ตอนที่ชิน โสภณพนิชต้องระเห็จไปอยู่ที่ฮ่องกงเมื่อปี 2501 นั้น ใครต่อใครก็นึกว่าชินคงจะต้องปักหลักอยู่ที่นั่นไปตลอด
ทิ้งแบงก์กรุงเทพให้บุญชู โรจนเสถียรดูแล
สาเหตุที่ชินอยู่เมืองไทยไม่ได้ก็เพราะตอนนั้นผ้าขะม้าแดงกำลังแรงฤทธิ์
ธุรกิจของชินตอนนั้น ชิน โสภณพนิชมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มซอยราชครูอันมี
จอมพลผิน ชุณหะวัณและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นแกนนำ เส้นสายของกลุ่มนี้ล้วนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในกิจการของชิน
โสภณพนิช เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับการปกป้องจากอำนาจทางการเมือง
ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วก็ถอนรากถอนโคนกลุ่มซอยราชครูที่เป็นศัตรูทางการเมืองของตน
อำนาจของสฤษดิ์ตอนนั้นล้นฟ้าขนาดชี้นกให้เป็นไม้และชี้ไม้ให้เป็นนกได้ ด้วยมาตรา
17 ที่จะสั่งให้ใครตายก็ได้ ชินจึงต้องไป การไปอยู่ที่ฮ่องกงของชินกลับเป็นผลดีอันใหญ่หลวงต่อธนาคารกรุงเทพในเวลาต่อมา
เพราะชินไม่ได้อยู่เฉย ๆ กลับมองหาลู่ทางที่จะขยายการลงทุนของแบงก์กรุงเทพที่นี่
พร้อมทั้งใช้ฮ่องกงเป็นฐานในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ
แล้วชินก็กลับมาหลังจากการตายของสฤษดิ์ในปี 2506
เมื่อกลางปี 2530 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับพร้อมใจกันลงประวัติของชินอย่างละเอียด
ภายหลังข่าวการป่วยหนักของชินเผยออกมา ชินเข้าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตั้งแต่หลังตรุษจีนด้วยอาการที่เกิดจากเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ
นอกจากโรคหัวใจ ความดันและเบาหวานที่เป็นอยู่ก่อนบวกกับความชราภาพของคนวัยเกือบ
80 ชินต้องนอนห้องไอ.ซี.ยู ตลอด และต้องให้ออกซิเจนช่วยหายใจ ใคร ๆ ก็เป็นห่วงว่านายห้างชินจะไม่รอด
พนักงานแบงก์กรุงเทพสำนักงานใหญ่บางส่วนวางมือจากงานประจำชั่วคราวเพื่อเตรียมพิธีการสำหรับชินเป็นครั้งสุดท้าย
มีการติดต่อวัดเทพศิรินทร์เอาไว้แล้ว แต่แล้วก็มีการยกเลิกในเวลาต่อมา หนังสือรายสัปดาห์บางฉบับที่ลงประวัติของชินเป็นตอน
ๆ ต่อเนื่องกันมาก็หยุดพิมพ์ต่อทั้ง ๆ ที่เรื่องยังไม่จบ
ชิน โสภณพนิช ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจมากที่สุดคนหนึ่ง
เขาเกิดในครอบครัวจีนแต้จิ๋วที่ยากจน เมื่อเรียนจบชั้นประถมแล้ว ก็เดินทางไปเรียนต่อในโรงเรียนพาณิชย์ที่ประเทศจีน
เขาผ่านการทำงานมาอย่างโชกโชนนับตั้งแต่เป็นกุ๊ก กรรมกรท่าเรือ เจ้าของร้านค้าวัสดุก่อสร้าง
และธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารกรุงเทพในปี
2487 และเป็นผู้สร้างธนาคารแห่งนี้จนเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้