Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
iPhone 3G กับโอกาสใหม่ของทรู Creative Economy Convergence             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

เปรียบเทียบแพ็กเกจราคาและบริการ iPhone 3G


   
www resources

Apple Homepage
โฮมเพจ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ ทรูมูฟ

   
search resources

APPLE
ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.
3G
ทรู มูฟ, บจก.




ในที่สุดบริษัท True Corporation ก็ได้สิทธิจำหน่าย iPhone 3G ที่ตีตราถูกกฎหมายในประเทศไทยเสียที หลังจากเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ตลาด gray market แถวๆ มาบุญครองเต็มไปด้วยเครื่องหิ้วมาเอง จากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงจำนวนนับแสนเครื่องในไทย วงในเล่ากันว่า เม็ดเงินที่ True จ่ายเพื่อสัญญาเป็น premium reseller ของ iPhone 3G มีมูลค่าถึง 2,600 ล้านบาท ในระยะเวลาสามปี ซึ่งเรื่องนี้ถูกปรามาสว่า "เท่แต่กินไม่ได้"

ตั้งแต่ปี 2545 ที่ TrueMove หรือ ชื่อเดิมว่า TA Orange ให้บริการธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ความถี่ 1800 MHz มากว่า 7 ปี ความมุ่งมั่นสู่ความเป็น Next-Gen Service Provider และผู้นำด้านการสื่อสารเครือข่ายไร้สายแบบครบวงจรรายใหญ่ของไทยที่มีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ ธุรกิจ Convergence (การควบรวมบริการของกลุ่มทรู) อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ CEO ศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้มีแผน Transform กระบวนทัศน์ธุรกิจเทเลคอมใหม่ๆ ผนวกกับโครงข่ายยุคใหม่ 3G ปรับให้เข้ากับธุรกิจในเครือทรูนับสิบกิจการมา สร้างโอกาสและรายได้ใหม่จากธุรกิจ Non-Voice เช่น SMS, MMS, Multimedia on Mobile ที่มีศักยภาพเติบโตเป็นรายได้หลัก งานนี้ อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข เป็นผู้อำนวยการบริหาร ด้าน convergence

"สิ่งแรกที่เราคิดถึงไอโฟนคือ device ที่เปิดมิติใหม่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเราในเรื่อง Convergence Lifestyle ที่ชัดเจนและจับต้องได้ ความจริงไอโฟนเป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือแต่มันคืออุปกรณ์ ที่เติมเต็มชีวิตและควบรวมเทคโนโลยีหลายๆ Platform เข้าด้วยกัน โดยมีทั้ง Edge, Wi-Fi, 3G, GPRS นี้ เป็นเรื่องสอดคล้องกับทรู ซึ่งเรามี Content เยอะทำให้สอดประสานกับสิ่งที่เรามี ทำให้คนไทยทำอะไรได้มากกว่าต่างประเทศเสียอีก ตัวอย่างเช่น การเข้าอินเทอร์เน็ตใน Application ที่ทรูโดยคุณอติรุฒม์ทำขึ้นมา จะเป็นการเข้า Wi-Fi เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นมันจะจำรหัสโดยอัตโนมัติ การทำงานอย่างนี้ถ้าไม่ใช่ Operator กับคนพัฒนาโปรแกรมก็ทำไม่ได้"

ศุภชัย เจียรวนนท์ เล่าให้ฟังในวันเปิดตัว iPhone 3G ที่ทุ่มงบเตรียมการไปแล้วกว่า 50 ล้านบาทและสร้างปรากฏการณ์ผู้สั่งจองและซื้อ iPhone 3G ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นในสามวันแรก

"ผมคิดว่าคนสนใจไอโฟนเยอะมาก ฐานตลาดผู้ใช้ไอโฟน 2G ในไทยขณะนี้ประมาณแสนราย โดยตัวเลขของสมาร์ทโฟน ผมคิดว่ามีตัวเลขประมาณ 7-8% เราก็ตั้งเป้าไม่โอเวอร์เกินไป เพราะตลาดมันใหม่ ผมบอกไม่ได้ว่าเท่าไหร่ตอนนี้แต่เรามีสิ่งกระตุ้นตลาดได้พอควร โดยใส่สิ่งใหม่ๆ ด้านการขาย บริการหลังขาย แอพพลิเคชั่น คอนเทนต์และแพ็กเกจที่น่าสนใจ" นี่คือการกระตุ้นให้ลูกค้าใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน iPhone ให้มากที่สุดด้วยการใส่ Application&Content ที่สร้างสรรค์มาเพื่องานนี้

"ตอนนี้ตลาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อยู่บนจอคอมพิวเตอร์อีกแล้ว มันขยับเข้าสู่จอมือถือ มันก็คือ mini PC ที่ไร้สาย เราคิดและออกแบบ เมื่อประมาณเกือบ 4 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ไอโฟน เป็น Device แบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่มี Keypad แต่เป็น Device ที่เป็น touch screen และเป็นการเข้าถึงได้ทุก platform และเป็น device ที่ผมคิดว่าต่อไป ถ้ามัน integrate เรื่องของ virtual access ID พอเสียบเข้าทีวีที่บ้านปุ๊บ ควรจะถอดรหัส ดูทรูวิชั่นได้เลย มันจะกลายเป็น access ID" ศุภชัย อ้างถึงแนวคิดสร้างสรรค์

iPhone เป็น Smart Handset ที่ออกแบบ, ผลิต และจำหน่ายโดยบริษัท Apple Inc. ของสตีฟ จ็อบส์ CEO คนสำคัญผู้สร้างสรรค์บุกเบิกตั้งแต่ปี 2519- ปัจจุบัน โดยการทำงานของ iPhone เป็นทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่ง SMS ได้, ท่อง เว็บบราวเซอร์ผ่าน Safari, เช็กอีเมลอัตโนมัติ, ฟัง-โหลดเพลงจาก iPod ในตัว, Map with GPS และฟีเจอร์ของมัลติมีเดีย ทั้งถ่ายภาพนิ่ง, ถ่ายวิดีโอได้, ฟังวิทยุและดูทีวีแบบไร้สาย ฯลฯ โดยในอเมริกามีพันธมิตรหลักคือ โครงข่ายยักษ์ ใหญ่ AT&T Wireles (เดิมชื่อ Xingular Wireless)

อุปกรณ์หลักของ iPhone ประกอบด้วยหน้าจอ PadTouch ใหญ่ 3.5 นิ้ว, Wi-Fi (802.11b/g), Bluetooth 2.0 และกล้องถ่ายภาพ 2.0-megapixel รวมทั้งเป็นผู้นำระบบ Touch Screen ที่ใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอคำสั่งแทน และมีระบบเซนเซอร์ที่พลิกภาพแนวตั้งแนวนอนหรือซูมเข้าซูมออกได้ตามใจชอบ

ส่วน Firmware ซึ่งก็คือ iPhone OS version พัฒนาเปลี่ยนหน้าตา Feature ต่างๆ จากรุ่นแรกที่เริ่มต้นใช้ เวอร์ชั่น 1.1.3 รุ่นที่สองเริ่มต้นใช้เวอร์ชั่น 1.1.4 และก้าวสู่ Firmware 2.0 ที่เตรียมสำหรับ iPhone 3G ที่เริ่มต้นใช้เวอร์ชั่น 2.1-2.2 ที่เพิ่มอินเตอร์เฟซภาษาอื่นๆ ในโลกยกเว้นคีย์บอร์ด พิมพ์ภาษาไทย ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการพิมพ์ส่ง SMS และ Notes

ปัจจุบัน iPhone ผลิตออกมาแล้ว 3 รุ่น คือ รุ่นแรก (First Gen) หรือนิยมเรียกว่า "รุ่น 2G" เพราะใช้ระบบ Quad band GSM และ Edge รุ่นนี้เปิดตัวอย่าง ตื่นตาตื่นใจครั้งแรก 9 มกราคม 2550 ในงาน Mac World นำเสนอโดยสตีฟ จ็อบส์ และเปิดจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2550 โดยก่อนวันจำหน่ายร้านแอปเปิล มีผู้ใช้ปักหลักพักค้างเพื่อรอคิวเข้าซื้อยาวเหยียด ในช่วง 30 ชั่วโมง แรก แอปเปิลขายไอโฟนได้ถึง 270,000 เครื่อง หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 9,000 เครื่อง ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัล "The best of invention of the world" จากนิตยสาร TIME

ต่อมา iPhone ออกรุ่นที่สอง (2nd Gen) หรือเรียกกันว่า "รุ่น 2.5 G" ซึ่งใช้ UMTS และ HSDPA

ล่าสุด iPhone 3G เป็นรุ่นที่สาม (3rd Gen) ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 มีดีไซน์และวัสดุเปลี่ยนไป แต่ยังคงคุณสมบัติในการสนับสนุนการใช้ข้อมูลภาพ+เสียงผ่าน 3G ปริมาณมากขึ้นและทำให้ความเร็วเริ่มต้นในการเปิดใช้ Edge/ GPRS/Wi-Fi เร็วมาก จนสามารถบูรณาการ Application ให้ทำงานที่ซับซ้อนและโหลด Streaming ได้คุณภาพดีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นนิยมและสร้างยอดขายเครื่อง iPhone 3G ใน 22 ประเทศ ตั้งแต่ 11 กรกฎาคม 2551 มีแผนเปิดขาย เพิ่มอีก 48 ประเทศ โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน มีสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นรายล่าสุดที่มีการจำหน่ายไอโฟนอย่างเป็นทางการ

จังหวะที่ True กับ Apple Inc. สามารถตกลงเรื่องการจำหน่าย iPhone 3G ได้ลงตัวก่อน Dtac และ AIS แม้เบื้องหลังข้อตกลงกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จะต้องเคลียร์ข้อข้องใจเรื่องอัพเกรดความถี่เดิมเป็น 3G ที่ TrueMove ทดสอบการให้บริการแล้ว แต่ยังทำเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะต้องรอผ่านคณะกรรมการมาตรา 13 ในส่วน True Move ตาม พ.ร.บ.ร่วมการงานฯ ซึ่งเกิดเหตุจากสัญญาแนบท้ายเปลี่ยน แปลง เพราะ Dtac ยินยอมให้ กสท.ยื่นขออนุญาตต่อ กทช.ขยับคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้ TrueMove โดย กสท.มีคลื่น 850 MHz จำนวน 25 MHz โดยให้ Dtac ได้รับสัมปทานคลื่นไป 12.5 MHz แต่สามารถนำไปอัปเกรดได้เพียง 10 MHz จึงมีความถี่เหลือ 2.5 MHz และ กสท.มีความถี่อยู่ 12.5 MHz ให้ทรูมูฟ 2.5 MHz กสท. จึงรวมความถี่ที่เหลือของ Dtac และของ กสท. เป็น 5 MHz ให้ทรูมูฟนำไปอัพเกรด 3G

"จริงๆ แล้ว ตัวโครงข่าย 3G เพิ่งเริ่มทดสอบและเราจะแจ้งลูกค้าเมื่อขยายโครงข่ายต่อเนื่องและ update ว่ามีที่ไหนบ้าง อันนี้ต้องเป็นแผนข้ามปี คงจะมีข้อสรุปชัดเจนต่อมา สำหรับ 3G เรามองว่ามันเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะใช้กับไอโฟนได้" ศุภชัยเล่าให้ฟัง

ในภาวะวิกฤติถดถอยทางโมเดลธุรกิจโทรคมนาคมแบบเดิมๆ ที่อิ่มตัว iPhone กลับเป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจยุคใหม่ "Creative Economy" ที่สร้างมูลค่ารายได้มหาศาลแก่บริษัท Apple และ AT&T Wireless รวมถึงคนหนุ่มสาวเจ้าของ Application&Content providers นับหมื่นที่พัฒนาสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ใช้ iPhone นี่คือกลไกสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ใช้ปัญญาของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เป็นโมเดลธุรกิจที่เกาะไปกับคลื่นลูกใหม่ ถือเป็นทิศทางอนาคตที่น่าจับตา

รายได้ของ Apple Inc. ในสามเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ทะลุหลัก 1 หมื่นล้านเหรียญเป็นครั้งแรก เพราะเพียงไตรมาสเดียวจำหน่ายคอมพิวเตอร์แมคอินทอชได้ 2.52 ล้านเครื่อง, iPod ได้ 22.73 ล้านเครื่อง และ iPhone 4.36 ล้านเครื่อง ถือว่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปีของบริษัทแอปเปิล

"ผมคิดว่าแอปเปิลเป็นองค์กรที่มีความตื่นเต้นตลอด และคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้และคงมองไกลไปอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราและน่าจะทำได้ในบ้านเรา ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว" นี่คือทัศนะของศุภชัยที่มุ่งมั่นหาโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

"แต่ปัจจัยที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้คือ 3G จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคมากๆ เช่น วันนี้เอาไอโฟนให้เด็กห้าขวบเขาใช้ได้ทันที เวลาเดินทางไปไหน ก็มีแผนที่ไม่หลงทางและประหยัดเวลา และ Application บางตัวดูแผนที่ได้เสมือนจริง Real vision จากการพัฒนาร่วมกับ Google ทำให้ชีวิตไร้ขีดจำกัด บรอดแบนด์ไร้สายและเป็น Convergence Device ที่มี Platform และ Host Application เข้าด้วยกัน เพราะความที่มี GPS มันขมวดเข้าด้วยกันหมด ทำให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของโลกสื่อสาร"

กระบวนทัศน์และโมเดลธุรกิจ iPhone 3G ซึ่งกลายเป็นกลไกหนึ่งที่สร้างความมั่งคั่งให้แอปเปิลได้สร้างแรงกระตุ้นการขับเคลื่อน "โอกาสธุรกิจใหม่ๆ" (Opportunity Driven) ให้เกิดขึ้นไปทั่วโลกและด้วยโมเดลธุรกิจใหม่นี้ ผู้บริหารระดับสูงของ True คาดหวังว่าจะช่วยเติมเต็มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ TrueMove และธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ของ True Online ให้สามารถสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มมหาศาลของ Creative Economy ให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ เช่น ธุรกิจเคเบิลทีวีในนาม TrueVision, ธุรกิจ True Money ธุรกิจคอนเทนต์ของ True Life และ True Coffee ได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ Smart Integration Applications ที่ผู้ใช้ iPhone สามารถเลือกโปรแกรมได้ตามใจชอบแบบที่เรียกว่า Customize ที่คาดหวังว่า True จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ด้วย Service smashup

"ตัวไอโฟน 3G สร้างประสบการณ์ ที่ผมเรียนแล้วว่าในอเมริกาเขาบริโภค consume data Non voice เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า เพราะคนใช้ไอโฟนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ติดแชตและเชื่อมต่ออีเมลอัตโนมัติตลอดเวลา แต่สำหรับทรูเราไม่ได้คาดหวังสูงแบบนั้นในไทย เพราะขึ้นอยู่กับ 3G ที่ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมี Wi-Fi และพฤติกรรมคนไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราหวังว่าคนจะใช้มากขึ้นๆ เมื่อ 3G เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ ถึงตอนนั้นผมรู้แต่ว่าเปลี่ยนไปเยอะแน่นอน แต่ตอบไม่ได้คนไทยจะคอนซูมกันกี่เท่า แต่จากการใช้งานทั่วไป รายได้ต่อเลขหมายอยู่ที่ 200-300 บาท แต่ถ้าแพ็กเกจที่เราเสนอบ่งชี้ว่าส่วนใหญ่เลือกราคาพันกว่าบาท ก็ถือว่าเพิ่มหลายเท่า" ศุภชัยกล่าว

ความหิวกระหายเทคโนโลยีใหม่ๆ และ Application หลากหลายที่สามารถบูรณาการไลฟ์สไตล์ของชุมชนผู้ใช้ iPhone ให้สามารถย่อโลกไว้ในมือได้ด้วย ความเร็วของระบบเครือข่ายไร้สายที่เป็น hi-speed streaming life เป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

เรื่องนี้อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข ผู้บริหาร TrueMove เปิดเผยว่า "App คือ หัวใจของผู้ใช้ไอโฟนที่มีแอพฯ หลากหลายให้เลือกและทาง True ก็สร้างให้เป็น Localize convergence lifestyle ซึ่งสามารถใช้งานได้เต็มที่ ขณะที่เครื่องหิ้วมาเองไม่สามารถใช้ได้ เช่น กรณีใช้แผนที่ที่มีจุดน่าสนใจ ที่เรา sync ที่ตั้งร้านอาหารอร่อย ปั๊มน้ำมัน หรือถ้าอยากจะหา Wi-Fi Hotspot หรือลูกค้าไฮสปีด อยากจะเพิ่มความเร็วของ Wi-Fi by TrueMove เป็นสองเท่าก็ได้ฟรีๆ หรืออยากจะชมรายการทรูวิชั่นที่สามารถดาวน์โหลดชมหนังในแพ็กเกจ a la carte ชม HBO, Disney และ Discovery ได้ฟรี 30 วัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ App. ที่ทำให้ Value ของเครื่องเราแตกต่างจากเครื่องที่หิ้วมาจากที่อื่น ตอนนี้ใน pipeline ของเรายังมีแอพพลิเคชั่นอีก มาก ส่วนไตรมาสที่สอง เราคาดว่าจะจัดและเปิดโอกาสให้คนนอก ซึ่งจะต้องได้รับการเทรนตามมาตรฐานแอปเปิล"

แต่เมื่อเปิด App Store ที่ผู้ใช้ iPhone 3G สามารถเลือกโหลดโปรแกรม ที่ชอบ ก็พบว่า Application ของ True ซึ่งเปิดตัวใหม่ 12 แอพพลิเคชั่นที่บริการคอนเทนต์หลายหลาก เช่น True Music, True Wi-Fi, True Visions, True Sport, True Money, Thai Top Load, Thai Stock, Thai Dic, Shopping, Care Center, ซึ่งสามารถควบรวมบริการให้กลายเป็น convergence ที่น่าจับตาว่าจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

"ผมเชื่อว่าแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์เป็นส่วนสำคัญ การใช้ไอโฟนให้คุ้มค่า เงินที่ซื้อมา จะต้องใช้งานได้เหมาะสมกับความต้องการของคนไทย ตอนนี้ ทรูมูฟก็มุ่งให้เกิดและโปรโมตการพัฒนาโปรแกรมส่วนนี้ เช่น วันนี้ถ้าหากคนไทยจะต้องการโหลดเพลงไทยผ่าน iTune ก็ยังทำไม่ได้ นอกจากนี้เรื่องเพลง หนังและคอนเทนต์อื่นๆ แต่เราจะทำต่อไปโดยคุยกับ Apple และ iTune ในการขายคอนเทนต์ ซึ่งเจ้าของคอนเทนต์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อไป พวกนี้เป็นตลาดใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องติดตามต่อไป" CEO ศุภชัยเล่าให้ฟัง

ว่าด้วยเรื่องความคุ้มค่าของแพ็กเกจ TrueMove เมื่อครั้งเปิดตัว iPhone 3G ครั้งแรก ปรากฏว่าสับสน เพราะหลังประกาศทั่วไปด้วยคำโฆษณาว่า "ครั้งแรกในไทยจากทรูมูฟกับ iPhone 3G ใช้ก่อนใครวันนี้ เริ่มต้นเพียงเดือนละ 1,399 บาท"(รวมค่าโทร SMS Wi-Fi/3G/Edge/GPRS) แล้วเปิดให้จองเครื่องและเลือกแพ็กเกจผ่าน www.truemove.com/iphone หรือทรู ชอปและทรูมูฟ ชอปมีเบสิกแพ็กเกจ 4 แบบให้เลือกผ่อนชำระ 2 ปี บรอนซ์-ซิลเวอร์-โกลด์-แพลทินัม สำหรับเครื่องสองรุ่นคือ iPhone 8 GB หรือ 16 GB แล้ว

ปรากฏว่าถัดมาอีกวัน นโยบายการ ตลาดเปลี่ยนฉับไวทันที เมื่อทรูประเมินตลาดว่า อำนาจซื้อของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเคยมีประสบการณ์ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของแอปเปิลมาก่อน เป็นกลุ่มตลาดพรีเมียม ระดับ B+ ถึง A มีอยู่จำนวนมาก สังเกตเห็นได้ชัดในงานวันเปิดตัวว่า คนหนุ่มสาววัยทำงานจนถึงเจ้าของกิจการและครีเอทีฟวงการต่างๆ

คนกลุ่มนี้ต้องการชำระเป็นเงินสดก้อนเดียวมากกว่า ผู้บริหารทรูจึงตัดสินใจปรับเพิ่มทางเลือกใหม่เฉพาะลูกค้า True โดยให้ลูกค้าทรูเลือกซื้อเครื่องเปล่าได้ด้วยราคาเครื่อง 8 GB 26,215 บาท และ 16 GB ราคา 30,495 บาท (รวม vat 7%) หรือเลือกแพ็กเกจชำระก้อนเดียว 23,275 บาท (8 GB) และ 27,075 บาท (16 GB) + ชำระค่าบริการรายเดือน 12 เดือน เดือนละ 595 บาทก็ได้

"ประมาณวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ เราพร้อมที่จะขายขาดสำหรับบุคคลทั่วไป เราจะขายเฉพาะตัวเครื่อง ไม่ต้องมีแพ็กเกจของทรู ซึ่งบางคนบอกว่าแพงและไม่แพง สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของแอปเปิลที่เคยใช้ Edge/GPRS จะบอกว่าไม่แพง เพราะเราควบรวมบริการต่างๆ ให้ด้วย ถ้าเทียบกับต่างประเทศของเราค่อนข้างคุ้มค่ามาก"

เมื่อคำนวณความคุ้มค่าย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า แพ็กเกจแพลทินัมคุ้มค่าที่สุด เพราะเวลานี้ถ้าลูกค้าทรูจ่ายเพียง 599 บาท สามารถใช้ระบบไร้สายแบบ Edge/GPRS/Wi-Fi แบบไม่จำกัด (Unlimited) โดยไม่รวมเงื่อนไขค่าโทรมากถึง 300 นาที และส่ง SMS ถึง 300 ครั้ง ขณะที่แพ็กเกจโกลด์-ซิลเวอร์-บรอนซ์ ออกแบบค่าบริการลดหลั่นกันลงมาจนถึงจุดที่ไม่คุ้มมากที่สุดคือแบบ บรอนซ์ที่ต้องผ่อนชำระสองปีในอัตราเดือนละ 1,283 บาท (รวมภาษี) ที่ได้ใช้ Edge/GPRS เพียง 10 ชม. และ Wi-Fi 20 ชม. เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มผ่อนกับกลุ่มซื้อเงินสด จึงเห็นเงื่อนไขความคุ้มค่าแตกต่างกันได้ชัดเจน

แต่จุดแข็งของ True ที่สำคัญคือ เครือข่ายไร้สายของ True มี Wi-Fi Hotspot 16,000 จุดที่สามารถบริการตอบสนองการใช้ iPhone ได้มากกว่า

แต่น่าผิดหวังที่สุดคือ 3G และอินเทอร์เฟซภาษาไทยที่ยังไม่ซัพพอร์ต Key-board แป้นพิมพ์เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่ทรูมูฟได้สิทธิ์นำเข้า iPhone 3G ในประเทศไทยแล้ว สร้างความหงุดหงิดมาก เพราะเวลาจะพิมพ์ส่ง SMS ทำไม่ได้เลย! ครั้นนำเครื่องไปทำ jailbreak ลงโปรแกรมภาษาไทยก็ต้องรับผลกรรมตามมาคือ เครื่องหมดสิทธิรับประกันทันที!

สำหรับศิลปินอย่างบอย โกสิยพงษ์ เขาเล่าให้ฟังว่า "ผมรอวันที่มีไอโฟนมาขายอย่างถูกกฎหมายและอยากได้ เพราะผมสามารถจะใส่คัมภีร์ไบเบิลได้ทั้งเล่ม อยากได้ตรงนี้ ไม่ต้องพกเล่มใหญ่และเวลา อยากอ่านก็เปิดเครื่อง ส่วน Applications อื่นๆ ก็น่ารักดี ถ้ามีโอกาสผมจะลองเล่น"

เมื่อถามถึงการใช้ iPhone กับงานครีเอทีฟของเขา บอยเล่าว่า "ผมเห็นเพื่อนผมเขาใช้ไอโฟน บันทึกความจำใส่ค่าโน้ตเพลงลงไปเมื่อเวลาคิดทำนองเพลงอะไรออกมาได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าสมัยก่อนผมต้องมีปากกา สมุด กระดาษ แต่พอเรามีไอโฟนที่จะคอยบันทึกอย่างง่ายๆ ไม่ต้องพะรุงพะรัง"

ในที่สุด บอยก็ได้เป็นเจ้าของเครื่อง iPhone 3G ขนาด 16 GB ที่เขาซื้อแบบ แพ็กเกจที่จ่ายเงินก้อนเดียว 28,970.25 บาท (รวมภาษีแล้ว) และจ่ายค่าบริการรายเดือน 599 บาทเป็นเวลา 12 เดือน

"ผมเป็นลูกค้าทรูที่บ้านมีทั้งทรูวิชั่น ทรูมูฟ ทรูอินเทอร์เน็ต ผมว่ายิ่งวัน มันยิ่ง convergence Lifestyle ที่ทำให้เราสะดวก ผมว่าการทำ convergence ของทรู เข้าใกล้จุดที่สามารถไปเชื่อมโยงกับแพ็กเกจและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ก็จะเจ๋งดี แต่อย่างไรผมก็ยังออนไลน์เท่าเดิม ไม่คอนซูมมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ผมจะปิดโทรศัพท์จะเปิดเมื่อเวลาผมใช้เท่านั้น" บอย โกสิยพงษ์เล่าให้ฟัง

ขณะที่ณรงค์ จงภักดีอักษร เจ้าของโรงพิมพ์บริษัทจงสุภาพ ให้สัมภาษณ์ระหว่างรอคิวเข้ารับ iPhone 3G ว่า

"ผมเป็นลูกค้าทรูที่ใช้ Hi-speed 1 MB ซึ่งแต่ละเดือนจ่ายเงินพันกว่าถึงสองพันบาท เพราะต้องใช้อินเทอร์เน็ตบ่อย ออนไลน์ตลอดเวลาเพื่อเช็กอีเมลและเขียนตอบลูกค้า ผมซื้อแพ็กเกจไอโฟน 3G ที่มันน่าสนใจตรง unlimited และใช้ได้ everywhere แต่จ่ายแค่เดือนละ 599 บาทเท่านั้น ผมคาดว่ามันเป็น 3rd Gen ที่มีประโยชน์ใช้สอยได้ มี App ให้เล่นเยอะ แต่ที่ผมสนใจคือ ฟีเจอร์ Calendar&Contact สำหรับทำงาน นัดหมายและวางแผนทำงาน ส่วนราคาเครื่องไอโฟน 28,000 บาทก็ใกล้เคียงกับโนเกีย โซนี่ อีริคสัน ก็ประมาณไม่ต่ำกว่านี้ แต่ผมก็ยังไม่เคยใช้ไอโฟนมาก่อนนะ ไม่รู้ว่าฝันจะดีหรือฝันร้าย?"

ฝันของผู้ใช้ iPhone ต้องการจะเข้าถึงระดับ premium network, smart handset และบริการหลังขายที่มีมาตรฐาน สูงของ Apple ที่รับประกันความพอใจของลูกค้า ชนิดเครื่องชำรุดเสียหาย เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้เลย งานบริการแบบนี้ True ยังต้องเรียนรู้ใจผู้ใช้ iPhone ซึ่งส่วนใหญ่ เคยมีประสบการณ์กับผลิตภัณฑ์ และบริการหลังการขาย ระดับ Premium ของ Apple Care มาแล้ว ถือว่าเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวมากเรื่องความใส่ใจมากกว่าราคาที่ต้องจ่าย

ปัญหาสำคัญขณะนี้ของ True จึงอยู่ที่ความท้าทายที่จะให้บริการหลังการขายระดับ premium ซึ่งต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ไอโฟนว่าจะเป็นมาตรฐานระดับสูงของ Apple นั่นเอง!

"เราเตรียมเทรนพนักงานที่ได้รับการสนับสนุนจากแอปเปิลไว้แล้ว และมีแผนจะใช้ช่องทางอื่นๆ ของทรู ช่วยให้ความรู้ educate ลูกค้าซึ่งก็ช่วยได้มาก" อติรุฒม์ซึ่งบริหารด้าน convergence เล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรหลักทางธุรกิจที่จะสนับสนุน True ก็คือเครือข่ายของบริษัท Apple Inc. หรือบริษัท Apple (Thailand) นั่นเอง ซึ่งก็มีเครือข่ายการตลาด เช่น Studio ด้วย ผนวกกับเครือข่ายหลักของกลุ่มทรูเอง ที่ช่วงแรกต้องระดมสรรพกำลังจากทุกบริษัทในเครือมาช่วยส่งเสริมการขายและให้บริการ เช่นใช้ช่องทางทรูวิชั่นที่ยิงสปอตโฆษณาและประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจ Application การใช้งาน iPhone ขณะที่ทรูมูฟ ก็อบรมพนักงานตามทรูชอปให้เรียนรู้และเข้าใจฟีเจอร์ต่างๆ ของ iPhone 3G

ในที่สุดฝันของ True ที่กล้าคิดกล้าท้าทายปัญหาใหม่ๆ บนเส้นทางของ 3G ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ จะสร้างโอกาสยิ่งใหญ่ทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต 5 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ หลังจากที่ยักษ์ใหญ่ค่ายนี้เคยเรียนรู้มาแล้วว่า รสชาติผลไม้ทางธุรกิจโทรคมนาคมแบบ ORANGE กับ APPLE แบบไหนที่ให้วิตามิน M (Money) ช่วยเครือข่ายธุรกิจ True ให้แข็งแรงและอยู่รอดได้อย่างแท้จริงในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นนี้!?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us