Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2531
"เศรษฐีเก่าหาดใหญ่ อนาคตที่ยังไม่มีคำตอบ?"             
โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ
 

   
related stories

"พลิกปูมเศรษฐีใหม่กับความเถื่อนBEHIND THE MAKING OF HAT YAI"

   
www resources

โฮมเพจ จังหวัดสงขลา

   
search resources

Hatyai
เจียกีซี
โรงแรมสุคนธา
พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์)
ซีกิมหยง, บจก.
พระยาอรรถกระวีสุนทร




หน้าประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของกลุ่มชนผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่ซึ่งรอวันที่จะปิดหน้าสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น นำพาให้สังคมหาดใหญ่ก้าวเข้าไปเผชิญหน้าท้าทายกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่แฝงเร้นมาในรูปแบบต่างๆ อย่างถึงลูกถึงคนมากขึ้น

หาดใหญ่ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และคงเจริญก้าวหน้าเป็นเสาหลักของภาคใต้ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่น่าขบคิดมากก็คือ ทำไม? กลับเป็นความล้มเหลวและพ่ายแพ้อย่างยับเยินทางธุรกิจของกลุ่มชนผู้บุกเบิกที่มีสายตายาวไกล!!!

กว่ากึ่งศตวรรษที่หมู่บ้านเล็กๆ อย่างตำบลทุ่งเสม็ดชุนซึ่งมีราคาที่ดินในสมัยก่อนเพียงไร่ละ 4 บาท ได้ถูกหักร้างถางพงสร้างบ้านแปงเมืองจนกลายเป็น "เมืองหาดใหญ่" ที่ราคาที่ดินต้องซื้อขายกันถึงไร่ละ 65 ล้านบาทในปัจจุบัน กลายเป็นศูนย์กลางตอนใต้ที่มีสายสัมพันธ์กับการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเจริญที่บรรลุขีดสุดนี้มิอาจลืมชื่อบุคคลเหล่านี้ไปได้

หนึ่ง - คุณพระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) นายอำเภอเมืองหาดใหญ่คนแรก

สอง - ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร คหบดีผู้ดึงทางรถไฟเข้ามาจนหาดใหญ่พลิกเป็น "ชุมทางทอง"

สาม - พระยาอรรถกระวีสุนทร ชนชั้นศักดินาที่บริจาคที่ดินส่วนตัวร่วมพันไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จนกลายเป็น "ตัวแปร" ที่นำพาความรุ่งเรืองมาสู่หาดใหญ่

สี่ - ซีกิมหยง เถ้าแก่ที่มุ่งมั่นชักลากระบบธุรกิจสมัยใหม่เข้าสู่หาดใหญ่ และเป็นต้นกำเนิดของ "ตลาดซีกิมหยง" ตลาดสินค้า "เถื่อน" ที่ยั่วเย้าให้ใครๆ หลั่งไหลไปหาดใหญ่

ชนผู้บุกเบิกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเจ้าของที่ดิน (LAND LORD) ซึ่งกระจายการถือครองที่ดินในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จนเกือบจะทั่วเมืองหาดใหญ่ และที่ดินหลายส่วนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงแรม ตลาด ศูนย์การค้า ก็ล้วนเป็นผลผลิตจากมันสมองของคนเหล่านี้ทั้งนั้น พวกเขามีทั้งความคิดที่ปราดเปรื่องและสายตาที่แหลมคม

หากแต่ว่าวันนี้สายธารมรดกของความรุ่งเรืองเหล่านั้นกลับกลายเป็น "มุมอับ" ที่นับวันยิ่งเพิ่มความไม่แน่ใจในชนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาเสียแล้ว มันเป็นเพราะอะไร!??

วันนี้ของสาย "เจียกีซี" เพียงรอวันลบเลือน

"เมื่อ 83 ปีที่แล้ว หนุ่มจีนวัย 19 ปี จากมณฑลกวางตุ้งโดยสารมากับเรือเดินทางญี่ปุ่นพร้อมผู้โดยสารคนอื่นๆ อีก 500 คน คนเหล่านั้นแออัดยัดเยียดระหกระเห่เร่ร่อนอยู่กลางทะเลกว้าง 7 วัน 7 คืนจึงถึงบางกอก…"

ตำนานรุ่งโรจน์ของ "จิระนคร" เริ่มตรงนั้น "เจียกีซี" หรือเด็กหนุ่มคนนี้หลังถึงแผ่นดินสยามได้เข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ "เต๊กเฮ่งไท้" แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออกไปทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายเพชรบุรี-ชายแดนภาคใต้ (ปี พ.ศ. 2448) โดยเป็นผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไป

งานที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ การสร้างทางรถไฟช่วงพัทลุง-ร่อนพิบูลย์ (นครศรีธรรมราช) ในปี 2453 เพราะต้องเจาะอุโมงค์ลอดเขาซึ่งเดิมที่บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด เป็นคนรับเหมาแต่ทำได้ไม่นานก็รามือ เนื่องจากคนงานล้มตายลงเพราะความยากแค้นกันดารเป็นจำนวนมาก ทว่าเจียกีซี เข้ามาสานต่อ และทำได้เสร็จตามกำหนดเวลาจนช่องเขานั้นกลายเป็น "ชุมทางเขาชุมทอง" ที่รู้จักกันในกาลต่อมา

หลังเสร็จงานรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ เขาได้ไปกว้านซื้อที่ดินบริเวณป่าต้นเสม็ด บ้านโคกเสม็ดชุน จำนวน 50 ไร่ ด้วยเงิน 175 บาท ซึ่งต่อมาที่ดินบริเวณนี้ ทางการได้ขอซื้อต่อ เพื่อทำเป็นสถานีรถไฟ "โคกเสม็ดชุน" หรือสถานีหาดใหญ่ในปัจจุบัน

และเป็นเพราะไหวพริบทางการค้าที่เฉียบฉลาด เจียกีซีได้ปรับพื้นที่กว้าง สร้างเป็นห้องแถวไม้หลังคามุงจาก 5 ห้อง โดยแบ่ง 2 ห้องแรก ให้เพื่อนเช่าทำเป็นโรงแรม "เคี่ยนไห้" และ "หยี่กี่" ส่วน 3 ห้องที่เหลือเขาปรับเป็นบ้านพักอาศัย ร้านขายของชำ และโรงแรมส่วนตัว "ซีฟัด" (ที่ตั้งธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบัน)

เขาเป็นนักวางผังเมืองที่เก่งคนหนึ่ง โดยดูได้จากก่อนที่จะสร้างห้องแถวได้มีการตัดถนนดินแดงขึ้นเป็นสายแรกอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟ เรียกชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนเจียกีซี" พร้อมกันนั้นก็ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีก 3 สายเป็นตารางหมากรุก คือ ถนนเจียกีซี 1 (ถนนธรรมนูญวิถี) ถนนเจียกีซี 2 ถนนเจียกีซี 3 ซึ่งต่อมาทั้ง 3 สายนี้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2,3 ตามลำดับ (ในปี 2472 เจียกีซีได้รับพระราชทานทินนามใหม่เป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร) ถนนทั้ง 4 สายในปัจจุบันถือเป็น "หัวใจ" สำคัญของเมืองหาดใหญ่

เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ต้นแบบของนักพัฒนาที่ดิน (DEVELOPER) เท่านั้น ยังเป็นนักฉกฉวยทางการค้ามือระวิงระไวคนหนึ่ง โดยเริ่มบุกเบิกสัมพันธ์กับพ่อค้าจีนมลายู ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้หาดใหญ่มีสายสัมพันธ์ทางการค้ากับมาเลเซียในระยะต่อมา ว่ากันว่าผังเมืองก็ได้แนวคิดมาจากสุไหงปาดีของมาเลเซีย

หาดใหญ่ช่วงหลังทางรถไฟเสร็จเริ่มกลายเป็นศูนย์กลางติดต่อผู้คนสัญจรไปมามากขึ้น เขาได้เปิดสำนักงาน "ยี้ซุ้นซอง" และ "โรงแรมกวั้นออนฝ่อ" ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้นหลังคามุงกระเบื้องแห่งแรกในหาดใหญ่ตรงข้ามกับเรือนแถวเดิมเพื่อเป็นที่รองรับผู้คน พร้อมกับเขาถูกกำหนดให้เป็นผู้วางผังเมืองหาดใหญ่

เจียกีซีได้กว้านซื้อที่ดินเก็บไว้อีกหลายจุด ซึ่งแต่ละจุดถ้าไม่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งธุรกิจของตนเองก็จะยกให้กับทางการกล่าวกันว่าหากที่ดินในเมืองหาดใหญ่ยุคนั้นแบ่งออกเป็น 4 ส่วน 1 ใน 4 ก็ย่อมเป็นของเขาด้วย "ส่วนใหญ่ที่ดินของเขาจะเป็นที่ดินที่มีความเจริญมากที่สุด และอยู่ใจกลางเมืองที่สุด" คนเก่าของหาดใหญ่พูดถึงเขาให้ฟัง ซึ่งนั่นเป็นบทสะท้อนอย่างดีถึงการมองการณ์ไกล

นอกจากนี้ในช่วงที่รับงานซ่อมทางรถไฟสายอู่ตะเภา (ห่างจากหาดใหญ่ 1.5 กม.) นั้น เขาได้ใช้เวลาว่างจากงานออกเดินสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกและวุลแฟรมที่เขาวังพา ต. ทุ่งเสา และ ต. ท่าช้าง ซึ่งบริเวณนี้เป็นป่าทึบ ความยากลำบากในครั้งนั้นได้มอบโบนัสล้ำค่าเมื่อที่บริเวณดังกล่าวกลายเป็นแหล่งแร่สำคัญที่ถูกเขายึดไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูล

ความมั่งคั่งของเจียกีซีและ "จิระนคร" น่าที่จะหนักแน่นไม่คลอนแคลนง่าย ๆ หากว่าเขาจะยึดติดกับการเป็นนักจัดสรรและพัฒนาที่ดินอย่างจริงจัง "จุดบอด" ของเจียกีซีที่ส่งผลมาถึงความร่วงโรยในปัจจุบันเป็นเพราะเขาละเลยกับงานหลักดั้งเดิมโดยแท้ ซึ่งถ้าเขาคาดเดาได้แม่นยำอีกสักนิดว่า ราคาที่ดินในอนาคตของวันนี้จะพุ่งสูงยิ่งกว่าราคาทองคำ เชื่อว่าเขาต้องเสียใจเอามาก ๆ ทีเดียว!!

เจียกีซีพลาดไปแล้วและไม่มีวันแก้ตัวเสียด้วย!!!

กล่าวกันว่าหลังจากที่ได้สัมปทานเหมืองแร่ ชีวิตทั้งชีวิตของเขาได้อุทิศให้กับมันหมด ที่ดินหลายแห่งถูกแบ่งขายให้กับคนมาเลเซียหรือไม่ก็ธนบดีคนอื่น ๆ เพื่อนำไปลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ธุรกิจที่ในสมัยก่อนยังไม่มีคนทำกันมากนัก

ว่าไปแล้วการตัดสินใจของเจียกีซี ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างใด การช่วงชิงการนำของเขาน่าจะประสบผลสำเร็จอย่างสูง ถ้าไม่เจอโชคร้ายที่ทุก ๆ คนในธุรกิจสายนี้มีโอกาสได้รับเท่าเทียมกันนั่นก็คือ สถานการณ์ของราคาดีบุกในตลาดโลกที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ผันผวนอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าใครกะเก็งผิดพลาดก็มีสิทธิ์ถูกลบชื่อจากทำเนียบทันที

"เหมืองแร่ทำให้คนเป็นเศรษฐีในชั่วคืนขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำให้วิบัติฉิบหายวายวอดในคืนเดียวได้เหมือนกัน" โชคร้ายของเจียกีซีที่ส่วนมากเขามักจะถูกล็อคข้างหลังเสียมากกว่า!!! ความหวังที่จะเป็น "นายหัว" จึงคาราคาซังเป็นได้แค่ "หัวขบวน" ของการทำเหมืองแร่ที่หาดใหญ่เสียเท่านั้น!!!

"คุณพ่อถือคติว่าถ้าสิ่งใดอยู่กับคนหลายคนถึงจะเจริญได้ก็เหมือนกับที่ดินที่คุณพ่อถือครองอยู่" กี่ จิระนคร ลูกชายของเขาพูดกับ "ผู้จัดการ" ที่ดูราวกับเป็นคำปลอบใจที่ดีที่สุดในเวลานี้ของ "จิระนคร" ซึ่งถ้าพวกเขายังถือครองที่ดินอยู่อย่างมากมายแล้วล่ะก็ วันนี้ก็คงนั่งตกทองกันได้อย่างสำราญใจ!?

สถานการณ์เหมืองแร่ของ "จิระนคร" มีแต่ทรงกับทรุดมาโดยตลอด หลายแห่งต้องปิดตัวเองลงไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแต่ความเลวร้ายเข้าครอบงำ "ไม่รู้จะทำอะไรเพราะเกิดมาคุณพ่อก็มีเหมืองมาให้แล้ว" กี่บอกกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับตั้งความหวังว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะถึงวันฟ้าใสของ "จิระนคร" อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เขาได้ส่งลูกชายไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์และกลับมาช่วยงานที่เหมืองถึง 4 คน

ความคึกคักของบ้านตระกูลจิระนครกลายเป็นเพียงเถ้าแห่งความทรงจำในอดีตไปเสียแล้ว วันนี้ก็มีแต่ความเงียบเหงาเข้าครอบคลุม อุปกรณ์การทำเหมืองวางระเกะระกะอยู่หน้าบ้าน ภายในบ้านมีเพียงสุกิตต์กับกิตติลูกชายพำนักอยู่ ส่วนกี่แยกตัวมาอยู่ตึกแถวห้องเดียว บนถนนธรรมนูญวิถีถนนที่พ่อของเขาสร้างมันขึ้นมา

อดีตอันรุ่งเรืองของเจียกีซีและ "จิระนคร" กำลังจะเริ่มต้นต่อสู้ครั้งสุดท้ายอีกหนหนึ่งแล้ว!!!

สายพระเสน่หามนตรีมีแต่ความไม่แน่ใจ!?

พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) นายอำเภอคนแรกของหาดใหญ่ที่มิมีบทบาทเป็นนักปกครองในงานสายตรงเท่านั้น หากว่าเป็นนักธุรกิจและจัดสรรพัฒนาที่ดินอย่างแนบเนียนในทางอ้อมอีกด้วย ด้วยความเป็นเจ้าขุนมูลนายบวกกับฐานะเดิมของครอบครัวที่มีอันจะกิน หลังจากมารับตำแหน่งนายอำเภอในช่วงที่หาดใหญ่มีสถานีรถไฟมาถึงแล้วนั้น พระเสน่หามนตรีก็กว้านซื้อที่ดินเก็บไว้หลายแปลง แปลงที่สำคัญกลางเมืองก็คือบริเวณช่วงถนนธรรมนูญวิถีตัดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 1-3 (ปัจจุบันเป็นย่านของหนีภาษีที่ลือชื่อ)

พระเสน่หามนตรีดำเนินธูรกิจในรูปแบบของการให้เช่าที่ดินก่อสร้างบ้านพักหรือร้านค้าโดยได้ส่วนแบ่งเป็นรายเดือน มากกว่าที่จะลงมือก่อสร้างเองเช่นเจียกีซี กล่าวกันว่าที่ดินครอบครองในระยะแรกของพระเสน่หาฯ 50 ไร่ซื้อมาด้วยเงินเพียง 200 บาท ตระกูลนี้ก็มีถนนเป็นสมบัติประจำเหมือนกับชื่อว่า "ถนนเสน่หานุสรณ์" ต่อมาพระเสน่หาฯ ได้สร้างห้องแถวให้คนเช่าบ้างเหมือนกันแต่ไม่ฟู่ฟ่ามากนัก

ยุทธวิธีปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้นของชนชั้นปกครองผู้นี้ก็คือ อาศัยความได้เปรียบในแง่มุมต่าง ๆ ตัดถนนผ่านเข้าไปยังที่ดินของตนซึ่งอยู่รอบนอกที่ดินของเจียกีซี ทว่าราคาซื้อขายกลับไม่แตกต่างกันเท่าไร!? ลักษณะการสร้างสรรค์เมืองหาดใหญ่ของชนชั้นปกครองผู้นี้เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึงสองตัวคือ หนึ่ง- ชื่อเสียง สอง-ความร่ำรวยส่วนตัว

สายพระเสน่หามนตรีมาจุดพลุสนั่นเมืองมากขึ้นในรุ่นที่ 2 เมื่อลูกสาวคือ ชื่นจิตต์ สุขุม ได้แต่งงานกับ เกษม สุขุม อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และอาศัยเขาหนุนเนื่องทางสามีบวกกับความคิดสมัยใหม่ทางการค้า คุณหญิงชื่นจิตต์ได้ลงทุนหลายสิบล้านสร้างโรงแรมอันดับหนึ่งขึ้นในหาดใหญ่ เมื่อ 16 ปีที่แล้วคือ "โรงแรมสุคนธา" และยังเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งแรกในภาคใต้ด้วย

โรงแรมสุคนธาเป็นธุรกิจของครอบครัวจริง ๆ เพราะ หนึ่ง-งบประมาณการก่อสร้างและดำเนินการแทบจะไม่พึ่งพิงเงินจากสถาบันการเงินแห่งไหนเลย เป็นเบี้ยงอกเงยจากการพัฒนาที่ดินในสมัยพระเสน่หามนตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ สอง-แบบของโรงแรมก็ออกแบบโดย ปราโมทย์ สุขุม อดีตปลัดเมืองพัทยา (ปัจจุบัน ส.ส. กทม. และอดีตผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล) ซึ่งเป็นลูกชายคนโต "โรงแรมนี้เกิดขึ้นมาเพราะพี่ปราโมทย์ซึ่งจบสถาปนิกเกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัยยูท่าห์ต้องการอวดฝีมือแม่เลยตามใจ"

ระยะแรก ๆ ของโรงแรมสุคนธาซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เชิดชูหน้าตาของตระกูลคุมงานโดยตัวคุณหญิงชื่นจิตต์เอง แต่อาจเป็นเพราะมือไม่ถึงกับระบบจัดการที่ไม่รัดกุม ทำให้มีการโกงกันภายในจนตัว "ป้อมเล็ก" ต้องกลับจากต่างประเทศลงมาช่วยดูแลอีกแรงหนึ่ง

การเกิดขึ้นของโรงแรมสุคนธา ท่ามกลางความไม่รอบรู้และชำนิชำนาญพอตัวในการทำธุรกิจโรงแรมของคนตระกูลนี้ แทนที่จะกลายเป็นอนุสรณ์เชิดหน้าชูตากลับเป็น "หอกข้างแคร่" ที่ทิ่มแทงให้เจ็บลึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน!!

กระทั่งตัว "ป้อมเล็ก" เอง ถึงวันนี้ก็เริ่มไม่แน่ใจมากขึ้นแล้วว่า แนวคิดของแม่เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นเป็นกับดักฆ่าตัวเองหรือเปล่า เพราะที่ผ่าน ๆ มาที่ดินซึ่งเคยถือครองอย่างฟูเฟื่องในสมัยพระเสน่หามนตรีได้ถูกแบ่งขายออกไปเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายและปรับปรุงโรงแรมให้ทันสมัย "ถ้าอาศัยขายที่ดินกินป่านนี้ก็รวยไปแล้ว" ป้อมเล็กรำพันเบา ๆ กับ "ผู้จัดการ" หรือว่าบางครั้งต้องขายที่ดินเพื่อใช้เป็นเงินเดือนก็มี

สภาวะการแข่งขันของโรงแรมต่าง ๆ ในหาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด กลับเป็นสุคนธาอีกนั้นแหละที่ต้องออกแรงหนักกว่าใครในการประคองตัวให้พ้นมรสุม เพราะหากเปรียบกับโรงแรมชั้นหนึ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ ดูราวกับว่าสุคนธาจะกลายเป็นโรงแรมระดับหนึ่งชั้นสองมากเข้าไปทุกทีแล้ว

"ถึงจะลดราคาลงมาคงช่วยได้ไม่มากนัก คงต้องปรับปรุงห้องพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเสียแขกไปได้ง่าย ๆ" พนักงานของบริษัทหนึ่งที่ทำสัญญาเป็นลูกค้ารายปีบอกกับ "ผู้จัดการ"

ลึก ๆ ลงไปของโรงแรมสุคนธาในปัจจุบัน ที่เคยกล่าวกันว่าเป็นสมบัติชิ้นมีค่าของตระกูลสุคนธหงส์นั้น อาจจะกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานก็เป็นไปได้ เพราะช่องโหว่ทางการตลาดที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด และการถีบตัวเองสู้แข่งทำให้ต้องดึงเอาตระกูล "โกวิทยา" เจ้าของกลุ่มบริษัทพิธานพาณิชย์ (ตัวแทนรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า) กับแบงก์ไทยพาณิชย์เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย

ตระกูลโกวิทยาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐีใหม่มาแรงของภาคใต้ มีรากฐานมาจากเถ้าแก่จันกิมฮวยเจ้าของร้าน "จันซุ่นฮวด" ที่เมืองสายบุรี จ. ปัตตานี ซึ่งเถ้าแก่เป็นพ่อของหลวงพิธานอำนวยกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด

พิธานพาณิชย์เติบโตอย่างน่ายำเกรงก็ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำการค้าของ วิเชียร โกวิทยา อดีตนายกเทศมนตรีหาดใหญ่ ซึ่งเป็นลูกเขยของหลวงพิธานฯ และเป็นเพื่อนซี้ของชาญ อิสสระ เศรษฐีชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย วิเชียรตั้งพิธานพาณิชย์ในหาดใหญ่ด้วยการเป็นเอเย่นต์ขายรถเชฟโรเลทก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นโตโยต้าและฮอนด้า และที่หาดใหญ่นี้เองกลายเป็นฐานใหญ่ของกลุ่มนี้จนสามารถขยายสาขาเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ

วิเชียรเป็นคนชอบออกงานสังคมทั้งในฐานะส่วนตัวและทางราชการ เขามีสัมพันธ์อันดีกับนายแบงก์ทั้งหลาย ถึงวันนี้แม้จะเป็นโรคไวรัสขึ้นสมองจนทำงานไม่ไหวแล้ว แต่เขาก็ยังต้องอยู่และมอบหมายงานให้ธรรมนูญ โกวิทยา ลูกชายคนโตเป็นคนดุแลแทน

ธรรมนูญคนนี้แหละที่จะไม่เป็นเพียงแค่ผู้สร้างพิธานพาณิชย์ให้รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นไปอีก ทว่าอาจจะเป็น "ตัวแปร" ต่อธุรกิจของตระกูลสุคนธหงส์ได้ทุกเวลา เพราะคนหนุ่มวัยไม่ถึง 40 ปีคนนี้นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักธุรกิจหัวก้าวหน้าในภาคใต้ เขาจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ออสเตรเลียเคยผ่านงานกับบริษัทยูไนเต็ดมอเตอร์เวิร์ค ปัจจุบันเขาเป็นรองประธานกลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคใต้อย่างสูงขณะนี้จนถูกตั้งคำถามว่าเป็นซ้ายหรือขวา!?

การเข้าไปถือหุ้นอย่างเงียบไปในโรงแรมสุคนธาของ "โกวิทยา" จึงเสมือนหนึ่งเป็นคำถามท้าทายว่า สมบัติของ "สุคนธหงส์" ชิ้นนี้ได้เดินทางมาถึงจุดสองแพร่งแล้ว-อยู่หรือไปอีกไม่นานคงได้รู้!?

สาย "ซีกิมหยง" ที่สุดจะไม่เหลืออะไร???

ซีกิมหยงเป็นเด็กหนุ่มจีนที่อพยพมาจากเกาะบอร์เนียวตั้งแต่อายุได้ 16 ปี เพื่อมาทำงานกับลุง "ซีซือทิน" และพ่อ "ซียกซัน" (ขุนศุภสารรังสรรค์) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ และเมื่อก่อสร้างทางมาถึงสถานีหาดใหญ่ ครอบครัวนี้ก็ย้ายมาปักหลักสร้างตัวกันที่นี่ พร้อมกับที่ซีกิมหยงได้แต่งงานกับสาวไทยชื่อ ละม้าย ฉัยยากุล

ซีกิมหยงกับเจียกีซีมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ และเขาก็กระทำเช่นเดียวกันด้วยการกว้านซื้อที่ดินแปลงต่าง ๆ เก็บไว้มากมาย เพียงแต่ของซีกิมหยงมีลักษณะพิเศษตรงที่ว่า ที่ดินส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นที่รอบนอกเมืองมากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะความเกรงกลัวจะถูกระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ถ้ามองในแง่พัฒนาการลงทุนแล้วนั้น ต้องยอมรับว่าซีกิมหยงกล้าและโดดเด่นกว่าเจ้าที่ดินทุก ๆ คน เขาไม่ใช่สักแต่จะตัดถนนเพื่อดึงราคาที่ดินให้สูงขึ้น หรือแปลงที่ดินเป็นห้องพักบ้านเช่าเท่านั้น ซีกิมหยงได้พัฒนาที่ดินอย่างครึกโครมด้วยการหันมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่าง ๆ ครบเครื่องไม่ว่าจะเป็นตลาดสด โรงภาพยนตร์ อาคารพาณิชย์ เขาเป็นเจ้าของ "ตลาดซีกิมหยง" ตลาดนัดของหนีภาษีชื่อดัง

น่าเสียดายมากว่า ชีวิตที่มีอยู่ของเขาช่วงสั้นเกินไป เขาตายเมื่ออายุเพียง 50 ปีเท่านั้นและก็ด้วยจารีตประเพณีเก่าของคนจีนที่นิยมการมีลูกหลานมาก ๆ ซึ่งเขายึดถือนั้นก็กลายเป็น "จุดบอด" ที่ถล่มทลายชื่อเสียงที่เคยมีมาอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเกิดกรณีพิพาทมรดกในกลุ่มลูก ๆ ทั้ง 11 คนของเขา

ความร้าวฉานภายในครอบครัวเป็นต้นเหตุให้ที่ดินแปลงต่าง ๆ ต้องตกไปอยู่ในมือของคนอื่นในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก หลังจากที่ซีกิมหยงเสียชีวิต และกว่าที่ทายาทของเขาก็จะรู้สึกรู้สาก็ช้าเกินการณ์ไปเสียแล้ว เมื่อมรดกชิ้นสุดท้ายซึ่งเป็นที่ดิน 20 ไร่ ในการตั้งศูนย์การค้าซีกิมหยงนั้นได้ถูกเข้าครอบครองกิจการ (ACQUISITION) จากบุคคลภายนอกอย่างแนบสนิทไปเสียแล้ว

ที่ดิน 20 ไร่กับศูนย์การค้าซีกิมหยงถูกจัดการโดยบริษัทซีกิมหยง จำกัด ที่มีประจักษ์ วรพจน์ เป็นประธาน บริษัทนี้ถ้าคิดตามชื่อก็น่าจะเป็นของคนในตระกูลซี แต่เบื้องหลังของบริษัทนี้นั้นเกิดขึ้นเพราะว่าคนในตระกูลซีต้องการยุติปัญหามรดกจึงร่วมหุ้น 40% กับบุคคลภายนอกตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลแทน

มันสอดคล้องกฎธรรมชาติข้อหนึ่งที่ความพินาศย่อยยับของตระกูลบางตระกูลเป็นเพราะศึกสายเลือดโดยแท้เทียว

ซีกิมหยงเขาไม่พลาดเลยแม้สักนิดในเกมธุรกิจ แต่เขาเสียจังหวะตรงที่ไม่อาจจัดการระบบครอบครัวให้สอดคล้องไปกับการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ เขาหย่อนยานไปในเรื่องการวางแผนพัฒนาบุคคล

อนาคตของตระกูลซีคงไม่อัปยศเกินไปจนไม่เหลืออะไรไว้เป็นศักดิ์ศรี!!?

อรรถกระวีสุนทร ยังอยู่แต่สงบนิ่ง

พระยาอรรถกระวีสุนทรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คนหาดใหญ่ให้ความเคารพนับถือมากคนหนึ่ง ชนชั้นศักดินาผู้นี้จัดเป็น "นักซื้อ" ที่ดินแท้จริง และก็น่าที่จะกล่าวได้ว่าทั้งตัวคุณพระและคุณหญิงหลงภรรยานั้นคือเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของเมืองหาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของที่ดินย่านคลองเตย กรุงเทพฯ ที่ยังคงเหลืออยู่มาถึงปัจจุบันอีกไม่น้อยกว่า 300 ไร่

ที่ดินของตระกูลนี้ในหาดใหญ่กินเนื้อที่บริเวณสองฟากถนนไทรบุรีเดิม และที่เป็นผืนใหญ่ที่สุดก็คือที่ดินที่บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมพันไร่ (ปัจจุบันที่ดินฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยยังเป็นของตระกูลนี้อยู่อีกหลายร้อยไร่ คูณด้วยราคาไร่ละสิบกว่าล้านแค่แบ่งที่ดินขายก็รวยมหาศาลกันแล้ว)

พระยาอรรถกระวีสุนทรได้ซื้อที่ดินต่อจากเจียกีซีหลายแปลงและนำมาให้คนอื่นเช่าต่อ ส่วนที่ลงทุนทำเป็นห้องแถวเองมีอยู่ด้วยกัน 43 ห้องริมถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ซึ่งต่อมาก็โอนขายให้คนอื่น ปัจจุบันนี้ซากแห่งความรุ่งเรืองของตระกูลนี้ในหาดใหญ่นับวันจะเลือนราง มีเพียงสำนักงานซึ่งคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขายน้ำยางในสวนยางเดือนละประมาณ 10,000 บาท และค่าเช่าตึกแถว 27 คูหาประมาณเดือนละ 80,000 บาทเท่านั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตามตระกูลนี้ยังคงถือครองที่ดินที่เหลืออยู่อีกมากในหาดใหญ่อย่างเหนียวแน่น อาทิ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นที่ดินย่านใจกลางเมืองราคาที่ดินบริเวณนี้ซื้อขายกันเป็นห้องแถวแถวละ 5-6 ล้านบาท

ทว่าคงอีกไม่นานที่จะเหลือเพียงชื่อเพราะบริษัทจัดการมรดกของตระกูลได้ตั้งนโยบายไว้แล้วว่าที่ไหนขายได้ก็จะขาย ไม่เก็บไว้ทำประโยชน์อะไรอีกแล้ว นั่นก็เท่ากับรอวันปิดฉากไปอย่างไม่อายใคร ซึ่งกล่าวในแง่นักลงทุนแล้วตระกูลนี้ภาพพจน์ออกจะต่ำกว่าทุกกลุ่มที่กล่าวมา

บทสรุป

กล่าวในที่สุดแล้วพัฒนาการทางเศรษฐกิจของหาดใหญ่นับว่ามีความแปลกแยกไปจากที่อื่น ๆ ไม่น้อย โดยเริ่มต้นจากทุนนิยมที่แฝงเงามากับการจัดสรรและพัฒนาที่ดินเป็นหลัก แล้วคืบคลานเข้าสู่ทุนพาณิชยกรรมที่เติบโตขึ้นมาอย่างเป็นอิสระภายหลังจากการล่มสลายของกลุ่มแรก ซึ่งลักษณะของกลุ่มหลังนี้ถูกตอกย้ำด้วยอิทธิพลทางการค้าที่ "ปิดลับ" อย่างมากมาย

ลักษณะการเติบโตของระบบทุนนิยมในหาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีหลายส่วนอยู่ภายใต้การบงการของกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลที่ถืออภิสิทธิ์อยู่เต็มกำมือนั้น นับเป็นก้าวกระโดดของการเติบโตที่เป็นที่น่าหวั่นหวาดต่อสังคมค่อนข้างสูง??

กาลเวลาเท่านั้นกระมังที่จะกระชากอำนาจเถื่อนที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทุกรูปแบบให้เป็นที่รับรู้ของทุก ๆ คน และเมื่อถึงเวลานั้นก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ว่า การเติบโตอย่างยั้งไม่หยุดของสังคมหาดใหญ่นั้นแท้ที่จริง "ระบบการค้าแบบเถื่อน ๆ หรือระบบการค้าแบบสุจริต" อย่างไหนกันแน่ที่มีน้ำหนักโน้มเอียงมากกว่ากัน!!!

เหลือไว้เป็นตำนาน

จริง ๆ แล้วนั้นในอดีตของกลุ่มผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่จะผลักดันความก้าวหน้าอยู่อย่างเหมาะสมกลมกลืนไม่ว่าจะเป็น ส่วนที่เป็นแบบแผนการผลิต (MODE OF PRODUCTIVITY) ส่วนที่เป็นแบบแผนการเมืองและปกครอง และส่วนที่เป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม

กระบวนการความสัมพันธ์ทางการผลิตของชนกลุ่มนี้ก็โดดเด่นและมีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต วิภาคกรรมผลผลิต หรือความได้เปรียบทางชนชั้น ซึ่งชนกลุ่มนี้สามารถ "ปิดล้อม" และสร้าง "กลไก" ทางราคา ให้ทุกคนยอมรับและสกัดกั้นการเติบโตของทุนกลุ่มอื่นได้ไม่ยากเย็น

ราคาที่ดินควรเป็นตัวบอกในเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด!!!

ทางเดินธุรกิจในหาดใหญ่น่าที่จะเอื้ออำนวยให้เป็น CLOSED ECONOMY สำหรับกลุ่มผู้บุกเบิกไม่กี่กลุ่มอย่างยาวนาน ถ้าพวกเขาจะไม่พลาดกันในเรื่องเหล่านี้

หนึ่ง-รอยต่อที่แหว่งวิ่นจากชนรุ่นหนึ่งถึงชนรุ่นหนึ่งซึ่งไม่มีการวางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ดั่งกรณีของซีกิมหยงที่ลงทุนสร้างสาธารณูปการต่าง ๆไว้มากมาย แต่การบริหารงานอยู่ในกำมือของเขาเพียงคนเดียวเป็นหลัก เมื่อต้องตายไปในขณะที่ยังไม่มีการแบ่งสันปันส่วนมรดกในหมู่ลูกหลานให้ลงตัวจึงเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความหายนะในที่สุด

สอง-รากฐานของธุรกิจหลักที่ค่อนข้างจะโงนเงนเอามาก ๆ ทั้งเหมืองแร่ของเจียกีซีและโรงแรมสุคนธาของสุคนธหงส์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในลักษณะที่ไม่พร้อมเท่าไรนัก ในเรื่องการจัดการและการบริหารการขาดความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงทำให้สองกลุ่มนี้พลาดกันอย่างง่าย ๆ

สาม-ความแหลมคมทางธุรกิจที่พูดกันมากว่าทั้ง 4 กลุ่มนี้ออกจะไม่ทันเหลี่ยมคูทางการค้าที่สับสนมากขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของเมืองหาดใหญ่ แม้แต่ที่ดินที่ครั้งหนึ่งพวกตนเคยเป็นผู้สร้างกลไกราคาขึ้นมานั้นยังต้องเสียรู้ไปหลาย ๆ ครั้ง และนี่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เส้นสายโยงใยของกลุ่มอิทธิพลเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่พากันแข็งกร้าวขึ้นในหาดใหญ่

"ผมเชื่อว่าคนหาดใหญ่รู้ดีว่า 4 กลุ่มนี้ไม่เคยเปื้อนคาวหรือมลทินเหมือนบางกลุ่มธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างพรวดพราด" คนเก่าผู้หนึ่งบอกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us