กลายเป็นประเพณีไปแล้วสำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวในวงการไอทีด้วยการฟังสปีชของเหล่าผู้บริหารยักษ์ใหญ่ในวงการไอที
หลายๆ คนที่ขาดไม่ได้เลย ก็ได้แก่ บิล เกตต์ จากไมโครซอฟท์ และสตีฟ จ็อบ จากแอปเปิล ซึ่งถือเป็นระดับตำนานและสามารถทำให้เห็นภาพในวงการได้อย่างชัดเจน รวมถึงอีกหลากหลายผู้บริหารจาก กูเกิ้ล, ไอบีเอ็ม, ออราเคิล และอื่นๆ อีกมากมาย
ฉบับนี้เรามาติดตามอนาคตของไมโครซอฟท์กันจากแนวความคิดของเรย์ ออซซี่ (Ray Ozzie) ในฐานะตัวตายตัวแทน ของบิล เกตต์ และผู้กุมชะตาชีวิตที่สำคัญ ของไมโครซอฟท์กัน
ในงาน TechReady ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ภายในบริษัทไมโครซอฟท์ เป็นงานที่จัดขึ้นปีละสองครั้ง มีพนักงานไมโครซอฟท์จากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมงาน ในงานมีการแสดงสินค้าในหลากหลายกลุ่ม ของไมโครซอฟท์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าที่จะเปิดตัวในปีนั้นๆ
ที่สำคัญ ในงานนี้จะเป็นที่ที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงจะได้มาแสดงวิสัยทัศน์ของพวกเขาสำหรับอนาคตที่กำลังเดินเข้ามาหา รวมถึงการตอบคำถามของเหล่าพนักงานให้หายข้องใจ
ล่าสุดในงานประชุมสุดยอด TechReady 2008 ซึ่งมีพนักงานไมโครซอฟท์กว่า 6,000 คนเข้าร่วมงานนั้น เรย์ ออซซี่ ในฐานะ CSA หรือ Chief Software Architect ซึ่งเขามารับช่วงต่อจากบิลล์ เกตต์ได้รับเชิญมาพูดในงานนี้ด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องปกติสามัญที่จะเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ สำหรับเรย์ ออซซี่ ถึงแม้ว่าเขาจะเข้ามาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ตั้งแต่ปี 2005 และ ในปีถัดมาก็มารับช่วงต่อการเป็น CSA จาก บิลล์ เกตต์ทันที ซึ่งปัจจุบันถือว่าเขาเป็นเหมือนหน่วยประมวลผลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดของไมโครซอฟท์ที่จะขาดเขาไปไม่ได้เลยแม้วินาทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เขาก็แทบจะไม่เคยมากล่าวอะไรในงานสัมมนา TechReady อย่างนี้มาก่อน ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าอยาก จะรอจนกระทั่งเขามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากพอที่จะไปโชว์ให้พนักงานไมโครซอฟท์ทั้งหมด เห็น และล่าสุดเขาก็พร้อมแล้ว
สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถือว่าเป็นยุคสมัยของพวกเขาอย่างแท้จริง แต่เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษปัจจุบัน กูเกิ้ลได้ก้าวเข้ามาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่แอปเปิลโด่งดังทะลุฟ้าจาก iPod และ iPhone ของพวกเขา แต่สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว พวกเขากลับต้องจมจ่อมอยู่กับความผิดพลาดและล้มเหลวของ Windows Vista
นักวิเคราะห์หลายๆ คนให้ความเห็นว่า ไมโครซอฟท์ได้ผ่านจุดสูงสุดของพวกเขามาเรียบร้อยแล้ว และไมโครซอฟท์ จะเริ่มเหี่ยวเฉาและหายไปจากวงการในที่สุด อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พวกเราลืมสิ่งที่ไมโครซอฟท์ยังเป็นอยู่ในปัจจบัน คอมพิวเตอร์เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกยังคงติดตั้งวินโดวส์อยู่ นั่นหมายความว่าไมโครซอฟท์ยังมีทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่อยู่ในมือ ถ้าพวกเขาหาคนที่จะมาจัดการทรัพยากรนี้ได้อย่างลงตัวล่ะก็ พวกเขาก็จะยังคงรักษาสัดส่วนเดิมในทรัพยากรเหล่านี้ไว้และอาจจะเพิ่มเติมสัดส่วนในอนาคตได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา ผู้คนได้เริ่มเห็นความแปลกใหม่ของหน้าตา หรืออินเตอร์เฟซของไมโครซอฟท์ออฟฟิศที่เพิ่มความง่ายในการใช้งานให้มากขึ้น รวมถึงไมโครซอฟท์ ที่ใช้ศักยภาพทางด้านการเงินของตัวเองในการผลักดันให้วิสต้าเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ที่ผลิตใหม่ทุกเครื่อง
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไมโครซอฟท์ มีศักยภาพสูงอยู่แล้วในเรื่องการก้าวขึ้นมาจากหลุมหรือการฟื้นตัวกลับมา พวกเขาเก่งเอามากๆ ไมโครซอฟท์กำจัด Borland, Real และ Netscape ออกจากตลาดไปได้หลังจากควบแข่งกันเป็นเวลายาวนาน ในขณะที่หลายๆ คนมองว่าไมโครซอฟท์คงจะแพ้ หรือหลายๆ คนก็แช่งให้แพ้แต่พวกเขาก็เอาชนะมาได้ทุกครั้งไป
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป บิลล์ เกตต์ ประกาศถอยจากทุกตำแหน่งที่ต้องทำงาน รับผิดชอบแบบวันต่อวันในบริษัทไมโครซอฟท์ไป รวมถึงการส่งมอบตำแหน่ง CSA ให้กับเรย์ ออซซี่ ในขณะที่สตีฟ บัลเมอร์ (Steve Ballmer) ก็ดูแลในส่วนธุรกิจของไมโครซอฟท์ในฐานะซีอีโอ และเคร็ก มันดี้ (Craig Mundie) รับผิดชอบในฐานะ Chief Research and Strategy Officer
เรย์ ออซซี่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในห้าโปรแกรมเมอร์ที่เยี่ยมที่สุดในโลกในศตวรรษนี้ เขามีประวัติที่น่าจดจำมากมาย โดยหนึ่งนั้นในฐานะเป็นผู้สร้าง Symphony และ Lotus Notes ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่มี ชื่อเสียงมากทางด้านการใช้งานร่วมกันในองค์กร
จากงานสัมมนา เรย์ ออซซี่ให้ภาพ อนาคตที่ชัดเจนมากของไมโครซอฟท์ โดยเขาต้องการเปลี่ยนไมโครซอฟท์จากองค์กรที่มีรูปแบบทั่วๆ ไปคือผลิตซอฟต์แวร์ บรรจุกล่องและขาย หลังจากนั้นก็ออกเวอร์ชั่นใหม่มาเรื่อยๆ นั้นให้กลายเป็นองค์กรแบบ cloud-computing ซึ่งมีโมเดลแบบซอฟต์แวร์บวกกับบริการ โดยทางบริษัทและลูกค้าจะติดต่อกันโดยตรงอย่างใกล้ชิด
สำหรับ Cloud Computing ที่ว่านั้นก็คือ อินเทอร์เน็ตนั่นเอง โดยมองอินเทอร์เน็ตว่าเป็น Cloud หรือกลุ่มก้อนเมฆ ซึ่งสร้างภายใต้โครงสร้างของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยทรัพยากรต่างๆ ในระบบจะถูกจัดหาเพื่อมาให้บริการในลักษณะต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตให้กับผู้ใช้บริการต่างๆ ซึ่งพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมายนักหรือเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี
เรย์ ออซซี่ต้องการให้ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ต โดยเขามองว่าเขาจะต้องทำให้ไมโครซอฟท์ไม่ถูกทิ้งให้วิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลงในโลกไอทีเหมือนที่พวกเขาต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี Search Engine ของกูเกิ้ลในทุกวันนี้และยังคงตาม ไล่ไม่ทัน ไมโครซอฟท์มีแนวคิดเกี่ยวกับ cloud computing ที่หลากหลายอันเกิดจากการที่พวกเขาเข้าครองครองตลาดพีซีส่วนใหญ่ของโลก นอกจากนี้การจะเปลี่ยน คอนเซ็ปต์ของบริษัทที่มีพนักงาน 90,000 คนและมีรายรับปีละ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กลายเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างใดเลย
เรย์ ออซซี่ได้ปรับแนวคิดของ Cloud Computing ใหม่โดยให้งานส่วนใหญ่จะถูกทำให้เสร็จใน Cloud และคอมพิวเตอร์ตามโต๊ะแต่ละเครื่องจะใช้งาน หลักในการทำงานแบบออฟไลน์และการเก็บข้อมูล แนวคิดของเรย์ ออซซี่คล้ายๆ กับของ Apple iTunes ซึ่งแอพพลิเคชั่นใน เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมเพลงในฮาร์ดดิสก์ ส่วนแอพพลิชั่นที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะสามารถสร้างรายได้จากการขายเพลงในร้านเพลง หรือ Music Store
เรย์ ออซซี่จะนำไมโครซอฟท์ให้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของ Cloud Computing ด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ 3 ตัวคือ
Windows Azure เป็นวินโดวส์ เวอร์ชั่นสำหรับใช้ใน Cloud โดยเฉพาะ โดยเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นภายใต้โค้ดเนม Red Dog' ซึ่งจะมาประชันกับ App Engine ของกูเกิ้ล และ EC2 ของอเมซอน ซึ่งจะออกเผยแพร่เร็วๆ นี้ เมื่อพิจารณาถึงทรัพยากรของไมโครซอฟท์ที่มีอยู่ในมือแล้ว รวมถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นี่อาจจะเป็นสปริงตัวสำคัญที่ทำให้ไมโครซอฟท์กลับมาผงาดอีกครั้งได้อย่างไม่ยากนัก
Live Mesh เป็นโครงการที่เรย์ ออซซี่ต้องการใช้เพื่อทำให้สามารถใช้งานทรัพยากรร่วมกันในอุปกรณ์เครื่องมือแต่ละ ชนิด ตั้งแต่พีซี, โน้ตบุ๊ก, เครื่องแมค, โทรศัพท์มือถือ, กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และอื่นๆ โดยเน้นหนักที่การใช้งานที่ไหนเมื่อไร ก็ได้ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปที่ต้องการจะดึงข้อมูลเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาต้องการ และมากเท่าไรก็ได้ นั่นหมายความว่า Live Mesh คงต้องรับศึกหนักแน่นอนถ้ามันใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์คงต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญ เพราะแอปเปิลก็เพิ่งออกแพลทฟอร์ม ใหม่ที่เรียกว่า MobileMe แต่ MobileMe ยังติดปัญหาอยู่ตรงที่มันไม่สามารถรองรับอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่หลากหลายพอและมันก็ไม่ได้สนับสนุนไฟล์ชนิดต่างๆ มากพอด้วยเช่นกัน ซึ่งเรย์ ออซซี่ก็สามารถ ใช้มันเป็นกรณีศึกษาที่จะมาปรับใช้กับ Live Mesh ได้ต่อไป
Office Online นี่เป็นสัญญาณสำคัญว่า ไมโครซอฟท์ออฟฟิศเวอร์ชั่นต่อๆ ไปอาจจะไม่ต้องติดตั้งในเครื่องของเราอีกต่อไปแล้ว ในงาน TechReady 2008 เรย์ ออซซี่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้และทำงานร่วมกันโดยตรงกับไฟล์สเปรดชีทอย่าง Microsoft Excel สิ่งสำคัญที่เรย์ ออซซี่พยายามนำเสนอก็คือ การยกระดับความน่าเชื่อถือของการใช้งานในลักษณะนี้ รวมถึงการทำให้ Cloud ของไมโครซอฟท์ เป็นบริการฟรี
นอกจากการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์โมเดลการทำธุรกิจของไมโครซอฟท์แล้ว เรย์ ออซซี่ยังพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของไมโครซอฟท์ใหม่ด้วย โดยเดิมจะทำงานเป็นกลุ่มใหญ่แต่เรย์ ออซซี่ เลือกที่จะสร้างทีมขนาดเล็กๆ ขึ้นมาโดยมีคนไม่เกิน 150 คนสำหรับการทำแต่ละโครงการ โดยกลุ่มคนเหล่านี้สามารถปรับขยายได้ตามสภาพงาน ในยุคของบิลล์ เกตต์ เขาเน้นการทำงานแบบครอบครัวใหญ่ แต่เรย์ ออซซี่ต้องการจะให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่เกิดขึ้นในไมโครซอฟท์
ถ้ามองไพ่ในมือของไมโครซอฟท์ คงกล่าวได้ว่า พวกเขาสามารถกินรวบได้ไม่ยากนัก ปัญหาก็คือ ไมโครซอฟท์จะรอให้วนมาถึงรอบที่พวกเขาจะได้วางไพ่หรือเปล่า หรือไมโครซอฟท์จะโดนยื้อเวลาให้ยาวนานขึ้น และถ้าถึงวันนั้น ไพ่ดีๆ ในมือ อาจจะเหลือน้อยเต็มทีแล้วก็ได้
อ่านเพิ่มเติม :
1. Keizer, G. (2008), Windows market share dives below 90% for first time,' Computer World, Dec 1, 2008, http://www.computerworld.com/action/ article.do?command=viewArticleBasic&articleId=9121938
2. Ray Ozzie's Microsoft, http://rohit-mishra.blogspot.com/
3. Levy, S. (2008), Ray Ozzie Wants to Push Microsoft Back Into Startup Mode, Wired, Dec 2008, pp.170-179, 214
|