|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พุทธศาสนาถือกำเนิดและเผยแผ่ในช่วงแรกอยู่ในชมพูทวีปจากเบงกอลถึงลุ่มน้ำสินธุ จากเหนือสุดแคชเมียร์จรดใต้และศรีลังกา แต่นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา ขณะที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมถอยจากชมพูทวีป ทั้งเหตุจากการสงครามและคลื่นศาสนาใหม่ ดินแดนในหุบเทือกหิมาลัยจากลาดักจรดอรุณาชัลฯ กลับเป็นเนื้อนาบุญแห่งใหม่ให้พุทธศาสนาได้งอกงามยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตหิมาลัยระลอกแรกมีขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ดังมี หลักฐานบันทึกว่ามีการส่งคณะธรรมทูตพร้อมพุทธธรรมเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแคชเมียร์และกันธาระ ต่อมาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-8 แคชเมียร์ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังเชื่อกันว่าการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 4 (พ.ศ.643) มีขึ้นที่หุบเขาแห่งนี้โดยกษัตริย์ชาวพุทธคือ กนิศกะ กุชานา เป็นองค์อุปถัมภ์ ผลจากการสังคายนา ครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดพุทธมหายาน ซึ่งต่อมาเผยแผ่ไปยังเอเชียกลาง จีน ตะวันออกไกล และชวา
ส่วนหิมาลัยทางฟากฝั่งทิเบตนั้น พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าไปในช่วงศตวรรษที่ 8 เมื่อกษัตริย์ทิเบต เชิญพระอาจารย์จากนาลันทามหาวิหารขึ้นไปเผยแผ่พุทธธรรม แต่พระธรรมทูตคณะแรกพบว่าชาวทิเบตยังยึดถือเหนียวแน่นในลัทธิบอนที่เชื่อในเรื่องวิญญาณ และคุณไสย จึงแนะนำให้เชิญคุรุปัทมสัมภาวะ ศาสนาจารย์อีกท่านจากนาลันทาขึ้นไปเผยแผ่พระธรรม ซึ่งตำนานทางพุทธทิเบตบันทึกไว้ว่า ในปี ค.ศ. 747 คุรุปัทมสัมภาวะแสดงฤทธาปราบมารและวิญญาณชั่วร้าย ด้วยการร่ายรำชัม (Cham การร่ายรำ ในศาสนาพุทธสายวัชรยาน หรือรู้จักกันในชื่อการเต้น หน้ากาก) เหาะเหินไปในอากาศ อภิเษกหุบเทือกหิมาลัย นับจากลาดัก (ในรัฐจัมมูแคชเมียร์) ลาฮอล์-สปิติ และคินเนอร์ (ในรัฐหิมาชัลประเทศ) ของอินเดีย ทิเบต เนปาล ไปจนถึงภาคตะวันตกของอรุณาชัลประเทศ (รัฐทางตะวันออกของอินเดีย มีพรมแดนติดกับพม่า ภูฏาน และทิเบต) ยังผลให้ชาวทิเบตหันมาเลื่อมใสและรับเอาพุทธศาสนาเข้าไว้ ซึ่งพุทธศาสนา ที่เผยแผ่ในเขตหิมาลัยระลอกที่สองนี้เป็นพุทธฝ่ายวัชรยาน
ต่อมาระหว่างปี 836-842 พุทธศาสนาในเขตหิมาลัยต้องเผชิญกับยุคมืด ด้วยกษัตริย์ Langdarma มีใจต่อต้านศาสนาใหม่ ถึงกับมีการสังหารชาวพุทธ เผาคัมภีร์และวัด กระทั่งราวร้อยปีต่อมา เมื่อกษัตริย์ Yeshe 'Od (ค.ศ.947-1024) ผู้ทรงเลื่อมใสในพระ พุทธศาสนาขึ้นครองราชย์ และพบว่าพุทธศาสนาเสื่อม ถอยไปมาก จึงส่งคณะธรรมทูตรวม 21 รูป ให้เดินทาง ไปยังแคชเมียร์ หรือกัศษมีระ หนึ่งในศูนย์กลางพุทธศาสนาในสมัยนั้น เพื่อศึกษาพระธรรมและกลับมาฟื้นฟู พุทธศาสนาในทิเบต แต่ด้วยการเดินทางที่ยากลำบาก มีธรรมทูตเพียงสองรูปเท่านั้นที่รอดชีวิตกลับมา
หนึ่งในนั้นคือรินเชน ซังโป ผู้สถาปนาอารามสำคัญหลายแห่งในเขตลาดัก ลาฮอล์-สปิติ และคินเนอร์ ดังเป็นตำนานกล่าวขานกันว่าในสมัยของกษัตริย์เยเชและรินเชน ซังโป พุทธศาสนาในเขตหิมาลัยกลับมาเจริญรุ่งเรืองและมีการสร้างอารามขึ้นถึง 108 แห่ง อารามสำคัญที่เชื่อกันว่าสถาปนาขึ้นโดยรินเชน ซังโป และคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ลามะยูรู และอัลชิ ในเขตลาดัก และตาโบ ในเขตลาฮอล์-สปิติของอินเดีย ซึ่งสไตล์ของงานจิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมนูนสูงกึ่งลอยตัวที่เป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงฝีมือช่างแคชเมียร์ช่วงศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งกษัตริย์เยเชเชิญให้มาสร้างและวางรากฐานอารามหลายแห่ง
การเผยแผ่พุทธศาสนาระลอกสำคัญต่อมาเกิดขึ้นราวปี ค.ศ.1042 เมื่อกษัตริย์ Byang-Chub 'Od เชิญอติษะ ศาสนาจารย์สำคัญจากมหาวิทยาลัย วิกรมศิลามาเผยแผ่พุทธธรรมในเขตทิเบตตะวันตก โดยอติษะได้วางรากฐานระบบการเรียนการสอนแก่สถาบันสงฆ์ของทิเบต ขณะที่ Bromston ศิษย์คนสำคัญของเขาได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะในเวลาต่อมา
นับจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ภาคเหนือของ ชมพูทวีปถูกโจมตีและยึดครองโดยกองทัพมุสลิมเติร์ก ที่รุกคืบมาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามมาด้วยการเผาทำลายศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ทั้งพุทธ เจน และฮินดู บ่อยครั้งวัดและอารามขนาดใหญ่ในพุทธศาสนาถูกเผาทำลายก็ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นที่ตั้งของกองทหาร จนราวปลายศตวรรษที่ 12 มหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา และมหาวิหารอีกหลายแห่งก็ถูกเผาทำลายจนหมดสิ้น ในกรณีของนาลันทาซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพุทธฝ่ายมหายาน กล่าวกันว่าหอสมุดที่ใหญ่โตมากไหม้ไฟอยู่เป็นเวลาหลายเดือนจึงจะมอด ขณะที่พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้น
การล่มสลายของมหาวิหารเหล่านี้เป็นเหตุให้ภิกษุและบัณฑิตจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิต ลอบนำพระธรรมคัมภีร์สำคัญๆ หนีขึ้นเหนือไปยังเทือกเขาหิมาลัย ที่ซึ่งหุบเขาและทางด่านสูงชันทำหน้าที่เป็นดั่งปราการ ธรรมชาติ รักษาพุทธธรรมให้รุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากธิเบตและธิเบตตะวันตกแล้ว ดินแดนแห่งหิมาลัยอีกสองส่วนที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ คือสิกขิม และทาวัง สิกขิม หรือ Sukhim แปลว่าดินแดนอันสันติ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีอารามพุทธหรือ กอมปา' อยู่ราว 200 แห่ง ส่วนใหญ่สืบทอด สายธรรมมาจากสองนิกายเก่าแก่ของพุทธทิเบต ได้แก่ นิกายยิงมาปะ และกักยูปะ โดยวัดรุมเต็ก (Rumtek) ที่ตั้งอยู่ใกล้กังต็อกเมืองหลวง ถือเป็นศูนย์ กลางของนิกายกักยูปะซึ่งสืบสายมาจากคำสอนของอติษะ ส่วนวัดลาเชน และลาชุงในเขตยุมถังเป็นศูนย์กลางของนิกายยิงมาปะ
ทาวัง (Tawang) ตั้งอยู่ทางปลายทิศตะวันตก เฉียงใต้ของรัฐอรุณาชัลประเทศ มีพรมแดนติดกับภฏานและทิเบต ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธทิเบต นิกายยิงมาปะ ที่วางรากฐานและสืบสายตรงมาจากคุรุปัทมสัมภาวะ ขณะที่วัดทาวัง หนึ่งในอารามทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นวัดที่สืบทอดสายธรรมมาจากนิกายเกลุกปะ ปัจจุบันทาวังยังเป็นดินแดนในกรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับจีน โดยจีนถือว่าทาวังในทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของทิเบต ขณะที่อินเดียยึดตาม McMahon Line พรมแดนระหว่างประเทศที่ร่างขึ้นในปี ค.ศ.1914 ว่าทาวังอยู่ภายใต้เขตการปกครองของรัฐอรุณาชัลฯ
พุทธศาสนาที่เผยแผ่อยู่ในเขตหิมาลัย แม้จะเป็นฝ่ายมหายานและหลากหลายซึ่งนิกาย โดยภาพรวมถือได้ว่ายังคงงอกงาม ยั่งยืน และมีชีวิตยิ่ง
(อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : Himalayan Home โดย Benoy K. Behl)
|
|
|
|
|