Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2552
เปิดตัวผู้หยั่งรู้ก่อนโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ             
 


   
search resources

Economics




Robert Shiller คาดการณ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำว่าโลกจะเกิดวิกฤติสินเชื่อ และแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ไม่มีใครเหมือน

Robert Shiller เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์เพียงหยิบมือเดียว ที่ได้รับยกย่องว่าสามารถคาดการณ์การเกิดวิกฤติสินเชื่อได้อย่างแม่นยำ แต่ Shiller เป็นเพียงคนเดียวที่ระบุสาเหตุของวิกฤติได้อย่างถูกต้องด้วย Nouriel Roubine แห่ง New York University ซึ่งขณะนี้มีฉายา Dr.Doom เตือนตั้งแต่ต้นปี 2006 แล้วว่าจะเกิดวิกฤติตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ สิ้นสุดยุคแห่งความรุ่งเรืองด้วยการใช้จ่ายของผู้บริโภค และจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ส่วน Stephen Roach จาก Morgan Stanley เตือนมานานหลายปีแล้วว่า ค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐที่อ่อนแอ และการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าขนาดหนักกับจีน คือสัญญาณของการเสียสมดุลอย่างอันตรายยิ่งของเศรษฐกิจโลก และจะทำให้เศรษฐกิจโลกล่มสลาย

แม้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองสมควรได้รับยกย่องที่สามารถมองเห็นจุดอ่อนแอที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ทั้งสองมิได้กล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ กล่าวคือการเก็งกำไรอย่างโกลาหลที่เกิดขึ้นในโลกการเงิน ซึ่งเชื่อมโยงกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างด้อยคุณภาพ

แต่ Shiller เป็นคนที่ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุข้างต้นมานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤติหนี้ที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพในตลาด subprime Shiller ทำนายว่าราคาบ้านจะตกต่ำอย่างรวดเร็วมากกว่าที่ใครๆ คาด ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกพลอยหกคะเมนตีลังกาไปด้วย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง Shiller ตระหนักดีว่า ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และหลายส่วนของยุโรปนั้น แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารความเสี่ยง และมาบัดนี้ Shiller ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Yale ซึ่งสร้างชื่อครั้งแรกด้วยการคาดการณ์อย่างแม่นยำว่า ตลาดหุ้นจะล่มสลายในปี 2001 ก็ยังต้องโดดเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อเขาเป็นคนเดียวที่แนะนำวิธีที่ไม่เหมือนใครเลย ในการทำให้ตลาดสินเชื่อโลกกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่อาจบอกว่า Barack Obama ควรต้องรีบเข้าควบคุมตลาดซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ที่ได้นำ หนี้จำนองคุณภาพต่ำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์อนุพันธ์ราคาสูง อันเป็นนวัตกรรมการเงินของ Wall Street ซึ่งขณะนี้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดวิกฤติสินเชื่อ แต่ Shiller กลับคิดตรงกันข้าม เขายืนยันว่า ตราบใดที่ประเด็นเรื่องความเสี่ยงซึ่งเป็นประเด็นหลักยังไม่ได้รับการพิจารณา จำนวนเงินมหาศาลที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทุ่มเทเข้ากอบกู้ตลาดการเงิน จะไม่สามารถ ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งใหม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นวิกฤติการเงินที่ร้ายแรงกว่าเก่าด้วย ในความคิดของ Shiller หลักทรัพย์อนุพันธ์เป็น "เครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่คล้ายกับการประกันภัย คุณจ่ายเพียงเบี้ยประกัน แต่เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น คุณก็จะได้รับการจ่ายคืน" Shille ชี้ด้วยว่า การพยายามจะควบคุมไม่ให้มีการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและแทนที่ จะพยายามทำเช่นนั้น เขาแนะนำว่า เราควรกล้าที่จะก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ ที่ซึ่งหลักทรัพย์อนุพันธ์กลายเป็นเรื่องที่ใช้กันอย่างปกติธรรมดาเหมือนๆ กับเงินสด

สิ่งที่ทำให้ Shiller แตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คือ การที่เขาไม่เคยเชื่อในทฤษฎีประสิทธิภาพของตลาด (efficient-market hypothesis) ซึ่งเป็นหลักการที่ผู้จัดการการเงินส่วนใหญ่ยึดถือ โดยเชื่อว่าตลาดสามารถกำหนดราคาสินทรัพย์จากมูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์นั้น และราคาที่กำหนดขึ้นนั้นจะสะท้อนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แต่ Shiller เลือกที่จะเชื่อเหมือนคนอื่นๆ อีกหลายคนเช่น John Kenneth Galbraith ซึ่งบอกว่า ราคาตลาดนั้นสะท้อน "สัญชาตญาณสัตว์" และความโลภของคนต่างหาก หาใช่สะท้อนข้อมูลที่สมบูรณ์ไม่

นั่นยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟองสบู่เริ่มก่อตัวขึ้น และสำหรับ Shiller แล้ว นั่นยังเป็นเหตุผลว่า เหตุใดนวัตกรรมทางการเงินและการควบคุมของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในสหรัฐฯ กำลังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้รัฐบาลปราบปรามหลักทรัพย์อนุพันธ์ต่างๆ ที่มีโครงสร้างซับซ้อน โดยตั้งอยู่บนหนี้จำนองที่เน่าเสีย ซึ่งมีการซื้อขายกันทั่วโลกจนเกิดธุรกรรมประเภทนี้นับเป็นล้านๆ ครั้ง เอื้ออำนวยด้วยความสะดวกจากระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ Barney Frank ประธานคณะกรรมาธิการบริการภาคการเงินแห่งสภาผู้แทนสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพล ถึงกับเสนอให้รัฐบาลหาทางบีบบังคับสถาบันการเงินให้ถอยห่างจากความเสี่ยงมากกว่านี้ และในยุโรปและเอเชียก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะออกมาตรการคล้ายๆ กันนี้เช่นกัน

ปฏิกิริยาต่อต้านดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การเกิดวิกฤติ การเงินแต่ละครั้งจะต้องส่งผลเป็นการตีกลับไปที่สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเหล่านั้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 หลังจากที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติในช่วงทศวรรษ 1920 ส่วนกฎหมาย Sarbanes-Oxley Act ผ่านการอนุมัติในปี 2002 หลังจากที่เกิดการฉ้อฉลครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Enron และ WorldCom แม้ว่า Shiller จะสนับสนุนให้มีการควบคุมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อมั่นว่า ความพยายามที่จะจำกัดการ ใช้อนุพันธ์ของหลักทรัพย์และจำกัดความเสี่ยง เป็นการเดินที่ผิดทิศทาง Shiller เขียนไว้ใน The Subprime Solution เมื่อครั้งที่เพิ่งเกิดวิกฤติ supprime พอดีว่า สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้คือนวัตกรรม ทางการเงินที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง หาใช่การพยายามจะจำกัดมันไม่ Shiller บอกว่า การบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง หากแต่เป็นการแบกรับความเสี่ยงไปโดยตลอด จนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุดไปตามเหตุผลของมัน และเพื่อที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ

Shiller ยังเห็นว่าการแทรกแซงจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการคุมสัญชาตญาณสัตว์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมและที่ที่กำลังต้องการนวัตกรรมการเงินมากที่สุดในขณะนี้ ก็คือตลาดอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของบ้านทุกคน

สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้คือ การค้าหลักทรัพย์อนุพันธ์ที่มีมูลค่า นับล้านล้านดอลลาร์นั้น กระทำโดยผู้ค้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

หนี้ที่อยู่อาศัยของลูกค้า subprime เกือบทั้งหมด ที่ถูกนำมามัดรวมแล้วแปลงเป็นหลักทรัพย์อนุพันธ์นั้นขายโดยสถาบันการเงินใน Wall Street เพียงแค่หยิบมือเดียว และผู้ซื้อก็มีอยู่ไม่กี่รายส่วนใหญ่เป็นสถาบันขนาดยักษ์ อย่างเช่น Bank of China, HSBC และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หลักทรัพย์อนุพันธ์เหล่านี้ยังเป็นเหมือนกล่องดำ ซึ่งไม่มีใครทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขายที่จะรู้ว่าข้างในนั้นมีอะไรบ้าง ตลาดอนุพันธ์จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่แต่ไร้สภาพคล่องและยังคลุมเครือ

นอกจากนี้ระบบการค้าหลักทรัพย์อนุพันธ์ยังเกี่ยวข้องกับเจ้าของบ้านแต่ละคนที่มีจำนวนมหาศาล รวมทั้งสถาบันที่ปล่อยสินเชื่อบ้านทั่วโลกด้วย เจ้าของบ้านเหล่านี้ไม่สามารถปกป้องบ้าน ของตัวเองได้ด้วยวิธีที่สถาบันขนาดใหญ่ใช้อยู่ ผู้ซื้อที่ซื้อคอนโด ในไมอามีหรือมาร์เบลล่า จำเป็นต้องเชื่อว่าตลาดบ้านจะมีแต่ขึ้น และไม่มีวิธีที่จะปกป้องตัวเองได้เลย หากตลาดตกต่ำ และเมื่อตลาดเกิดตกต่ำขึ้นมาจริงๆ เจ้าของบ้านหลายล้านคนก็ต้องจมอยู่กับบ้านที่ขายไม่ออก แม้จะยอมขายขาดทุนก็ตาม

วิธีแก้ของ Shiller คือ จะต้องใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์มาเป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าของบ้านรวมไปถึงสถาบันสินเชื่อบ้าน สามารถ ปกป้องตัวเองจากราคาบ้านที่ตกต่ำได้ ในสหรัฐฯ ตลาดที่อยู่อาศัย มีมูลค่าถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์ ทว่ากลับแทบไม่มีวิธีที่จะสร้างผลกำไรได้เลยในยามตลาดตกต่ำ ในขณะที่ถ้าเป็นตลาดหุ้น ซึ่งมีการใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์และ option ทำให้ยังคงสามารถทำกำไรได้แม้ว่าตลาดจะตกต่ำ ส่งผลให้จำนวนผู้ซื้อและผู้ขายหุ้นยังคงเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ Shiller เท่านั้น แต่ทั้งนักวิชาการด้านการเงินและเทรดเดอร์ต่างก็เห็นตรงกันว่า การที่จำนวนผู้ซื้อและผู้ขายไม่ลดลงนั้น แสดงว่าตลาดยังคงมีความคล่องตัวและยังทำหน้าที่ต่อไปได้ แม้จะต้องอยู่ภายใต้แรงกดดัน

แม้ Shiller ได้พยายามค้นหาวิธีที่จะสร้างหลักประกันให้แก่เจ้าของบ้าน ในยามที่ราคาบ้านตกต่ำมานานเกือบ 20 ปีแล้ว แต่บทความส่วนใหญ่ที่เขาเขียนเป็นบทความทางวิชาการ รวมทั้ง บทความล่าสุดของเขา Derivates Markets for Home Prices ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก็เต็มไปด้วยศัพท์แสงทางวิชาการเกินกว่าที่คนทั่วไปจะอ่านเข้าใจได้ แม้ว่า Shiller จะเก่งเรื่องการเตือนเกี่ยวกับฟองสบู่ในเวลาที่เหมาะเจาะ (เขาออกหนังสือ Irrational Exuberance ซึ่งเกี่ยวกับฟองสบู่ตลาดหุ้นแตกในเวลาเดียวกับที่ฟองสบู่แตกจริงๆ ในเดือนมีนาคม 2000 ออกหนังสือ เกี่ยวกับการล่มสลายของตลาด subprime เมื่อมันเริ่มระบาดไปทั่วโลก) แต่เสียงเรียกร้องของเขาให้ใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์เป็นหลักประกันให้แก่เจ้าของบ้าน ก็ไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก

Shiller ได้สร้างดัชนีราคาบ้านที่เรียกว่า Case-Shiller Index ซึ่งเป็นดัชนีที่มีการซื้อขายกันในตลาด Chicago Mercantile Exchange แต่ลูกค้าส่วนใหญ่มีแต่นักพนันและนักเก็งกำไร ซึ่งสนใจแต่เพียงว่าดัชนีดังกล่าวและราคาบ้านเฉลี่ยที่เป็นพื้นฐานของดัชนีจะขึ้นหรือลงเท่านั้น และยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวจากคนที่กำลังซื้อบ้านแถบชานเมืองลาสเวกัสหรือฟีนิกซ์ ที่จะสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินมาป้องกันความเสี่ยงเมื่อราคาบ้านตกต่ำได้ แม้แต่ Shiller เองก็ยอมรับว่า ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลกว่าที่เราจะไปถึงจุดที่เขาคิดว่าเราควรจะอยู่

Shiller รู้ดีว่า นักวิชาการมักมองโลกไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง และตัวเขาเองก็ถูกคนอื่นๆ มองเช่นนั้น เทรดเดอร์หลายคนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีพื้นฐานของ Shiller ที่ว่า การนำหลักทรัพย์อนุพันธ์มาใช้มากขึ้น จะทำให้ตลาดบ้านมีสภาพคล่อง และมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างว่า การเกิดขึ้นของตลาดล่วงหน้าก็หาได้ทำให้ตลาดหุ้นหรือตลาดโภคภัณฑ์ รอดพ้นจากการผันผวนขึ้นลงอย่างหนักได้ แต่อาจจะทำให้การขึ้นหรือตกของตลาดยิ่งลึก รุนแรง และรวดเร็วยิ่งกว่าด้วยซ้ำ พวกเขายังเยาะเย้ยด้วยว่า Shiller ไม่เคยบริหารพอร์ตการลงทุนหรือเคยค้าหุ้นจริงๆ เลย แม้เขาจะเป็นผู้คิดดัชนีราคาบ้านก็ตาม และการที่ Shiller เชื่อว่า การขยายการใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์ที่อิงกับราคาบ้าน จะช่วยเป็นหลักประกันให้แก่เจ้าของบ้านได้นั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขาแย้งว่า น่าจะนำไปสู่การเก็งกำไรอย่างใหม่มากกว่า อย่างไรก็ตาม Shiller ยืนยันว่า หากหลักทรัพย์อนุพันธ์ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถป้องกันความเสี่ยงในกรณีราคาบ้านตกต่ำได้ ก็จะช่วยป้องกันการก่อตัวของฟองสบู่ได้ด้วย

แม้จะยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าฝ่ายใดถูกระหว่าง Shiller กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขา แต่แนวความคิดที่ไม่เหมือนใครของ Shiller กลับไปตรงกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลชาวเปรู Hernando do Soto ซึ่งเห็นว่า โลกตะวันตกเริ่มล้ำหน้าส่วนอื่นๆ ของโลก เมื่อระบบการธนาคารและระบบกฎหมายของโลกตะวันตก ยินยอมให้คนสามารถเปลี่ยนที่ดินเป็นเงินได้ ส่วนระบบที่เราใช้กัน อยู่ทุกวันนี้ในการนำสินทรัพย์ไปเป็นหลักประกันการกู้ยืม ก็เป็นผลพวงที่มาจากความล้ำหน้าข้างต้น ซึ่งทำให้โลกตะวันตกได้ประโยชน์อย่างมหาศาล

ส่วน Shiller เห็นว่า ยังมีความมั่งคั่งอีกมากที่ถูกขังไว้อยู่กับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพราะว่าเจ้าของจะสามารถขายอสังหาริมทรัพย์ของตนได้ง่าย ก็ต่อเมื่อตลาดอยู่ในสภาพดีเท่านั้น ทำให้สินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงและไม่มีสภาพคล่อง แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่จะชดเชยปัญหานี้ได้ Shiller เห็นว่าการเพิ่มการใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์ และการทำให้เจ้าของบ้านสามารถขาย short sell สินทรัพย์ของตัวเอง จะทำให้สามารถซื้อ ขาย และบริหารความเสี่ยงของอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการขาย short sell หุ้น ตราสารและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ Shiller ทำนายด้วยว่า หากทำได้เช่นนี้จะสามารถช่วยปลดปล่อยความมั่งคั่งได้อีกมาก ขณะเดียวกันยังสามารถลดความเสี่ยงจากระบบได้อีกด้วย

สิ่งที่ Shiller กำลังทำโดยสาระสำคัญแล้ว เป็นการวางรากฐานทางด้านสติปัญญาสำหรับการปฏิวัติทางการเงินครั้งต่อไป เพราะความทุกข์ที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นเพียงวิกฤติใหญ่ครั้งแรกของเศรษฐกิจในยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age) เท่านั้น คำตอบของ Shiller อาจฟังดูค้านกับสัญชาตญาณ แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อนว่า วิธีที่จะรักษาโรคติดเชื้อได้นั้น หาใช่การหนีหรือกักกันเชื้อโรค หากแต่เป็นการตั้งใจที่จะทำให้คนติดเชื้อโรคมากขึ้นต่างหาก ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งก็คือการฉีดเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแรง เข้าสู่ร่างกายคนนั่นเอง ทำให้เกิดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคขึ้น Shiller ยอมรับว่า ยังมีข้อบกพร่องสำคัญในหลักทรัพย์อนุพันธ์และการแปลงหนี้เป็นหลักทรัพย์ แต่นับตั้งแต่เรือไททานิคจมลงเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เราก็ยังคงไม่หยุดเดินเรือข้ามแอตแลนติกกันมิใช่หรือ

แน่นอน ไททานิคคงจะทำให้เราต้องหยุดคิด 2 ครั้งก่อนที่จะก้าวขึ้นเรือ แต่หากเรายอมสยบให้แก่ความกลัว เราคงสูญเสียพลังที่ผลักดันให้เราก้าวมาได้ไกลจนถึงทุกวันนี้ และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไม Shiller จึงเรียกร้องให้เราใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์ให้มากยิ่งขึ้นและสร้างนวัตกรรมการเงินเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่กับระบบทุนนิยม ก็มักจะตามมาด้วยเสียงเรียกร้อง ให้หวนกลับไปสู่ยุคก่อนหน้า ซึ่งชีวิตยังมั่นคงและบ้านเมืองยังดีกว่านี้มาก สัญชาตญาณสัตว์ในตัวเราอาจสงบลง แต่ก็เพียงชั่วคราว เท่านั้น ความท้าทายคือการพยายามค้นหาวิธีที่จะป้องกันไม่ให้สัญชาตญาณสัตว์นั้นเกิดบ้าคลั่งขึ้นอีก เมื่อมันผุดโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง การเรียกร้องของ Shiller ให้เรายิ่งใช้หลักทรัพย์อนุพันธ์ให้มากขึ้น ช่างยากที่จะรับฟังในเวลาที่หลักทรัพย์ประเภทนี้เพิ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้แก่ทุกคน

แต่ Shiller บอกว่า เครื่องมือการเงินที่ทำให้เราต้องพบกับทุกขเวทนาอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกกล่าวโทษ เพราะมันเป็นเพียงเครื่องมือซึ่งอาจจะถูกนำไปใช้ในทางเสียหายก็ได้หรือในทางที่ดีก็ได้เช่นกัน และเตือนว่า การพยายามจะปิดกั้นความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ อาจเป็นงานของคนเขลาเท่านั้น

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 19 มกราคม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us