คงจำกันได้สำหรับทรัสต์ 4 เมษาซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาการดำเนินงานในช่วงปี
2526 จนกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าควบคุมมีจำนวน 25 บริษัท
ต่อมามี 5 บริษัทที่อาการดีขึ้น ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเอากลับไปบริหารเองเหลืออยู่
20 แห่งที่จะต้องเยียวยากันต่อไป โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล
แนวความคิดในการแก้ไขปัญหาของบริษัทเงินทุนที่เหลือเหล่านี้ก็คือ ให้รวมเข้าด้วยกันเป็น
3 กลุ่มแล้วตั้งเป็นบริษัทใหม่ 3 บริษัท
หลังจากใช้เวลาอยู่หลายเดือน แผนการที่วาดไว้ก็เป็นจริง เมื่อต้นเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา
ได้มีมติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
6 แห่งให้รวมกิจการเข้าเป็นบริษัทเดียวกันทั้ง 6 บริษัทอยู่ในเครือสากลเคหะ
คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ, ไทยเงินทุน, คอมเมอร์เชียลทรัสต์,
บริษัทเงินทุนสกุลไทยและบริษัทเครดิตฟองสิเอร์ สากลสยามทั้งหมดนี้รวมกันเป็นบริษัทใหม่ชื่อ
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนานันต์ จำกัด
เมื่อรวมทุนและทรัพย์สินของทั้ง 6 แห่งเข้าด้วยกัน ก็ทำให้ธนานันต์ขึ้นมาอยู่หัวแถวของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีอยู่แซงหน้าสินเอเซีย
ไปด้วยทุนจดทะเบียนราว 530 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 9,300 ล้านบาท แถมยังมีสาขาถึง
14 แห่ง ซึ่งเป็นที่ทำการของบริษัทเดิมรวมทั้งสาขาที่ยุบไปแล้วแปรสภาพเป็นสาขาของธนานันต์
แต่ถ้าจะพูดถึงความแข็งแกร่ง ความสามารถในการหารายได้แล้วก็ยังห่างชั้นจากบริษัทชั้นนำอื่น
ๆ อีกมาก เพราะรวมเอาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท
รวมทั้งยอดขาดทุนสะสมอีก 200 ล้านบาทเข้าไปด้วย ทำให้ธนานันต์ต้องทำการเพิ่มทุนอีก
1,000 ล้านบาท เพื่อตัดยอดขาดทุนและรับมือกับหนี้เหล่านี้ ซึ่งคงจะต้องตัดเป็นหนี้สูญเป็นจำนวนไม่น้อย
ทั้งยังเป็นการเพิ่มเงินกองทุนเพื่อเป็นหลักฐานในการขยายธุรกิจหารายได้เพิ่มด้วย
ขณะนี้ได้ยื่นเรื่องขอความเห็นชอบจากธนาคารชาติไปแล้ว
ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 90% ของธนานันต์ ตัวกรรมการผู้จัดการคือ
พงษ์ เศวตศิลา ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อนครหลวงของกรุงไทยมาก่อน โดยมี
นิพัทธ พุกกะณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานบริษัท
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2530 ทั้งสองคนทำท่าว่าจะลาออกโดยอ้างว่าครบกำหนด 3
เดือนที่ตกลงกันไว้ว่าจะบริหารงานที่นี่ แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังยับยั้งไว้ด้วยเหตุผลที่ว่า
ทั้งสองคนทำงานได้ดี สามารถดำเนินงานไปตามแผนที่วางเอาไว้ และลดการขาดทุนจากเดือนละ
3 ล้านเหลือเพียง 8 แสนบาทเท่านั้น จึงขอให้อยู่ต่อไป
เหตุผลจริง ๆ แล้วคงจะเป็นความคับข้องใจของทั้งสองคน ธนานันต์นั้นก็เหมือนแขนขาของทางการที่จะลงไปแข่งขันกับบริษัทเงินทุนอื่น
ๆ แถมยังมีวี่แววว่าจะไปด้วยสวย จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีการขัดแข้งขัดขากันไม่ให้เดินได้โดยสะดวก
เรื่องการจ่ายเงิน 30 ล้านบาทเข้ากองทุนร่วมพัฒนาเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ทางผู้บริหารธนานันต์ไม่เห็นด้วย
โดยแย้งว่าบริษัทยังอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้?
โดยแย้งว่าบริษัทยังขาดทุนอยู่ ถ้าต้องหาเงิน 30 ล้านไปเข้ากองทุนจะไม่เป็นธรรม
จนถูกยื่นคำขาดว่าจะถูกพักการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ต้องขอกู้เงินจากแบงก์ชาติไปจ่ายให้กองทุน