วิกฤติตลาดหุ้นวันจันทร์สีดำ (BLACK MONDAY) ส่งผลกระเทือนทั่วโลกอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
แน่นอนย่อมมีคนเจ็บปวด นักเลงหุ้นไทยเฝ้ารอการฟื้นตัวของตลาดจากการเข้ามาลงทุนใหม่ของต่างชาติเป็นนัยสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด
วิกฤติความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น WALL STREET นิวยอร์ก สหรัฐ ในวันจันทร์ที่
19 ต.ค. 2530 ที่เรียกกันว่าวิกฤติวันจันทร์สีดำ ได้แพร่ขยายผลสะเทือนไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกในลอนดอน
แฟรงค์เฟิร์ต ปารีส โตเกียว ฮ่องกง และไทยในเวลาเพียงชั่ววันเท่านั้น
เป็นวิกฤติครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีผลเชื่อมถึงกันอย่างรวดเร็วชนิดไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน
และจนกระทั่งบัดนี้เกือบ 2 เดือนเต็มแล้ว วิกฤติความเชื่อมั่นยังดำรงอยู่
มีทั้งผู้สูญเสีย และผู้เกือบจะสูญเสีย (โดยบังเอิญ) เป็นผลที่ย้ำถึงกฎ ZERO
SUM GAME ที่ว่าในตลาดหุ้นไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเหตุการณ์ใด ๆ เมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย
มีการประมาณการกันว่า เฉพาะในตลาดหุ้นกลุ่ม G-5 (สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมันตะวันตก
อังกฤษ และฝรั่งเศส) มีมูลค่าสูญเสียสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบจากระดับราคาหุ้นวันที่
6 ตุลาคม 2530!!!
จากกระแสข่าวกล่าวกันว่า งานนี้กลุ่มโบรคเกอร์และนักลงทุนกระเป๋าหนักหลายรายในตลาดหุ้นกระเป๋าฉีกไปตาม
ๆ กัน โบรคเกอร์หลายรายในตลาดหุ้นนิวยอร์กระบายพอร์ตตัวเองออกไปไม่ทัน สถานการณ์ธุรกิจถึงกับทรุดถ้าเอ่ยชื่อทุกคนรู้จักกันดีทั้งนั้น
เช่น KIDDER PEABODY SALOMON BROTHERS INC. E.F. HUTTON GOLDMAN SACHS
สำหรับตัวเลขการสูญเสียมูลค่าหุ้นของนักลงทุนกระเป๋าหนักที่ถือหุ้นของบริษัทตนเอง
เท่าที่เปิดเผยออกมากล่าวกันว่าสูงถึง 9,930.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น แซม
วัตสัน เจ้าของวอลล์มาร์ตสโตร์ เดวิด แพคการ์ด เจ้าของฮิวเล็ต-แพคการ์ด อันลือชื่อด้านธุรกิจคอมพิวเตอร์
เอดการ์ แอนด์ ชาร์ล บรอนซ์มานน์ เจ้าของนิวส์ คอร์ปอเรชั่นที่ฟู่ฟ่า โจอัน
คร็อก เจ้าแม่แมคโดนัลด์ที่แสนอร่อย วิลเลียม เกรท ที 3 หนูน้อยมหัศจรรย์เจ้าของซอฟท์แวร์เฮ้าส์ที่โด่งดัง
"ไมโครซอฟท์"
การสูญเสียมูลค่าหุ้นเหล่านี้ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เป็นตัวเลขการสูญเสียจริง
ๆ แท้จริงแล้วเป็นการสูญเสียมูลค่าใบหุ้น หรือ PAPER LOSS ในบัญชีเท่านั้น
แต่ถ้าเมื่อไรที่ขายหุ้นออกไปก็จะสูญเสียจริง ๆ
เรื่องนี้นักเลงหุ้นทราบกันดี!
ในตลาดหุ้นเมืองไทย ตัวเลขการสูญเสีย PAPER LOSS หลังวิกฤติการณ์วันจันทร์สีดำ
กระแสข่าวจากหลายแหล่งยังไม่แน่ชัดในการประเมิน สำนักวิจัยแบงก์กรุงเทพ ประเมินคร่าว
ๆ ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าน่าจะตกประมาณ 20,000 ล้านบาท สำนักวิจัยแบงก์ไทยพาณิชย์ประเมินว่าน่าจะตกประมาณ
74,000 ล้านบาท ทั้งนี้นับจากระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังเหตุการณ์วันจันทร์สีดำที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปักหัวดิ่งลงประมาณ
40%
แหล่งข่าวในวงการนักลงทุนยืนยันความเป็นไปได้สูงว่า ในระยะสัปดาห์แรกของเหตุการณ์วันจันทร์สีดำ
นักลงทุนจากต่างชาติได้เทขายหุ้นผ่านบริษัทโบรคเกอร์ไทยค้า ธนชาติ และกรุงเทพธนาทร
มูลค่าระหว่าง 2,500-3,000 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อย ที่คาดหวังว่าจะสามารถเก็งเอากำไรได้เมื่อราคาโน้มตัวสูงขึ้น
"เหตุผลสำคัญอยู่ที่ผู้ลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่เห็นว่าราคาหุ้นที่เทขายออกมาได้ตกต่ำลงมากที่สุดแล้ว"
แหล่งข่าวกล่าว
ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์วันจันทร์สีดำ (19 ต.ค. 2530) อยู่ที่ 459
จุด เพียง 2 วันจากนั้นดัชนีราคาหุ้นได้ตกลงมากถึง 68 จุดอยู่ที่ระดับ 391
จุด ซึ่งเป็นอัตราการตกต่ำของราคาหุ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 15%
กระแสข่าวที่ยืนยันความเป็นไปได้สูงนี้สอดคล้องกับคำยืนยันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทย-ดร.
ศิริ การเจริญดี ผ.อ. สำนักผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า หลังวิกฤติความเชื่อมั่นวันจันทร์สีดำมีผู้ลงทุนรายย่อยสูญเสียจริง ๆ
จากการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
จากการคำนวณของ "ผู้จัดการ" ระยะ 1 เดือนก่อนเหตุการณ์วันจันทร์สีดำและหลัง
เทียบเคียงที่ระดับดัชนีราคาตลาดวันที่ 15 ต.ค. 2530 469.75 จุด และ 16 พ.ย.
2530 ที่ 304 จุด (ลดลง 165.75 จุด หรือคิดเป็น 35%) เน้นเฉพาะหุ้น BLUE-CHIPS
ในตลาดจำนวน 39 หลักทรัพย์ ภายใต้สมมุติฐานจำนวนความเร็วการหมุนรอบของหุ้น
(VELOCITY) 23 รอบ ความน่าจะเป็นในตัวเลขการสูญเสียมูลค่าหุ้น BLUE-CHIP
ในตลาดน่าจะอยู่ในระดับ 11,000.9 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดหุ้น (MARKET CAPITALIZATION)…!
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า วิกฤติวันจันทร์สีดำครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อแผนอนาคตการเพิ่มทุนของกลุ่มหุ้นธนาคารพาณิชย์จำนวนเท่าที่เปิดเผยในขณะนี้ประมาณ
2,250.5 ล้านบาท การเพิ่มทุนในส่วนนี้มุ่งขายให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเป็นหลัก
ราคาตามแผนที่ขายสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันมาก (ราคาตลาด ณ วันที่ 8 ธ.ค.
2530) เช่นหุ้นธนาคารกรุงศรีฯ ต่ำกว่าราคาตลาด 70 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 19%
หุ้นธนาคารทหารไทยต่ำกว่าราคาตลาด 14 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 5% หุ้น บรรษัทเงินทุนฯ
ต่ำกว่าราคาตลาด 81 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 32% เป็นต้น
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับที่ 85 (52) ประจำวันที่ 30 พ.ย.-
6 ธ.ค. 2530 ได้วิเคราะห์ในเชิงเป็นข้อสังเกตไว้ว่ามีความเป็นไปได้มากถึงที่มาของความพยายามก่อตั้งกองทุนร่วมพัฒนามูลค่า
1,000 ล้านบาทที่ส่วนใหญ่ระดมมาจากโบรคเกอร์ 30 บริษัท บริษัทละ 30 ล้านบาท
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านราคาในแผนการเพิ่มทุนของหุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์
การเพิ่มทุนเพื่อเสริมฐานะเงินกองทุนของกลุ่มแบงก์พาณิชย์เป็นสิ่งจำเป็นที่รู้กัน
เนื่องเพราะในระยะ 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มแบงก์พาณิชย์ประสบปัญหาหนี้สูญ และสินทรัพย์เสื่อมคุณภาพมาก
การเพิ่มทุนเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะต้องทำโดยรีบด่วนภายใต้สภาวะตลาดหุ้นกำลังเติบโต
แต่วิกฤติวันจันทร์สีดำ ทำให้แผนการเพิ่มทุนกลุ่มธนาคาร ต้องมีอุปสรรคมากขึ้น
เมื่อราคาหุ้นที่เสนอขายต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันมาก
ในส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เข้าตลาดไปก่อนแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตลาดกำลัง
"บูม" จากการตรวจสอบพบว่ามีจำนวน 12 หลักทรัพย์ ราคาที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป
บริษัทผู้จัดการจำหน่ายตั้งราคาไว้ในระดับราคาตลาดมูลค่ารวมประมาณ 3,676
ล้านบาท
เพียงไม่นานนัก เมื่อเกิดวิกฤติวันจันทร์สีดำ ผลปรากฏว่าราคาหุ้นที่เพิ่มทุนเข้าไปมีแนวโน้มพุ่งดิ่งลงเกือบทั้งหมด!
จากการเทียบเคียงกับราคา ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2530 ซึ่งหลังเหตุการณ์วันจันทร์สีดำ
ดัชนีราคาตลาดอยู่ ณ ระดับ 256 จุด!
นักลงทุนที่เข้าซื้อไว้ในพอร์ตช่วงหุ้นเข้าตลาดหุ้นใหม่ ๆ ว่ากันว่า คนที่ได้ก็คือ
พวกที่เข้าซื้อช่วงดัชนีราคาตลาดอยู่ระดับไม่เกิน 425 จุด ซึ่งตรงกับวันที่
28 กันยายน 2530 พอดี (424.85 จุด) และถือหุ้นไว้ในระยะสั้น ๆ เพื่อเก็งกำไร
พวกที่เสียก็คือ พวกที่เข้าช้อนซื้อหุ้น ณ ระดับดัชนีราคาสูงกว่า 425 จุดและถือไว้เก็งกำไรโดยคาดหวังว่าดัชนีราคาตลาดจะขึ้นสูงไปทะลุ
500 จุด ณ วันสิ้นตุลาคม 2530 แล้วกะขายเพื่อเอากำไร
แต่เมื่อเหตุการณ์วันจันทร์สีดำเกิดขึ้นทั่วโลก ราคาดัชนีตลาดปักหัวดิ่งลงถึง
68 จุดเพียง 2 วัน หลังเหตุการณ์วันจันทร์สีดำ
ผลก็คือ ขาดทุนกระเป๋าฉีก ทั้งบริษัทเทรดเดอร์ และนักลงทุนรายย่อยที่เข้าซื้อ…ว่ากันว่าบริษัทเทรดเดอร์ระดับ
TOP-TEN กระเป๋าฉีกกันทั่วหน้า มากน้อยตามปริมาณหุ้นในพอร์ต
"ตอนนี้บริษัทเทรดเดอร์ทั้งหลายต้องเอาเงินสำรองมาอุดสภาพคล่องเพื่อชดเชยขาดทุนกันอุตลุด"
…แหล่งข่าวกล่าว
ล่าสุด…จากการตรวจสอบเทียบเคียงราคาหุ้น ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2530 จำนวนหุ้นเพิ่มทุน
12 หลักทรัพย์ มีเพียง 4 หลักทรัพย์เท่านั้น ที่ระดับราคาเสนอขายยังต่ำกว่าราคาตลาด
(แต่มีแนวโน้มดิ่งลงทุกวันตามกระแสตลาด) นอกนั้นที่เหลือราคาสูงกว่าตลาดทั้งสิ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ราคาหุ้นดิ่งลง คนที่ขาดทุน PAPER LOSS
ที่ถูก "จุดพลุ" ขึ้นมาเพื่อปลอบขวัญ ก็คือ …หุ้นไหนที่ยังคงมีอัตราผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
อย่าขาย เก็บไว้รอปันผล??
ฟังดูมีเหตุผลดีเหมือนกัน เพราะเหลืออีกไม่นานก็จะทราบเงินปันผลแล้ว!
หุ้นที่ปันผลดีคือ หุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์และหุ้นอุตสาหกรรมบางตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของกองทุนร่วมพัฒนานั่นแหละ!
(ดูตารางผลตอบแทน)
"คนเล่นหุ้นตอนนี้ (หลังวิกฤติวันจันทร์สีดำ) ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด
โดยดูว่าระดับราคาหุ้นที่ผันผวนมีเหตุผลหรือเปล่า" โยธิน อารี บงล.
กรุงเทพธนาทรให้ความเห็นคล้าย ๆ จะบอกว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นลักษณะเช่นนี้เป็นการวัดฝีมือนักเล่นหุ้น/นักลงทุนว่าใครจะมีความสามารถแค่ไหน
ถ้าเก็บไว้ไม่ขายออกจากพอร์ต รับปันผลแต่ขาดทุนบัญชี (PAPER LOSS) รออนาคตตลาดอาจจะพลิกฟื้น
แต่ขณะนี้ดูเหมือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่หวนกลับมา ทั้ง ๆ ที่ทางการได้ใช้มาตรการกระตุ้นตลาดหลายประการ
เช่น ลดเพดานมาร์จิ้นท์ (MARGIN) จาก 70% เหลือ 50% ปรับ SPREAD ราคาหุ้นจาก
5% เป็น 10% และขยายพอร์ตการลงทุนของกลุ่มบริษัทเงินทุน&หลักทรัพย์ และโบรคเกอร์จาก
60% เป็น 100% ของเงินกองทุน
"การขยายพอร์ตการลงทุนให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และโบรคเกอร์ครั้งนี้น่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดประมาณ
6,000-7,000 ล้านบาท" ดร. ศิริ การเจริญดี กล่าว
มีความเป็นไปได้สูงมากว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มองมาตรการการกระตุ้นตลาดเหล่านี้เป็นผลทางจิตวิทยามากกว่าผลปฏิบัติที่จริงจัง
"สถานการณ์ตลาดหุ้นหลังวิกฤติวันจันทร์สีดำมันแย่มาก จะมีโบรคเกอร์กี่รายกันที่ปริมาณการลงทุนในพอร์ตเต็ม
60% ของเงินกองทุน ผมว่าอย่างเก่งส่วนใหญ่ก็มีแค่ 30% ของเงินกองทุนเท่านั้น
ดังนั้นโอกาสที่จะขยายเป็น 100% ยากมาก" แหล่งข่าวกล่าว
มาตรการขยายพอร์ตเป็น 100% ของเงินกองทุนนี้มีเงื่อนไขว่า บริษัทโบรคเกอร์ต้องมีเงินลงทุนเต็มเพดาน
60% ของเงินกองทุนแล้วเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติให้ขยายเงินลงทุนได้
100% ซึ่งมีเพียง 20 รายเท่านั้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ตอนนี้จึงมุ่งใช้ท่าที "รอดู" การกลับเข้ามาทุ่มซื้อของนักลงทุนต่างชาติทั้งหน้าเก่าและใหม่
(จากญี่ปุ่น) มากกว่า ด้วยความเชื่อปัจจัยพื้นฐาน (FUNDAMENTAL FACTOR) ของหุ้นและตลาดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี