Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
บอลลูน...ศิลปะการเล่นกับลม             
โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
 


   
www resources

โฮมเพจ สมาคมกีฬาการบิน (ประเทศไทย)

   
search resources

Entertainment and Leisure
สมาคมกีฬาการบิน (ประเทศไทย)
ฟลายอิ้ง มีเดีย, บจก.




แหงนมองท้องฟ้าคราใด หลายคนคงฝันอยากจะล่องลอยเล่นลมแข่งกับปุยเมฆขาว จากความใฝ่ฝันได้เป็นแรงผลักดันให้ชาวยุโรป เมื่อ 225 ปีที่แล้วคิดค้นอย่างจริงจังจนเกิด "บอลลูนอากาศร้อน" ซึ่งเป็นอากาศยานชนิดแรกของโลก ที่นำพามนุษย์ขึ้นไปบนฟ้า นับตั้งแต่นั้นก็มีการพัฒนาอากาศยานขึ้นมาเป็นเครื่องบิน จรวด และยานอวกาศในที่สุด

บรรยากาศยามเช้าเป็นช่วงเวลา ที่ชีวิตเริ่มตื่นขึ้นจากความหลับใหล อากาศใสๆ สดชื่น มองเห็นแสงอาทิตย์ เรื่อเรืองจับขอบฟ้าคราม คละเคล้าสายลมอ่อนๆ เจือม่านหมอกบางๆ โรยตัวโดยรอบ ชาวนาในชนบทออกมา รดน้ำผัก พระทยอยกันออกมาบิณฑบาต เด็กๆ ชวนกันเดินไปโรงเรียน

ภาพอันงดงามเฉกเช่นที่บรรยาย นี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ลอยตัวขึ้นไป ยังท้องฟ้าเบื้องบนแล้วมองลงมา ภาพ ที่เห็นตรงหน้านี้ก็จะทำให้คุณรู้สึกราวกับเป็น "เทวดาบนก้อนเมฆ" ไปในบัดดล และนั่นคือเสน่ห์ของการเล่นบอลลูนที่ทำให้ผู้คนหลงใหลไม่เลิกราตลอด 200 กว่าปีที่ผ่านมา

เคยมีคนเปรียบเปรยว่าเครื่องบินก็คือนก เฮลิคอปเตอร์เหมือนแมงปอ แต่บอลลูน เป็นผีเสื้อ ความงามของมันกลายเป็นสีสันที่แต่งแต้มให้โลกมีชีวิตชีวา บอลลูนไม่ได้มีไว้ใช้ เพื่อการเดินทาง เสน่ห์ของมันทำให้ผู้คนยังสนุกที่จะเล่นกันเป็นกีฬาและเอาไว้ใช้พักผ่อน ล่องลอยไปชมทิวทัศน์จากมุมสูงอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยมีการพัฒนารูปแบบและกลไกการใช้งานให้มีความสะดวกในการบังคับและเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น แต่หลัก การบินยังเป็นเช่นเดียวกับเมื่อมีการบินครั้งแรก

บอลลูนเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นมานานแล้ว สำหรับในเอเชีย มีเล่นกันอยู่บ้างประปรายในพม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีการนำบอลลูนอากาศร้อนมาทำการบินนานนับสิบปี โดยผ่านการนำบอลลูน มาจดทะเบียนจากต่างประเทศ และนักบินผู้ทำการบินถือใบอนุญาตต่างชาติทำการบิน เป็นการนำบอลลูนมาทำการบินในวาระพิเศษต่างๆ

คนไทยเพิ่งเล่นกันอย่างจริงจังขึ้นและถูกต้องตามกฎหมายเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เพราะในประเทศไทยถือว่าบอลลูนเป็นยุทธปัจจัย ดังนั้นการมีไว้ครอบครองและการนำมาใช้งาน ต้องขออนุญาตทั้งสองขั้นตอนจากกรมการขนส่งทางอากาศก่อน หากนำไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการทำผิดกฎหมายได้ไม่แตกต่างจากการมีอาวุธปืนเลยทีเดียว

บอลลูนเป็นอากาศยานที่คิดค้นขึ้นโดยพี่น้อง Joseph และ Ettienne Montgolfier ซึ่งได้ทำการทดลองเอาเป็ด ไก่ และแกะบินขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อ ค.ศ.1783 และในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้ทำการบินบอลลูนอากาศร้อนที่สร้างขึ้นจากจากกระดาษและผ้าไหมเป็นครั้งแรกที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เที่ยวบินนี้ใช้เวลา 22 นาที โดยมีนักบินเป็นบุคคลชั้นสูง 2 ท่าน จากพระราชวังของพระเจ้า Louis XVI

ในครั้งนั้นเที่ยวบินบอลลูนจากใจกลางเมืองปารีส ได้ลอยสูงขึ้นไป 500 ฟุต ก่อนที่จะลอยลงอย่างนิ่มนวลในไร่องุ่นซึ่งห่างออกมานับไมล์ สร้างความประหลาดใจแก่ชาวไร่เป็นอย่างมาก นักบินจึงมอบ Champagne ให้กับชาวไร่เพื่อเป็นการปลอบใจ และเฉลิมฉลองให้กับการบินครั้งแรกของมนุษย์ จนกลายเป็นประเพณีการดื่ม Champagne หลังเสร็จสิ้นการบินบอลลูน สืบทอดมาถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นไม่นาน บอลลูนก็แพร่เข้าในอังกฤษและอเมริกา จนกระทั่งในวันที่ 10 ตุลาคม 1960 มีการบิน รับผู้โดยสารเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นที่ Bruning, Nebraska ใน Raven โดยบอลลูนขนาด 30,000 ลูกบาศก์ฟุต ทำจากผ้า polyurethane coated nylon และใช้พลังงาน จากก๊าซโพรเพน

นับจากปี 1963 เป็นต้นมา การบินบอลลูนขยายตัว เติบโตอย่างต่อเนื่องจนเกิดการแข่งขัน U.S. national championships ขึ้นเป็นครั้งแรก สหรัฐอเมริกาได้ทำการพัฒนาบอลลูนสำหรับโดยสารอย่างต่อเนื่องมาเรื่อย

ช่วงทศวรรษ 60 มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ มีการใช้ผ้า using rip-stop nylon ซึ่งคงทนและปลอดภัย รวมถึงการใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิง และเป็นที่นิยมขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในยุโรปและอเมริกา

ช่วงทศวรรษ 70 เริ่มแพร่หลายไปยังออสเตรเลีย ทุกวันนี้เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีนักบอลลูนกว่า 5 พันราย

สำหรับประเทศที่มีการเล่นบอลลูนมากๆ นักบอลลูนจะมารวมตัวเพื่อทำการบินพร้อมๆ กันในสถานที่หนึ่ง โดยเรียกกิจกรรมนี้ว่า "Balloon Fiesta"ซึ่งถือเป็น กิจกรรมกลางแจ้งที่สมาชิกในครอบครัวจะมาสนุกสนาน ร่วมกัน และเป็นที่ดึงดูดให้มีผู้ไปร่วมชมงานครั้งละเป็นจำนวนมากๆ จนต้องจัดกันต่อเนื่องเป็นงานประจำปีไปในที่สุด

ในสหรัฐฯ และยุโรปมีการจัดชุมนุมบอลลูนตามสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ งานประจำปีของการชุมนุมบอลลูนที่มีบอลลูนเข้าร่วมมากที่สุดในโลกอยู่ที่เมือง Albuquerque รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบอลลูนจากทั่วโลกเข้าชุมนุม 700-1,000 ลูก จัดกันในช่วงต้นตุลาคมของทุกปี

งานชุมนุมระดับโลกที่มีจำนวนบอลลูนเข้าร่วมงานมากรองลงมาคือ ที่เมือง SAGA ประเทศญี่ปุ่น จะมีบอลลูนเข้าร่วมประมาณ 150-200 ลูก จะจัดกันในช่วงปลายพฤศจิกายน ในการชุมนุมบอลลูนระดับโลกแต่ละครั้งจะมีวาระการแข่งขันร่วมด้วย โดย FEDERATION AERONAUTIQUE INTERNATIONALE-Ballooning Commission (FAI) ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้กำกับดูแล และมีกติกาในการแข่งขันหลายแบบ

ปัจจุบันการบินบอลลูนกลายเป็นกิจกรรมที่นิยมเล่นและส่งเสริมในแวดวงการบินพลเรือน ไปทั่วโลก ดังนั้น "บอลลูนอากาศร้อน"จึงจัดเป็นอากาศยานมาตรฐานที่ต้องจดทะเบียนและ ตรวจสอบความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้ใช้งาน ขณะนี้มีการจดทะเบียนบอลลูนจากทั่วโลกแล้วกว่าหมื่นลูก ส่วนวงการบินบอลลูนของไทยยังเล่นกันไม่มากนัก เนื่องจาก การขอมีขอใช้อากาศยานเป็นเรื่องยุ่งยาก การบินบอลลูนก็มีเรื่องยุ่งยากกว่าการบินเครื่องบินปีกยึดทั่วไป ผู้จะบินบอลลูนต้องเรียนรู้เทคนิคต่างๆ และต้องมีผู้ช่วยทำการบินอย่างน้อยครั้งละ 2-3 คน เพื่อช่วยปล่อยบอลลูนและขับรถตามไปเก็บบอลลูน และขณะทำ การบินก็ต้องมีคนขึ้นไปด้วยอย่างน้อยครั้งละ 2 คนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับ การคำนวณน้ำหนักในการทำการบินแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้น้ำหนักที่เพียงพอจะทำการบินได้

ข้อสำคัญบอลลูนมีราคาแพงและสิ้นเปลืองมากกว่าอากาศยานปีกแข็งโดยทั่วไป บอลลูนแต่ละลูกต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากยุโรปมีราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทไปจนถึงลูกละ 10 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาด วัสดุที่ใช้และประเทศผู้ผลิต วัสดุที่ใช้ทำบอลลูนจะมีการนับอายุชั่วโมงที่ทำการบินด้วย

การบินแต่ละครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000-10,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่ขนาดของบอลลูน ส่วนการหัดเรียนบอลลูน ถ้าไปฝึกเรียนที่สหรัฐอเมริกาจะมีค่าใช้จ่ายคอร์สละ 1 แสนบาทขึ้นไป หากไปเรียนที่อังกฤษจะมีค่าใช้จ่ายคอร์สละ 2-3 แสนบาท

สำหรับในเมืองไทยยังไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการ การเรียนก็คือเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาการบิน (ประเทศไทย) แล้วก็ตามๆ กันไปฝึก ถ้าเล่นเพื่อการกีฬาต้องมีชั่วโมงบินครบ 16 ชั่วโมง ถ้าฝึกเพื่อบินเป็นอาชีพต้องมีชั่วโมงบินครบ 30 ชั่วโมง โดย มีครูที่ได้ใบอนุญาตแล้วมาสอน ก็สามารถสอบขอใบอนุญาต ได้ ดังนั้นผู้อยากบินต้องมีใจรักและสนใจอย่างแท้จริง

แม้กระนั้นก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยได้มีการออกใบอนุญาตจดทะเบียนบอลลูนและออกใบอนุญาตนักบินบอลลูน ส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์แล้ว โดยวันที่ 6 ธันวาคม 2549 กรมการขนส่งทางอากาศมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน และใบสมควรเดินอากาศสำหรับอากาศยานประเภทบอลลูน อากาศร้อนให้กับบริษัท ฟลายอิ้ง มีเดีย จำกัด เป็นครั้งแรก และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 มีการออกใบอนุญาตนักบินบอลลูนคนแรกและคนเดียวของไทยให้แก่ ร.อ.ชาย สุวัตถิ

ร.อ.ชาย สุวัตถิ เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีเพื่อนชาวต่างชาติมาชักชวนให้เล่นบอลลูน จึงสนใจและฝึกฝนอย่างจริงจัง จนกระทั่งไปสอบได้ใบอนุญาต ปัจจุบันเขามีชั่วโมงบินบอลลูน มากกว่า 50 ชั่วโมงแล้ว และเป็นที่ปรึกษาสมาคมกีฬาการบิน (ประเทศไทย) ด้วย เขากล่าวว่า

"การเล่นบอลลูนหัดบินไม่ยาก แต่ท้าทายกว่าการขับ เครื่องบิน โดยอาศัยประสบการณ์ รวมทั้งการควบคุมจิตใจตัวเอง เราต้องรู้กฎการจราจรอากาศ รู้สภาพอากาศ การติดต่อกับหอควบคุมการบิน (Radio Crophony) รู้จักสภาพ ร่างกายของตัวเอง หากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเกิดอาการ "โรคฝันหวาน"(Hypoxia) คือสมองขาดออกซิเจน ทำให้ตัวชาไม่ตอบสนองสิ่งรอบตัว คนที่เป็นโรคปัจจุบันทันด่วนก็ไม่ควรเล่น ตอนนี้คนไทยทั่วไปสนใจอยากฝึกบอลลูนกันมาก ขึ้น แต่ยังไม่มีระบบอะไรมารองรับ การเล่นกันเองเดี่ยวๆ มีปัญหาหลายอย่าง ควรมาร่วมกับสมาคมกีฬาการบินฯ จะช่วยให้เล่นได้ง่ายและสนุกกว่า"

สำหรับบริษัท ฟรายอิ้ง มีเดีย จำกัด นั้นได้ทำการบินบอลลูนเชิงพาณิชย์ โดยแบ่งออก เป็น 2 แบบ คือ การบินบอลลูน เพื่อโฆษณาสินค้า และการบินเพื่อท่องเที่ยวชมวิว ซึ่งได้เปิดจุดรับบริการที่จังหวัดเชียงใหม่และพัทยา ในช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ส่วนคนไทยมักมาใช้บริการเพราะติดตามมากับชาวต่างชาติ มากกว่า จะนิยมมาขึ้นบอลลูนเที่ยวกันเอง เพราะค่าบริการต่อครั้งราคามาก กว่าหมื่นบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่ขึ้นแต่ละเที่ยว

ทางบริษัทฯ และสมาคม กีฬาการบินฯ ได้ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้คนหันมาเล่นบอลลูนกันมากขึ้น โดยร่วมกันฝึกนักบิน บอลลูน ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนได้ด้วย มีคนทั่วไปสนใจขอเข้าร่วมฝึกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครสอบใบอนุญาตได้อีกเลย

ทั้งสององค์กรได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่อเนื่องเรื่อยมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เพื่อสร้าง ทีมนักกีฬาบอลลูนไทย (Balloon Adventure Thailand) ไปร่วมงานบอลลูนนานาชาติ โดยที่ผ่านมาได้ไปสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์มาแล้ว

ล่าสุดได้ดึงเอางานบอลลูนนานาชาติมาจัดกันที่พัทยาในช่วงปลายพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในงาน "Pattaya International Balloon Fiesta 2008" และได้รับความสนใจจากนักบอลลูนทั่วโลก โดยมีเป้าหมายอยากพัฒนาให้กลายเป็นงานประจำปีเหมือนที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว

ทีมบอลลูนไทยมีกิจกรรมการบินและแสดงกิจกรรมการบินบอลลูนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานที่ฟิลิปปินส์ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ร.อ.ชายแนะถึงการเล่นบอลลูนว่า

"การบินบอลลูนจะช่วยฝึกให้เราบริหารจัดการหลายอย่างระหว่างทำการบิน ทั้งเรื่องคำนวณทิศทางลม การคำนวณน้ำหนักก่อนขึ้น การบริหารการใช้พลังงานว่าจะใช้ถังแก๊สอย่างไรให้เป็นระบบไม่เกิดความสับสน ตอนเก็บบอลลูนจะทำอย่างไร ต้องค้นหาความถนัดของตัวเองจนมีเทคนิคเฉพาะตัว

การขึ้นบอลลูน อากาศจะพยุงทำให้เราตัวเบาลอยตามขึ้นไป "เหมือนได้ปลดปล่อย" ความสุขของการเล่นบอลลูน มันท้าทายตอนที่จะลง (Landing) ต้องรู้ทิศทางไปลงตรงไหน การบินลงแต่ละชั้นอากาศก็ไม่เหมือนกัน พื้นที่จะลงมีทั้งทุ่งนา ยอดไม้ ไร่มัน ไร่สับปะรด แม่น้ำหรือทะเล เราไม่สามารถร่อนลงจุดที่ต้องการได้เหมือนเครื่องบิน เพราะลมจะเปลี่ยน ทิศได้ ผมเคยถูกลมพัดวนกลับมาจุดเดิมถึง 3 ไฟลท์ หัวใจของการบินบอลลูนก็คือ... ศิลปะในการบังคับทิศทางลม...ให้เป็นประโยชน์ต่อการบินบอลลูน"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us