได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1,900 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน โครงการนำดาวรุ่งทั้งหมดของแต่ละฝ่ายแผนกออกมาใช้ประโยชน์ในการบินไทยให้ได้มากที่สุดแต่โครงการดังกล่าวก็ถูกพับแผนลงไป

ปัจจุบัน แม้ว่าความร่วมมือของฝ่ายบริหารที่ออกมาแสดงสปิริตขอปรับลดค่ายานพาหนะลง 50% จำนวน 6 เดือน รวมถึงจะมีการลดค่าทำงานล่วงเวลาของพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายในส่วนของคาร์โก้ลง เชื่อได้ว่าจะลดได้ถึง 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็จะปรับลดค่าใช้จ่ายต่างประเทศทั้งในเรื่องของที่พักลูกเรือ และกัปตันลง ตรงนี้ก็จะทำให้ลดได้ถึง 900 ล้านบาท

ระบบการจองตั๋วที่ผูกติดอยู่กับเอเยนต์มานานยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากในระยะเวลาที่รวดเร็ว แม้การจำหน่ายตั๋วโดยสารจะเป็นหัวใจหลักของการบินก็ตาม แต่การพึ่งพาเอเย่นต์ในปัจจุบันทุกสายการบินกับให้ความสำคัญลดลง ในขณะที่การบินไทยยังคงยึดเป็นนโยบายหลักของการตลาดเพื่อขายตั๋วในสัดส่วนถึง 90 : 10 คือ เอเย่นต์เอาไปขาย 90% ส่วนการบินไทยขายเองเพียง 10% เท่านั้น

ด้วยเหตุผลข้ออ้างที่ว่าการบินไทยไม่สามารถเข้าถึงผู้โดยสารที่มีจำนวนมากถึง20-30 ล้านคนในแต่ละปี หรือกว่าประมาณร้อยละ 80-90 จึงจำเป็นต้องพึ่งพาเอเย่นต์จำหน่ายตั๋วซึ่งแต่ละปีมีรายได้ประมาณกว่า 160,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีรายได้กลับเข้าสู่ระบบ และเกิดสภาพคล่องทางการเงิน ภาครัฐได้มีการทบทวน และจัดโครงสร้างของการจำหน่ายตั๋วโดยสารที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจนี้กันใหม่ ในแบบยกกระบิเนื่องจากในอดีตที่นั่งโดยสารมักถูกล็อกจากเอเย่นต์ไว้หมด

จึงไม่แปลกที่การบินไทยจะมีแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการเรียกคืนระบบสัดส่วนโควตาในการจัดสรรซื้อ-ขายตั๋วโดยสาร จากเอเย่นต์ให้กลับมาโดยการลดสัดส่วนเอเย่นต์ลงเหลือ 85% ส่วนอีก 15% การบินไทยจะขายเอง โดยเชื่อว่าในอนาคตเมื่อช่องทางการขายตั๋วผ่านออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ระบบการจัดจำหน่ายตั๋วผ่านเอเย่นต์ก็น่าจะลดลงและอยู่ระหว่าง 50:50

ภายใต้แนวทางที่การบินไทยจะมีช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสารเอง 2 ช่องทาง คือ 1. การบินไทยขายตั๋วโดยสารเอง และ 2. ซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถทำรายได้ และกำไรให้แก่การบินไทยมากขึ้น โดยไม่ต้องไปแบ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ให้กับเอเย่นต์ผู้จัดจำหน่าย

แยกธุรกิจเลี้ยงตัวเอง

การปรับโครงสร้างภายในองค์กรการบินไทยกำลังจะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดจัดทำแผนธุรกิจและโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องผูกติดอยู่กับองค์กรการบินไทย หากแต่สามารถทำหน้าที่เป็นองค์กรที่สร้างรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจครัวการบิน, คาร์โก้, การบริการภาคพื้นดิน, การซ่อมบำรุงอากาศยานของฝ่ายช่างที่สามารถแยกตัวออกมาเป็นหน่วยธุรกิจ (Business unit/BU) เพื่อกรุยทางสู่การแยกตัวเป็นบริษัทลูกเต็มตัวในระยะต่อไปได้

ซึ่งเชื่อได้ว่าหากไม่ทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะไม่เกิดประโยชน์โภคผลอะไรขึ้นมา การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทยให้สมบูรณ์ พร้อมกับหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่มีความสามารถด้านการเงินและการตลาดเข้ามาเป็นผู้บริหาร การบินไทยก็น่าจะกลับมาเป็นองค์กรที่เป็นสุดยอดของประเทศได้

ขณะที่หน่วยธุรกิจ BU ที่กำลังจะขับเคลื่อนออกมานั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน ฝ่ายแรกเป็นแผนกหรือฝ่ายอยู่ภายใต้การบินไทย แต่จะจัดทำบัญชีที่แยกผลกำไร-ขาดทุน ของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ ขณะที่ฝ่ายที่สอง BU ที่แยกออกมาเป็นบริษัทของตัวเอง โดยผลกำไรจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นไม่ต้องนำมาคิดคำนวณรวมกับบริษัทแม่ ใครทำกำไรมาก ก็จะได้รับผลตอบแทนมาก

ที่ผ่านมาการแยกธุรกิจของการบินไทยไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะฝ่ายบริหาร ไม่สามารถชี้แจงทำความเข้าใจให้กับพนักงานได้ บางคนยังห่วงหมวกการบินไทยของตนอยู่ กลัวไม่ได้ชื่อว่าเป็นการบินไทย แม้จะสามารถทำกำไรได้มากแต่เมื่อไปรวมอยู่กับบริษัทแม่เมื่อผลประกอบการมีกำไรรวมน้อยหรือขาดทุนก็พลอยอดโบนัสไปด้วย แต่หลังวิกฤติครั้งนี้ทุกฝ่ายดูจะตื่นตัวกันมากขึ้น สังเกตได้จากครัวการบินหากมีการแยกเป็น BU จะสามารถทำไรได้มาก เพราะนอกจากจะซัพพลายอาหารขึ้นเครื่องหลัก 60% ให้กับการบินไทยแล้ว ยังสามารถป้อนแก่สายการบินอื่นๆได้ด้วย ว่ากันว่าครัวการบินไทยมีกำไรถึง 500-1,000 ล้านบาทต่อปี

วิกฤตที่เกิดขึ้นบนสายการบินแห่งชาตินี้ น่าจะเป็นโอกาสให้กับการบินไทย พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน และการบริหารงานภายในใหม่ทั้งหมด หลังจากที่อยู่ในวังวนมานาน ซึ่งถ้าหากพนักงานที่มีอยู่กว่า 26,000 คน ช่วยกันเปลี่ยน “วิกฤต” ที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ให้เป็น “โอกาส” ของพวกเขาเชื่อได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของการบินไทยไม่ไกลเกินฝัน!

เปิดเส้นทางว่าที่ซีอีโอใหม่ กสท

มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาใน บริษัท กสท โทรคมนาคม ว่า มีการคาดหมายว่า จิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จะถูกวางตัวให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท คนใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากการเมืองที่คุมอำนาจในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หลังจากที่ทำงานสนองการเมืองจนเป็นที่พอใจ เห็นได้จากเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนเดียวที่รับผิดชอบงานสำคัญถึง 3 สายงานหลัก คือสายการเงิน สายการตลาด และสายธุรกิจซีดีเอ็มเอ ซึ่งรับผิดชอบงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างหลายพันล้านบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ด กสท เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา บอร์ดจะมีการพิจารณาการจัดจ้าง Maintenance Agreement (MA) อุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO ด้วยวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวมีจุดเด่นเรื่องการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้กสทยังไม่ได้เปิดให้บริการคอนเทนต์อะไรที่รองรับโครงข่ายความเร็วสูงดังกล่าวเลย เพราะหัวเหว่ยไม่ยอมเปิดเผยโค้ดในการเชื่อมต่อให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์ต่างๆ แต่กลับเสนออนุมัติงบบำรุงรักษาแล้ว

“ในอดีตหัวเหว่ยหรือผู้บริหาร กสท เคยพูดว่าหัวเหว่ยหยุดพัฒนาและไม่ผลิตอุปกรณ์ EV-DV ที่เป็นพัฒนาการต่อจาก EV-DO แล้วแต่ทำไมถึงมีการตั้งงบบำรุงรักษาโดยที่ยังไม่ให้บริการด้วยซ้ำ”

ก่อนหน้านี้ กสท เคยจัดซื้ออุปกรณ์หรืออะไหล่ของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอจากหัวเหว่ยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งบิร์ดยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาทในการจัดซื้ออุปกรณ์และอะไหล่เก็บไว้สำรองอีก ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วบอร์ดกสทได้อนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์จากหัวเหว่ยมากกว่า 4 พันล้านบาทด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเมื่อเทียบกับโครงข่ายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคของหัวเหว่ยที่ชนะประมูลในวงเงิน 7 พันกว่าล้านบาทก็เท่ากับว่าบอร์ดกสท ของสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ กับฝีมือการชงของ จิรายุทธ อนุมัติจัดซื้ออะไหล่ด้วยวิธีพิเศษเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่สร้างโครงข่ายหลักไปแล้วด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ จิรายุทธยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเจรจาซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดภาคกลางจากกลุ่มฮัทชิสัน ด้วยวงเงินประมาณ 200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 6 พันล้านบาท ทั้งๆที่กลุ่มฮัทชิสันเคยเสนอยกโครงข่ายให้ฟรีๆ แลกกับการให้สิทธิฮัทชิสันในการทำตลาดซีดีเอ็มเอทั้งประเทศ แต่กสทไม่สนใจ

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของการพิจารณาจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษอุปกรณ์จากหัวเหว่ยอยู่ที่เป็นการ Repeat order ไม่ต้องประมูล ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สภาพัฒน์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกระทรวงไอซีที ด้วยการใช้วิธีซอยย่อยงบประมาณไปเรื่อยๆ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของบอร์ดเป็นใช้ได้

ในขณะที่ กสท กำลังละเลงงบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นจัดซื้ออะไหล่หัวเหว่ยกว่า 4 พันล้านบาท กับซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอทั่วประเทศ กลุ่มฮัทชิสันที่เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอใน 15 ประเทศทั่วโลก ได้ผละจากเทคโนโลยีวายแบนด์ซีดีเอ็มเอ หรือที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า 3G/HSPA แทนถึง 13 ประเทศ อาทิ นอร์เวย์ อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรีย อิตาลี ฮ่องกง อินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนาม จะเหลือแค่ 2ประเทศที่ยังมีโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอยุคเก่า คือประเทศกานา และไทย ที่จิรายุทธกำลังวางแผนให้ กสท ซื้อจากฮัทชิสัน

จากข้อมูลของหัวเหว่ยที่คาดการณ์เทคโนโลยีโทรคมนาคมในอนาคตในเรื่องความต้องการใช้บรอดแบนด์ในทุกสถานที่ ระบุว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอย่างมาก โดยใรปี 2556 จะมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้สายนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านคน ซึ่งเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ใช้ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายจะเพิ่มขึ้นกว่า 1,200 ล้านคน ซึ่วเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยี HSPA บรอดแบนด์จะช่วยให้เกิดการรวมกันของโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายต่างๆ

ปัญหาของ กสท คือ หากยังดันทุรังละเลงงบไปกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอแล้ว ในเชิงพาณิชย์ กสทจะวางตำแหน่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอไว้ที่ไหน ถ้าจะให้เป็นบริการบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง คำถามคือความเร็วโครงข่ายซีดีเอ็มเอสู้กับ HSPA ของเอไอเอส หรือดีแทค หรือทรูมูฟ รวมทั้งไทยโมบาย และไลเซนส์ 3G ใหม่ของกทช.ได้หรือไม่ รวมทั้งเส้นทางพัฒนาเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอจะเดินไปอย่างไร หรือกสทจะวางซีดีเอ็มเอเป็นแค่ขายวอยซ์ราคาถูก หรือยังคิดอะไรไม่ออก ขอเพียงซื้อวิธีพิเศษไว้ก่อน เพราะซีดีเอ็มเอทุกวันนี้ไม่ได้เวิร์กเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งเน็ตเวิร์กซีดีเอ็มเอปัจจุบันของฮัทชิสันกับหัวเหว่ยยังโรมมิ่งด้านข้อมูลไม่สะดวก

ปัญหาเรื่องเครื่องลูกข่ายมีราคาสูง และปัญหาเรื่องการนำไปใช้ต่างประเทศ หรืออินเตอร์เนชั่นแนล โรมมิ่ง ที่แนวโน้มทั่วโลกไม่มีใครใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอกันแล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบให้สังคม หากกสทยังเลือกที่จะลงทุนเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอต่อไป

ในเมื่อ กสท ยังมีทางเลือกที่น่าจะฉลาดกว่านั้นด้วยการคงสภาพโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ จำกัดควาเสียหายไว้แค่นั้น แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้ถลุงกับการจัดซื้อวิธีพิเศษซีดีเอ็มเอ แล้วหันกลับไปเลือกเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตอย่าง 3G/HSPA ด้วยความถี่ 850 MHz ที่เหลืออยู่ก็ยังพอเพียงที่จะให้บริการเป็นผู้เล่นที่มีปากเสียงในตลาดมากกว่าแค่เป็นไม้ประดับให้คู่แข่งโห่ฮาเหมือนทุกวันนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us