Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
สุดท้ายที่เหลือคือฝรั่งเศส             
 


   
search resources

Economics




การแทรกแซงของรัฐบาลฝรั่งเศสดูมีภาษีดีกว่าใครๆ ในขณะที่โมเดลเศรษฐกิจอื่นๆ ล้วนสูญเสียความน่าเชื่อถือ

เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยไม่เพียงทำให้คนต้องตกงาน สูญเสียบ้าน หรือเงินออมที่เก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่วิกฤติสินเชื่อที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษนี้ ยังกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของแนวคิดต่างๆ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันมานมนานเกี่ยวกับวิธีการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย และผลกระทบประการหลังนี้จะยังคงรู้สึกได้ไปอีกนาน ตลอดเวลาที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ จำต้องเปิดทางให้แก่แนวคิดใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะมีสภาพ อย่างไร เมื่อฝุ่นที่ยังฟุ้งตลบสงบลง แต่ในยุโรปเริ่มมองเห็นแนวโน้มบางอย่างแล้ว ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรแต่การแทรกแซง ตลาดในแบบที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังทำอยู่ดูมีภาษีดีกว่า ในขณะที่ โมเดลเศรษฐกิจอื่นๆ ของเพื่อนร่วมทวีปต่างสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว

การเร่งความเร็วของวัฏจักรธุรกิจด้วยการปล่อยให้มีการกู้ยืมเกิดขึ้นอย่างเกินขนาดทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นโมเดลของอังกฤษ ได้ถูกพิสูจน์ด้วยกาลเวลาแล้วว่าล้มเหลว และคงจะอีกนานมากทีเดียวกว่าที่ครัวเรือนในอังกฤษและในสหรัฐฯ รวมทั้งในไอร์แลนด์ จะสามารถฟื้นความรู้สึกเชื่อมั่นและฟื้นความสามารถที่จะใช้บ้านของตนเป็นเหมือนกระปุกออมสินให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง ด้วยการนำบ้านไปจำนองเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดมาใช้จ่าย ในยามที่ราคาบ้านพุ่งสูงเหมือนกับจะไม่มีวันสิ้นสุดอย่างในอดีต 10 ปีที่แล้ว Gordon Brown ผู้นำอังกฤษได้สัญญาว่าจะไม่ยอมให้เกิดวัฏจักร "รุ่งเรืองและตกต่ำ"อีกต่อไปแล้ว Brown ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตแบบเทียมๆ ด้วยการเพิ่มการใช้จ่าย ภาครัฐ แต่แล้วเศรษฐกิจอังกฤษก็ยังคงฟุบครั้งใหญ่อีกจนได้ และบัดนี้เศรษฐกิจของอังกฤษก็หดตัวลงอย่างรวดเร็ว นโยบายขาดดุล งบประมาณของอังกฤษกำลังจะมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 10% ของ GDP ในปี 2009 นี้ คำกล่าวอ้างที่ผ่านมาของอังกฤษที่ว่าสามารถ บริหารเศรษฐกิจได้ดีกว่าใครๆ ในยุโรป ขณะนี้มีค่าเพียงคำพูดที่กลวงว่างเปล่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โมเดลแบบเยอรมนีที่ควบคุมนโยบายการเงิน และวินัยการคลังอย่างเข้มงวด ก็ไม่ใช่จะได้ผลดีไปกว่ากันนักในยามที่เกิดวิกฤติ ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีธนาคารกลางเยอรมนีหรือ Bundesbank เป็นต้นแบบ กล่าวคือคำนึงถึงเสถียรภาพมากที่สุด ได้เดินนโยบายถูกทางในช่วงแรกๆ โดยขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งดอกเบี้ยลดต่ำเหลือเพียง 1% ในปี 2003 นั้น ECB หยุดอยู่แค่อัตราดอกเบี้ยที่ 2% ซึ่งช่วยให้ยุโรปสามารถรอดพ้นจากการได้รับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด ที่เกิดขึ้นจากวัฏจักร ความรุ่งเรืองและตกต่ำของสินเชื่อ และตลาดที่อยู่อาศัยอย่างที่สหรัฐฯ เผชิญได้

แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงและดันเงินเฟ้อให้พุ่งสูงในช่วงกลางปี 2008 ECB กลับมีปฏิกิริยาเกินเหตุ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวงจรธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง เป็นความผิดพลาดของ ECB ที่กลับซ้ำเติมให้เศรษฐกิจและระบบการเงินยิ่งอ่อนแอลง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญความเลวร้ายที่สุด ความผิดพลาดของ ECB ครั้งนี้ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของการยืนหยัดที่จะใช้นโยบาย รักษาเสถียรภาพราคา และต่อไปนักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์อาจจะระบุว่า ช่วงกลางปี 2008 คือจุดสิ้นสุดของโมเดลแบบ Bundesbank

ส่วนโมเดลแบบอิงการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นสาระของสนธิสัญญาเสถียรภาพและการเติบโตแห่งยุโรป (ซึ่งถูกนำมาใช้ตามคำขอของเยอรมนีเอง) ก็ไม่ได้ดีไปกว่าโมเดลอื่น การที่เยอรมนีลังเลที่จะยอมรับถึงความหนักหนาสาหัสของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ในช่วงปลายปี 2008 และลังเลที่จะออกนโยบายมารับมือ ทำให้ฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ต่างพากันละทิ้งกฎเกณฑ์ ด้านการคลังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาดังกล่าว และประเทศใหญ่ในยุโรปเกือบทั้งหมดกำลังเตรียมจะละเมิดกฎเกณฑ์จำกัดเพดานการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3% ของสนธิสัญญา ดังกล่าว ทั้งในปี 2009 นี้และเลยไปจนถึงปีหน้าด้วย

โมเดลแบบ "ขอไปคนเดียว"ก็ไม่ไหวเช่นกัน วิกฤติสินเชื่อ โลกครั้งนี้ทำให้ชาติเล็กๆ ในยุโรปเพิ่งตระหนักว่า ทำไมจึงเป็นการดีกว่าที่จะร่วมใช้เงินสกุลเดียวกันคือเงินยูโร แม้กระทั่งเดนมาร์ก ซึ่งมีนโยบายเศรษฐกิจที่ดีกว่าแทบทุกประเทศในยุโรปด้วยกัน ก็ยังต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป และต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินตกต่ำเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ความเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยของเงินยูโรยิ่งมองเห็นได้อย่างชัดแจ้ง ในกรณีของประเทศยุโรปที่มีเศรษฐกิจเปราะบางอย่างมากอย่างฮังการีและโปแลนด์

ในขณะที่โมเดลเศรษฐกิจทั้งหมดข้างต้นต่างสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว แต่การแทรกแซงเศรษฐกิจในสไตล์ของฝรั่งเศสกลับกำลังแพร่ไปทั่วยุโรปในขณะนี้ ในยามที่ตลาดการเงิน ยังแข็งแรงดีอยู่ นโยบายแบบฝรั่งเศสที่สนับสนุนแต่อุตสาหกรรมที่เป็นที่โปรดปรานของรัฐ และการกำหนดวัตถุประสงค์ให้แก่นโยบายแห่งชาติ มักถูกมองอย่างกังขาจากประเทศต่างๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้น โมเดลแบบฝรั่งเศสซึ่งพร้อมที่จะแทรกแซงกระบวนการในตลาดได้ทุกเมื่อ กลับกลายเป็นบรรทัดฐาน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ความจริงแล้ววิธีบริหารเศรษฐกิจแบบฝรั่งเศสสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงคลางแคลงที่ฝังรากลึกมานานแล้วในฝรั่งเศสว่า การยอมปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างที่ปรารถนาเสมอไป และโชคร้ายที่วิกฤติสินเชื่อโลกกลับช่วยยืนยันความสงสัยของฝรั่งเศสดังกล่าว (ถึงแม้ว่าจากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดในเวลาต่อมาจะพบว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะการส่งสัญญาณอย่างผิดๆ ของรัฐบาลและธนาคารของประเทศทั้งหลาย มากกว่าที่จะเป็นเพราะการทำหน้าที่อย่างผิดพลาดของภาคเอกชนอย่างที่ถูกกล่าวหาในตอนแรก) Holger Schmielding หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Bank of America และผู้เขียนบทความชิ้นนี้คาดว่า ฝรั่งเศสจะยังคงเรียกร้องให้เพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุมตลาดทุนโลกให้เข้มงวดมากขึ้น

ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส มิได้เป็นเพียงนักแทรกแซงเท่านั้น หากเขายังสนับสนุนการใช้สามัญสำนึก กับตลาดแรงงานอีกด้วย ด้วยการเน้นจริยธรรมการทำงานแบบเก่า และไม่หลงละเมอเพ้อพกไปกับความเพ้อฝันแบบสังคมนิยม อย่างเช่นการทำงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนถึงขณะนี้ สหภาพยุโรปยังคงมีลักษณะเป็นระบอบทุนนิยมระบบตลาดที่มีความเสรีอย่างมาก แต่ตลาดแรงงานกลับไร้ประสิทธิภาพโดยทั่วไป แต่หากโมเดลแบบฝรั่งเศสยังคงได้รับการยอมรับต่อไป สหภาพยุโรปก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตลาดแรงงานอาจทำงานได้ดีกว่าเดิม ส่วนระบบการเงินก็อาจถูกควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม นักลงทุนทั่วโลกได้แต่หวังว่า ยุโรปจะกลับคืนสู่ความสมดุลได้ แต่ถ้าหากว่าใช้การแทรกแซงมากเกินไป ก็อาจจะไปสกัดกั้นโอกาสของการเติบโตและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในยุโรปได้เช่นกัน และหากเป็นเช่นนั้น ยุโรปอาจต้องตกเป็นรองสหรัฐฯ อีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในที่สุด

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 19 มกราคม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us