ภาพลักษณ์ของหลวงพระบางที่ติดตาติดใจนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ คงจะเป็นบรรยากาศของเมืองมรดกโลกอันเงียบสงบที่วิถีชีวิตดำเนินไปอย่างช้าๆ นักท่องเที่ยวพร้อมชาวบ้านท้องถิ่นร่วมเรียงแถวตักบาตรข้าวเหนียวกับพระสงฆ์กว่า 200 รูปในยามย่ำรุ่ง สีเหลืองทองอร่ามของหลังคาอุโบสถอายุอานามกว่า 500 ปี ที่สะท้อนล้อกับแสงแดดแห่งรุ่งอรุณ สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านสีสันสดใส งดงาม รวมทั้งเครื่องเงินสีขาวแวววาวที่ชาวบ้านนำมาวางเรียงรายเพื่อรอการจับจ่ายซื้อหาจากนักท่องเที่ยวตลอดค่ำคืนบนถนนคนเดิน "สีสะหว่างวง"
แต่ภาพเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปในเวลาอีกไม่ช้า
คลื่นกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังก่อตัวในหลวงพระบาง ทั้งจากนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของภาครัฐ และจากความต้องการที่เปลี่ยน ไปของเด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เริ่มเบื่อหน่ายการนุ่งผ้าซิ่น และรำคาญกับการไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงอาคารบ้านเรือนของตนได้ เพราะติดการเป็น "มรดกโลก" ของเมือง
ข้อมูลจากแผนกแผนการและการลงทุน (Department of Planning and Investment) ในหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงแผนการและการลงทุน ระบุว่าโครงการด้านการลงทุนขนาดใหญ่จากประเทศเกาหลีใต้ กำลังจะมาถึงหลวงพระบาง โดยจะเป็นโครงการสร้างเมืองใหม่ ชื่อ Diamond City บนเนื้อที่กว่า 180,000 ไร่ ในเขตจอมเพ็ด (Chomphet District) ซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับตัวเมืองซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์มรดกโลก
Diamond City จะเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทนครหลวงนิวเซ็นจูรี่ (Nakornluang New Century Company) ของลาว กับบริษัทจากเกาหลีใต้อีก 10 บริษัท ซึ่งมีบริษัท KPL Development เป็นตัวแทน
โครงการนี้จะให้บริการทั้งในด้านการท่องเที่ยว การเงิน และการพักผ่อนหย่อนใจ โดยจะมีการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว อพาร์ตเมนต์ รีสอร์ต ธนาคาร ศูนย์การค้า บริการด้านการเกษตร สนามกอล์ฟขนาด 36 หลุม และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย มูลค่าการลงทุนรวมแล้วถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้นักลงทุนจะต้องก่อสร้าง สาธารณูปโภคให้แก่ภาครัฐ เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา โทรคมนาคม สวนสาธารณะ รวมทั้งก่อสร้างถนนจากเขตจอมเพ็ดของแขวงหลวงพระบาง ไปยังเขตหงสา (Hongsa) ในแขวงไซยะบุลี และ สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเมืองหลวงพระบางกับหมู่บ้านเชียงแม้น (Xiengman) ในเขตจอมเพ็ดให้อีกด้วย
สัมปทานการเช่าพื้นที่ในเขตจอมเพ็ด เพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะมีอายุ 50 ปี โดยนักลงทุนสามารถยื่นขอต่ออายุสัมปทานได้อีก 20 ปี ก่อนที่กรรมสิทธิ์จะกลับไปเป็นของรัฐบาล สปป.ลาวดังเดิม
ทองพัน รัดตะนะสะไหม ผู้บริหารของบริษัทนครหลวงนิวเซ็นจูรีกล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐบาลลาว และอยู่นอกเขตเมือง มรดกโลก ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน
นั่นหมายความว่า การเวนคืนที่ดินอาจไม่เป็นปัญหาน่าปวดหัวเหมือนกับโครงการด้านการลงทุนอีกมากมายในแขวง สะหวันนะเขตของลาว ที่รัฐให้สัมปทานที่ดินแก่ภาคเอกชนของต่างชาติเป็นหมื่นๆ ไร่ รวมทั้งบริษัทน้ำตาลมิตรผล และโรงงาน กระดาษดั๊บเบิ้ลเอของไทย แต่ภาคเอกชนกลับต้องเผชิญกับปัญหาการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้าน ซึ่งเข้าไปจับจองพื้นที่ป่าเป็นที่ดินทำกินของตนเอง และรัฐบาลของแขวง บอกให้เอกชนกับชาวบ้านตกลงกันเอง
ข่าวจาก Voice of America กล่าวว่าเมื่อต้นปี พ.ศ.2551 เจ้าหน้าที่แขวง ของหลวงพระบาง เริ่มโยกย้ายชาวบ้าน กว่า 700 หลังคาเรือนจาก 5 หมู่บ้านในเขตจอมเพ็ดออกจากพื้นที่ เพื่อเคลียร์พื้นที่ ให้แก่บริษัท โดย 80% ของชาวบ้านยินยอม ที่จะย้ายออกจากพื้นที่และรัฐสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้าน ในอัตรา 2,500 เหรียญสหรัฐต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่)
เขตจอมเพ็ด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,241 ตารางกิโลเมตร ประชากรทั้งหมด 29,698 คน แบ่งเป็น 67 หมู่บ้าน 5,010 หลังคาเรือน มีประชากรที่ยากจนทั้งหมด 156 หลังคาเรือน สถิติจากแผนกแผนการและการลงทุนของหลวงพระบาง ระบุว่าเขตจอมเพ็ดนั้นไม่มีโรงแรมสักแห่ง มีเพียงเกสต์เฮาส์ 1 แห่งเท่านั้น
นอกจากโครงการ Diamond City แล้ว โครงการด้านการลงทุนอีกมากมายกำลังจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รอบๆ ตัวเมือง มรดกโลก เช่นอีกโครงการหนึ่งในเขตจอมเพ็ด คือโครงการก่อสร้างรีสอร์ตขนาด 200 ห้องและสนามกอล์ฟขนาด 27 หลุมบนเนื้อที่กว่า 900 เฮกตาร์ (5,625 ไร่) มูลค่าทั้งหมด 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทสัญชาติเกาหลีเป็นผู้ได้รับสัมปทาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2010
นอกจากทุนจากเกาหลีแล้ว หลวงพระบางยังเปิดรับการลงทุนจากประเทศอื่น รวมทั้งเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่กำลังไหลทะลักสู่เมืองมรดกโลกเล็กๆ แห่งนี้
เช่น โครงการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ชื่อ "คุนหมิง" ขนาด 200 ห้อง บนพื้นที่ 30 เฮกตาร์ ห่างจากตัวเมืองเก่าไป 5 กิโลเมตร โดยทางการได้ตกลงทำสัญญากับนักลงทุนชาวจีนไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2550 หรือโครงการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาล ให้เป็นโรงแรมหรูขนาด 20 ห้อง โดยบริษัท Aman Resorts ของอินโดนีเซีย โครงการพัฒนาพื้นที่ของโรงเรียนประถม บ้านวัดนน บนถนนสักกะลิน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า บนถนนคนเดิน รวมทั้งโรงเรียนศิลปากรที่อยู่ติดกัน ให้เป็น tourist complex
รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขยายสนามบินหลวงพระบาง ซึ่งทางรัฐบาลแขวงได้ทำเรื่องขออนุมัติเงินกู้จากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เมื่อปี 2548 เพื่อพัฒนาให้สนามบินมีความทันสมัย รองรับการเติบโตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) นอกจากนี้หลวงพระบาง ยังได้รับเงินกู้จาก Japanese Bank for International Cooperation (JBIC) อีก0.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้โครงการ "Luang Prabang Tourism Sector Development Project"ที่จะถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวต่างๆในหลวงพระบาง
อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,410 เมกะวัตต์บนแม่น้ำโขง ในแขวงหลวงพระบาง เพื่อส่งออกไปยังเวียดนาม โดยเป็นเงินทุนจาก เวียดนาม มูลค่าของโครงการกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ในปี 2010 และจะแล้วเสร็จในปี 2016
องค์การยูเนสโกซึ่งดูแลแหล่งมรดก โลกได้เข้ามาสำรวจและประเมินผลกระทบที่โครงการการลงทุนเหล่านี้จะมีต่อความเป็น "มรดกโลก" ของหลวงพระบาง โดยวิเคราะห์ไว้ในรายงาน Mission Report ลงวันที่ 3 มีนาคม 2008 ว่า โครงการก่อสร้างมากมายในหลวงพระบางนี้เสี่ยงต่อการทำลายการเป็นเมืองมรดกโลกของหลวงพระบางยิ่งนัก เพราะการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค รวมทั้งถนนหนทาง สะพานข้ามแม่น้ำ โรงแรมขนาดใหญ่ ฯลฯ จะก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองหลวงพระบางให้เป็นชุมชนเมือง (urbanization) มากยิ่งขึ้น การจราจรจะหนาแน่นขึ้น การพัฒนาพื้นที่ป่าให้เป็นรีสอร์ตจะเป็นการเปิด แขวงหลวงพระบางให้รับกับการท่องเที่ยว ขนาดใหญ่ ให้ไหลทะลักเข้ามาสู่หลวงพระบางมากขึ้น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะสร้างแรงกดดัน (pressure) ให้แก่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงและทำลายเอกลักษณ์ ของหลวงพระบาง ที่แม้จะเป็น "เมือง" แต่ก็ยังคงรักษาวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาหลายร้อยปี รวมทั้งวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ จนสิ้นเชิง ในอีกไม่กี่ชั่วอายุคนนี้
การเปลี่ยนแปลงอาคารของโรงพยาบาลและโรงเรียน เพื่อให้กลายมาเป็นเพียงโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้นจะมีผลกระทบต่อสังคมและการดำเนินชีวิต ของชาวหลวงพระบาง เมื่อโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่เด็กๆ เคยปั่นจักรยานหรือเดินเท้ามารับการศึกษาทุกเช้า กลับกลายเป็นทำเลทองทางธุรกิจ เป็นการถูกต้องแล้วหรือที่ชาวบ้านและคนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยและเด็กเล็กๆ จะต้อง ยอมสละพื้นที่ใช้สอยของตัวเอง เพื่อหลีกทางให้แก่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมือง และความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหลวงพระบาง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเพียง 44,538 คนในปี 2541 เป็น 311,645 คนในปี 2551 หรือ 599% ภายในเวลา 10 ปี
อีกหนึ่งโครงการที่ได้มีการยื่นเสนอเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของหลวงพระบาง คือการปรับปรุงและขยายพื้นที่ของสนามบินปัจจุบัน ซึ่งองค์การยูเนสโก้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ทั้งนี้เพราะการขยายสนามบินจะทำให้ตัวสนามบินสามารถรองรับเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่ได้ แต่เนื่องจากที่ตั้งของ สนามบินปัจจุบันอยู่ใกล้กับตัวเมืองมาก (เพียง 4 กิโลเมตรจากเมือง สามารถขี่จักรยานจากเมืองไปถึงภายในเวลา 20 นาที) ทำให้การร่อนลงจอดของเครื่องบินขนาดใหญ่ จะส่งผลกระทบด้านมลพิษทาง เสียงต่อชุมชนและชาวบ้านแถบนั้น ยูเนสโก เห็นว่าควรย้ายสนามบินปัจจุบันให้ไปตั้งอยู่ใกล้กับสะพานแม่น้ำโขง (Mekong Bridge) ซึ่งได้มีการย้ายที่ตั้งให้ห่างจากตัวเมืองออกไปจากที่ตั้งเดิมที่ทางแขวงได้วางแผนการก่อสร้างเอาไว้ ซึ่งหากสนามบิน ใหม่ตั้งอยู่ใกล้สะพานดังกล่าวก็จะสามารถ เชื่อมโยงโครงการเข้ากับแผนการพัฒนาเมืองใหม่ของหลวงพระบาง เพื่อไม่ให้การพัฒนากระจุกตัวอยู่เฉพาะในตัวเมืองหลวงที่อยู่ในความคุ้มครองของมรดกโลกเท่านั้น
แต่สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลของ สปป. ลาวไม่เห็นด้วย และปฏิเสธที่จะทำตามคำแนะนำของยูเนสโก โดยให้เหตุผลว่าการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ใช้งบประมาณสูงและไม่จำเป็น เนื่องจากมีสนามบินแห่งเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งการย้ายสนามบินไปยังเขตจอมเพ็ด ซึ่งมีพื้นที่ราบเหมาะแก่การสร้างสนามบินนั้น หมายความว่ารัฐจะต้อง ลงทุนสร้างถนนหนทางและสะพานขื้นมาใหม่ เพื่อเชื่อมเขตจอมเพ็ดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขงเข้ากับตัวเมืองหลวงพระบาง คิดเป็นค่าใช้จ่ายอีกหลายสิบล้าน เหรียญสหรัฐ
สุดท้ายรัฐบาลลาวตกลงที่จะปรับปรุงสนามบินเดิมแทน โดยประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมด ณ เดือนสิงหาคม 2551 ไว้ที่ 83.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (รวมค่าก่อสร้าง ค่าที่ปรึกษา ค่าเวนคืนที่ดิน ฯลฯ) โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (China EXIM Bank) จำนวน 63.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (75.6% ของงบประมาณทั้งหมด) ที่เหลืออีก 20.4 ล้าน เหรียญ (24.4%) เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลลาว และผู้รับเหมาคือบริษัทก่อสร้าง จากประเทศจีน คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2554
ผลกระทบอีกประการหนึ่งจากการพัฒนาที่พักเพื่อนักท่องเที่ยวในหลวงพระบาง คือการก่อสร้างต่อเติมอาคารที่ผิด ลักษณะดั้งเดิม และสร้างเกสต์เฮาส์ใหม่ๆซึ่งรุกล้ำเขตวัดเก่าแก่ในตัวเมือง ความหนาแน่นของตึกรามบ้านช่องที่ทำลายต้นไม้และพื้นที่สีเขียวของเมือง และก่อให้เกิดปัญหาระบบระบายน้ำเสีย สระบัวถูกถมให้เต็มเพื่อปรับพื้นที่ให้เป็นโรงแรม อีกทั้งโครงการปรับปรุงขยายถนนในหลวงพระบางของธนาคารเอดีบี ได้ตัดผ่านและปิดทับระบบท่อระบายน้ำเดิมที่มีอยู่ ทำให้ ท่อน้ำอุดตันและเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา
องค์การยูเนสโกรายงานว่า การขึ้น ทะเบียนเป็นมรดกโลกของหลวงพระบาง ไม่ได้เป็นเพียงการขึ้นทะเบียนตัวอาคารอันเก่าแก่ ที่ผสมผสานสไตล์ยุโรปเข้ากับเอเชียเท่านั้น แต่รวมไปถึงวัดวาอารามพื้นที่ป่า พื้นที่ทำการเกษตรทั้งในและรอบๆ ตัวเมือง ภูเขา แม่น้ำ รวมทั้งทุ่งนาที่รายล้อมเมืองด้วย เพราะองค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยบ่งบอกถึงความเป็นเมืองแห่งกษัตริย์ (royal town) ในอดีตที่มีระบบของเมืองอย่างครบวงจร ดังนั้น การเปลี่ยน แปลงองค์ประกอบของเมืองหลวงพระบาง ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งที่ทำให้หลวงพระบางมีคุณค่าในการเป็นเมืองมรดกโลก
นอกจากนี้ยูเนสโกยังพบว่าชาวบ้าน เริ่มย้ายออกจากบ้านเรือนของตนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพื่อขายที่ให้กับนายทุนที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ทำเลทองเหล่านี้ ให้เป็นโรงแรม แต่เนื่องจากตัวเมืองของหลวงพระบางมีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก และพระสงฆ์กว่า 200 รูปจากวัดเหล่านี้เดินบิณฑบาตเพื่อรับอาหารจากชาวบ้านที่อาศัยในละแวกนั้นเป็นประจำทุกวัน ดังนั้น หากชาวบ้านขายบ้านและที่ดินของตนเองหมด บางทีพระสงฆ์อาจจะต้องย้ายออกจากวัดเก่าแก่ใจกลางเมือง แล้วหันไปสร้างวัดใหม่นอกเมืองตามชาวบ้านก็ได้
แต่ก็ไม่แน่ และพระสงฆ์ทั้งหลายอาจจะไม่ต้องย้ายวัด เพราะปัจจุบันประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวกลายเป็นพิธีกรรมที่ถูกเทกโอเวอร์โดยนักท่องเที่ยวเสียแล้ว ยามเช้าตรู่บนถนนสีสะหว่างวง เราจะเห็นแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาตินั่งเรียงแถว ปั้นข้าวเหนียวรอใส่บาตรกับพระสงฆ์ ในขณะที่ชาวบ้านจริงๆ กลับต้องย้ายไปนั่งรอพระสงฆ์บนถนนด้านหลังซึ่งขนานกัน ก่อนที่พระสงฆ์กว่า 200 รูปจะแยกย้ายกันกลับวัด
สิ่งที่ชาวหลวงพระบางอาจรำคาญ (และไม่พอใจ) คือการถูกห้ามไม่ให้เปลี่ยน แปลงอาคารบ้านเรือนของตนไปจากเดิม เพราะชาวบ้านเองคงอยากมีสิทธิในการดำเนินชีวิตของตน ปัจจุบันบ้านหลายหลัง ในหลวงพระบางได้รับการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ โดยใช้คอนกรีตแทนไม้อย่างในอดีต อีกทั้งยังมีลวดลายและการออกแบบของสถาปัตยกรรมที่โอนเอียงไปทางบ้านตามแบบตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะ ชาวบ้านเองคงต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านที่สุขสบายขึ้น อีกทั้งการปรับปรุงรักษาสภาพของตึกเก่าให้คงเดิมจะต้องใช้เงินทุนสูง ซึ่งเรื่องนี้ทางยูเนสโกแนะนำว่ารัฐต้องสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน และให้พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของการช่วยกันดูแลรักษาอาคารเก่าแก่ทั้งหลาย โดยรัฐอาจให้การอุดหนุนชาวบ้านด้วยการจัดหาวัสดุก่อสร้างอันจำเป็นต่อการซ่อมแซม อาคารบ้านเรือน และจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในราคาถูก
ภายใต้ภาพแห่งความสุขสงบและวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบของหลวงพระบางนั้น กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังก่อตัวขึ้น อาจจะเปลี่ยนแปลงหลวงพระบางไปจากภาพเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย ภายในเวลาอีกไม่กี่ปีนี้
|