Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
ชวนกันดูหนัง...ย้อนดูตัวตน             
โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
 


   
search resources

Films
ชมรมคนรักหนังเก่า
สมบุญ เถกิงนาม




"ภาพยนตร์" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "หนัง" เป็นสื่อทรงพลังที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงอารมณ์รักโลภโกรธหลงได้อย่างล้ำลึก หนังดีๆ นับร้อยนับพันเรื่องสื่อสะท้อนความเป็นมนุษย์ด้วยการชำแหละตัวตนที่แท้จริงของผู้คน ผ่านการเรียงร้อยเรื่องเล่าให้โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม นอกจากจะทำให้เราสามารถเข้าใจโลกแล้ว ยังสั่งสอนคุณธรรมในการดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ตัว ถ้าเพียงแต่คุณ "ดูเป็น"

เสน่ห์ของหนังที่สามารถสะเทือนอารมณ์คนดูได้ทุกแง่มุม จึงเป็นมนต์ขลังที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย นอกจากจะดูหนังด้วยความเพลิดเพลิน แล้ว บางคนถึงขั้นหลงใหลเฝ้าเวียนดูเรื่องเดิมซ้ำๆ ไม่รู้เบื่อ ซึ่งในบรรดา คนเหล่านั้น สมบุญ เถกิงนาม พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หลงรักหนังจนกระทั่งได้ริเริ่ม "ชมรมคนรักหนังเก่า" (Classic Movies Fan Club) ชวนคนที่รักหนังมารวมตัวกันแลกเปลี่ยนหนังไปดู

"ผมดูหนังคนเดียวมานาน เก็บหนังด้วยตัวคนเดียวมานาน ที่แล้วๆ มาเหมือนอึดอัดอยู่คนเดียว แล้วมันยากที่จะเจอคนที่ชอบเหมือนๆ กันและคุยกันอย่างเข้าใจ พอได้เจอคนคอเดียวกัน มันรู้สึกสนุก อยากจะต่อยอดคุยกันไปเรื่อยๆ"

เขาหลงรักหนังเมื่อไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเริ่มรู้จักหนังตั้งแต่อยู่ชั้น ป.1-2 เพราะเมื่อยังเด็กต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของหน้าโรงหนังแถวสยามสแควร์อยู่เสมอ ทำให้คุ้นเคยกับหนังหน้าโรง บางวันก็มีโอกาสเข้าไปดูในโรงโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ประกอบกับพี่ชายอ่าน "สตาร์พิค"ซึ่งเป็นนิตยสาร ด้านภาพยนตร์เล่มแรกๆ ของไทยมาก่อน ก็ได้อาศัยอ่านตามๆ กันมาเรื่อยจนหลงใหลหนังโดยไม่รู้ตัว

นอกเหนือจากการดูหนังอย่างบันเทิงอารมณ์ หนังที่ออกโรงไปยังตรึงใจให้โหยหาอยากเวียนกลับมาดูซ้ำ บางเรื่องตามดูไม่ทันออกโรงไปเสียแล้ว พอที่บ้านเริ่มมีเครื่องเล่นวิดีโอ เขาจึงหาซื้อหนังมาดูสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปโดยอัตโนมัติ

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าจนเกิด "หนังแผ่น"ก็ทำให้การสะสมหนังทำได้ง่าย มีหนังดีๆ ในรูปแบบซีดีหรือดีวีดีมากมาย ราคา 10-20 บาท ไปจนถึง 3 แผ่น 100 บาท หาซื้อได้ตามตลาดนัดแบกะดิน โดยเฉพาะคลองถม หนังหายากก็สั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ที่คอหนังรู้จักกันดีอย่าง

"แว่นวิดีโอ"

ดูหนังมานับพันเรื่อง เขามีแนวหนังเฉพาะที่โดนใจ สำหรับเขาแล้ว หนังที่สะสมจะเป็นหนังดรามาที่ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีศิลปะ นำเสนอสาระในแนวมนุษยนิยม ประเภทชำแหละความเป็นมนุษย์ทุกแง่มุม หรือหนังเขย่าขวัญกดดันอารมณ์คนดูให้ลุ้นระทึก เป็นหนังที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ โลกและสัจธรรมผ่านตัวละครที่โลดแล่นราวกับมีชีวิต เขาเชื่อว่าหนังเปลี่ยน ชีวิตคนได้

"พอดูหนังมาเยอะ หนังเปลี่ยนเราได้ ทั้งการดำเนินชีวิต แนวคิด เกือบทุกด้าน เช่น มีผลต่อสุขภาพ เป็นเข็มทิศชี้ชีวิตเราให้เดินไปทางไหน ช่วยสอนการเลี้ยงลูก หนังมีอิทธิพลต่อตัวเรา ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละบุคคล การศึกษาสำหรับผมคือการศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิต การที่เรามานั่งคุยกัน เราก็ศึกษาได้ เราสามารถที่จะรับรู้และดัดแปลงนำมาใช้ในชีวิตได้"

เขาเรียนรู้ชีวิตผ่านการดูหนังมาตลอด จึงดูหนังต่างจากคนอื่น โดยมีพื้นฐานจากการเป็นหนอนหนังสือและสะสมเพลง โดยเฉพาะแนวโปรเกรสซีฟร็อกไปในเวลาเดียวกัน ทำให้มีข้อมูลมากมาย ช่วยเสริมให้การดูหนังได้ล้ำลึกมากกว่าคนทั่วไป

นอกจากหนังแนวดรามา เขายังสะสมงานของผู้กำกับมือฉกาจ เช่น ชาลี แชปปลินส์, อากิระ คุโรซาว่า, อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก, เฟรดเดอริโก เฟอนินี, อิงมา เบิร์กแมน, ฟรังก์ซัวร์ รุสโซ, จางอี้โหมว, ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, เพิ่มพล เชยอรุณ, เปี๊ยก โปสเตอร์, คิด สุวรรณ-ศร, นนทรี นิมิตบุตร, ศิริลักษณ์ มะลิกุล เป็นต้น เขาแนะการดูหนัง ให้สนุกว่า

"บางคนไม่ชอบดูหนัง บางคนดูผ่านๆ พอเพลินๆ บางคนดูเพราะชอบฉากเดียว หรือบางคนชอบดูเทคนิคในหนังกำลังภายใน เทคนิคการดูหนังของผมคือ "ต้องรักจริงๆ"ถึงจะได้อะไรจากหนังเรื่องนั้นและต่อยอดไปได้เอง แล้วเราจะสนุกยิ่งขึ้นถ้าดูหนังเป็นนั่นคือต้องมีข้อมูลจากการอ่าน ทำให้ได้ข้อคิดจากหนังมาแสวงหาหรือวิเคราะห์อะไรต่างๆ จนปรับเปลี่ยนทัศนคติ เป็นอุทาหรณ์สอนใจได้"

เขาเริ่มตั้งชมรมคนรักหนังเก่ามาตั้งแต่ พ.ศ.2546 ด้วยเหตุบังเอิญที่ไปเลือกซื้อหนังจากร้านตลาดนัดติดแอร์ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วมีโอกาสรู้จักพูดคุยกับอดีตดาราภาพยนตร์ "จักรกฤษณ์ พันธุ์ชัย"ซึ่งปัจจุบันทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง และชอบหาซื้อหนังแผ่นมาสะสมเช่นกัน

ปัจจุบันชมรมฯ ยังมีสมาชิกไม่ถึง 10 คน ส่วนใหญ่มักจะเป็น ผู้สูงวัย เพราะมีเวลาว่างมากพอที่จะนั่งดูหนังเป็นงานอดิเรก ต่อยอด ให้กลายเป็นงานหลักของชีวิตได้ กฎกติกาของการเข้าร่วมกลุ่มก็แค่ "เป็นคอเดียวกัน" การรับสมัครก็เพียงชวนกันมาคุย ถ้าถูกคอไว้วางใจ กันได้ก็เป็นสมาชิกทันที สิทธิที่ได้คือ หากใครกำลังหาหนังเรื่องไหน มาดู แล้วไปแสวงหาที่ไหนก็ไม่เจอ ลองพูดคุยกันในกลุ่ม โดยมีสมบุญ เป็นศูนย์กลางข่าวสาร ก็ยืมหนังจากกรุของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยน กันดูเท่านั้นเอง

สำหรับตัวเขาเองมีความฝันในใจที่ต่อยอดงานของชมรมฯ คือ การเขียนบทความเผยแพร่ความรู้เรื่องหนัง เพื่อร่วมสร้างความรู้สึกรักหนังดีๆ ที่ลาโรงไป ซึ่งเขาเริ่มทำแล้ว โดยได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร "ต่วยตูน" ส่วนงานอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาตามแต่เวลา ในชีวิตจะเอื้ออำนวยคือ การจัดหนังมาฉาย แล้วชวนคอหนังมาคุยถึงหนังรักหนังโปรด ร่วมกับสมาคมปัญญาภิวัฒน์ของเครือบริษัทซีพี

ส่วนความฝันอีกยาวไกล เพราะตั้งเป้าว่าจะทำหลังเกษียณอีก 10 กว่าปีข้างหน้าคือ การนำหนังและของสะสม ทั้งหนังสือ เพลง ตั๋วหนัง รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหนัง มาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดง เหมือนงานของเอนก นาวิกมูล หรือโดม สุขวงศ์ เพราะปัจจุบันยังมีภาระการงานรัดตัว และไม่ได้มีทุนทรัพย์มากพอจะทำได้โดยลำพัง

ทว่าเสน่ห์ของหนังเร้าใจจนอยากแบ่งปันความรู้สึกที่สะสมมานานให้กับคนอื่นๆ ได้ดื่มด่ำเช่นกัน เขามีหนังโปรดที่อยากแนะนำ ให้หามาดู อาทิ

เดอะ ก็อด ฟาเธอร์ ถือได้ว่าเป็นหนังแนวแก๊งสเตอร์ที่สมบูรณ์แบบ เข้าขั้นอมตะคลาสสิก

หนังของชาลี แชปปลินส์ ที่บางคนดูว่า เป็น "ตลกไม่มีอะไร" แต่สะท้อนแก่นแท้ความ เป็นคน ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวและความ โลภ อันนำมาซึ่งหายนะ และต่อต้านสังคมที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวและความโลภของคนอย่างระบบทุนนิยม โดยมี 3 เรื่องเด่นที่ไม่ควร พลาดคือ โมเดิร์น ไทม์, ซิตี้ ไลฟ์ และเดอะโกลด์ รัช (ตื่นทอง) ไลฟ์ อีส บิวตี้ฟูล ของโรเบโต้ เบนินี สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้คนเราจะอยู่ในขั้นวิกฤติ แค่ไหน ถ้าเรามีความหวัง มีจิตใจที่จะสู้ หรือมุมานะพยายาม ก็จะผ่านปัญหาไปได้ ช่วยเป็น กำลังใจในชีวิตจริงได้

โน คันทรี ฟอร์ โอลด์แมน เป็นอีกเรื่อง ที่เตือนใจเรื่องความโลภนำมาซึ่งหายนะ

สิ่งที่ได้จากประสบการณ์ดูหนังของเขา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า หนังนอกจากจะเป็นสื่อให้ความเพลิดเพลินที่สมบูรณ์แบบ อย่างไม่มีอะไรมาเทียบเคียงได้แล้ว มันยังทำให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้รู้จักโลกและสังคมได้อย่างถึงแก่น โดยไม่ต้องมานั่งสั่งสอนกันให้เหนื่อยหน่ายแม้แต่น้อย เขาทิ้งท้ายว่า

"หนังแนวมนุษยนิยมในหนังฝรั่งและหนังไทยมีลักษณะต่างกัน ผมว่าหนังไทย "ไม่ยอมคลี่คลาย" ปมปัญหาที่ผูกขึ้นมา เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ อะลุ้มอล่วยกัน ไม่คลี่คลายเพื่อแก้ปัญหาให้ถึงรากถึงโคน เช่น ในทองพูน โคกโพฯ สุดท้ายทองพูนก็ต้อง ยอมจำนนต่อระบบ แบบ "ปลาเล็กเป็นเหยื่อปลาใหญ่" คนจนยังไงก็สู้คนรวยไม่ได้ อย่างเรื่องเทพธิดาโรงแรม ก็เป็นโศกนาฏกรรม ไม่มี ทางออกของปัญหาในตอนจบ ไม่เหมือนหนังตะวันตก ผมว่าสังคมของเขาเจริญกว่าเรา บางเรื่องบางปัญหา เขามีทางออกหรือคลี่คลาย ไปได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us