Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
CIMB รุกคืบอย่างมีเป้าหมาย             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

ASEAN STRATEGY

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารไทยธนาคาร
CIMB Group Homepage

   
search resources

ธนาคารไทยธนาคาร, บมจ.
Banking and Finance
CIMB Group




หากธุรกิจการเงินการธนาคารเป็นประหนึ่งหัวใจของกลไกที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การเข้าซื้อกิจการของไทยธนาคาร โดย CIMB Group สถาบันการเงินอันดับสองจากมาเลเซีย กำลังสะท้อนภาพยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ที่พร้อมจะงอกเงยขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้

ความเคลื่อนไหวของ CIMB เพื่อเข้าซื้อกิจการของไทยธนาคาร จากกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 6 พันล้านบาท อาจให้ภาพที่ไม่แตกต่างจากการรุกคืบของ สถาบันการเงินนานาชาติที่พร้อมหลั่งไหลเข้ามาทยอยซื้อ "ของถูก" ในช่วงก่อนหน้านี้

กระนั้นก็ดีกรณีการเข้าซื้อไทยธนาคาร ของ CIMB เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ระบบสถาบันการเงินอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ปกคลุมด้วยข่าววิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งลุกลามและขยายวงออกไปอย่างหนักหน่วง เป้าหมายของ CIMB ในการเข้าครอบกิจการครั้งนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อพิจารณาความเป็นมาและเป็นไปของ CIMB ซึ่งเริ่มจากการปรับเปลี่ยน โครงสร้างการบริหารและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ดำเนินไปอย่างมียุทธศาสตร์นับตั้งแต่ช่วงปี 2005

ทั้งการขยายการลงทุนเข้าไปในสิงคโปร์ ด้วยการซื้อกิจการด้านหลักทรัพย์ของกลุ่ม Goh (GK Goh Securities) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น CIMB-GK ภายใต้ความมุ่งหมาย ที่จะเป็นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

รวมถึงการขยายธุรกิจเข้าสู่อินโดนีเซีย ด้วยการซื้อหุ้นของธนาคาร Niaga และควบรวมกิจการ CIMB Niaga กับ Lippo Bank เมื่อช่วงปลายปี 2008 ซึ่งทำให้ CIMB Niaga เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอินโดนีเซียในปัจจุบัน

จังหวะก้าวของ CIMB ดังกล่าวดูจะไม่แตกต่างจากกรณีของ DBS ที่เปลี่ยนผ่านจากการเป็น Development Bank of Singapore มาสู่บทบาทใหม่ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินระดับภูมิภาค (regional bank) ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ระดับรัฐของสิงคโปร์ไปในคราวเดียวกัน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่ DBS มี Temasek บรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นประหนึ่งร่มเงาอยู่เบื้องหลัง

CIMB ก็ทำหน้าที่เป็นเรือธงในธุรกิจการเงินให้กับ Khazanah Nasional บรรษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและรับผิดชอบยุทธศาสตร์การลงทุนระดับชาติของรัฐบาลมาเลเซีย ที่กำลังเร่งขยายบทบาทในระดับภูมิภาคด้วย

ซึ่งนอกจาก Khazanah Nasional จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน CIMB รวม 22.55% แล้ว ผู้ถือหุ้นหลักใน CIMB Group หรือ Bumiputra Commerce ตามโครงสร้างการบริหาร ทั้ง EPF (Employees Provident Fund) ซึ่งถือหุ้นรวม 15.67% และ KWAP (Kumpulan Wang Amanah Pencen-Pensions Trust Fund) ที่ครองสัดส่วนการถือหุ้น 4.92% ล้วนเป็นเครือข่ายของกลไกระดับรัฐของมาเลเซียทั้งสิ้น

วิถีที่ดำเนินไปของ CIMB จึงเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ของมาเลเซียที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

"การเข้าลงทุนในไทยธนาคาร ถือเป็นส่วนเติมเต็มในความพยายามของ CIMB ที่จะก้าวไปสู่การเป็นสถาบันการเงินระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากสำหรับ CIMB" Nazir Razak ประธานบริหารของ CIMB Group กล่าวอย่างมั่นใจ

ก่อนหน้านี้ CIMB ได้รุกเข้าสู่ประเทศไทย ผ่าน CIMB-GK เพื่อดำเนินธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ ในชื่อ CIMB-GK Securities (Thailand) พร้อมกับดำเนินความพยายามที่จะขยายขอบเขตธุรกิจ ด้วยการเสนอซื้อหุ้นในสัดส่วน 19.6% ของธนาคาร สินเอเซีย (ACL) เมื่อช่วงปลายปี 2007 แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ

และทำให้ CIMB ต้องรอคอยถึงกว่า 1 ปีเต็มในการสานความต้องการให้ปรากฏเป็นจริง

ขณะเดียวกันวิสัยทัศน์ของ CIMB ซึ่งกำหนดไว้ที่การเป็น "Southeast Asia's Most Valued Universal Bank"นั้น ภายใต้บริบทปัจจุบัน กรณีดังกล่าวไม่อาจประเมินค่าเป็นเพียงวาทกรรมฉาบฉวยที่จะละเลยหรือมองข้ามได้อย่างแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งและชำนาญการของ CIMB ว่าด้วยบริการ Islamic Bank ซึ่งกำลังจะเป็นข้อต่อเชื่อมสำคัญในการบรรลุ สู่เป้าหมายการเป็นธนาคารระดับภูมิภาค ที่สามารถให้บริการอย่างครบวงจรในอนาคต

"ผมมีโอกาสสนทนากับคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ อาเซียนในปัจจุบัน ถึงการสร้างและพัฒนา ให้เกิด ASEAN's Brand ซึ่งผมเชื่อว่า CIMB จะเป็นตัวอย่างของกรณีที่ว่านี้ได้" Nazir Razak บอก "ผู้จัดการ 360 ํ" ในการพบกันที่สำนักงานใหญ่ของ CIMB Group ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ภายใต้ยุทธศาสตร์ของการสร้างให้เกิด ASEAN's Brand ของ CIMB ดังกล่าว ทำให้จังหวะก้าวของ CIMB ที่จะดำเนินผ่านเครือข่ายของไทยธนาคาร นับจากนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะในบริบทที่ธนาคารอิสลามในประเทศไทยยังอยู่ใน "ระยะตั้งไข่" เมื่อเปรียบเทียบกับ CIMB Islamic และดูจะห่างไกลออกไปเกินกว่าจะเทียบกับกรณีของ DBS ซึ่งเปิดตัว The Islamic Bank of Asia (IB) ที่ก้าวหน้าไปสู่การให้บริการรองรับตลาดในตะวันออกกลางแล้ว ขณะที่ CIMB เปิดให้บริการธนาคารอิสลาม ภายใต้ชื่อ CIMB Islamic อยู่แล้วทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน รวมทั้งในบาห์เรนด้วย

แม้ว่ากรณีดังกล่าวอาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า CIMB ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสถาบันการเงินในกลุ่มอาเซียน จะเปิดแนวรุกเรื่องธนาคารอิสลามในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ CIMB จะดำเนินการ

แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ขนาดอันใหญ่โต อาจไม่ใช่หลักประกันหรือเป็นปัจจัยที่จะบ่งชี้ความสำเร็จ-ล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจธนาคารในประเทศไทย

ซึ่งกรณีของทั้ง DBS และ UOB สองสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ ที่มีขนาดของสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ในภูมิภาคนี้ รวมถึงกรณีของสถาบันการเงินระดับนานาชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย คงเป็นตัวอย่างได้ดี

การแสวงหา niche เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนของ CIMB อาจทำให้กรณีว่าด้วยธนาคารอิสลามเป็นประเด็นที่ CIMB ให้ความสนใจมากขึ้น

หลังจากทำการเก็บกวาดและจัดระบบระเบียบภายในไทยธนาคารเสร็จสิ้น ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนชื่อ ให้มีพื้นที่สำหรับเพิ่มเติมคำว่า CIMB ไว้เป็นองค์ประกอบด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีของ CIMB รวมถึงวิถีที่เป็นไปของทั้ง DBS และ UOB ซึ่งมิได้จำกัดขอบเขตทางธุรกิจให้ตีบแคบอยู่เฉพาะในพื้นที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง

หากแต่ขยายไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมจะมีบทบาทและส่งผ่านนัยความหมาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ย่อมไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตจากการบ่มเพาะความคิดในเชิงธุรกิจของภาคเอกชนแต่เพียงลำพัง

ในทางตรงข้าม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่พร้อมจะสอดประสานและดำเนินการให้บรรลุสู่เป้าหมายอย่างจริงจัง มากกว่าการมุ่งเน้นผลิตสร้างและโหมประโคมวาทกรรมเท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us