|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จีนกลายเป็นหนึ่งเดียวที่แทบไม่ได้รับผลกระทบทั้งยังทำท่าจะเติบโตต่อไป จู่ๆ เศรษฐกิจระบบตลาดที่ควบคุมโดยรัฐแบบจีนก็กลับกลายเป็นเรื่องฉลาดสุดๆ
จีนเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงชาติเดียวในโลกที่ถูกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ทั้งๆ ที่จีนเป็นชาติเดียวที่แหกกฎทุกกฎที่มีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์อยู่เป็นประจำ จีนไม่เคยมีตลาดเสรีที่แท้จริง เป็นประเทศที่รัฐบาลแต่งตัวเลขสถิติ ควบคุมตลาดหุ้น ตรึงราคาสินค้าในอุตสาหกรรม สำคัญต่างๆ และยังเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสำคัญๆ หลายอย่าง ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ยึดตำแหน่งสำคัญๆ ในธนาคารเอาไว้ให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังสามารถสั่งธนาคารได้ว่า ควรจะปล่อยกู้ให้ใครและควรจะลงทุนในเรื่องอะไร ความจริงแล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนไม่ชะลอตัวลงอย่างฮวบฮาบ เหมือนกับชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ อีก 5 ชาติ ก็คือความสามารถที่เคยถูกนักเศรษฐศาสตร์เยาะเย้ยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาพปกติว่า เป็นการยุ่มย่ามของภาครัฐนั่นเอง ได้แก่ การจำกัดการลงทุนจากต่างชาติในภาคการธนาคาร และการไม่ยอมอ้าแขนรับนวัตกรรมทางการเงินแปลกๆ ซึ่งได้กลายมาเป็นสาเหตุหลักของวิกฤติสินเชื่อโลกในครั้งนี้
ทำไมระบบทุนนิยมแบบเผด็จการของจีนจึงใช้ได้ผล คำถาม นี้คาใจนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายมานมนานแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ โดยทั่วไปมักจะมองภาครัฐว่าโง่เง่าและสิ้นหวัง และมองตลาดว่าฉลาดโดยธรรมชาติ แต่มาบัดนี้ เมื่อทั้งสหรัฐฯ และยุโรปต่างเริ่มเข้าไปควบคุมตลาดมากขึ้น ด้วยการเข้ายึดอุตสาหกรรมการธนาคารและรถยนต์ และยังตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่หนักหน่วงต่ออุตสาหกรรมการเงิน ทำให้คำถามข้างต้นยิ่งต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน เหตุใดจีนซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ยุ่งเหยิงที่สุด จึงดูเหมือนจะกลายเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีความพร้อมมากที่สุด ในการจะฝ่าคลื่นลมมรสุมเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก ที่อาจจะนับเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ
ในยามวิกฤติเช่นนี้ ข้าราชการจีนสามารถจะเลือกหยิบเครื่องมือทางการตลาดมาใช้ได้เช่นเดียวกับชาติตะวันตกอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถนำเครื่องมือจากระบบทุนนิยมแบบออกคำสั่งของตนมาใช้ได้อีกด้วย ช่วงต้นปีที่แล้ว เมื่อตลาดที่อยู่อาศัยของจีนร้อนแรงเกินไป รัฐบาลจีนก็เพียงแต่ออกคำสั่งให้ธนาคารต่างๆ ลดการปล่อยกู้ด้านที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นเมื่อยอดขายบ้านเริ่มตกต่ำ รัฐบาลจีนก็เพียงแต่เสนอสิ่งจูงใจให้แก่ตลาด อย่างเช่น ลดภาษีในการซื้อบ้าน เดือนที่แล้ว จีนเพิ่งประกาศใช้มาตรการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งไม่ต่างไปจากมาตรการกอบกู้เศรษฐกิจของชาติตะวันตก อันได้แก่มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐมหาศาลถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ออกคำสั่งที่อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมในสายตาของตะวันตก เช่น การสั่งให้อุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ อย่างเช่นอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและการก่อสร้าง ให้เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจด้วยการกว้านซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ ทั้งในและนอกจีน
การแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นนิสัยที่ไม่ดีของเศรษฐกิจที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ แต่มาบัดนี้กลับถูกมองว่าเป็นป้อมปราการที่สามารถปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ นักเศรษฐศาสตร์จาก CLSA ถึง กับแสดงความมั่นใจในอนาคตของจีน เมื่อเห็นรัฐบาลจีนยื่นมือเข้าไปควบคุมภาคธุรกิจที่เน้นการลงทุนสูง เพราะว่ารัฐบาลจีนสามารถจะสั่งซ้ายหันขวาหันบริษัทเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะสั่งให้อย่าหยุดการใช้จ่าย อย่าเลื่อนแผนการลงทุน เป็นต้น แม้ว่าตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่ง ของจีนและตลาดหุ้นของจีนเองจะตกต่ำลง แต่เศรษฐกิจจีนดูจะทำท่าว่าจะเติบโตมากกว่า 7% ในปีนี้ (2009) แม้จะลดลงจากที่เคยเติบโตเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก แต่ก็ยังมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก อัตราการกู้ยืมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารของรัฐยังคงปล่อยสินเชื่อ ในประเทศซึ่งการลงทุนเป็น "กระดูกสันหลังของ การเติบโตอย่างยั่งยืน" โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของ GDP อย่างจีนนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จีนได้ใช้การเพิ่มการลงทุน เป็นวิธีต่อสู้กับภัยคุกคามร้ายแรงต่างๆ ซึ่งกำลังคุกคามการเติบโตของจีน ผู้บริหาร Morgan Stanley Asia ชี้ว่า สิ่งที่กำลังประจักษ์แก่สายตาเราคือ ในห้วงเวลาที่เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจนี้ ระบบสั่งการและควบคุมของจีนกลับใช้ได้ผลมากยิ่งกว่าระบบอื่นๆ ที่อิงตลาดเป็นพื้นฐาน
เมื่อเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีนผู้ล่วงลับและเป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน กล่าวคำพูดอันเป็นอมตะว่า แมวจะมีสีขาวหรือสีดำก็ไม่สำคัญ ตราบใดที่มันยังจับหนูได้นั้น
เขาได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือกว่าอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว มาถึงวันนี้ บรรดาผู้นำจีนต่างอ้างคำของเติ้ง ในการปกป้องคำสัญญาพื้นฐานที่เติ้งได้ให้ไว้แก่ประชาชน ชาวจีน นั่นคือ ทุนนิยมเผด็จการจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโต ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะรักษาอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จเอาไว้ต่อไป ขณะนี้บรรดาผู้นำของจีนต่างยืนยันว่า หากจีนเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็คงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างนี้ Fang Xinghai ผู้อำนวยการสำนักบริการการเงินเซี่ยงไฮ้ ข้าราชการระดับสูงของจีนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ยืนยันว่า จีนไม่พร้อมที่จะเป็นระบบตลาดเสรีประชาธิปไตย พร้อมกับชี้ให้เห็นความเป็นอัจฉริยะของเติ้ง ซึ่งเห็นได้จากเมื่อเขาเริ่มนำจีนเข้าสู่เส้นทางของเศรษฐกิจระบบตลาดเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น เขารู้ดีว่าจีนต้องการ ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพื่อที่จะสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ไม่ว่าระบบของจีนจะเป็นอย่างไร แต่มันก็เหมาะสมกับจีนที่สุด
สาเหตุที่ระบบของจีนใช้ได้ผล เป็นเพราะระบบของจีนเน้นการปฏิบัติได้เป็นสำคัญ และเน้นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงไปสู่ระบบตลาดที่เสรีขึ้น เติ้งเรียกการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ว่าเป็นการ "เดินลุยข้ามแม่น้ำอย่างรู้สึกได้ถึงหินทุกก้อน" (ที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า) รัฐบาลจีนยังคงปกครองจีนด้วยมือที่มั่นคงและเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ปลดปล่อยให้เกิดภาคเอกชนขึ้น มาถึงขณะนี้ ภาคเอกชนของจีนครอบครองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจจีน หรือมากถึง 70% ของเศรษฐกิจจีนหากจะนับรวมบรรดารัฐวิสาหกิจของจีนเข้าไปด้วย ซึ่งถึงแม้จะมีรัฐเป็นเจ้าของ แต่บรรดารัฐวิสาหกิจของจีนก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้เหมือนเป็นบริษัทเอกชน สัดส่วนของภาคเอกชนในเศรษฐกิจของจีนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเพียง 17% เท่านั้นในช่วงต้น ทศวรรษ 1990 ขณะนี้ 60% ของการเติบโตของ GDP ของจีนและ 2 ใน 3 ของการสร้างงานใหม่ล้วนมาจากภาคเอกชน
ในปี 1995 จีนเริ่มปฏิวัติรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ด้วยการลอยแพคนงานภาครัฐถึง 46 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเท่ากับ แรงงานทั้งประเทศฝรั่งเศสหรืออิตาลีเลยทีเดียว โดยใช้เวลานานถึง 6 ปี จีนยังใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนั้น ในการลดขนาดรัฐวิสาหกิจ และทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างผลกำไรแบบพุ่งกระฉูดถึง 38% ในระหว่างปี 2004-2005 และภาคเอกชนของจีนก็ได้รับอนุญาตให้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นักเศรษฐศาสตร์จาก CLSA เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น ทว่าทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้ระยะเวลานาน ในช่วงเวลานั้นมีการแปลหนังสือเกี่ยวกับรัสเซียที่เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ทุนนิยมอย่างมากมายในจีน เหนืออื่นใด จีนต้องการจะหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัสเซีย ภายหลังจากที่รัสเซียปฏิรูปตัวเองอย่างถอนรากถอนโคนในช่วงต้นทศวรรษ 90 ได้ก่อให้เกิดคณาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ฉ้อฉล โดยได้รับการหนุนหลังจากทางการรัสเซีย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอน รัสเซียจนถึงวันนี้
การปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองอย่างรุนแรง กลาย เป็นข่าวใหญ่ที่บดบังความหาญกล้าของจีนในการเสี่ยงที่จะปฏิรูป เศรษฐกิจไปเสียสิ้นอย่างน่าเสียดาย จีนได้ตัดสินใจลองเปิดรับการลงทุนจากชาติตะวันตกนับตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการเริ่มพัฒนา เศรษฐกิจ ซึ่งเร็วกว่าทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คือตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 80 ซึ่งเป็นเวลารายได้เฉลี่ยต่อปีของจีนอยู่ที่เพียง 760 หยวนหรือประมาณ 500 ดอลลาร์เท่านั้น เป็นเพราะเติ้งตระหนักดีว่า การค้ากับโลกเท่านั้นที่จะสามารถฉุดดึงจีนให้ขึ้นมาจากความยากจนได้ เติ้งยังปลดปล่อยชาวนาให้สามารถเข้าไปหางานทำใน เมืองได้ ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงอย่างยิ่ง สำหรับประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการลุกฮือของกบฏชาวนา
แม้กระทั่งหลังจากการปราบปรามผู้ประท้วงเทียนอันเหมิน อย่างนองเลือดในปี 1989 เติ้งก็ยังคงผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อ ในช่วงที่เอเชียเกิดวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดเมื่อกว่า 10 ปีก่อนนั้น จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และสัญญาจะเปิดตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น ในเวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้คนงานที่ถูกปลดออกจากงานสามารถเริ่มต้นธุรกิจและซื้อที่อยู่อาศัยของรัฐได้ กลายเป็นการวางรากฐานของการสร้างสังคมที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ ภายในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน และยังเป็นการสร้างฐานสำหรับรองรับสังคมชนชั้นกลางในอนาคต อีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "การถ่ายโอนความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก"
มาในวันนี้ เมื่อวิกฤติที่เลวร้ายยิ่งกว่ากำลังเกิดขึ้น จีนก็ยังคงผลักดันการปฏิรูประบบตลาดในภาคธุรกิจสำคัญๆ แม้จะยังคงควบคุมภาคธุรกิจอื่นๆ ไว้ต่อไป ธนาคารเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ที่จะต้องปฏิรูป Fang ผู้อำนวยการสำนักบริการการเงินเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ตลาดทุนของจีนยังคงมีสินเชื่อจากธนาคารเป็นผลิตภัณฑ์ หลัก และจีนยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินน้อยเกินไป และต้องการดึงดูดนักลงทุนสถาบันให้เข้าสู่ตลาดของจีนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จีนจึงกำลังสนใจหลักทรัพย์ชนิดใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าหุ้น เช่น กองทุนดัชนีหุ้น หุ้นกู้และตราสารหนี้อื่นๆ แม้กระทั่ง option และตลาดล่วงหน้า แต่เป็นชนิดง่ายๆ เช่นตลาดน้ำมันล่วงหน้า และจีนไม่สนใจตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดตะวันตกล่มสลายอยู่ในขณะนี้
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติสินเชื่อ อยู่นี้ แต่ผู้นำจีนยังสามารถเข้าใจได้ว่า หลักทรัพย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสามารถจะนำมาใช้สร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดได้ ซึ่งสะท้อนว่าจีนรู้จักคิดในเชิงกลยุทธ์ และยังมีทักษะสูงมากในการเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น เมื่อถามว่า ชอบอะไร มากที่สุดในธนาคารของชาติตะวันตก Jiang Jianqing ประธานธนาคาร ICBC ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนตอบทันทีว่า นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์การเงิน "สหรัฐฯ ดูจะหลงใหลในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ อย่างไม่มีวันหมดสิ้น ส่วนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจเป็น เพียงปัญหาการควบคุมดูแลที่ไม่ดีพอ แต่นวัตกรรม ใหม่ๆ ด้านการเงินเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง ในการผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป" Jiang กล่าว
สิ่งที่แสดงว่าจีนมองการณ์ไกลยิ่งกว่านั้นอีก คือโครงการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งทำให้ชาวนาจีนสามารถจะเช่าหรือให้เช่าที่ดินของตนแก่คนนอกได้ (รวมทั้งบริษัทต่างชาติ) เพียงแค่การจัดสรร ที่ดินให้แก่ชาวนาแต่ละคนก็เป็นงานใหญ่ขนาดงานช้างแล้วสำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ดังนั้นโครงการปฏิรูปที่ดินของจีนนี้คงจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ความคิดนี้ก็ได้สร้างความตื่นเต้นไปเรียบร้อยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Jones Lang LaSalle (JLL) บริษัทที่ปรึกษา อสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า การปฏิรูปที่ดินในจีนจะปลดล็อกที่ดิน ในชนบทได้เป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และโครงการปฏิรูปที่ดินนี้จะเป็นสิ่งที่ Hu Jintao ผู้นำจีนทิ้งไว้เป็นมรดกตลอด ไป การเปลี่ยนชาวนาให้กลายเป็นผู้บริโภคที่มีที่ดินในครอบครอง อาจนำไปสู่การสร้างสังคมบริโภคในระยะยาว และช่วยให้จีนลดการพึ่งพาการส่งออก และช่วยปรับสมดุลให้แก่เศรษฐกิจโลก
เมื่อใดที่ผู้นำจีนส่งสัญญาณเปลี่ยนทิศทางใหม่ พวกเขาจะไม่มีการวอกแวก ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการต่อสู้ทางการเมืองของจีน จากการที่ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนจงใจกดค่าเงินหยวนให้ต่ำเพื่อส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ละเลยความจริงที่ว่า ค่าเงินหยวนของจีนค่อยๆ แข็งค่าขึ้นทั้งหมด 21.5% แล้วระหว่างปี 2005-2008 เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่เดือนก่อน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า จีนจะยังคงปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอีกต่อไป และปรับสมดุลระหว่างความต้องการแข่งขันได้ในการส่งออกกับความต้องการของโลก ที่อยากเห็นการค้าที่สมดุล
ความสมดุลระหว่างตลาดเสรีกับตลาดแบบมีการควบคุมในจีน ยังเห็นได้จากการที่จีนตรึงราคาสินค้าและให้รัฐเข้าควบคุม ภาคธุรกิจสำคัญๆ อย่างการเงิน โทรคมนาคม สาธารณูปโภคและพลังงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมให้มีการแปรรูปบางส่วน อย่างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมเปิดกว้างสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินทุนและความชำนาญจากต่างชาติเข้ามาในจีน ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต่อไปยังบริษัทของจีน เหมือนอย่างที่ทำให้ Huawei ของจีนกลายเป็นบริษัทที่แข่งขันได้ในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้า ภาคบริการที่สร้างผลกำไรมากกว่ายังคงอยู่ในมือของทางการจีน ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาค่าโทรศัพท์มือถือ
จีนได้เริ่มลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เป้าหมายคือเพื่อทำให้ระดับราคาเชื้อเพลิงจีนใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลกมากขึ้น แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะใช้เวลาถึง 15 ปี โดยมีเป้าหมายในการทำให้สัดส่วนของราคาผู้บริโภคทั้งหมดที่รัฐตรึงอยู่ ลดลงจาก 95% เหลือเพียง 5% ภายใน 15 ปี การค่อยๆ ลดเงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นแผนการที่จีนวางไว้อย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพุ่งกระฉูดของเงินเฟ้อถึง 1,000% อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับรัสเซียในช่วงระหว่างปี 1991-1992 หลังจากที่รัสเซียเริ่มผ่อนคลาย การตรึงราคา นักวิชาการจาก Brooking Institute ชี้ว่า จีนไม่ต้องการวิธีการแบบ shock therapy เพราะได้เห็นกันแล้วว่า ผลที่ได้มักมีแต่ความตื่นตระหนกและความวุ่นวาย หรือ shock เท่านั้น แต่แทบจะมองไม่เห็นผลดีเลย
การที่ผู้นำจีนเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถที่จะปั้นตลาดได้ อาจจะมาจากภูมิหลังของผู้นำจีนแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกร และจะต้องมีการวางแผนการทำงานเสมอ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 8 ใน 9 คนล้วนเป็นวิศวกร ความเป็นนักปฏิบัติโดยอาชีพของบรรดาผู้นำจีนนี้อาจช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่ยอมเสี่ยงกับนวัตกรรมทางการเงินของตะวันตก ในการประชุมทางธุรกิจของจีนที่เมือง Barcelona ในสเปน Su Kuangdi รองประธานคณะที่ปรึกษารัฐสภาจีน และประธานวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ของจีน กล่าวเยาะเย้ยผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ขายกันตลอดทศวรรษที่แล้วโดยสถาบันการเงินของตะวันตกว่า สถาบันการเงินตะวันตกนับว่าได้ปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์ ที่สามารถเล่นแร่แปรธาตุประดิษฐ์เครื่องมือการเงิน ที่แม้แต่สถาบันการเงินเองก็ไม่เข้าใจหรือควบคุมไม่ได้ ส่วนนักลงทุนในชาติตะวันตกก็ชอบฟังนิทานหลอกเด็กที่ว่า เครื่องมือเหล่านั้นดีกว่าการผลิตสินค้าจริงๆ มากมายเพียงใด แต่หารู้ตัวไม่ว่าพวกเขาต่างกำลังฝันเฟื่อง
ระบบสั่งการและควบคุมที่ดำเนินการโดยเทคโนแครตที่เก่งกาจของจีน ทำให้จีนสามารถทำงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงได้อย่าง รวดเร็ว David Murphy หัวหน้าฝ่ายวิจัย China Reality ของ CLSA กล่าวในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนว่า รู้สึกทึ่งกับความสามารถของรัฐบาลจีนที่สามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องประสานกันและระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคนและทรัพยากรเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ตรงข้ามกับรัสเซีย ที่ความเป็นเผด็จการกลับก่อให้เกิดสภาพที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทำให้ทั้งนักลงทุนและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ของรัสเซีย ต่างไม่เคยคาดคิดคำนวณว่าอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้และต่อไป
จีนยังมีระบบการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพสูง ทูต Wu Jianmin ของจีนยังจำได้ดีถึงการพบปะครั้งหนึ่งกับรองนายกเทศมนตรีเมือง Wuxi ผู้ซึ่งสามารถเปรียบเทียบรายละเอียดของสภาพเศรษฐกิจในเมืองของเขากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 70 ได้ รองนายกเทศมนตรีผู้นั้นวิตกว่า เหตุใดธุรกิจภาคบริการในเมืองของเขา จึงไม่สามารถเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อดูจากการเติบโตของ รายได้ต่อหัว (หลังจากนั้นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองดังกล่าวก็ถูกส่งไปสหรัฐฯ เพื่อไปเสาะแสวงหาคนเก่งด้านภาคบริการ)
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่ไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานประสิทธิภาพของจีน จะต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดและถูกปลดจากตำแหน่ง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ชาติกำลังพัฒนาโดยทั่วไปไม่ค่อยจะกล้าทำ เรื่องอื้อฉาวนมปนเปื้อนเมลามีนซึ่งทำให้เด็กจีนเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนและอีก 3 แสนคนล้มป่วยเพราะดื่มนมปนเปื้อนดังกล่าว ทำให้จีนสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 6 คน รวมถึงนายกเทศมนตรีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองอันเป็นที่ตั้งของ Sanlu บริษัทผู้ผลิตนมที่มีปัญหานั้น แม้แต่ผู้ตรวจสอบสูงสุดความปลอดภัยด้านอาหารของจีนก็ต้องลาออก และประธานบริษัท Sanlu ซึ่งเป็นผู้หญิงต้องถูกดำเนินคดี แม้ว่าการลงโทษดังกล่าวแทบไม่อาจคลายความโกรธแค้นของชาวจีนต่อเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวได้ แต่สร้างความหวาดกลัวให้แก่เจ้าหน้าที่จีนได้
การกำหนดเป้าหมายด้านประสิทธิภาพการทำงานที่ชัดเจนเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพที่จีนชื่นชมในตัวชาวอเมริกัน ดังนั้น จีนจึงส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 ใน 5 คนไปรับการฝึกอบรม ในเรื่องดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐฯ จนทำให้ มหาวิทยาลัย Kennedy School ของ Harvard ถูกเรียกเล่นๆ ในจีนว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่จีนต้องการในขณะนี้ยังคงเป็นความมั่งคั่งร่ำรวยและเสถียรภาพในประเทศ ความทะยานอยากในการใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความร่ำรวยของจีนตอนนี้ ดูเหมือนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเสียอีกด้วย
แน่นอนที่ความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งของจีนย่อมเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นมากขึ้นด้วย แต่จีนก็มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ อันดับของจีนในการจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก ลดลงจากอันดับที่ 52 ไปอยู่ที่อันดับ 72 ซึ่งแสดงว่าการคอร์รัปชั่นน้อยลง นักธุรกิจ จีนและตะวันตกดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่า คอร์รัปชั่นในจีนเป็นแบบนุ่มนวลที่เรียกว่ากินตามน้ำหรือหยอดน้ำมันเท่านั้น ไม่ใช่แบบข่มขู่คุกคาม ประธานบริษัทใหญ่ของยุโรปแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานในชาติกำลังพัฒนามาแล้วหลายชาติ เปรียบเทียบคอร์รัปชั่น ในจีนกับรัสเซียว่า ในรัสเซีย ถ้าค่าก่อสร้างสะพานเท่ากับ 100 ดอลลาร์ เจ้าหน้าที่จะชักไป 90 แต่ในจีน เจ้าหน้าที่จะชักไป 30 และอย่างน้อยสะพานก็ถูกสร้างขึ้นจริงๆ
หลายคนยกตัวอย่างคดีค้าหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงใน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีนคือ Huang Guangyu ผู้ก่อตั้งร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Gome เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับคดีคอร์รัปชั่นมากขึ้น อดีตนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งจาก Morgan Stanley ชี้ว่า สิ่งที่สำคัญ ยิ่งกว่านั้นคือ Gome จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าชะตากรรมของเจ้าของ มันจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าตลาดจีนมีวุฒิภาวะมากขึ้น จีนยังเพิ่งแก้กฎหมายความเป็นเจ้าของหุ้น ทำให้ตลาดมีความคล่องตัวมากขึ้น และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่น้อยลง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความพยายามของทางการจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่พยายามจะฟื้นตลาดหุ้นด้วยการยกเลิกอากรแสตมป์สำหรับการซื้อหุ้นแต่กลับไร้ผล นั่นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นจีนมีความเสรีเกินกว่าที่รัฐจะควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยว่ารัฐบาลจีนจะยังคงยื่นมือเข้า แทรกแซงเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนส่วนใหญ่จะใช้กับภาคธุรกิจที่อยู่ในความควบคุมของรัฐอย่างเช่น คมนาคม ไฟฟ้าและก่อสร้าง ซึ่งรับประกันได้ว่าจะใช้จ่ายเงินอย่างรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลจีนต้องการ จีนยังได้เลือกที่จะออกใบอนุญาตสำหรับโทรศัพท์มือถือ 3G รุ่นใหม่ในเวลานี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้มีเงินไหลเข้าไป ในภาคโทรคมนาคมที่อยู่ในความควบคุมของรัฐมากขึ้น และในฮ่องกง นักลงทุนกำลังย้ายเงินจากธนาคารพาณิชย์ไปยังธนาคารของรัฐ เพราะรู้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่ทอดทิ้งธนาคารของรัฐแน่
แต่วิวัฒนาการที่น่าทึ่งที่สุดสำหรับตลาดที่มีหลายรูปแบบผสมกันของจีน อาจเป็นวิธีที่ผู้นำจีนใช้ในการติดตามความรู้สึกของประชาชน รวมถึงความรู้สึกทางการเมือง รัฐบาลกลางจีนได้ส่งที่ปรึกษาไปสอนเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ถึงเทคนิคการประชา สัมพันธ์ในแบบอเมริกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ครั้งใหม่ของจีนที่เรียกว่า "การเปิดกว้าง"ซึ่งจีนคิดขึ้นมาเพื่อใช้ป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงของประชาชน เนื่องจากความไม่พอใจวิกฤติเศรษฐกิจ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่ Chongqing ซึ่งเป็นเขตเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดของจีน Bo Xilai เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถึงกับลงทุนไปพบกับกลุ่มคนขับแท็กซี่หลายพันคนที่กำลังประท้วงด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการกระทำที่เกือบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีน Bo สามารถ ทำให้เกิดการจัดประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้ประท้วงและตัวแทนประชาชน จนได้ข้อตกลงที่รวมถึงการลดค่าธรรมเนียม เพิ่มเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง และอนุญาตให้คนขับแท็กซี่ตั้งสหภาพได้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง ซึ่งเคยเกิดความไม่สงบทางสังคมหลายครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจีนก็ทำได้ดีขึ้น ไม่มีการนองเลือด ไม่มีผลกระทบ ผู้นำจีนเข้าใจว่า ปัญหาของผู้ประท้วงมีความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาความเป็นความตายของคนที่เดือดร้อน
ความสามารถในการบริหารความเห็นของประชาชนอาจยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในยามที่สภาพเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเช่นนี้ คนจีนเป็นคนที่ชอบมีทางเลือก รายการทีวีประเภท reality show จึงกลายเป็นรายการฮิตติดลมบน เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถ ลงคะแนนเลือกผู้ชนะได้ แม้ว่าชาวจีนจะไม่มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้นำ แต่ขณะนี้คนจีนสามารถจะเขียนต่อว่ารัฐบาลท้องถิ่นในเมืองของตนลงบนเว็บไซต์ของทางการจีนได้ และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นจะต้องตอบข้อร้องเรียนของประชาชนภายใน 3 วัน นอกจากนี้ยังมีการจัดอันดับหน่วยงานท้องถิ่นของจีน ด้วยการตัดสินจากจำนวนความเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบที่เขียนเข้ามาบนเว็บไซต์ดังกล่าว
นี่คือกลยุทธ์ของรัฐบาลกลางจีนในการใช้อินเทอร์เน็ตและ ความคิดเห็นของสาธารณชนมากดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น รวมทั้งกดดันการตัดสินใจด้านนโยบายด้วย Horizon บริษัทวิจัยตลาดในกรุงปักกิ่ง เคยทำโพลสำรวจความคิดเห็นของชาวจีน เพื่อช่วยรัฐบาลจีนกำหนดราคาค่าตั๋วเข้าชมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพเมื่อปีกลาย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณราคาปรับปรุงการติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกลของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจของประชาชนหากตั้งราคาสูงเกินไป ในปีหน้าบริษัทวิจัยดังกล่าวจะทำโพลจัดอันดับเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับสูงของจีน 10,000 อันดับ และต่อไปในอนาคตอาจจะมีการขยายการจัดอันดับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีนด้วย อาจจะเป็นภายในปี 2014 Horizon ชี้ว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างสูง และต้องการจะเข้าใจความต้องการของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่พอใจของประชาชน นับตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมา ผู้นำจีนก็ไม่ใช่ซูเปอร์แมนอีกต่อไป แต่พวกเขาต้องแสวงหาความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชน
กระนั้นก็ตาม ผู้นำจีนก็ยังคงพบว่า การจะสนองความต้องการของประชาชนตามอย่างเติ้งยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ 30 ปีก่อน จีนมีประชากร 963 ล้านคน และ 30% ยังหิวโหย มาบัดนี้ประชากรจีนเพิ่มเป็น 1.3 พันล้านคน และ 97% ท้องอิ่ม แต่การเลื่อนชั้นขึ้นเป็นชนชั้นกลาง (ขณะนี้ชนชั้นกลางของจีนมีเพียง 6%) กลับยากขึ้น Morgan Stanley ชี้ว่า GDP ต่อหัวของจีนขณะนี้ อยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเคยทำได้ ก่อนที่เศรษฐกิจที่มหัศจรรย์ไม่แพ้จีนของญี่ปุ่น จะเริ่มชะลอตัวลงสู่การเติบโตที่ช้าลงเนื่องจากเริ่มถึงจุดอิ่มตัว
แม้ว่าความสำเร็จในระบบทุนนิยมแบบสั่งการของจีนจะให้บทเรียนเพียงจำกัดต่อสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะง่ายมากกว่าที่จะกระตุ้นการเติบโตด้วยการออกคำสั่งให้วิศวกรทำงานสร้างถนนหนทาง หากคุณใช้ระบบเผด็จการ ในขณะที่ชาติพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ ยากที่จะกระตุ้นการเติบโตด้วยการออกคำสั่งเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่า จีนซึ่งร่ำรวยเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างดี ก็มีค่าควรแก่การศึกษา ไม่ใช่เพียง เพราะว่าวิกฤติสินเชื่อได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดเสรีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการที่จีนเป็นประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ยังไม่เคยเกิดวิกฤติสินเชื่อหรือวิกฤติความเชื่อมั่นเลย ไม่มีใครเลยที่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลจีนในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง เหมือนอย่างที่ Wen Jiabao ผู้นำจีนได้กล่าวไว้ว่า "ความเชื่อมั่นมีค่าเกินทอง" และคนจีนยังคงเชื่อในระบบของตนเอง
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 19 มกราคม
|
|
|
|
|